อนุสรณ์ ติปยานนท์ : In Books We Trust “หวังว่าวันนั้นคงยังไม่มาถึงในเร็ววัน”

 

อนุสรณ์ ติปยานนท์ / [email protected]

 

In Books We Trust (8)

 

-โลกหนังสือกายภาพและออนไลน์-

 

“คําสารภาพของเจ้าของร้านหนังสือประจำถิ่น” หรือ “Confessions of a local bookstore owner” คือพาดหัวของบทความในนิตยสาร The New Paper ที่ตีพิมพ์ในประเทศสิงคโปร์ช่วงเดือนมีนาคม 2017

บทความนี้อุทิศให้กับการพูดคุยของเคนนี่ เลค (Kenny Leck) เจ้าของร้านหนังสือ BooksActually อันเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่นักอ่านชาวสิงคโปร์

ตัวเคนนี่นั้นเคยทำงานในร้านหนังสือชื่อดังทั้ง Tower Books และ Borders ก่อนที่เขาจะตัดสินใจมาเปิดร้านหนังสือของเขาเองคือ Book Actually

ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เขาย้ายร้านไปแล้วถึงสามครั้ง

และการสัมภาษณ์ครั้งนี้ทำที่ร้านหนังสือของเขาในแถบติอง บารู กลางเมืองสิงคโปร์

 

“มันจำเป็นมากที่ผมต้องมีพื้นที่ส่วนตัว มันจำเป็นมากที่ผมต้องมีร้านหนังสือของตนเอง”

เคนนี่ เลค เริ่มต้นเล่าถึงแรงปรารถนาของเขาที่ต้องการจะมีร้านหนังสือเป็นของตัวเอง

เขาใช้เวลาเก็บเงินอยู่เจ็ดเดือนก่อนที่ตัดสินใจจะเปิดร้านแห่งแรกขึ้นบนชั้นสองของอาคารแห่งหนึ่งใจกลางไชน่าทาวน์ในสิงคโปร์

เขาเล่าว่า ความรู้สึกหลังการเปิดร้านที่ได้สัมผัสหนังสือที่เขาชอบและอยากอ่านในพื้นที่ของเขานั้นเป็นประสบการณ์ที่วิเศษมาก

การได้ลากนิ้วผ่านปกและสันหนังสือที่อยู่ในสต๊อคสินค้าของเขานั้นเป็นสิ่งที่เขาคาดหวังมาเนิ่นนาน

แต่กระนั้น ความรักในหนังสือกับการเปิดร้านหนังสือเป็นของตนเองและต้องทำให้มันอยู่รอดดูเป็นสิ่งที่สวนทางกันอยู่เสมอ

การต้องเผชิญกับค่าเช่าที่มีราคาสูง (โดยเฉพาะในประเทศสิงคโปร์ที่มีพื้นที่จำกัดจำเขี่ยเต็มที) ทำให้เคนนี่ เลค ต้องโยกย้ายที่ตั้งของร้านหนังสือ BooksActually หลายครั้ง

แต่แทบทุกครั้ง เขาไม่เคยหมดหวังกับการทำร้านหนังสือ

นั่นเป็นเพราะเหตุผลหนึ่งที่ให้เขาให้สัมภาษณ์ในบทความนี้คือความเชื่อที่ว่าร้านหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่วรรณกรรมประจำถิ่น

เขามีความคิดว่าการยืนหยัดที่จะนำพาร้านหนังสือให้อยู่รอดเป็นเรื่องสำคัญมาก

เพราะหากไม่มีร้านหนังสือแบบที่เขาทำแล้ว ผู้คนในประเทศที่อยากอ่านวรรณกรรมของนักเขียนร่วมชาติจะหาหนังสือเหล่านั้นได้จากที่ใด

“เราจำเป็นต้องเผยแพร่วรรณกรรมสิงคโปร์ หรือ Singlit ให้มากที่สุดเพราะมันคือตัวแทนของเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในดินแดนนี้ ถ้าเราไม่ทำหน้าที่เผยแพร่นี้ ใครเล่าจะทำหน้าที่นี้แทนเรา?”

 

ความเชื่อเช่นนี้ทำให้เคนนี่ เลค จัดตั้งสำนักพิมพ์ส่วนตัวขึ้นภายใต้ชื่อ Math Paper Press สำนักพิมพ์ของเขานั้นพิมพ์งานของนักเขียนสิงคโปร์ที่ได้รับความนิยมอย่างซีริล หว่อง (Cyril Wong) เป็นต้น

น่าเสียดายที่ผลกระทบของโควิด-19 ที่เล่นงานทุกประเทศอย่างหนักหน่วงในปีที่ผ่านมา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศสิงคโปร์ ความใฝ่ฝันของเคนนี่ เลค ที่จะคงร้านหนังสือที่ผู้คนเข้ามาเลือกหาหนังสือไว้อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน (หลายคนยังแวะมาเล่นกับแมวในร้านอีกด้วย) ต้องจบสิ้นลง

ในเดือนเมษายน ปี 2020 เคนนี่ เลค ปิดร้านหนังสือ BooksActually ของเขาที่ติอง บารู ลง อันเนื่องด้วยภาระค่าใช้จ่ายและผลกระทบจากการระบาดของโควิด

ในครั้งนี้ เขาไม่ได้แสวงหาพื้นที่ทางกายภาพใหม่อีกต่อไป

หากแต่เคนนี่ เลค พาร้านหนังสือของเขาไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ในโลกออนไลน์ เว็บไซต์ Booksactuallyshop.com ทำหน้าที่แบบเดิมกับที่ร้านหนังสือ BooksActually เคยทำมา คือการเผยแพร่วรรณกรรมสิงคโปร์ให้กับผู้อ่านทั่วไป

สิ่งที่น่าสนใจคือ เคนนี่ เลค ได้พัฒนาระบบการมีความสัมพันธ์กับลูกค้าของเขาไม่ต่างจากในอดีต

เขาจะมีบันทึกการสั่งซื้อของลูกค้าแต่ละคน มีการจัดส่งหนังสือที่ถูกห่ออย่างประณีตไม่ต่างจากการที่ใครสักคนเดินเข้าร้านหนังสือแห่งหนึ่ง

 

บทสัมภาษณ์ของเคนนี่ เลค ในนิตยสาร Timeout สิงคโปร์ ช่วงเดือนธันวาคม 2020 ได้บันทึกถึงประสบการณ์หลังการเคลื่อนย้ายตนเองสู่โลกออนไลน์ของเขาไว้อย่างน่าสนใจ

“ยากไหมสำหรับคุณที่ต้องเลิกร้านหนังสือที่ทำมานานนับปี?”

“ไม่เท่าไรนัก สำหรับคนที่รู้จักผมดี พวกเขาจะรู้ว่าผมเป็นคนที่ตัดสินใจอะไรเด็ดขาด ผมอยู่กับวงการร้านหนังสือมานานทีเดียว และหากผมพบว่าร้านหนังสือออนไลน์เป็นทางเลือกที่ดีกว่า ผมก็จะเข้าไปหามันอย่างไม่ลังเล การยึดติดกับวันชื่นคืนสุขของร้านหนังสือที่เราเดินชมหนังสือไปรอบๆ ได้นั้นมันไม่เพียงพอสำหรับการจ่ายค่าเช่าสถานที่ในความเป็นจริง”

“กระนั้นเราก็ต้องยอมรับว่าการเดินในร้านหนังสือมันมีเสน่ห์มาก คุณจะชดเชยสิ่งนี้ในโลกออนไลน์ได้อย่างไร?”

“โดยอาศัยการสื่อสารและการผูกสัมพันธ์ เราใส่ใจกับการคัดเลือกหนังสือของลูกค้าแต่ละคนของเรามากขึ้น เราส่งคำขอบคุณและรายชื่อหนังสือที่เขาน่าจะสนใจไปให้อยู่เสมอ ทุกห่อพัสดุที่เขาได้รับจากเรา ผมเชื่อว่ามันจะสร้างความประทับใจให้กับคนสั่งหนังสือจากเรา”

 

สิ่งที่เคนนี่ เลค ต้องเผชิญทำให้ผมตัดสินใจหาโอกาสสนทนากับ “อ๊บ” บุรินทร์ฑร ตันตระกูล เจ้าของร้านหนังสือ Wild Dog ที่ขอนแก่นอีกครั้ง ผมอยากรู้ว่าเขาสนใจหนังสือตั้งแต่เมื่อใด และแผนการรับมือการเปลี่ยนแปลงในโลกหนังสือของเขาเป็นอย่างไร

“ความสนใจในหนังสือของคุณพอมีที่มาที่ไปบ้างไหม?”

“ผมคิดว่ามันน่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนวัยเด็ก ครอบครัวผมอยู่ที่สตูล พ่อ-แม่มีลูกชายถึงสามคน และตอนเด็กที่บ้านจะชอบไปเที่ยวหาดใหญ่ เวลาพ่อ-แม่ไปช้อปปิ้ง เขาก็จะเอาพวกเราไปทิ้งไว้ที่ร้านหนังสือ ให้เราเลือกหนังสือกลับบ้านได้คนละเล่มสองเล่ม พี่ชายผมเขาชอบพวกหนังสือการ์ตูน ส่วนผมสนใจนิทาน หรือหนังสือด้านความรู้ทั่วไป ก็เริ่มต้นการรักการอ่านนับแต่นั้น”

“พอจำช่วงอายุได้ไหม?”

“น่าจะสักเจ็ด-แปดขวบ”

“แล้วหลังจากนั้นก็อ่านหนังสือมาตลอด?”

“ใช่ครับ ก็อ่านมาตลอด แต่ก็ยังเป็นหนังสือเฉพาะด้านพวกสารคดีอย่างที่ว่า”

“มาอ่านหนังสือจริงจังตอนไหนที่ถือว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อยากเปิดร้านหนังสือ?”

“น่าจะตอนปีสอง ตอนนั้นเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอย้ายมาอยู่ท่าพระจันทร์ เราก็มีหนทางเข้าหาหนังสือได้ง่ายขึ้น ครานี้ก็อ่านงานวิชาการหนักๆ ความรู้ที่เป็นเรื่องเป็นราว เรื่องที่เขาสนใจกันทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง”

“มีอ่านงานวรรณกรรมบ้างไหม?”

“น้อยมากครับ ที่อ่านจริงจัง น่าจะแค่เงาสีขาวเล่มเดียว”

“เป็นไงบ้าง สำหรับเงาสีขาว?”

“อ่านแล้วเหนื่อยครับ ผมว่าผมไม่เหมาะกับงานวรรณกรรมเท่าใดนัก รู้สึกเหมือนเอาตัวเราเข้าไปในเรื่องแต่งไม่ค่อยได้”

“ถ้ามีปัญหาแบบนี้ ตอนมาทำร้านหนังสือที่ต้องมีหนังสือทุกแนวจะยากขึ้นไหม?”

“ไม่มีปัญหาครับ เราก็ขยายพรมแดนของเราด้านการอ่าน แต่ก็ยากอยู่เหมือนกัน”

 

“คิดไหมครับว่าอนาคตของร้านหนังสือ Wild Dog ถ้าลูกค้าเข้าร้านน้อยลงจะเป็นอย่างไร?”

คำตอบของบุรินทร์ฑร ตันตระกูล หรือ “อ๊บ” ต่อประเด็นนี้น่าสนใจ

เขาบอกว่า ถ้าลูกค้าน้อยลง และเขาไม่มีความสนุกกับการทำกิจกรรมอื่น เขาเช่าห้องเล็กๆ และเปิดร้านหนังสือออนไลน์แทน

ผมเล่าให้เขาฟังถึงแนวคิดของเคนนี่ เลค เจ้าของร้านหนังสือ BooksActually

แต่กระนั้น เขาก็ยังมีความหวังว่าเรื่องนั้นคงยังไม่มาถึงในเร็ววัน

“ผมคิดว่าเราน่าจะไปอีกทาง ผมอาจขยายร้านของตัวเอง และมีหนังสือให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้”