ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง
จิระนันท์ พิตรปรีชา
แลผ่านแว่น 66 ปี ถึง ‘คนรุ่นใหม่’
ทั้ง ‘ห่วง’ ทั้ง ‘สนับสนุน’
สู้เพื่อความยุติธรรม
จิระนันท์ พิตรปรีชา หรือพี่จี๊ดของน้องๆ เป็นผู้หญิงเก่งอีกคนที่มีบทบาทในสังคมไทยในอดีต โดยมีรางวัลกวีซีไรต์ปี 2532 เป็นเครื่องการันตี
แต่ใช่จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเขียนบทกวีเท่านั้น ยังมีความสามารถหลากหลาย ทั้งด้านการแปล แต่งเพลง และยังเป็นผู้จัดทำบทบรรยายภาพยนตร์อีกด้วย
ในห้วงที่ผ่านมาชื่อเสียงของเธอเป็นที่รู้จักกันดี ในฐานะอดีตภรรยาของ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” หรือสหายไท อดีตผู้นำนักศึกษา ซึ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หนุ่ม-สาวทั้งสองเข้าป่าด้วยกัน ต่อมามีบุตรชาย 2 คน ชื่อแทนไท และวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
วันนี้หลายคนคงอยากรู้ว่าเวิร์กกิ้ง วูแมน ที่เคยเรียนปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ทำอะไรที่ไหน อย่างไร
“ที่ผ่านมาช่วยก่อตั้งมิวเซียมสยามและอยู่กับมิวเซียมสยามมา 10 ปี ตั้งใจจะทำงานเกี่ยวกับการศึกษาสาธารณะแหล่งเรียนรู้นอกระบบ เพราะเรียนประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์มาก็ได้ใช้ความรู้นี้แหละ แต่คนมักจำในฐานะกวีซีไรต์มากกว่า”
นอกจากนี้ ได้ก่อตั้งกลุ่มช่างภาพ ชื่อ สห+ภาพ โฟโต้ยูไนเต็ด เพื่อดึงมือดีๆ ในวงการทั่วประเทศมาทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อสังคมนี้ ตั้งมา 10 กว่าปีแล้ว
ผลงานชิ้นแรกคือเปิดจังหวัดน่านให้คนไทยรู้จัก โดยไปถ่ายรูปทุกอำเภอ อันนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนบัญชาการ แล้วจัดนิทรรศการเชิญสื่อมวลชนไป พอคนเห็นรูป คนก็ตามมาเลย เรียกว่าเป็นกลุ่มที่ทำประโยชน์ทางสังคม และได้ใช้ฝีมือเต็มที่ ซึ่งงานทั้งหลายไม่มีลายเซ็น แต่รู้สึกดีที่ได้ทำแบบนี้
หากได้ฟังคำบอกเล่าแล้วจะรู้ว่ากวีซีไรต์คนนี้ เป็นผู้หญิงเปี่ยมพลังในการทำงานจริงๆ
“ปัจจุบันอายุ 66 ปีแล้ว ดีใจที่ได้อาศัยวัยวุฒิ คุณวุฒิ ประสบการณ์และคอนเน็กชั่นอันหลากหลาย เพื่อสร้างกลุ่มเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้เขาทำงานได้ เราเป็นแค่แบ๊กเท่านั้นเอง อย่างมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ก็ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา แต่ก่อนเป็นกรรมการ ส่วนบทกวียังเขียนอยู่ แต่ไม่ได้รวมเล่ม คนที่ไม่ได้ตามสื่ออื่นๆ จะบอกว่าทำไมเดี๋ยวนี้ไม่เขียนเลย คือเขาไม่รู้ว่าจะไปอ่านที่ไหน ผ่านมาหลายปีมากแล้วที่ไม่ได้รวม”
นอกจากนี้ ก็มีงานแต่งเพลง แต่งไว้ตั้งหลายเพลง มีทั้งแต่งให้มาลีฮวนน่าและคาราบาว คืออะไรสนุกเราก็ทำ
บางช่วงเดินทางไปทำสารคดีกับลูกชาย (วรรณสิงห์) อันนั้นความจริงเราไปเที่ยวกันเอง แล้วมันสนุกเลยถ่ายทำเผยแพร่ ซึ่งก่อนลูกจะโตขึ้นมา เคยทำทัวร์ศิลปวัฒนธรรมกับอาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล เราก็เป็นคนบรรยาย
เรียกได้ว่าเชื้อไม่ทิ้งแถวในเรื่องนี้
: ดูเหมือนทำงานหลากหลาย และสุขภาพยังแข็งแรง
“ถือว่าคุ้มค่า เพื่อนที่เรียนด้วยกันเขาทำงานมาตลอดชีวิต พออายุ 60 ก็เกษียณ ออกมาลั้ลลา ออกมาเอ็นจอยโลก เอ็นจอยชีวิตและอาหารการกิน ส่วนเราไม่มีวันเกษียณ รู้สึกชีวิตเหมือนเดิม”
: แสดงว่าให้ความใส่ใจกับการดูแลรักษาสุขภาพ
“เรามีสุขภาพจิตดี คืออย่าไปเกลือกกลั้วกับสิ่งที่จะทำให้กลุ้ม เราไม่มีตำแหน่ง ไม่มีอะไร ไปไหนก็มีแต่คนเป็นเพื่อน อันที่สองคือขี้ลืม ลืมให้หมดเลย ไม่ทิ้งขยะในหัว คนที่มีปัญหาเครียดกับตัวเองเป็นเพราะว่าไม่ได้อยู่เพื่อคนอื่น แต่เราอยู่เพื่อคนอื่น โดยไม่คิดว่าต้องเสียสละอะไรเพราะฉันสนุก แต่ตัวเองเป็นคนห่างวัด คือคนบางคนมีความทุกข์ความกลุ้มไม่ได้ แต่เราเป็นคนที่มีระบบบำบัดตัวเอง อย่างการที่เราผ่านการเมืองมา มันก็ทำให้เราแกร่งขึ้น เข้าใจโลก เข้าใจชีวิตและมนุษย์มากขึ้น”
“ยังคงสนุกกับการทำงาน นี่ก็เพิ่งไปถ่ายรูปที่จังหวัดน่านมา และเดี๋ยวจะไปจัดนิทรรศการที่ไอคอนสยาม และเพิ่งไปเปิดงานจิตรกรรมมา 2 งาน ตอนนี้ผ่านมา 66 ปีแล้ว พอใจในชีวิตตัวเองว่าทำไมใช้ชีวิตคุ้มอย่างนี้ มีตั้งแต่ปลูกข้าวไร่แบบชาวเขา คลอดลูกกลางป่า จนถึงเป็นนักเรียนนอก คือเราทำมาหมดแล้ว แต่สิ่งที่ไม่เคยเบื่อเลยคือ การไปเจอคนแล้วเราได้ไปเรียนรู้ชีวิตเพิ่มขึ้น ดังนั้น จะชอบคุยกับเด็กเพราะไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกัน หรืออยู่กันอย่างไร คิดอะไร เรื่องนี้สนุก ซึ่งสิงห์ (ลูกชาย) จะชอบว่าเราว่าคุยกันแค่ 5 นาทีก็ชวนมาบ้านแล้ว มันก็เป็นเรื่องจริง”
: คิดอย่างไรกรณีคนรุ่นใหม่ชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง
“เรื่องนี้ลูกเราเองเรายังบังคับไม่ได้ จะไปสอนลูกคนอื่นอย่างไร แต่มันเป็นยุคแห่งเสรีภาพ ในยุคเราจะเรียนอะไร จะเลือกอะไร พ่อ-แม่เป็นคนกำกับทั้งหมด ไม่ทำตามเขาก็หาว่าเป็นลูกอกตัญญู แต่ตอนนี้พอเป็นยุคแห่งเสรีภาพโดยไม่จำกัดรุ่นและชนชั้น คนรุ่นเก่าอาจรับไม่ได้ แต่เด็กรู้สึกว่าเขามีความชอบธรรมอันนั้น บางทีเคยทะเลาะกับลูกเรื่องพวกนี้ ซึ่งมันนานมากแล้วตั้งแต่เขาเป็นวัยรุ่น”
“ตอนนั้นเขาจะไปค่ายโคลนถล่ม จ.อุตรดิตถ์ เราก็โมโหเพราะเขาจัดกระเป๋าเสร็จแล้วเพิ่งมาบอก เลยถามว่าจะขออนุญาต หรือจะแจ้งให้ทราบ ลูกตอบว่าแจ้งให้ทราบ เราก็โอเคงั้นไป ก็นั่นแหละ คือเขามาแรงแบบคนรุ่นใหม่ ถ้าเราไม่เข้าใจ ทะเลาะด้วยก็เสียผู้ใหญ่”
: หลายคนมองว่าเป็นความแตกต่างกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่
“แตกต่างแน่นอน พื้นฐานแต่ละรุ่น ต่างกันมาก บอกแล้วว่าความแตกต่างคือความแตกต่าง มันไม่สามารถตัดสินว่าอันนี้ต้องขาว อันนี้ต้องดำ ต้องดี ต้องชั่ว มันคือความแตกต่าง”
: ห่วงไหมกรณีนักเรียน-นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
“ที่ผ่านมาเป็นห่วงทุกยุคแหละ (หัวเราะ) ถ้าจะพูดแบบผู้ใหญ่ที่ผ่านบทเรียนมา ในยามที่มีพรรคพวกเยอะ เราจะไม่รู้ว่าพอถึงจุดโดดเดี่ยวมันหนักขนาดไหน บอกตรงนี้ก็เหมือนห้ามเขา แต่มันไม่ใช่ อยากให้เขาคิดถึงจุดนี้ไว้บ้าง คือสู้เพื่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมมันดี แต่เป็นห่วงเพราะเคยเห็นคนติดคุกนานแล้วโลกลืม คือพอโลกลืมแล้วมันก็ลำบาก”
“ส่วนตัวเห็นว่าบ้านเราเวลานี้กฎหมายและกระบวนการต่างๆ ไม่ให้เสรีภาพและความยุติธรรมกับฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ดังนั้น สมควรแล้วที่จะต้องออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหวทางการเมือง”
คุยเรื่องการเมืองไปแล้ว วกมาคุยเรื่องการบ้านกันบ้าง ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าบุตรชายคนเล็ก “วรรณสิงห์” กำลังคบหาดูใจกับมารีญา พูลเลิศลาภ อดีตมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2560
ประเด็นนี้ในฐานะคุณแม่ฝ่ายชาย เธอว่า “เห็นลูกแฮปปี้เราก็แฮปปี้ด้วย อันนี้จากใจจริงเลย เพราะลูกเราเหมือนเพื่อน บางทีช่วงที่มีแฟนเป็นช่วงที่ไม่แฮปปี้ เพราะคิดว่าจะต้องไปเอาใจอย่างไร หรือทะเลาะกันอีกแล้ว ทำไมเขาไม่เข้าใจเรา แต่พอไปเจอคนนี้แฮปปี้ทุกวัน อวดแฟนทุกวัน”
: ลูกชายมาปรึกษาเรื่องอนาคตไหม
“ไม่ๆๆ เพราะเป็นคนไม่ถามเรื่องพวกนี้ด้วย สุดแท้แต่เขา แต่เราเห็นเขามีความสุข เรื่องนี้สำคัญที่สุด เพราะมีแม่บางคนบอกว่าให้แม่มาทดสอบก่อน แต่บ้านนี้ไม่เลย เพียงคอยสังเกตว่าเขาแฮปปี้จริงหรือเปล่า ซึ่งครั้งนี้แฮปปี้จริง”
“เรื่องการเลี้ยงลูก เราเหมือนครูที่เปรียบเสมือนเรือจ้าง เราเป็นพ่อ-แม่ พอเขาชี้ว่าจุดหมายเขาอยู่ตรงนี้ ที่เหลือก็แล้วแต่เขาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องชีวิตส่วนตัว เราไม่เกี่ยว แล้วแต่เขาเลย”
: มีอะไรที่อยากทำหลังจากนี้
“อยากทำสวนใหญ่ๆ แบบสวนพฤกษศาสตร์ นี่ฝันไว้เลย เป็นการรวบรวมพืชพันธุ์เขตร้อนของประเทศ ให้เป็นที่พักผ่อน สร้างงานศิลปะและงานด้านศึกษา คือตอนนี้ปลูกต้นไม้ในบ้านจนไม่มีที่แล้ว เพราะลูกชายคนเล็กบ้าต้นมอนสเตอร่า ที่ใบใหญ่ๆ ปลูกมา 20-30 ปีแล้ว”
ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นกันว่า ห้วงชีวิตในวัย 66 ปีของ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” เต็มไปด้วยความสุข เพราะได้ทำงานในสิ่งที่รัก
ที่สำคัญ เกิดประโยชน์กับส่วนรวมด้วย