เทศมองไทย : “เซฟตี้โซน” ในทัศนะ “มาราปาตานี”

ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังคงถูกพูดถึงอยู่ในหน้าสื่อมวลชนต่างประเทศบ่อยครั้ง แรงดีดสะท้อนจากปัญหาดังกล่าวยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ

หลังสุด เวิร์ลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม จัดไทยเป็น 1 ใน 20 แหล่งท่องเที่ยวที่อันตรายที่สุดในโลก ในอันดับที่ 20 ก็สืบเนื่องจากประเด็น 3 จังหวัดภาคใต้เป็นหลัก

แต่ที่น่าสังเกตก็คือ สถานการณ์ในทำนองเดียวกันในไทยกับในประเทศอย่างฟิลิปปินส์ กำลังคลี่คลายพัฒนาไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน

ก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์เคยทำความตกลงหยุดยิงกันได้

แต่ในยามนี้ ปัญหากบฏมุสลิมที่นั่นเลวร้ายลงถึงขั้นยึดเมือง ทำศึกถล่มกันราวกับกำลังอยู่ในสงคราม

ถ้าข้อมูลที่ ภานุ วงศ์ชะอุ่ม แห่งแชนแนลนิวส์เอเชีย (ซีเอ็นเอ) เผยแพร่ออกมาเมื่อ 13 มิถุนายนนี้เป็นจริง การเจรจาสันติใน 3 จังหวัดชายแดนทางภาคใต้ของไทย ก็คืบหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง

เป็นก้าวเล็กๆ ที่ถึงจะช้า ดูอืดเนือยกว่าที่คาดหวัง และไม่เบ็ดเสร็จสะเด็ดน้ำเสียทีอย่างที่หลายคนอยากเห็น แต่ก็เป็นการก้าวรุดหน้าไปในทิศทางที่ดีกว่าฟิลิปปินส์อย่างชัดเจน

สิ่งที่ซีเอ็นเอพูดถึงเอาไว้ คือความตกลงระหว่างทางการไทยกับ “มาราปาตานี” ที่ในตอนนี้ถือกันว่าเป็น “ตัวแทนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ” ทางภาคใต้ของไทย “อย่างไม่เป็นทางการ” ที่เห็นพ้องกันตกลงจัดตั้ง “เซฟตี้โซน” ขึ้นในระดับ “อำเภอ” ในพื้นที่ก่อความไม่สงบให้ได้ภายในสิ้นปีนี้

โดยหลักการ “เซฟตี้โซน” ที่ว่า จะเป็นพื้นที่ “บริหารงานร่วม” ระหว่างตัวแทนของรัฐบาล, ตัวแทนของมาราปาตานี และกลุ่มผู้นำชุมชนในท้องถิ่น แต่ที่น่าสนใจก็คือ “เซฟตี้โซน” ที่ว่านี้ ไม่รวมเอาการ “หยุดยิง” อยู่ในกรอบการทำงานด้วย

นั่นหมายความว่า ความรุนแรงในพื้นที่ก็ยังอาจเกิดขึ้นได้ และอาจทำให้การบริหารจัดการร่วมกัน “สั่นคลอน” หรือ “ล้มเหลว” ได้ไม่ยากนัก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “เซฟตี้โซน” จะกลวงเปล่า ไร้ความหมายใดๆ โดยสิ้นเชิงแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม โดยความคิดเห็นส่วนตัว “ความตกลง” เรื่องนี้ ถือเป็นพัฒนาการทางบวกที่สำคัญที่สุดในรอบนับสิบปีของสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เอื้ออำนวยให้เกิดพื้นที่ซึ่งทุกฝ่ายสามารถ “ทดสอบ” ซึ่งกันและกันได้ ตั้งแต่เรื่องอำนาจ อิทธิพล เรื่อยไปจนถึงเรื่องสำคัญอย่างยิ่งคือ “ความจริงใจ” ในการแก้ปัญหา

สําหรับรัฐบาล “เซฟตี้โซน” ถือเป็นบททดสอบสำคัญที่จะสะท้อนให้เห็นว่า “มาราปาตานี” มีอำนาจ มีอิทธิพลในการ “สั่งการ” และ “ควบคุม” สภาพการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน

สำหรับมาราปาตานี การที่ “เซฟตี้โซน” ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นพื้นที่ “อิสระทางการเมือง” ซึ่งคนในท้องถิ่นสามารถ “แสดงความคิดเห็นโดยไม่จำเป็นต้องหวั่นกลัว” และการที่คนในท้องที่สามารถเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการชุมชนของตนเองได้โดยตรง ถือเป็นบททดสอบของสิ่งที่พวกเขาบอกตลอดมาว่า การตัดสินใจในเชิงปกครองของทางการไทยนั้น “รวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ” ไม่ได้สะท้อนความต้องการของ “รากหญ้า” อย่างแท้จริง

อาบู ฮาเฟซ อัล-ฮาคิม ที่ถือเป็น “โฆษก” ของมาราปาตานี บอกกับซีเอ็นเอไว้ว่า

“ครั้งนี้ เราอยากเห็นสิ่งนี้ เราอยากให้คนระดับรากหญ้า-เหล่าผู้คนในเซฟตี้โซนนี้-ตัดสินใจด้วยตัวเองว่า ต้องการอะไร”

ในส่วนของรัฐบาล “เซฟตี้โซน” คือโอกาสอันดีที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนให้โครงการริเริ่มเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา สร้างงาน สร้างโอกาสให้กับคนในท้องถิ่น

ความคิดริเริ่มที่ว่าซึ่งรู้จักกันในชื่อ “สามเหลี่ยมแห่งเสถียรภาพ ความรุ่งเรืองและความเหมาะสม” ซึ่งกินความรวมถึง “สนามบินใหม่” ที่ อ.เบตง จ.ยะลา, แรงจูงใจเพื่อการจัดตั้ง “อุตสาหกรรมการเกษตรและธุรกิจการเกษตร” ขึ้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และการส่งเสริมให้สุไหงโก-ลก นราธิวาส เป็น “ศูนย์กลางการค้า” กับประเทศมาเลเซีย

ศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) บอกเอาไว้ว่า เป้าหมายคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าแนวความคิดของทางการก็คือ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีได้ แต่ประเทศนี้ก็เป็นของทุกคน “เท่าเทียมกัน”

ถามว่าสิ่งเหล่านี้มีโอกาสเป็นไปได้จริงมากมายแค่ไหน ซีเอ็นเอบอกว่า คนในพื้นที่ยืนยันตรงกันว่า ตราบเท่าที่ชุมชนร่วมมือร่วมใจกันรับแนวคิดริเริ่มใหม่ๆ และทุกฝ่ายยึดมั่นในพันธะที่จะทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย “อย่างมีประสิทธิภาพ” โอกาสเป็นไปได้ก็มี

อันที่จริง แม้ไม่มีเซฟตี้โซน ชุมชนหลายแห่ง อาทิ บ้านคลองชิง ใน ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา ภายใต้การนำของหัวหน้าชุมชนอย่าง ยาฟา ยาโก๊ะ ก็สามารถอำนวยให้พุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้

“หากผู้นำสามารถสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นได้ระหว่างทุกๆ คนในหมู่บ้าน ก็ไม่มีปัญหาแล้ว” เขาบอก

ทั้งๆ ที่คลองชิง เป็นชุมชนใน “พื้นที่สีแดง” ด้วยซ้ำไป