แด่ทุ่งฝันการศึกษา : เมื่อเขมรลวงยิวมาสังหารหมู่ / อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

แด่ทุ่งฝันการศึกษา

: เมื่อเขมรลวงยิวมาสังหารหมู่

 

มันคือ “ยางเหลว” ที่ไหลออกมาจากกล้าพันธุ์หนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า “ยิว” และยางเหลวชนิดนั้นฉันได้พบมันที่กัมพูชา ตอนนั้นฉันไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร สำหรับความหมายของคำว่าชาวยิว

กระทั่งราวปี 2542 ที่ฉันได้ร่วมทำงานภาพยนตร์ของแมต ดิลลอน ถ่ายทำส่วนใหญ่ในพนมเปญ นั่นเองที่ทำให้ฉันได้รู้จัก “ยางเหลว” พวกนั้น จากบุคลิกที่จริงจังของทีมงานฝ่ายเทคนิคซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นอเมริกัน-ยิว พวกเขาทำให้ฉันรู้จักความ “เป็นอื่น” หรือ “ยางเหลว” ที่แตกต่างจากทั่วไป

และนั่นเองที่เป็นแรงบันดาลใจเมื่อทบทวนถึง การปฏิวัติระบบการศึกษาสมัยใหม่ของเขมรยุคแรก

ฉับพลัน “ยางเหลว” ของนักปฏิวัติการศึกษาชาวยิวกลุ่มนั้น ก็ปรากฏพลันตามมา

 

มีไม่กี่คนหรอกที่รับรู้เรื่องราวของเธอ-เขาเหล่านี้ ผู้ที่ลงมือขุดรากถอนโคนระบบการศึกษาสมัยใหม่ให้กัมพูชา ขณะที่ฉันเองนั้น ในอดีตก็เอาแต่ชี้นิ้วกล่าวโทษไปที่ฝรั่งเศสว่า “เอาเปรียบเขมรนัก” และสกัดไม่ให้โอกาสด้านการศึกษาแก่ประเทศนี้

กระทั่งว่า เมื่อพบ “ยางเหลว” หรือจะเรียกว่า “ฟอสซิล” ยิวกลุ่มนี้ก็ได้ เรื่องราวจึงคลี่คลายและทำให้ฉันรู้สึกเศร้าใจว่า ขณะที่ยิวอินโดจีนแคว้นกัมพูชา กำลังอุทิศแนวปฏิวัติการศึกษาในเขมรอย่างสุดแรงกายใจ

ด้านหนึ่งพวกเขาก็ต้องระเห็จระเหเอาตัวรอดจากการถูกกวาดล้างรัฐบาลวิธีที่ถูกนาซีฮิตเลอร์ฝังรากคุกคามไว้ จากการกวาดล้างและทำให้พวกเขาหมดไป แม้หยิบมือในอินโดจีนรวมทั้งไม่กี่คนในเขมร

ไม่กี่คนนั้นเชื่อไหมว่าคือกลุ่มยางเหนียวนักปฏิรูปการศึกษาที่กำลังส่งผลอย่างมากต่อกัมพูชา

แต่อนิจจา ยางเหนียวกลุ่มนี้ก็ถูกอัปเปหิอย่างที่ไม่มีวันหวนกลับ เช่นเดียวกับระบอบการศึกษาสมัยใหม่ในเขมรที่แทบไม่หลงเหลืออะไรไว้จากการกวาดล้างกันเองและสงครามกลางเมือง

ฉันคิดว่ามันไม่ยุติธรรมเลยนะที่นวัตกรรมการศึกษาสมัยใหม่ของศตวรรษที่ 20 ในเขมรจะถูกทำลายและหลงลืมไปด้วยบันทึกที่ไม่กล่าวไว้อย่างตรงไปมาต่อชาวยิวกลุ่มนี้

โอ ลาก่อน วัยเยาว์ (Au Revoir, Les Enfants) นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ หลุยส์ มาล เปิดแผลความเจ็บปวดการกวาดชาติพันธุ์ยิวฉบับกัมพูชาอีกเวอร์ชั่น

ภายใต้อุบัติการณ์ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ปั่นป่วนลงทัณฑ์ นั่นเองที่ทำให้ชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งทั้งฉลาดเฉลียวและกล้าหาญทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

ปฏิวัติการศึกษาสมัยใหม่ในเขมร

มันยิ่งทำฉันทึ่ง “โอ ลาก่อน วัยเยาว์” ที่น่าเสียดายของชาวเขมร เพราะนับแต่นั้นมา พวกเขาก็ไม่เคยพบกับระบอบการศึกษาสมัยใหม่ที่เป็นนวัตกรรมแบบองค์รวมอีกเลยแม้จนบัดนี้

ที่ตลกกว่านั้น คือการที่พวกเขาต้องทำงานในฉากหลัง บางคนกึ่งสายลับ แถมยังเสี่ยงกับการปะทะอนุรักษ์ที่มีแนวคิดต่อต้าน

ภายใต้โครงการดังกล่าวที่ส่งตรงจากฮานอย-พนมเปญ และบางทีก็เลยไปถึงกรุงเทพฯ วนหลูปกันราววงกลมที่ไม่รู้จักสิ้นสุด (ด้วยองคาพยพของการเมือง)

บางทีม่านหมอกและความซับซ้อนของประวัติศาสตร์หลายชั้นส่วนนี้ อาจพบเกร็ดจริงอีกว่า ระบอบปฏิวัติการศึกษาสมัยใหม่ในเขมรที่เกิดจากฝีมือยิวกลุ่มนี้ และตามที่ฉันเข้าใจ มีราชสกุลสยามพระองค์หนึ่ง นำไปก่อตั้งโรงเรียนสงฆ์ โดยน่าจะนำทฤษฎีจากยิวกลุ่มนี้ไปประยุกต์ใช้

ควรไม่ควร แล้วแต่จะโปรด

 

ต้นกำเนิดทฤษฎีจากฮานอย โดยหลุยส์ ฟิโนต์-สำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ มีซูซานน์ คาร์เปเลส แห่งสำนักพุทธศาสนบัณฑิต-พนมเปญ รับนโยบายภาคปฏิบัติต่อมาจากฟิโนต์ก่อนจะปลดระวางและสิ้นชีพไม่นานหลังกลับไปฝรั่งเศส

ส่วน ศ.จอร์จ เซเดส ในฐานะบรรณารักษ์ประจำหอพระสมุดวชิรญาณ-กรุงเทพฯ อาจอยู่ในข่ายผู้ร่วม “สมคบคิด” และเอื้อเฟื้อแหล่งนวัตกรรมอื่นๆ ที่อาจร่วมแนวทางสังเคราะห์กระบวนคิดแบบพุทธเขมรหรือไม่? ย่อมถูกพิสูจน์ได้ในไม่ช้า

และทแกล้วทกล้า ทั้งสามเป็นยิวโดยเชื้อชาติ

แต่ช้าก่อน กลับพบว่า ยิวคนแรกสุดที่วางฐานการศึกษาเบื้องต้นแก่กัมพูชา กลับมีนามว่า หลุยส์ ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ มานีโปด์ (Louis Jean-Fran?ois Manipoud)

หลุยส์ มานีโปด์ (2430-2520) ออกสำรวจวัดทั่วไปในเขมร ก่อนที่เขาจะเสนอให้รัฐบาลอินโดจีนดัดแปลงอารามเหล่านี้เป็นโรงเรียนของกัมพูชาทั้งหมด!

ซึ่งก่อนจะไปถึงจุดนั้น มานีโปด์ได้สำรวจลงไปถึงใต้สุดและเลือกเอากำโปดเป็นสถานทดลองในการ “เบิกเนตร” การศึกษาแผนใหม่ของเขมรอย่างเป็นทางการ

หลังจากพังพาบอย่างไม่เป็นท่าก่อนหน้านี้ ทั้งถูกต่อต้านจากคณะสงฆ์เขมรและภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันจากสงครามโลกครั้งแรก

แต่อุปสรรคสำคัญ คือการที่พระสงฆ์แขมร์ไม่ไว้ใจครูต่างชาติซึ่งส่วนมากเป็นคาทอลิก ตั้งแต่ย่างแรกที่ก้าวเท้าเข้าอารามพวกตน คนเหล่านั้น คือพวกคุกคามศาสนา-วัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของตน

โดยเฉพาะกรณีพระคุณเจ้าเหล่านี้เชื่อว่า พวกบาทหลวงคาทอลิกทำสำเร็จมาแล้วที่แคว้นญวน โดยอาศัยการประดิษฐ์อักษรละตินเป็นภาษาถิ่นนั้น หากว่าพุทธศาสนาและภาษาเขมรจะถูกชำระสะสาง ย่อมเป็นสิ่งที่ตนจะยอมมิได้

ด้วยเหตุนั้น ชาวพุทธทั้งหมดจึงต่อต้านมาตลอด โดยเฉพาะกัมพูชากลางที่ซับซ้อนไปด้วยธรรมยุตและมหานิกาย หลุยส์ มานีโปด์ คงเห็นแล้วในข้อนี้ และเพื่อไม่ให้ล้มครืนอีกครั้ง แบบทดลอง “โรงเรียนฝึกหักครู” ที่กำโปดของเขา จะต้อง “ห่างไกล” จากการถูกสอดส่องโดยทุกฝ่าย

ไม่ว่าจะสยาม-ธรรมยุตหรือเถรวาท-พนมเปญ ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนคาทอลิกแผนเก่า

ก็ไฉนเช่นนั้น การศึกษาแผนใหม่ในเขมรจึงมากมายไปด้วยอุปสรรค? แต่มานีโปด์ก็ไม่ท้อ ราว พ.ศ.2467 เมื่อลงไปกำโปดอีกครั้ง เขาได้นำพระสงฆ์และฆราวาสที่บวชเรียนแล้วจำนวนหนึ่งลงไปด้วย

ทำไมน่ะรึ?

เพราะหลุยส์ มานีโปด์ ต้องอบรมชาวพุทธหนุ่มกลุ่มนี้ให้สำเร็จ ตามโครงการ “โพธิษา” ที่เขากำหนดไว้ถึง 2 พรรษา หรือ 9 เดือนแห่งการอบรมครูกลุ่มนี้ที่วัดเชิงเกรียล ก่อนส่งไปบรรจุตามศาลาวัด(*) (โรงเรียนสาธิต) ในเขตต่างๆ นั่นเอง

สำหรับการดัดแปลงอารามวัดเขมรให้เป็นโรงเรียนประถมทั่วประเทศ ซึ่งก็พบว่า 5 ปีต่อมา กัมพูชามีศาลาวัดเป็นโรงเรียนประถมไปแล้วราว 500 แห่ง

แต่เป้าหมายสูงสุด 3,000 แห่งทั่วประเทศ!

ฝันไกลมากไปถึงลาว(**) ด้วย แต่ลำพังในเขมร โมเดลนี้จะนำพาหลุยส์ มานีโปด์ ไปตลอดรอดฝั่งได้แค่ไหน?

100 ปีให้หลังฉันก็ได้แต่ลุ้น ถึงบ่อหลุมประวัติศาสตร์ระหว่างทางที่เกิดขึ้น

กระนั้น สำหรับมิตรภาพอันงดงามระหว่างหลุยส์ มานีโปด์ กับพระเขมรหนุ่มรูปหนึ่งคือ พระปลัดเหม เจียว ผู้เชี่ยวชาญทั้งบาลี-สันสกฤตและนิยมแนวทางการศึกษาแผนใหม่ ทั้งสองได้กลายเป็นสหายกัน

และเนื่องจากเหม เจียว นั้นเป็นศิษย์โปรดของพระครูวัดลังกา เท่ากับทำให้แนวคิดต่อต้านการศึกษาแผนใหม่ที่ทำโดยยิวบารังมีความไม่ถึงกับเป็นศัตรู อีกเมื่อโรงเรียนบาลีระดับสูงได้เปิดสอนที่พนมเปญนั้น ทำให้เจ้าอาวาสแห่งพุทธจักรเริ่มมองเห็นความจริงใจของอีกฝ่าย

ดังนี้ ความพยายามของหลุยส์ มานีโปด์ ที่จะทำให้เด็กๆ เขมรมีทักษะ 3 ด้าน คือ อ่านออก เขียนได้ และบวก ลบ คูณ หารหรือด้านคณิตศาสตร์นั้น คือความจำเป็นที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ มิใช่ใดอื่น

นอกจากเป็นภูมิคุ้มกันมิให้ชาวเขมรถูกอินโดจีนกลุ่มอื่นหลอกลวงเอาเปรียบในด้านการค้าและเอกสารที่ดิน โดยเฉพาะจีน-พ่อค้าและญวนอันนัมที่สร้างปัญหายืดเยื้อ และเป็นตัวถ่วงความเจริญในเขตเศรษฐกิจย่านนี้เรื่อยมา

โดยพบว่า เมื่อเทียบกับเขตอื่นแล้ว มีแต่ลาวเท่านั้นที่แคว้นเขมรเหนือกว่า

นับว่าบทบาทของหลุยส์ มานีโปด์ ยิ่งใหญ่นักในปฏิวัติการศึกษาสมัยใหม่ของประเทศนี้ ซึ่งเมื่อรวมกับลาวเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของอินโดจีน หรือกลุ่มประเทศลุ่มแม่โขง ลาว-ไทย-เขมร-เวียดนาม (ตอนใต้) ณ ปัจจุบันเลยทีเดียว!

ที่นักการศึกษา “ชาวยิว” คนหนึ่ง ได้ริเริ่มในองค์รวมแห่งระบบการศึกษาสมัยใหม่ในเขมร หรือไทย? และในภูมิภาคนี้

Au Revoir, Les Enfants-ลาก่อน วัยฝันและวันเยาว์

กับความเชื่อในอดีต ที่ถูกทำลายไปพร้อมกัน!

(*) ภาษาเขมร “โรงเรียน” จึงตรงกับคำว่า “ศาลา”

(**) หากโครงการนำร่องในกัมพูชาสำเร็จ ลาวจะถูกต่อยอดพัฒนา