เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์/สัพเพเหระพาที

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

สัพเพเหระพาที

 

คิดถึงเพื่อนนักกลอนทั้งรุ่นพี่รุ่นเพื่อนรุ่นน้องทั้งที่ยังอยู่และล่วงลับแล้ว ด้วยกลอนจากความทรงจำประทับใจ ทำให้เห็นคุณค่าอันทรงศักดิ์ของอักษรและภาษากวี เหมือนมีเพื่อนมาชวนให้นึกถึงจินตนาการไปกับความหมายในบทกลอนนั้น

พี่สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ กวีใต้คนตรัง เขียนว่า

จากเรื่องจริงเป็นเรื่องเล่นเป็นเรื่องเศร้า

คนมาเก่าหลบหน้าคนมาใหม่

มากับลมลมก็มาพาเธอไป

เราก็ไกลกันเล่นเล่นจนเป็นจริง

เขียนได้ไงน่ะพี่…

ทั้งเล่นคำเล่นความในทุกวรรคเหมือนคำบอกเล่า ไม่ใช่บรรจงคำ แต่มันช่างบรรเจิดความอะไรจะปานนี้

เรื่องจริง เรื่องเล่น เรื่องเศร้า

สามเรื่องในวรรคเดียว เชื่อมคำว่า “เป็น” ต่อเรื่องไปได้แต่ต้นจนจบ ผูกเป็นเรื่องสั้นหรือนิยายได้เลย

“คนมาเก่าหลบหน้าคนมาใหม่”

นี่ก็เล่นทั้งคำทั้งความพร้อมภาพเคลื่อนไหวไปด้วย คือคำว่า “คนมาเก่า” กับ “คนมาใหม่” ซึ่งต่างคนก็ต่างมีความหลังต่อกันอย่างลึกซึ้งด้วยคำว่า “เก่า” กับ “ใหม่” นี่เอง

แล้วทำไมต้อง “หลบหน้า”

มีนัยยะมากมายซ่อนอยู่ในอาการ “หลบหน้า” นี้

“มากับลมลมก็มาพาเธอไป”

คำง่ายๆ สามคำ “มากับลม” “ลมก็มา” โดยมีสองคำคือ “มา” และ “ลม” สลับหน้าหลังเท่านั้น มีคำ “กับ” และคำ “ก็” มาช่วยขยายความการทำหน้าที่ของคำลมและคำมาได้อย่างมีชั้นเชิง แล้ว “พาเธอไป” ก็คือคำตอบ…ลมพาเธอไปแล้ว

“เราก็ไกลกันเล่นเล่นจนเป็นจริง”

เป็นวรรคจบที่เด็ดขาดบาดใจนัก

สมคล้องกับวรรคแรกที่ขึ้นต้นว่า “จากเรื่องจริงเป็นเรื่องเล่นเป็นเรื่องเศร้า” นี่ไง

มันได้รวมไว้หมดแล้วทั้งสามเรื่อง ด้วยคำสามคำสุดท้ายคือ “จนเป็นจริง”

พี่สนธิ์แต่งได้ไงนะ

กลอนบทนี้จึงเป็นกวีในหัวใจไว้ท่องอยู่เสมอเมื่อยามที่จมอยู่กับความหลัง

 

อีกบทของพี่สนธิ์คือ

หนึ่งจะมีรักใหม่อย่าให้รู้

สองจะอยู่กับใครอย่าให้เห็น

ให้ฉันเถิดขอร้องสองประเด็น

แล้วจะเป็นผู้แพ้ที่แท้จริง!

นี่ก็อีก ประเภทกลั้นกลืนก้อนสะอื้นไว้ในอก น้ำตาตกในไม่รู้ตัว…ว่างั้นเถิด

ทำให้นึกถึงกลอนของสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ว่า

เมื่อรักกันไม่ได้ก็ไม่รัก

ไม่เห็นจักเกรงการณ์สถานไหน

ไม่รักกูกูก็จักไม่รักใคร

เอ๊ะ…น้ำตากูไหลทำไมฤๅ!

นี่ไม่กลั้นสะอื้นในอกในแอกมันละ น้ำตาตกไม่รู้ตัวก็แล้วกัน

เจ็บปวดพอกันเลย

อีกคนคือ เอนก แจ่มขำ เขียนว่า

คมแห่งความคิดถึงประหนึ่งมีด

คิดครั้งหนึ่งก็เหมือนกรีดใจหนึ่งหน

สงสารใจทรมานสู้ทานทน

คิดถึงคนหลายใจได้ทุกวัน!

ไม่ใช่น้ำตาตกในแล้ว ถึงเลือดตกในนั่นเลย

สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ

 

คิดถึงพี่นักกลอนอีกคนคือพี่สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ เขียนกลอนรักดีนัก ตอนนี้นึกได้สองวรรคคือ

อ้อมกอดพี่จะสงวนไม่ด่วนเสนอ

อ้อมตักเธอจงถนอมก่อนยอมสนอง

สองวรรคแค่นี้บอกเรื่องราวมหาศาลไปได้ไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะการเล่นคำ “อ้อมกอด” “อ้อมตัก” “สงวน” “ถนอม” “เสนอ” “สนอง”

สามคู่สามความสามตรงข้าม เพื่อจะมาพ้องลงเป็นหนึ่งเดียวที่ปรารถนา

นี้คือมหัศจรรย์ของบทกวีที่ใช้คำได้ลงตัว มีพลังสร้างอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้อย่างมีชีวิตชีวา

ดังโวหารว่า บทกวีคือการใช้คำที่มีอยู่จำกัด แต่นำมาถ่ายทอดความรู้สึกอันไม่จำกัด

เคยนำกลอนที่เขียนถึงดอกโสนกลางนาด้วยคิดถึงรสชาติของดอกโสนสดคลุกข้าวกับน้ำพริกมะขามสองวรรคว่า

กลีบผีเสื้อโสนรายที่ปลายนา

พริกมะขามน้ำปลากระยากำ

ให้พี่สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ ดู พี่สวัสดิ์ไม่พูดอะไรเลย ชวนไปที่พักแถวตลาดศรีย่าน ขณะนั่งรถเมล์ไปด้วยกันใกล้จะถึง พี่สวัสดิ์พูดยิ้มๆ เหมือนเคย

“เปลี่ยนวรรคท้ายเป็นนี่ดีกว่า ปลิวว่ายฟ้าลอยฟ่องเหมือนทองคำ”

แทบจะกราบพี่สวัสดิ์ตรงนั้นเลย คิดว่าไม่ใส่ใจสนใจแล้ว ที่ไหนได้ นั่งเงียบอยู่บนรถเมล์เกือบสุดสาย เพื่อจะแก้วรรคกลอนวรรคเดียวให้เราจนกลายเป็นวรรคทิพย์วรรคทอง ท่องได้จำได้เป็นดอกไม้บูชาพี่สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ ทุกครั้งที่คิดถึง

พี่สวัสดิ์ขยายภาพดอกโสนของเราที่ว่า “กลีบผีเสื้อโสนรายที่ปลายนา” ให้กลายเป็น “ปลิวว่ายฟ้าลอยฟ่องเหมือนทองคำ” …อร่ามท่วมทุ่งฟ้าไปเลยนั่น

“กลีบผีเสื้อโสนรายที่ปลายนา

ปลิวว่ายฟ้าลอยฟ่องเหมือนทองคำ”

นี่คือ “การร่ายรำของภาษา” สมคำของ ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี หรือ “ท่านจันทร์” ว่าไว้จริง

กวีคือผู้พิถีพิถันการใช้ถ้อยคำ ใช้เวลาคิด กลั่นกรองคำและภาษาเหมือนดั่งเจียระไนคำจากความคิด

 

คิดถึงเพื่อนนักกลอนอีกคนคือ ดวงใจ รวิปรีชา เคยเอากลอนเกี่ยวกับแม่ศรีให้อ่าน เธออ่านแล้วบอกขอแก้คำเดียว จากวรรคที่เขียนว่า

“นุ่งผ้ายกเชิงทองแล้วมองเมียง”

เธอขอเปลี่ยนคำ “แล้ว” เป็น “ค่อย”

เห็นภาพงดงามเลย

“นุ่งผ้ายกเชิงทองค่อยมองเมียง”

แค่คำคำเดียวให้ภาพงามประณีตต่างกันลิบ คำ “แล้ว” นั้นเป็นอิริยาบถที่ไวไป ส่วน “ค่อย” นั้นเยื้องย่างยุรยาตร งามนัก

ร้อนจัดๆ อย่างนี้ก็ขอเขียนถึงเรื่องเย็นๆ บ้าง

อย่าว่ากันเลยนะ

 

กวี

 

คือนาทีของดอกไม้ใกล้จะผลิ

คือความใฝ่ความฝันอันเริ่มริ

ความชำนิของนายช่างผู้สร้างคำ

 

คือภาษาที่สองของความรู้สึก

คืออารมณ์ที่บ่มลึกระทึกร่ำ

คือชีวิตชีวาของสัจธรรม

ความทรงจำรำลึกผนึกนาน

 

เธอเป็นกวี

เธอต้องมีความงามความประสาน

ความประสมกลมกลืนความชื่นบาน

มีวิญญาณหยั่งรู้มธุรทัศน์

 

เธอต้องเขียนชีวิตจากชีวิต

เนรมิตถ้อยคำด้วยสัมผัส

สัมผัสใจสู่ใจ ให้แจ่มชัด

ไม่จำกัดกวีไว้…แต่ในคำ!

  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์