ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
เนื่องจากหนึ่งในงานประจำของฉันในรอบสิบปีที่ผ่านมาคือการอ่านและแสดงความคิดเห็นต่อข่าวต่างๆ โดยเฉพาะข่าวการเมือง
ตลอดสิบปีที่ผ่านมาฉันมักจะพบกับความอึดอัดที่อธิบายไม่ได้จากการอ่านข่าว
ความอึดอัดที่อธิบายไม่ได้นั้นมาในรูปแบบของความรู้สึกที่ว่า “มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติเกี่ยวกับการเขียนข่าวแบบไทยๆ”
และฉันพบว่าทุกครั้งที่จะแสดงความเห็นต่อข่าวข่าวหนึ่ง ฉันต้องเสียเวลาในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวละครใหม่ หรือตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง
ในการนิยามว่าประชาธิปไตยคืออะไร
หลักการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ทำงานอย่างไร
ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายการเมือง ผู้แทนราษฎร ฝ่ายบริหาร นายกฯ ครม. พึงมีความสัมพันธ์ทางอำนาจต่อกันอย่างไร
เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกเขียนมาเป็นข่าวแต่ละชิ้นนั้นมันไม่ valid และไม่มีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไรบ้าง
หากเราจะมองว่าหนึ่งในหน้าที่ของสื่อคือการ “ตรวจสอบ” การทำงานของรัฐบาล
สิ่งที่ทำให้ฉันของขึ้นทุกครั้งเมื่ออ่านข่าวคือคำถามของนักข่าวที่โง่เง่าอย่างเหลือเชื่อ เช่น ไปถามรัฐมนตรี ไปถามนายกรัฐมนตรีว่า “สงกรานต์นี้สาดน้ำได้ไหม?” ทั้งๆ ที่แก่นสารของข่าวนี้คือ
หนึ่ง สถานการณ์โควิดคลี่คลายลงอยู่ในระดับใด? หากเรามองจากมุมต่างประเทศ เราจะรู้ว่าคนไทยสามารถเดินทางไปยุโรปได้โดยไม่ต้องกักตัว เพราะถือว่ามาจากประเทศที่ “ปลอดภัย (จากโควิด)” และหากวางประเทศไทยไว้บนแผนที่โลก ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีคนติดโควิดน้อยมาก แทบจะอยู่ท้ายตาราง
สอง หากนักข่าวรู้เช่นนี้ต้องคิดต่อไปได้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยฉวยโอกาสใช้ความกลัวจากโควิด “ยึดอำนาจสภา” มาตั้ง ศบค. ทำให้อำนาจการบริหารประเทศมาอยู่ในมือของประยุทธ์และฝ่ายความมั่นคงมากกว่าจะเป็นการบริหารประเทศตามปกติ
จากนั้นใช้กฎหมายเผด็จการ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ เพื่อผลในการ “คุมพฤติกรรมพลเมือง” มากกว่าเพื่อ “คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพลเมือง”
สาม ผลแห่งการฉวยโอกาสเป็นเผด็จการที่ “มากขึ้น” จากสถานการณ์โรคระบาด แลกมาด้วยราคาทางเศรษฐกิจที่แพงมาก
การที่รัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจต่อการรับมือกับโควิดเท่ากับการควบรวมอำนาจของตนเอง บวกกับผลกระทบทางเศรษฐที่เกิดขึ้นจริงทั่วโลก
ภาวะที่การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศหยุดชะงักไปเกือบสองปี เหล่านี้ทำให้รัฐบาลนี้ถูกกดดันจากภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมให้ “คาย” อำนาจออกบ้าง อย่างน้อยๆ ในกิจกรรมบันเทิง ท่องเที่ยว กิจกรรม กิน-ดื่มในเทศกาลต่างๆ
และเทศกาลแรกที่รัฐอั้นไว้ไม่ได้แล้วคือ สงกรานต์
การขันน็อตออกด้วยการบอกว่า “โอเคนะ ปีนี้ให้เล่นสงกรานต์ได้” โดยรัฐบาลเผด็จการนั้น ต้องทำออกมาในภาษาทางอำนาจแบบ “คุณพ่อรู้ดี” นั่นคือต้องใช้ภาษาว่า “รัฐบาลได้ทำการผ่อนผัน อนุญาตให้ประชาชนได้สนุกสนานกับประเพณีสงกรานต์ แต่ขอย้ำเตือนให้เล่นสงกรานต์กันอย่างสำรวม ยึดมั่นในวิถีประเพณีไทย เน้นการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ความกตัญญู ไม่ละเลยความเป็นไทย ไม่สร้างปัญหา ไม่คึกคะนอง จนโควิดกลับมาระบาดอีก เพราะรัฐบาลเหนื่อยมามากแล้วกับความพยายามดูแลประชาชนที่ไม่รู้ฟัง พอโควิดระบาดก็มาโทษรัฐบาล ซึ่งนายกฯ ก็เข้าใจ ไม่ถือโกรธ ได้แต่พยายามอย่างเต็มที่ที่จะดูแลประชาชน ดังนั้น ขอประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เป็นหูเป็นตาให้รัฐบาล เห็นใครทำผิดกฎหมายก็แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐ เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ บลา บลา บลา”
นี่คือชุดภาษาที่รัฐบาลเผด็จการใช้เพื่อตอกย้ำอำนาจของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการ “ผ่อนผัน” อำนาจในการ “อนุญาต” จากนั้นแสดงอำนาจในการ “ควบคุม” ด้วยการสั่งสอน ไม่ให้คึกคะนอง อบรมให้มีความเป็นไทย ก่อนจะจบด้วยการอ้างบุญคุณว่าตนนี่แหละคือผู้ “ดูแล”
ทั้งหมดนี้ทำราวกับว่า ประยุทธ์และพวก เป็นเจ้าของประเทศ มีประชาชนเป็นเด็กเล็กที่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่มีสมอง วันๆ คิดแต่จะเล่นสนุก เป็นภาระให้ประยุทธ์ต้องเหนื่อยมาดูแลความประพฤติ ดูแลความปลอดภัยให้
และที่ร้ายที่สุดคือ นอกจากนักข่าวจะไม่รู้สึกรู้สาว่า ตัวเองและคนไทยเจ้าของประเทศทั้งหมดกำลังถูกประยุทธ์ด้อยค่าลงให้กลายเป็นเพียงเด็กเวรชอบสร้างความเดือดร้อนวุ่นวาย
ยังเสือกไปป้อนคำถามที่เวรกว่าเดิมคือ “จะสาดน้ำสงกรานต์ได้ไหมคะ”
เวรไหม? มันเป็นคำถามที่น้อมรับเอาความคอนเส็ปต์พ่อปกครองลูกเวรๆ เข้ามาอย่างเต็มอกเต็มใจ ยินดีให้ประยุทธ์เป็นพ่อเผด็จการที่ลูกต้องคอยไปถามว่า คุณพ่อคะ วันนี้หนูควรใส่รองเท้าแตะหรือรองเท้าหุ้มส้นไปโรงเรียนดีคะ
คุณครูคะ วันนี้หนูต้องขีดเส้นกั้นหน้าความกว้างหนึ่งนิ้วหรือสองเซ็นต์คะ?
นักข่าวไทยเก่งมากในการตั้งคำถามและการเขียนข่าวที่ disempower ประชาชน และประเคนอำนาจให้เผด็จการไปแบบไม่รู้สี่รู้แปด ไม่รู้สึกรู้สาใดๆ ทั้งสิ้น
และขอโทษนะที่ฉันคิดดีไม่ได้เลยนอกจากคิดว่าคนที่เอนจอยอำนาจเผด็จการแบบนี้มีแต่พวกมาโซคิสต์ในหนังโป๊ที่จะถึงจุดสุดยอดก็ต้องเมื่อเฆี่ยนตี ด่าทอ ทำร้าย ทึ้งหัว ถุยน้ำลายใส่ เท่านั้น
ถามว่าแล้วต้องคำถามแบบไหนหรือที่จะไม่เป็นการถูกเผด็จการเอาขี้มายีหัว
อันดับแรก ไอ้คำถามที่ว่า สงกรานต์สาดน้ำได้ไหม? ไม่ควรเป็นคำถามเลยตั้งแต่แรก เพราะนักข่าวพึงรู้ว่า รัฐบาล นายกฯ หรือรัฐมนตรีคนไหนๆ ก็ไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจ ไม่มีกฎหมายอะไรใดๆ ที่จะมาให้อำนาจรัฐในการควบคุมพฤติกรรมประชาชนลงในรายละเอียดถึงขั้นที่ว่า “เราจะเล่นสงกรานต์อย่างไร”
ย้ำ อันดับแรก ต้องไม่มีคำถามโง่ๆ นั้นออกจากปากนักข่าวเป็นเบื้องต้น!
อันดับที่สอง นักข่าวต้องตระหนักว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจในการมาสั่งสอนว่า สงกรานต์นั้นต้องไทยขนาดไหน นั่นไม่ใช่อำนาจ นั่นไม่ใช่หน้าที่ และทุกครั้งที่เผด็จการพูดเช่นนี้ นักข่าวต้องตระหนักว่า นี่คือความเสือก อย่างแย่ที่สุดที่นักข่าวจะทำหน้าที่ของตนเองในการจรรโลงอำนาจของประชาชนคือ ต้องไม่เปิดโอกาสให้รัฐบาลและเผด็จการแสดงความเสือก และอำนาจบาตรใหญ่ ผ่านถ้อยคำเหล่านี้เลยเป็นอันขาด
กลับมาที่ประเด็นเดิมๆ คือเลิกป้อนคำถามอันเป็นการชง หรือเปิดทางให้พวกเขาได้แสดงอำนาจผ่านถ้อยคำและการสร้างวาทกรรมบิดเบือนความเป็นเผด็จการให้กลายเป็นคุณพ่อผู้เปี่ยมไปด้วยความห่วงใยและเต็มไปด้วยบุญคุณ
คำถามที่จะ empower ประชาชนจากปากของนักข่าว ต้องเป็นคำถามที่ตอกย้ำว่า รัฐบาล นายกฯ และ ครม. มีหน้าที่รับใช้ บริหารประชาชนอย่างไร เช่น
– คาดหวังว่า เทศกาลสงกรานต์จะส่งผลบวกของเศรษฐกิจอย่างไร ผ่านปัจจัยอะไรบ้าง?
– รัฐบาลอำนายความสะดวกและความปลอดภัยแก่ประชาชนช่วงสงกรานต์อย่างไร
– ที่ผ่านมารัฐมีการเลือกปฏิบัติต่อการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ ในการละเมิดสิทธิของประชาชน คิดว่าการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐบาลจะส่งผลให้สงกรานต์ไม่คึกคักและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่หวังหรือไม่?
– มาตรการห้ามจำหน่ายสุราเป็นอีกมาตรการที่ละเมิดสิทธิพลเมือง สงกรานต์นี้จะยกเลิกได้หรือยัง?
ฯลฯ
ฉันไม่อยากจะด่านักข่าวมาก แต่เหล่านี้คือคำถามที่นักข่าวต้องเดินหน้าถามเรื่อยๆ ต้องสามารถไฮไลต์ ตอกย้ำ ตราหน้า ประทับตราบาป ใส่ไอ้อีที่อยู่ในอำนาจรัฐที่ปล้นมา ย้ำไปทุกวันๆ ว่า สิ่งที่พวกคุณทำไม่ใช่การบริหารประเทศ แต่คือการละเมิดประชาชนผ่านนโยบาย ผ่านมาตรการ ผ่านการใช้อำนาจทางกฎหมายอันมิชอบ
สิ่งที่สำคัญไม่ใช่คำตอบจากไอ้อีเหล่านี้ แต่คือคำถามที่ต่อมามันจะอยู่ในข่าว มันจะถูกอ่าน และพวกคุณจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สถาปนาตำแหน่งแห่งที่ที่ถูกที่ควร คืนสู่สังคมอีกครั้ง ไม่ใช่แล่นถลาไปตามตำแหน่งที่มีเผด็จการปักหมุดไว้ให้
นักข่าวต้องกล้าพูดใส่หน้ารัฐบาลว่า อะไรผิดอะไรถูก และอะไรที่ผิดต้องกล้าถามต่อว่าเมื่อไหร่จะเลิกทำเสียที
นักข่าวต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ทำตัวเป็นเด็กคอยอ้อนท่านคะ ท่านขา นักข่าวที่ดีไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ คุณต้องตระหนักเสมอว่า ศักดิ์ศรีของคุณเท่ากับนายกฯ เท่ากับรัฐมนตรีทุกคน แล้วไม่ต้องเจ๊าะแจ๊ะ สนิทสนม เล่นหัว
เพราะนี่คือกาลเทศะแห่งความเป็นนักข่าว ไม่ใช่เด็กนั่งดริงก์ ไม่ต้องเจ๊ะไม่ต้องแจ๊ะกับคนในอำนาจมาก มันทุเรศ
ล่าสุดมีนักข่าวไปถามรัฐมนตรีดีอีเอสคนใหม่ว่า จะมอนิเตอร์โซเชียลมีเดีย และจัดการกับคนทำผิดมาตรา 112 อย่างไรบ้าง?
แทนที่จะถามว่า ตลอดสมัยของรัฐมนตรีคนเก่า กระทรวงนี้ถูกมองและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนเรื่องการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ของ สื่อ ใช้กฎหมายในการลงโทษผู้เห็นต่างจากรัฐบาลมากกว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ในฐานะที่รัฐมนตรีมารับตำแหน่งใหม่ จะแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิ และการรังแกคนเห็นต่างจากรัฐอย่างไร? จะใช้เทคโนโลยีดิจิตอลให้การปกป้องความเป็นส่วนตัว privacy ของพลเมืองเน็ตอย่างไร?
สิ่งที่ฉันพยายามจะบอกคือ ด้วยคำถามที่มีเนื้อหาคล้ายกัน นักข่าวสามารถ “เจาะจง” ถึงหลักการ บรรทัดฐานที่ถูกต้อง ปักหมุด “ความถูกต้อง” ที่เป็นหลัการสากลไว้ให้แม่น แล้วเริ่มถามจากตรงนั้น
ไม่ใช่ไหลไปตามน้ำ จนสุดท้ายกลายเป็นสวะ
สุดท้ายฉันก็พบว่าความอึดอัดจากการอ่านข่าวของฉันเกิดจากอะไร?
มันเกิดจากการที่ในข่าว และการเขียนข่าวไม่ได้ address หรือไม่ได้วางตำแหน่งแห่งที่ของอุดมการณ์ และหลักการทางการเมืองที่ถูกต้องเป็นสากลไว้ในฐานะบรรทัดฐานของการเสนอข่าว เช่น ถ้านักข่าวทุกคนเชื่อตรงกันว่า การเมืองการปกครองที่เราต้องการและที่ถูกต้องของสากลโลกคือ “ประชาธิปไตย” ทุกครั้งที่เขียนข่าวที่มีประยุทธ์อยู่ในนั้น ต้อง address ถึงประยุทธ์ว่า
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตผู้นำการรัฐประหารปี 2557”
เพียงเท่านี้ ทุกครั้งที่เราอ่านข่าว เราจะได้รู้ว่าประยุทธ์เป็นใคร ขึ้นสู่อำนาจได้อย่างไร และเพราะเหตุใดเขาจึงพูดอย่างที่เขาพูด
อย่างที่ฉันแสดงความคิดอยู่เสมอว่า เราคาดหวังให้ประยุทธ์ หรือประวิตรพูดอะไรเหรอ?
สิ่งที่ทั้งสองคนพูดนั้นถูกต้องทุกอย่างตามตำแหน่งแห่งที่ทาง “อำนาจ” และ “ที่มาทางอำนาจ” ของพวกเขา เป็นเราต่างหากที่พยายามเหลือเกินที่จะไปบอกว่า สิ่งที่เขาพูดมันผิด – ใช่ มันผิด – ถ้าเขาเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
ปัญหานี้จะหมดไปถ้าเราเริ่ม address ตำแหน่งแห่งหนทางการเมืองของคนเหล่านี้ให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตผู้นำการรัฐประหารปี 2557
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และอดีตผู้ร่วมก่อการรัฐประหารปี 2557
ไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาฯ พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับไม่ปรากฏ
ส.ว.ที่ถูกแต่งตั้งโดยหัวหน้า คสช. และผู้เลือกหัวหน้า คสช.กลับมาเป็นนายกฯ คนปัจจุบัน
ที่สำคัญคำเรียกรัฐบาลชุดนี้ ต้องเรียกว่า “รัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกออกแบบเพื่อการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช.”
นี่คือชื่อเต็มของรัฐบาลนี้ และทุกครั้งที่เขียนข่าว ต้องเรียกอย่างถูกต้อง ไม่อย่างนั้น เราจะถูกมัดมือชกให้ยอมรับไปโดยปริยายว่ารัฐบาลนี้ถูกต้อง ชอบธรรม หนักกว่านั้น ฝ่ายประชาธิปไตยแบบฉัน แบบคนที่อ่านข่าว วิเคราะห์ข่าว ก็ต้องมานั่งพูดทุกวันๆ ว่า ประยุทธ์พูดอย่างนี้ผิด ทั้งๆ ที่ถ้ามองว่า ประยุทธ์คือเผด็จการ สิ่งที่ประยุทธ์พูดมันก็ถูกหมดแหละ จะให้เผด็จการมาโอบกอดประชาธิปไตย ไม่จับม็อบ มันก็ไม่ใช่ป่าววะ
เมื่อรู้ว่าประยุทธ์คือเผด็จการ เราจะได้ไม่ต้องเรียกร้องให้ประยุทธ์ทำตัวดีขึ้น อย่างเดียวที่จะแจ่มชัดให้สมองเราคือ เออ… ประยุทธ์ต้องออก และเราต้องแก้รัฐธรรมนูญ จบ!
และหากวางตำแหน่งแห่งที่ให้ถูกต้อง ต่อไปนี้สื่อต้องไม่เรียกม็อบว่า ม็อบเฉยๆ แต่ควรเรียกม็อบว่า
“ม็อบของประชาชนผู้รักและต้องการประชาธิปไตย”
“ม็อบเพื่อโค่นล้มเผด็จการ”
“ม็อบประชาชนไทยที่เป็น uprising ของขบวนการประชาธิปไตย”
“ม็อบของประชาชนที่ส่งต่อแรงบันดาลต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่มีเสรีภาพ และความเสมอภาค”
“ม็อบเพื่อเพื่อกู้คืนศักดิ์ศรีของคนไทยในฐานะเจ้าของประเทศ”
ฯลฯ
นี่คือคำเรียกม็อบที่สื่อไทยทุกสื่อพึงเขียนให้แจ่มแจ้ง ง่ายๆ แค่นี้ทำไมถึงไม่พูด งง!
ม็อบ กปปส.ก็ต้องเรียกให้ถูกว่าม็อบล้มรัฐบาลที่าจากการเลือกตั้ง – จบ
การเมืองไทยตอนนี้คนถืออำนาจรัฐคือ กบฏต่ออำนาจประชาชน
ม็อบคือ uprising ของคนที่ยอมถูกปกครองโดยกบฏ
สื่อไทยต้องปักหมุดตรงนี้ให้ชัด ไม่อย่างนั้นเราจะหลงทางกันหมด หลงมาจนถึงฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเองนี่แหละ เมาหมัดกันหมด
และทั้งหมดไม่ใช่การเลือกข้างด้วย แต่เป็นการเติมคุณศัพท์ไปตามข้อเท็จจริงล้วนๆ
หรือใครจะเถียงฉันว่ามันไม่จริง!