สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ความรู้ไม่ใช่มรดกที่ยกให้กันได้ (11)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ตอนที่แล้ว ผมถ่ายทอดเรื่องราวบรรยากาศและสาระห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาถึงห้องที่ 7 พบว่าบนเส้นทางแสวงหาสายปัญญา มีเรื่องราวใหม่ๆ ที่น่าสนใจติดตามเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีผู้ร่วมทางคนใหม่เพิ่มเข้ามาตลอดเวลา

สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นความคิดและวิถีของคน

วิถีของครูแกนนำ ครูเล็กครูน้อย ครูใหญ่ จนถึงผู้อำนวยการ ผู้ปกครอง ผู้ใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา พยายามแสวงหาสิ่งดีๆ เพื่อเป็นคำตอบให้กับระบบการศึกษา กับแนวทางที่จะนำพาให้ศิษย์มีทักษะชีวิต เป็นนักคิด นักวิเคราะห์ นักปฏิบัติที่ไม่ติดยึดกับทฤษฎีแบบแข็งทื่อ ตายตัว เป็นนักแก้ปัญหามากกว่าท่องจำแบบนกแก้ว นกขุนทอง

พวกเขาล้วนเป็นอย่างที่ ดร.วัฒนา รัตนพรหม ศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี บันทึกไว้ในงานเขียนชื่อ ถอดรหัส การจัดการเรียนรู้ แบบโครงงานฐานวิจัย “ความรู้ไม่ใช่มรดกที่ยกให้กันได้ ต่อให้พ่อแม่เขียนพินัยกรรมยกความรู้ให้ลูก ลูกก็เอาไปไม่ได้ เพราะความรู้จะเป็นของผู้เรียนรู้เท่านั้น”

หรือที่ว่า “ถ้าเรารู้ว่าเราไม่รู้อะไร เราจะรู้อะไรที่เราไม่รู้ แต่ปัญหาคือเรามักจะไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร เราจึงไม่รู้อะไรที่เราไม่รู้ ดังนั้นแล้วเราจึงต้องหมั่นสำรวจความไม่รู้ของตัวเองอยู่เสมอ”

ครับ ลึกซึ้ง คมเฉียบ ครูของครู ต้องคิดสองชั้นสามชั้น คิดหนักและทำงานหนักยิ่งกว่าครู

 

มาว่ากันต่อห้องที่ 8 หัวข้อ การฝึกทักษะชีวิต บนการสอนโครงงานฐานวิจัย โดยศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้แทนของห้องสรุปสาระการพูดคุย เน้นย้ำถึงความสำคัญของทักษะชีวิต ความอดทน ความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม

“ที่ผ่านมาเรามักเน้นแต่วิชาการ ขณะที่ทักษะการปฏิบัติอื่นๆ ต้องเกิดจากการสอน การฝึกด้วย มิใช่เด็กจะมีเองได้ เด็กไม่สามารถขี่จักรยานได้ด้วยการอ่าน ต้องสอบผ่านโดยการลงมือทำ” เธอย้ำ

ซึ่งสอดคล้องกับบทสรุปความคิดรวบยอดที่บอกว่า “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งหลาย ไม่น่ามีทักษะใดสำคัญกว่าทักษะชีวิต เพราะมันเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตของนักเรียน

เรามีหลักฐานมากมายที่ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่นักเรียนเติบโตมาเป็นพลเมืองดีเพียงแค่ได้เรียนวิชาหน้าที่พลเมือง วิชาศีลธรรม

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่นักเรียนมีทักษะชีวิตจากการอ่าน ท่องจำความหมายจากหนังสือ ทักษะชีวิตเกิดจากการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์และธรรมชาติรอบตัว”

 

ต่อไป ห้องที่ 9 ห้องสุดท้าย “สะเต็มศึกษาแบบเพาะพันธุ์ปัญญา” มีผู้เข้าร่วมฟังมากมาย เพราะหัวข้อทันสมัย อยู่ในกระแสการศึกษาเพื่อไทยแลนด์ 4.0 ประกอบกับครูใหญ่สุธีระ เป็นวิทยากรหลักเอง

ผมไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในห้องนี้ เลยได้แค่ฟังบทสรุปรายงานบนเวทีรวมในช่วงเวลาสั้นๆ

วิทยากรยืนยันความเชื่อว่า สะเต็มศึกษาผสมกลมกลืนไปได้กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแน่นอน หากครูผู้สอนมองทุกอย่างเป็นสะเต็ม สามารถบูรณาการความรู้กับคุณธรรมได้ เพาะพันธุ์ปัญญาทั้งภายในและภายนอกได้หมด การสอนสะเต็มศึกษาแบบเพาะพันธุ์ปัญญา การทำโครงงานฐานวิจัย RBL (Research Based Learning) ตามแนวทางที่ครูเพาะพันธุ์ปัญญาปฏิบัติ นั่นแหละครูกำลังสอนสะเต็มให้เด็กอย่างไม่รู้ตัว

กว้างไกลและลึกซึ้ง แตกต่างไปจากความคิดเดิมๆ เป็นไปอย่างที่ครูสุธีระเขียนไว้ในคำนำหนังสือ “ถอดรหัส การสอนสเต็ม” ว่าครูจำนวนมากเข้าใจว่าสะเต็มคือโครงงาน สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ หลายคนจึงคิดว่าการได้เทคโนโลยีคือ ปลายทางของการเรียนสเต็ม เพราะได้คำตอบ (อุปกรณ์ สิ่งประดิษฐ์) แก้ปัญหาแล้ว

“การศึกษาที่แท้จริง คือการเข้าใจวิทยาศาสตร์ที่กว้างกว่าเอามาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในแนวคิดสะเต็มศึกษา”

ผมมาได้ความคิดเพิ่มเติม จากคำนิยมในหนังสือชื่อ “การเข้าใจวิทยาศาสตร์ที่ครบถ้วน เป้าหมายสูงสุดของสะเต็มศึกษา” ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เขียนให้แก่ผู้เขียน เจ้าของผลงานคือ สุธีระ ประเสริฐสรรพ์

อ่านแล้วได้ความครบถ้วน แทงทะลุถึงเป้าหมายที่แท้จริงของสะเต็มศึกษา ที่กว้างกว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาศตร์และคณิตศาสตร์ แค่นั้น

 

“สเต็มศึกษาต้องเป็นไปเพื่อปัญญา เห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริง เห็นความเชื่อมโยง ซึ่งจะทำให้ดำรงชีวิตตามแนวทางที่ถูกต้อง”

“เป้าหมายที่แท้จริงของสะเต็มศึกษาคือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action) ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection) การเรียนรู้แบบนี้ต้องไม่เรียนแบบแยกส่วน แยกวิชา การเอาวิชา 4 วิชาที่เคยให้เรียนแยกๆ กันมาให้เรียนด้วยกันจะทำได้ต้องเรียนโดยการปฏิบัติหรือลงมือทำ”

“สะเต็มศึกษาจึงเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของครู ในการทำหน้าที่ครู ที่จะต้องไม่สอนโดยเน้นถ่ายทอดความรู้ ไม่เน้นทำตัวเป็นผู้รู้ เปลี่ยนมาทำหน้าที่ตั้งคำถามเพื่อช่วยเหลือให้นักเรียนเรียนได้ทางตรง ช่วยกระตุ้นความช่างสังเกต กระตุ้นให้ค้นคว้าเพิ่มเติมและกระตุ้นความคิด”

“ครูในวิชาที่ไม่ใช่สี่วิชาในสะเต็มก็สามารถเป็นครูสะเต็มได้ หากมองจากมุมของการเรียนรู้ของศิษย์”

 

ผมตัดทอนมาบางส่วนของคำนิยม ศ.นพ.วิจารณ์ อธิบายความมุ่งหมายที่แท้จริงของสะเต็มศึกษาได้ลึกซึ้ง คุณครูต้องการได้สาระและอรรถรสครบถ้วนทั้งเล่ม ขวนขวายหาอ่านกันนะครับ ของฟรีไม่มีในโลก

หรือไม่ก็เปิดเฟซบุ๊ก ฟังครูสุธีระบรรยาย “เรียนรู้สะเต็มจากมุมมองวิศวกร” ความยาวประมาณ 20 นาที คงเกิดความเข้าใจแนวคิด เทียบเคียงการสอนสะเต็มแบบเดิมๆ ที่ครูผ่านการอบรมมา กับแนวทาง ความคิดและวิธีการแบบเพาะพันธุ์ปัญญา นำมาปรับให้เข้ากับการปฏิบัติของแต่ละท่าน

การนำเสนอบทสรุปความคิดรวบยอดจากการประชุมทั้ง 9 ห้องจบลงเป็นรายการปิดท้าย ของเวทีนำเสนอผลงานระดับประเทศประจำปี 2560 เพาะพันธุ์ปัญญาสำหรับเด็กไทย 4.0 สำเร็จลงด้วยความราบรื่น แต่ภารกิจเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยของผู้ร่วมทางทุกคน ทุกฝ่ายยังต้องเดินหน้าต่อ

ทิศทางของโครงการระยะที่สอง นอกจากพัฒนาการสอนสเต็ม ประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับสะเต็มศึกษา ให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาปัญญามนุษย์แล้ว ทิศทางหลักคือนำพาแนวทางเพาะพันธุ์ปัญญาเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยเฉพาะการพัฒนาครู ให้เกิดผลกว้างขวางต่อไป

ใครมีแนวทางทำความหวังให้เป็นจริงอย่างไร สัปดาห์หน้าตอนจบจะว่ากัน