ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 26 มี.ค. -1 เม.ย. 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

มีอาชีพเพราะชาวบ้านให้

ใส่เครื่องแบบที่ชาวบ้านให้

ถืออาวุธที่ชาวบ้านให้

กินเงินเดือนที่ชาวบ้านให้

กลับวางตัวใหญ่เหนือชาวบ้าน

ข่มเหงกดขี่เสรีภาพชาวบ้าน

ขโมยแผ่นดินชาวบ้าน

ขู่เข็ญทำร้ายชาวบ้าน

สุดท้ายฆ่าชาวบ้าน

คือทหารที่ชาวบ้านไม่ได้ขอให้มาปกครอง

 

กติกา กติเกม กติโกง

เป็นบ่วงบาศก์คาดโยงทุกองศา

ยุติธรรมคือธรรมที่ยุติตรา

ประทับรับด้วยบัญชาแห่งชั้นชน

 

ชนชั้นใดได้เปรียบ ใดเสียเปรียบ

มิอาจเทียบโดยสำแดงแห่งเหตุผล

สังคมคนยังคน อยู่คนคน

ใช้เล่ห์กลจักรกล เป็นกลไก

 

กวีนิพนธ์ชิ้นแรก เป็นของละไมมาด คำฉวี

ปรากฏในคอลัมน์รูปที่ไร้ใจครอง ของ “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

แน่นอน เป็นผลสะเทือนใจจากเหตุการณ์ในเมียนมา

ที่ “พม่ารบพม่า”

ซึ่งตอนนี้ยังไม่อาจคาดหมายว่าผลจะออกมาอย่างไร

แต่สิ่งที่ปรากฏ คือการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมา

นำมาสู่การตาย บาดเจ็บ และกวาดจับประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารหลายพันคน

และการสูญเสียนี้คงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ละไมมาด คำฉวี จะขมวดปมของบทกวีนิพนธ์นี้ลงแบบไหน อย่างไร

ต้องพลิกอ่านที่หน้า 60

 

ส่วนกวีนิพนธ์ชิ้นที่สอง เป็นของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ในชื่อ “เกมกลโกง”

ที่เขียนขึ้นประกบกับบทประพันธ์ร้อยแก้ว “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้เช่นกัน

ซึ่งเป็นผลจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ของรัฐสภา

โดยคำว่า “เกม” และคำว่า “อำนาจสถาปนา” เป็นคำฮิตทางการเมืองที่พูดกันมากในรัฐสภา

แน่นอน มันมากด้วยความหมาย และมากด้วยจุดยืน จากทั้งคนในเกม และคนนอกเกม

สำหรับจุดยืน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แสดงผ่านกวีนิพนธ์ “เกมกลโกง”

และผ่านบทความ “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ”

 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บอกว่าติดใจตรงคำว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ที่เป็น “ของประชาชน”

อำนาจนี้เพิ่งมีเมื่อ พ.ศ.2475

โดยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนี้มีหลักใหญ่หรือ “หลักการสูงสุด” อยู่ที่ “รัฐธรรมนูญ”

และผู้ที่มีอำนาจ “สถาปนา” รัฐธรรมนูญได้ก็คือ “ประชาชน”

คำว่า “ประชาชน” กับคำ “ประชาธิปไตย” นี่มีนัยยะสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง

ดังนี้

ประชาธิปไตยมาจากศัพท์ “ประชา+อธิปไตย” แปลว่า “อำนาจอันเป็นใหญ่ของประชาชน” ไม่ใช่ “ประชาชนเป็นใหญ่”

ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ เพราะถ้าประชาชนเป็นโจร บ้านเมืองก็ประสบหายนะ (ฉิบหาย) กันเท่านั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสสรุปความว่า ประชาธิปไตยต้องหมายถึง “ประโยชน์สุขของประชาชนเป็นใหญ่” เพียงเท่านั้น

นี่คือเป้าหมายของประชาธิปไตยที่แท้

 

อ่าน “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ฉบับเต็มที่หน้า 51

อ่านแล้วจะเห็นด้วย

และไม่เห็นด้วย กับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ตามระบอบประชาธิปไตย

เชื่อว่า เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็พร้อมจะเปิดใจกว้างรับฟัง

 

อนึ่ง ในการลงมติในวาระที่ 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2560

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คือ 1 ใน 2 สมาชิกวุฒิสมาชิก

ที่ลงมติ

“เห็นด้วย”