การศึกษา/ผ่าวิกฤต ‘ธนพร-ดิศกุล’ บนเก้าอี้เลขาฯ สกสค.-คุรุสภา

การศึกษา

ผ่าวิกฤต ‘ธนพร-ดิศกุล’

บนเก้าอี้เลขาฯ สกสค.-คุรุสภา

 

แม้ว่านายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะรอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านไปได้

แต่ก็ต้องมา “ตกเก้าอี้” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. หลังศาลอาญาพิพากษาคดีกลุ่มกบฏคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.กับพวกรวม 39 คน รวมถึงนายณัฏฐพลเป็นจำเลยความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

โดยศาลพิพากษา “จำคุก” นายณัฏฐพล 6 ปี 16 เดือน

ส่งผลให้นายณัฏฐพล “ขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี” ตามมาตรา 160(7) ของรัฐธรรมนูญ

 

ถึงแม้ว่านายณัฏฐพลจะพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว แต่ปัญหาอีนุงตุงนังหลายๆ เรื่องใน ศธ.ไม่ได้จบลงไปด้วย กลับดูเหมือนจะคุกรุ่นขึ้นอีกครั้ง

โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกกล่าวหาเรื่องผลักดันให้ “นายธนพร สมศรี” คนสนิท นั่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และถูกกล่าวหาตอบแทนเก้าอี้เลขาธิการคุรุสภาให้ “นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์” ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.ในขณะนั้น

แม้นายณัฏฐพลจะลุกชี้แจงหลังถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นการแต่งตั้งนายธนพรเป็นเลขาธิการ สกสค. ทั้งๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติ โดยแจกแจงว่าทุกขั้นตอนผ่านกระบวนการสรรหาที่ถูกต้อง และการทำงานของนายธนพรก็เป็นที่ประจักษ์

แต่ดูเหมือนคำชี้แจงของอดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไม่ได้ช่วยให้กระแสขับไล่นายธนพรพ้นตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.เบาบางลง!!

ดิศกุล เกษมสวัสดิ์

 

โดยช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) และตัวแทนสมาชิกกว่า 60 คนก็ได้เดินทางมายื่นหนังสือ เพื่อทวงคืนสภาครู เนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศได้รับผลกระทบ และวิธีการของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการคุรุสภาและคณะกรรมการ สกสค. โดยเฉพาะการตัดผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพออก

รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ สรรหา และแต่งตั้งคณะกรรมการคุรุสภาและคณะกรรมการ สกสค.ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 และยื่นเรื่องต่อกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อติดตามเรื่อง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สภาครู จริยธรรมของผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.เรื่องความโปร่งใสในการสรรหาเลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการ สกสค. และผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัด

นอกจากนี้ นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสรรหาก่อนหน้านั้น ได้มอบทีมกฎหมายศึกษารายละเอียด เพื่อดำเนินคดีอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกับผู้เกี่ยวข้องกับการสรรหาเลขาธิการ สกสค. รวมถึงอดีตปลัด ศธ. แม้ผู้เกี่ยวข้องหลายรายจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว

ภายหลังยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ที่พิพากษาว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางได้เยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว ดังนั้น ยืนคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่พิพากษาให้กระบวนการสรรหาดังกล่าวดำเนินการโดยชอบ แต่ไม่ชอบที่คุณสมบัติบางประการ ให้เพิกถอนเฉพาะมติและคำสั่งแต่งตั้งนายณรงค์ แผ้วพลสง เป็นเลขาธิการ สกสค.เมื่อปี 2562

นายอรรถพลระบุว่า เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งและอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ โดยหลักการ ศธ.ไม่ควรดำเนินการสรรหาเลขาธิการ สกสค.ได้ แต่ต้องนำรายชื่อตน ซึ่งเป็น 1 ใน 2 รายชื่อ ที่เข้ารับการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาฯ เมื่อปี 2562 เข้าที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค.ก่อน แต่กลับข้ามไปเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ และได้นายธนพรเป็นเลขาธิการ สกสค. โดยผู้ที่ทำให้เกิดการสรรหาใหม่คือนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน

“ผมไม่ได้คิดเรื่องจะได้คืนสิทธิหรือไม่ แต่กระบวนการต้องดำเนินจนสิ้นสุด เพราะเดิมการรับสมัครและการสรรหาชอบมาตลอด ไม่ชอบเฉพาะคุณสมบัติของนายณรงค์ เท่ากับว่าคุณสมบัติของผมชอบทุกอย่าง แต่เป็นเรื่องของการลงมติไม่ชอบ ดังนั้น ที่ถูกต้องบอร์ด สกสค.ต้องประชุมใหม่ เพื่อเพิกถอนกระบวนการสรรหานายธนพร และลงมติในส่วนของผมให้ถูกต้อง”

นายอรรถพลกล่าว

 

ขณะเดียวกัน นายธนารัชต์ สมคเณ อดีตผู้สมัครเลขาธิการคุรุสภา ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. กรณีประกาศการสรรหาเลขาธิการคุรุสภา แล้วไม่ดำเนินการให้สิ้นสุดกระบวนการเช่นกัน โดยเตรียมยื่นฟ้องคดีแพ่ง คดีอาญา และศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบต่อนายณัฏฐพล กรรมการคุรุสภา และผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความเสียหายในการสรรหาเลขาธิการคุรุสภาเมื่อปลายปี 2563 เช่นกัน

ประเด็นดังกล่าวเกิดเนื่องจาก นพ.ธีระเกียรติได้ประกาศการสรรหาเลขาธิการคุรุสภาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 มีผู้สมัคร 10 คน และนายธนารัชต์เป็น 1 ในผู้สมัคร หลังแสดงวิสัยทัศน์ และรอประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือก

แต่ นพ.ธีระเกียรติได้ประกาศสรรหาเลขาธิกาคุรุสภาใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 ครั้งนี้มีผู้สมัคร 12 คน รวมถึงนายธนารัชต์ ซึ่งการสรรหาในครั้งที่ 2 ไม่ได้ประกาศผลเช่นกัน จึงได้ทำหนังสือถึง นพ.ธีระเกียรติ ขอให้ดำเนินการการสรรหาเลขาธิการคุรุสภาให้สิ้นสุดกระบวนการ

แต่ นพ.ธีระเกียรติยังเพิกเฉย จึงแจ้งความดำเนินคดี นพ.ธีระเกียรติและปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภาในขณะนั้น รวมถึงยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

กระทั่งนายณัฏฐพลเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. นายธนารัชต์จึงได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้ดำเนินการการสรรหาเลขาธิการคุรุสภาให้สิ้นสุดกระบวนการ

ล่าสุดได้เตรียมรายงานรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่อีกครั้ง เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง…

ธนพร สมศรี

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนายธนพร สมศรี เลขาธิการ สกสค.กลับมองว่า เข้ามารับตำแหน่งนี้ถูกต้อง การสรรหาที่ผ่านมามีคณะกรรมการหลายคน หากไม่ถูกต้องหรือผิดกฎหมายคงไม่มีใครทำ ส่วนตัวยังคงเดินหน้าทำงานเพื่อสวัสดิการและสวัสดิภาพครูต่อไป

ขณะที่นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา ที่เพิ่งรับตำแหน่งได้เพียง 6 เดือนก็ยืนยันว่าการตรวจสอบเรื่องนี้เป็นเรื่องของ ศธ. เพราะส่วนตัวถือเป็นผลผลิตของกระบวนการสรรหาที่ถูกเลือกให้เข้ามาทำงาน โดยจะเดินหน้าทำงานต่อให้ดีที่สุด ไม่หวั่นไหว และไม่กังวล สามารถตรวจสอบได้ทุกเรื่อง

ต้องติดตามว่า ทั้งนายธนพรและนายดิศกุลจะฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้หรือไม่!!