เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (มีเหตุผล ตรงเนื้อหา และความจริง)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (10) บทที่ 3 : หลักสำคัญที่ควรทราบ (2)
3.สอนด้วยของจริง หลักการสอนประการที่สามคือ ถ้าสิ่งนั้นแสดงให้เห็นด้วยของจริงได้ พึงสอนด้วยของจริง ก็เห็นจะขอให้ดูสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง พระองค์ทรงสอนด้วยของจริงอย่างไร

สมัยหนึ่งพระภิกษุรูปหนึ่งกระสันอยากสึก (ภาษาพระครับ หมายถึง อยากสึก)

อุปัชฌาย์พาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่ต้องพาเข้าเฝ้าเพราะอุปัชฌาย์จนปัญญาจะเกลี้ยกล่อมให้ศิษย์กลับใจ

เมื่อศิษย์ยังยืนยันจะสึกแน่นอน อุปัชฌาย์จึงพาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสถามว่าเธอลาสิกขา แล้วจะไปทำอะไร

ภิกษุหนุ่มกราบทูลว่า จะทำมาหาเลี้ยงครอบครัวตามความสามารถ

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เธอทราบไหมว่าการครองเรือนจะต้องใช้ทรัพย์เป็นทุนรอนเท่าไร

เมื่อภิกษุหนุ่มตอบว่าไม่ทราบแน่ชัด

พระองค์จึงให้ภิกษุหนุ่มนำก้อนกรวดมาจำนวนหนึ่งแล้วรับสั่งให้เธอแบ่งก้อนกรวดเป็นกองๆ ว่า งบประมาณสำหรับสร้างเรือน (บ้าน) เท่านี้กหาปณะ งบประมาณสำหรับซื้อที่นาเท่านี้กหาปณะ งบประมาณซื้อโคทำนาเท่านี้กหาปณะ งบประมาณสำหรับแต่งงานเท่านี้กหาปณะ งบประมาณฉุกเฉินเท่านี้กหาปณะ เงินใช้จ่ายประจำเท่านี้กหาปณะ ฯลฯ

ปรากฏว่าก้อนกรวดที่นำมาไม่พอ เงินที่จะต้องใช้จ่ายในการครองชีวิตคฤหัสถ์

ภิกษุหนุ่มเริ่มคิดแล้วว่าเรื่องแห่งความเป็นจริงในชีวิตมันแตกต่างจากจินตนาการ ในจินตนาการก็ได้แต่วาดภาพสวยหรูว่าสึกไปแล้ว จะทำอย่างนั้นๆ แต่ชีวิตจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

เมื่อเห็น “ของจริง” เช่นนี้ ภิกษุหนุ่มจึงกราบทูลว่า กลับใจไม่ลาสิกขาแล้ว

อีกตัวอย่างหนึ่งเรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์ อาจารย์ก็สอนด้วยของจริงเช่นกัน

หมอชีวกเป็นใคร ผมได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ชีวิตตัวอย่างหมอชีวกโกมารภัจจ์” ไว้นานแล้ว เห็นจะไม่ต้องเล่ารายละเอียดไว้ที่นี้

ของเล่าโดยสังเขป

เมื่อชีวกโกมารภัจจ์อยู่เรียนกับอาจารย์เป็นเวลา 7 ปี เรียนถามอาจารย์ว่า ตนเรียนจบหรือยัง

อาจารย์บอกว่าไม่ทราบเหมือนกัน เพื่อให้รู้ว่าศิษย์เรียนได้ความรู้เพียงพอหรือยัง อาจารย์จึงให้ศิษย์ออกไปนอกรั้วมหาวิทยาลัย ภายในปริมณฑลหนึ่งโยชน์ทั้ง 4 ทิศ ไปหารากไม้ เปลือกไม้ กิ่งไม้หรือใบไม้อะไรก็ได้ ที่ใช้ทำยาไม่ได้ แล้วนำตัวอย่างมาให้อาจารย์ดู

ชีวกเดินออกจากสำนักของอาจารย์แสวงหาต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ในป่าเป็นการดูด้วยตนเอง โดยนำเอาความรู้สึกที่เล่าเรียนมาทดสอบว่า ต้นไหนใช้ทำยาได้หรือไม่

และได้ประจักษ์ด้วยตนเองว่า ไม่มีแม้แต่ต้นเดียวที่ใช้ทำยาไม่ได้ จึงกลับไปหาอาจารย์รายงานให้ทราบตามนั้น

การสอนด้วยของจริงอีกตัวอย่างหนึ่ง มีกล่าวไว้ในชาดกคือ นามสิทธิชาดก นายคนหนึ่งชื่อว่า บาป ไม่พอใจชื่อตัวเอง จึงบอกอาจารย์ว่าอยากเปลี่ยนชื่อ

อาจารย์ถามว่าจะเอาชื่ออะไร

ตอบว่าต้องการชื่อที่เป็นสิริมงคล

อาจารย์บอกศิษย์ว่าให้เธอเที่ยวตระเวนดูชื่อของประชาชนในเมือง ถ้าเห็นว่าชื่อใครไพเราะดี เป็นสิริมงคลก็ให้เลือกเอาชื่อนั้นมา

ศิษย์ออกจากสำนักเดินมุ่งหน้าเข้าเมือง เห็นนายคนหนึ่งนั่งขอทานอยู่ข้างทางด้วยอาการหิวโหย เกิดความคิดว่า คนขอทานนี้ชื่ออะไร จึงมาขอทาน สงสัยจะชื่อไม่ดี ลองถามชื่อดู

“ผมชื่อนายรวยครับ” ขอทานตอบ

เขาคิดว่า เอ ทำไมชื่อรวยจึงยากจนมาขอทานกิน เขาเดินต่อไป เห็นขบวนแห่ศพเดินผ่านมา ญาติพี่น้องร้องไห้ตามหลัง จึงเข้าไปถามว่า คนตายชื่ออะไร

ได้รับคำตอบว่า “เขาชื่อนายอยู่ ตายเมื่ออายุยังหนุ่ม”

เขาคิดว่า เอ ชื่อนายอยู่น่าจะอายุยืน แต่ทำไมตายตั้งแต่หนุ่ม

เขาเดินต่อไป เห็นเขาคุมนักโทษประหารประจานเมืองก่อนนำเข้าสู่หลักประหาร

จึงเข้าไปถามว่า นักโทษนั้นเขาชื่ออะไร เมื่อได้รับคำตอบ ชื่อนายสุจริต

จึงคิดว่า เอ ทำไมคนชื่อนายสุจริตกลายเป็นโจร

คิดได้ดังนี้แล้วก็ “ได้คิด” ขึ้นมาว่าชื่อนั้นไม่สำคัญ คนชื่อรวยยังจน คนชื่ออยู่ยังตาย คนชื่อสุจริตยังกลายเป็นโจร

เพราะฉะนั้น เราชื่อบาป ไม่จำเป็นต้องเป็นบาปเสมอไป

เมื่อเขาเข้าไปกราบอาจารย์ ถูกอาจารย์ถามว่าได้ชื่อที่ถูกใจหรือยัง จึงกราบเรียนอาจารย์ว่าไม่คิดเปลี่ยนชื่อแล้ว

ขอใช้ชื่อบาปตามเดิม

4.สอนตรงตามเนื้อหา หลักการสอนประการต่อไปคือ สอนตรงตามเนื้อหา เนื้อหาว่าอย่างไรว่าตามนั้น ไม่วกวนไม่นอกเรื่องโดยไม่เกี่ยวกับเนื้อหา อย่างที่ภาษาสามัญเขาว่า “หาลานบินไม่เจอ” คือพอขึ้นต้นได้ก็ดั้นด้นไปไหนต่อไหน จนกลับมาต่อเรื่องเดิมไม่ติด พูดไปๆ หันมาถามผู้ฟังว่า ผมว่าถึงไหนแล้ว

ในนิทานธรรมบท มีพระผู้เฒ่ารูปหนึ่งนาม โลลุทายี ความจริงท่านชื่อ อุทายี แต่มักทำอะไรเลอะๆ เขาจึงตั้งสมญานามว่า “โลลุทายี” แปลว่า อุทายีเลอะ

เวลาชาวบ้านนิมนต์เทศน์ ท่านขึ้นธรรมาสน์ ยกนิกเขปบท (บทสำหรับเทศน์) ขึ้นแล้วก็ร่ายยาวเข้ารกเข้าพง จนคนฟังจับต้นชนปลายไม่ถูก

จนคัมภีร์ท่านบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ในทำนองว่า ริจะเป็นนักเทศน์นักแสดงอย่าเอาอย่างท่านโลลุทายี อะไรอย่างนั้นแหละครับ

5.สอนมีเหตุผล เป็นหลักการสอนประการที่ 5 การสอนเรื่องอะไรจะต้องมีเหตุมีผลที่ผู้ฟังตรองแล้วเห็นจริงตาม คือให้สมเหตุสมผล

เคยมีนักสอนศาสนาหนึ่งมาสอนคนไทย โดยถ้าฟังผิวเผินแล้ว “เข้าท่า” น่าเชื่อถือ

แต่ถ้าตรองตามเหตุผลแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลควรเชื่อ

คือเขาถามคนไทยว่า คนไทยส่วนมากนับถือศาสนาอะไร

เมื่อตอบว่า นักถือศาสนาพุทธ

แล้วถามต่อไปว่า ฝรั่งส่วนมากนับถือศาสนาอะไร

ตอบว่าศาสนาคริสต์

แล้วถามต่อไปว่าประเทศไทยกับประเทศฝรั่ง ประเทศไหนเจริญกว่ากัน

ตอบว่าประเทศฝรั่ง

แล้วเขาสรุปว่า ศาสนาพุทธสู้ศาสนาคริสต์ไม่ได้

นักสอนศาสนาที่เอาแต่ได้ สอนอย่างนี้ก็มีนะครับ ไม่ได้พูดรวมทั้งหมด แต่ยกมาให้ฟังเพียงบางคน เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล อย่าเอาไปปนกับส่วนรวม

การสอนแบบนี้ไม่เป็นเหตุเป็นผล แต่ถ้าฟังโดยไม่คิดก็จะร้องว่า “เออ จริงๆ ด้วย” อะไรทำนองนั้น

ผู้สอนที่ดีจะต้องสอนสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล ชนิดที่ผู้ฟังตรองตามเห็นจริงได้

6.สอนเท่าที่จำเป็นจะต้องรู้ ไม่ใช่สอนเท่าที่ตนรู้

หลักการสอนนี้สำคัญที่สุด ครูที่จบมาใหม่ๆ เช่น จบปริญญาโท ปริญญาเอกมาจากเมืองนอก กำลังฟิต ตนเรียนมาอย่างหรูเท่าใด ก็นำมาสอนหมด สอนแทบเป็นแทบตายเด็กก็ไม่รู้เรื่อง กลับโมโหว่าเด็กมันโง่เง่า สอนเท่าไหร่ก็ไม่รู้เรื่อง ลืมนึกถึงสุภาษิตว่า

พูดไปเขาไม่เข้าใจไปว่าเขา

ว่าโง่เง่างมเงอะนักหนา

ตัวของตัวทำไมไม่โกรธา

ว่าพูดจาให้เขาไม่เข้าใจ

สิงสปาสูตร เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จนำภิกษุทั้งหลายไปยังป่าสิงสปา (แปลว่า ป่าประดู่ลายบ้าง ป่าสีเสียดบ้าง) ทรงหยิบใบไม้กำมือหนึ่ง ตรัสถามว่าใบไม้ในพระหัตถ์ของพระองค์มีจำนวนนิดเดียว บนต้นไม้ในป่ามีมากกว่า

พระองค์จึงตรัสว่า เช่นเดียวกันนั่นแหละ สิ่งที่พระองค์ทรงรู้มีมากมายดุจใบไม้ในป่า แต่ที่ทรงรู้แล้วนำมาสอนนั้น มีนิดเดียวดุจใบไม้ในกำมือ

ที่ทรงสอนนิดเดียวก็เพราะทรงสอนเฉพาะสิ่งที่ผู้ฟังพึงรู้ได้ และมีประโยชน์แก่ผู้ฟัง นี้คือหลักการสอนประการที่ 6

7.สอนสิ่งที่มีความหมายและเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน ข้อนี้คล้ายข้อที่ 5 ข้อที่ 5 สอนเท่าที่เขาจะเข้าใจได้ อย่าสอนทั้งหมดเท่าที่ตนรู้ ข้อที่ 6 นี้เน้นว่าสิ่งที่นำมาสอนนั้นจะต้องมีความหมายแท้จริง หรือมีประโยชน์แท้จริง และเน้นกาลเทศะด้วยว่า แม้สิ่งที่เป็นประโยชน์แท้จริงนั้น ถ้าไม่เหมาะสมแก่กาลเทศะก็ไม่ควรตอบ

พระพุทธองค์ประทานจีวรของพระองค์เองแก่พระมหากัสสปะเถระ ภาพจาก http://www.sookjai.com

ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสว่า พระองค์ทรงมีวิธีพูดอยู่ 6 ประการ (ผู้หากินทางใช้คำพูดน่าจะยึดเป็นหลักอย่างเคร่งครัด) คือ

(1) วาจาใดไม่จริงไม่ถูกต้อง, ไม่เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น, พระองค์ไม่ตรัสวาจานั้น

(2) วาจาใดจริงถูกต้อง, แต่ไม่เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น, พระองค์ไม่ตรัสวาจานั้น

(3) วาจาใดจริงถูกต้อง, เป็นประโยชน์, เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น, พระองค์เลือกตรัสวาจานั้น

(4) วาจาใดไม่จริงไม่ถูกต้อง, ไม่เป็นประโยชน์, ถึงเป็นที่ชอบใจของผู้อื่น, พระองค์ไม่ตรัสวาจานั้น

(5) วาจาใดจริงถูกต้อง, แต่ไม่เป็นประโยชน์, ถึงเป็นที่ชอบใจของผู้อื่น, พระองค์ไม่ตรัสวาจานั้น

(6) วาจาใดจริงถูกต้อง, เป็นประโยชน์, เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น, พระองค์เลือกกาลตรัสวาจานั้น

สิ่งใดที่มีความหมายจริงๆ มีความสำคัญและเป็นประโยชน์จริงๆ ต่อชีวิตเขาครูพึงสอนสิ่งนั้น โดยถูกต้องแก่กาลเทศะเป็นสำคัญ

หลักทั่วไปในการสอนที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่สอนก็มีเพียงเท่านี้