รธน.จากฉบับ ‘อยู่ยาว’ สู่ฉบับ ‘เขาวงกต’ วกวน-วนเวียน-ซ้ำซาก / บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

รธน.จากฉบับ ‘อยู่ยาว’

สู่ฉบับ ‘เขาวงกต’

วกวน-วนเวียน-ซ้ำซาก

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม

โดยเผยแพร่คำวินิจฉัยสรุปย่อผ่านข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 4 บรรทัด

“รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง”

ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสร้างความสับสน ด้วยทำให้ต่างฝ่ายต่างตีความตามความเห็นของตน

หาข้อสรุปไม่ได้

ทำให้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม มีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำคำวินิจฉัยกลางออกมาเพื่อแก้ความสับสน

และที่สุดได้คำวินิจฉัยกลางออกมาจำนวนทั้งสิ้น 12 หน้า

ไฮไลต์อยู่ที่

“การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้วต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงนำประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป อันเป็นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

 

จากคำวินิจฉัยกลางดังกล่าว ทำให้นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ที่เป็นผู้เสนอให้รัฐสภายื่นตีความ ร่วมกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ฟันธงอย่างมั่นใจว่า

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะลงมติวาระ 3 ในวันที่ 17 มีนาคมนี้เป็นโมฆะไปเรียบร้อยแล้ว

เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดเจนว่าครั้งนี้เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทำไม่ได้

และศาลยังย้ำถึง 2 ครั้งให้รัฐสภาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด

หรือถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องให้ไปทำประชามติก่อน

ดังนั้น ทางออกขณะนี้คือหาวิธีให้ร่างแก้ไขดังกล่าวเป็นโมฆะ ตกไปโดยสมบูรณ์

อาจจะใช้วิธีเสนอเป็นญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้ร่างดังกล่าวตกไปเลยตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

หรือให้ประธานรัฐสภาใช้ดุลพินิจชี้ขาดให้ร่างดังกล่าวตกไป ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภาจะหารือกัน

“ไม่สามารถใช้วิธีแช่แข็งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ค้างวาระไว้ แล้วไปรอทำประชามติ เพราะร่างดังกล่าวเป็นโมฆะไปแล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องตกไป” นายสมชายระบุอย่างมั่นใจ

แต่ก็มีการแย้งจากฝ่ายค้าน

อย่างนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน บอกว่า ฝ่ายค้านจะสู้เต็มที่ เพื่อให้มีการเดินหน้าโหวตร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพราะไม่เห็นด้วยให้ถอนวาระออก

ถึงฝ่ายค้านจะแพ้เสียงข้างมากก็จะรณรงค์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

 

ท่าทีของฝ่ายค้านดังกล่าว คือการยืนยันที่จะโหวตวาระที่ 3 แต่ดูสถานการณ์แล้วโอกาสที่จะชนะน้อยมาก เพราะวุฒิสมาชิกคงไม่เอาด้วย

เช่นเดียวกับ พปชร.ก็แสดงท่าทีจะงดออกเสียง ดูทิศทางต่างๆ แล้วแจ่มชัดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

ส่อเค้าแท้งชัดเจน

ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม เพื่อหาทางออกหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก็เต็มไปด้วยสัญญาณว่ารัฐธรรมนูญคงไม่ได้แก้

ส.ส.ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. อยู่ในภาวะเสียงแตก

ในวาระประธานแจ้งให้ทราบมีการเสนอญัตติ เพื่อหาทางออกไม่ต่ำกว่า 5 ญัตติ ซ้อนกันไปซ้อนกันมา

ยิ่งสร้างความสับสน

จนนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา รวมถึงนายชวน หลีกภัย ซึ่งทำหน้าที่ประธาน แจ้งต่อที่ประชุมว่า จริงๆ อาจสรุปได้เหลือเพียง 3 ญัตติ

คือ 1. ขอไม่ให้ลงมติ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญโมฆะไปแล้ว เป็นข้อเสนอของสมาชิกวุฒิสภา

2. ขอให้เลื่อนการลงมติ เพื่อดำเนินการให้ดีขึ้น โดยส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง เป็นข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์

3. ลงมติตามข้อบังคับ โดยการโหวตวาระที่ 3 เลย เป็นข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้าน

แต่ก็ดูเหมือนตลอดทั้งวันที่ 17 มีนาคม หาข้อสรุปไม่ได้ จนที่สุดนายไพบูลย์ นิติตะวัน ลุกขึ้นมาเสนอญัตติใหม่ให้เอาเรื่องการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาเลย ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วย 443 เสียง ทำให้ทั้ง 3 ญัตติแรกตกไป

อันเท่ากับว่า ที่ประชุมรัฐสภาวัดดวงโหวตการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ทันที ทำให้ ส.ส.บางพรรค เช่น ภูมิใจไทยประกาศไม่ร่วมโหวต

โดยนายชวนแจ้งว่าจะใช้เวลาโหวตเป็นรายบุคคล 4 ชั่วโมง ทำให้ยังไม่ทราบผลการลงคะแนน

แต่ที่น่าสังเกต มีสมาชิกรัฐสภาแสดงตนเพื่อโหวตเพียง 379 คน จึงมีโอกาสสูงที่เสียงในฝ่ายต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่พอ และเสียงวุฒิสมาชิกจะไม่ถึง 84 คนเพราะบางส่วนไม่ประสงค์ลงคะแนน เหมือน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่งดออกเสียง ทำให้โอกาสการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่านสูง

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เข้าสู่ภาวะไม่แน่นอนอีกครั้ง และอีกครั้ง

ซึ่งก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ต้องการให้ฝ่ายที่สืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร “อยู่ยาว”

และวางกลไกป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขได้โดยง่าย อย่างสลับซับซ้อน

ซึ่งเมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาไกลถึงวาระที่ 3 แล้ว กลับต้องหยุดลง

คำถามก็คงเป็นอย่างที่ประธานวิปฝ่ายค้าน คือนายสุทิน คลังแสง ถาม นั่นก็คือ

จะดำเนินการเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างไรต่อไป

จะยกร่างใหม่ได้หรือไม่

และใครจะเป็นคนยกร่างใหม่

ถ้ายกร่างใหม่จะยกร่างใหม่ทั้งฉบับหรือเป็นรายมาตรา

ที่สำคัญ นายสุทินกลัวว่า “เมื่อถอนเรื่องไปแล้ว จะอ้างอิงรัฐธรรมนูญบทใดมายกร่างใหม่ ถ้าไม่มีใครให้คำตอบได้ แสดงว่าการแก้รัฐธรรมนูญจบ ไม่สามารถเดินได้ ทั้งการยกร่างใหม่ทั้งฉบับและรายมาตรา”

นายสุทินยังห่วงใยไปถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ ที่ในเนื้อหากฎหมายระบุว่า การทำประชามติต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ขณะนี้มีผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ 50 ล้านคน จึงต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกิน 25 ล้านคน จึงจะทำให้การทำประชามติมีผล ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะกังวลว่าจะเปิดช่องให้ล้มประชามติได้ง่าย

ฝ่านค้านจึงเห็นว่าควรแก้ไขใหม่โดยให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเท่านั้น เพราะเกรงว่าผู้ที่ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญอาจไปรณรงค์ให้ประชาชนนอนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องมาใช้สิทธิ เป็นการล้มการทำประชามติ จนมีผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มไปด้วย

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้หรือไม่

นี่คือความวกวน-วนเวียน-ซ้ำซากกับเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต

 

ซึ่งเมื่อไปถามท่าทีของรัฐบาล ที่มีนโยบายเร่งด่วนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็กลับเข้าไปสู่จุดเดิม นั่นคือลอยตัว ไม่ผูกมัดอะไรทั้งสิ้น

โดยบอกว่า “นายกรัฐมนตรีก็ทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีแล้ว คือการนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นก็เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ”

“ผมสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนจะแก้หรือไม่แก้ หรือแก้กันอย่างไรอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้ามีปัญหาอะไรก็ไปถึงฝ่ายตุลาการ”

“ผมไปก้าวล่วงกับใครอะไรไม่ได้เลย เพียงแต่ยืนยันได้ว่ารัฐบาลจะมุ่งมั่นในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะแก้ได้อย่างไรก็ไปทำกันมาก็แล้วกัน อย่ามากล่าวอ้างว่าผมไม่มีคำตอบ มีการเซ็นคำสั่งอะไรไปผมทำไม่ได้อยู่แล้ว แบบนี้มันอันตราย”

นั่นคือจุดยืน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งล่องลอยเคว้งคว้าง

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า พปชร. ก็บอกเพียงกว้างๆ และเป็นไปตามหลักการเช่นกันว่า พรรค พปชร.พร้อมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็แล้วแต่พรรคร่วมเพราะเป็นเรื่องของแต่ละพรรคจะพิจารณา

 

ต่างจากอีกฝั่งฟากที่เรียกร้องถึงความชัดเจนในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เรียกร้องผู้มีอำนาจในปัจจุบันต้องยึดมั่นในสิ่งที่แถลงนโยบายกับสภาเหมือนผู้นำในต่างประเทศเขาทำกัน โดยอยากเห็นไม่ใช่แค่พรรคประชาธิปัตย์ แต่พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคเดินหน้าตามนโยบายของรัฐบาล แสดงท่าทีที่จริงจัง เพราะต้องไม่ลืมว่าทุกครั้งที่การจัดทำรัฐธรรมนูญมีเหตุต้องสะดุดหยุดลง ล้วนมาจากการกระทำของฝ่ายรัฐบาลทั้งสิ้น

ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า อยากเห็นทุกพรรคการเมืองไม่ว่าเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่ได้รับปากกับประชาชน โดยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า บอกมีความกังวลใจอย่างยิ่งกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เพราะไม่เห็นว่าจะมีกฎกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อจะหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองให้ทุกคนได้อย่างไร

“กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อถูกผลักออกไป ก็จะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเดือดดาล ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างสันติในสภาเป็นไปไม่ได้”

ความห่วงใยนี้คงไปไม่ถึงหูของฝ่ายกุมอำนาจที่ป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดังไข่ในหิน

และทำให้รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ เหมือนอยู่ในเขาวงกต วกวน วนเวียน ซ้ำซากอยู่เช่นนี้