คำ ผกา | มีให้เลือกแค่จะสู้หรือยอม

คำ ผกา

ในทุกสังคมมีพลเมืองสองประเภท

คือ ประเภทที่มีความ active ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ

กับพลเมืองที่ passive อาจเป็นเพราะความ ignorance อาจเป็นเพราะไม่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตมากพอ แค่จะหาอยู่หากินไปวันๆ ก็แทบไม่มีเวลากินเวลานอน

และอีกจำนวนมากก็เห็นว่าไม่อยากหาเรื่องใส่ตัว สู้อยู่เงียบๆ รักษาเนื้อรักษาตัวให้ปลอดภัยดีกว่า

ในหมู่คนที่ active ทางการเมือง ในสังคมไทยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่ไม่เอาประชาธิปไตย เชียร์รัฐประหาร หรือวาทกรรมล่าสุดที่แชร์กันมากในโซเชียลมีเดียคือ “ถ้าประเทศชาติพัฒนาแล้วต้องระคายเคืองเบื้องสูงก็ขออยู่อย่างไม่พัฒนา”

อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเราก็รู้ดีกว่าประชาธิปไตยก็มีหลายเฉด ทั้งเสรีนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยมประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยแบบอนุรักษนิยมอยากให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ต่อต้านเกย์ เลสเบี้ยนอะไรแบบนี้

ถามว่าในกลุ่มคนที่ passive อยากอยู่ในสังคมแบบไหนมากกว่ากัน

ระหว่างสังคมประชาธิปไตยกับสังคม – ไร้ชื่อทางอุดมการณ์ รู้แต่ว่าไม่ชอบให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ อีกนัยหนึ่งคือสังคมสลิ่ม

ถ้ากางผลประโยชน์ออกมาให้ดูว่า ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินที่แปลว่าเราเป็นเจ้าของอำนาจทางการเมือง ใช้อำนาจนั้นผ่านผู้แทนราษฎร ผ่านสภาผู้แทนราษฎร แปลว่า ประเทศนี้บริหารโดยตัวแทนของประชาชน และรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชนจะมีอำนาจแค่ 4 ปีนะ ทุกๆ 4 ปี เราจะเลือกตั้งใหม่

ใครอยากอยู่ในอำนาจนานกว่า 4 ปีก็ต้องตั้งใจทำงาน สร้างผลงานให้ถูกใจประชาชน

หากกลัวการสืบทอดอำนาจก็จงสนับสนุนการกระจายอำนาจ เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งใช้เสียงข้างมาก กินรวบ หรือใช้ความได้เปรียบจากการมีอำนาจรัฐไปอำนวยนโยบายแบบ “ซื้อ” ใจประชาชนหรือมีความได้เปรียบในการเลือกตั้ง

การกระจายอำนาจ ทำให้พรรคการเมืองแข่งขันกันทำงานและสร้างคะแนนนิยมได้ผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่น

หลักของประชาธิปไตยมันเรียบง่ายแค่นี้เอง

ที่สำคัญต้องไม่ฝันหวานว่า มีประชาธิปไตยปุ๊บ บ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้าปั๊บ

ประชาธิปไตยคือกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนที่จะใช้อำนาจของตัวเองให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุด

ดังนั้น ประชาธิปไตยคือการลองผิดลองถูก คนที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล บริหารประเทศอาจจะห่วยมาก อาจจะชั่วมาก อาจจะโกงมาก

แต่ตราบเท่าที่เรามีการเลือกตั้งอย่างไม่หยุดไม่หย่อน กองทัพไม่แทรกแซงการเมือง สื่อมีเสรีภาพในการเปิดโปงความชั่วความไร้ประสทธิภาพของรัฐบาล ประชาชนมีเสรีภาพในการวิจารณ์ สังคมสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐ ของราชการ

ขอแค่หล่อเลี้ยงสิ่งนี้เอาไว้ได้ วันหนึ่งประชาธิปไตยมันจะเข้ารูปเข้ารอยของมันเอง

มันอาจจะไม่ดีเลิศ อย่างน้อยก็ไม่มีใครถูกกดขี่บีฑา ละเมิด คุกคาม หรือถูกกระบวนการยุติธรรม ข้าราชการกลั่นแกล้งตามอำเภอใจ

ในสังคมไทยก็คงมีคนที่รู้ว่าประชาธิปไตยมันดีอีกเยอะมาก เพียงแต่ขี้เกียจเกินกว่าจะออกมาต่อสู้หรือส่งเสียงเพื่อให้ได้มันมา

คนเหล่านี้ก็นั่งรอว่า วันไหนประเทศเราเป็นประชาธิปไตย ฉันก็พลอยได้เสวยสุขไปกับ “ฟ้าวันใหม่” ของสังคมใหม่ไปด้วย

ในระหว่างที่ยังไม่มี ฉันก็ขอหลบมุม ไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางกับพวกเธอนะจ๊ะ

นี่อาจเป็นความแตกต่างระหว่างไทยกับเมียนมา ที่ประชาชนลุกฮือมาต่อต้านรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า

และแม้จะแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า พอมีรัฐประหารอีกก็พากันลุกขึ้นมาต้านรัฐประหารกันทั้งประเทศ

ในประเทศเมียนมาอาจมีความขัดแย้งกันหนักหน่วงระหว่างชาติพันธุ์ มีกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย

แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร ทุกฝ่ายก็เห็นพ้องต้องกันว่าต้องสู้กับกองทัพก่อน ได้ประชาธิปไตยแล้วค่อยมาทะเลาะกันใหม่

ความแตกต่างของไทยกับเมียนมาอยู่ตรงไหน?

ฉันคิดว่าปัญหาใหญ่มากของสังคมไทยและเป็นอุปสรรคของพัฒนาการประชาธิปไตยคือการที่เราไม่เคยยอมรับว่าเราไม่เคยเป็นประเทศที่มี “เอกราช” จริงๆ

ที่พูดว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นนั้นก็ไม่จริง เพราะการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แปลว่าเราไม่มีเอกราชทางการศาล

และแม้เมื่อสมัยหลัง 2475 รัฐบาล “ประชาธิปไตย” ไปต่อสู้มาจนทำให้เรามีเอกราชทางการศาล เราจึงประกาศได้อย่างเต็มภาคภูมิว่าเราเป็นฐานะเป็น “ประเทศ” ที่มีเอกราช มีอิสรภาพ

แต่อำนาจทางการเมืองของฝ่าย 2475 ถูกถอนรากถอนโคนไปอย่างสิ้นเชิงหลัง 2500 ทำให้ประเทศไทยกลับเข้าไปสู่โครงสร้างอำนาจการเมืองแบบเดิมคือสภาวะที่ “คนไทย” ไม่ได้ถูกปลอดปล่อยให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่หวงแหนความเป็น “พลเมือง”

โครงสร้างรัฐราชการจำลองเอาโครงสร้างอำนาจทางการเมืองแบบ “เมืองขึ้น” มาปกครองประเทศ คนไทยจะเป็นไพร่ก็ไม่เชิง แต่มีสถานะคล้ายๆ คนพื้นเมืองภายใต้ระบอบอาณานิคม

ชนชั้นปกครองมีบทบาท อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจประหนึ่งเจ้าอาณานิคม

“คนพื้นเมือง” จะมีชีวิตอยู่ได้ดีประมาณหนึ่งถ้าทำตัวเชื่องๆ กับเจ้าอาณานิคมหรือ เอาตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์นั้น อาจจะได้เป็นทหาร ตำรวจ เป็นข้าราชการมียศ มีศักดิ์สูง แต่ก็ไม่มีวันได้เป็นอย่างอื่นนอกจากเป็นข้าราชการในอาณานิคม

เฉกเดียวกับที่คนพื้นเมืองไม่มีวันกลายเป็นคนผิวขาว และความเป็น “คน” นั้นก็ไม่เท่ากัน

เราจึงเห็นข้าราชการระดับสูงของไทย วางโต อวดเบ่ง รังแกชาวบ้าน แต่พอเจอ “เจ้าอาณานิคม” ที่เป็นนายจริงๆ คนเหล่านี้กลับมีสถานะไม่ต่างจากคนรับใช้

เมื่อไม่อาจก้าวข้ามความเป็นอาณานิคม และไม่เคยรู้ตัวว่าตัวเองตกเป็น “อาณานิคม” ระบบราชการไทยและข้าราชการไทยเกือบทั้งหมดจึงเล่นบทบาท “ข้าราชการ” จริงๆ คือเป็นฝ่ายรับใช้ ปกป้องอำนาจรัฐและอำนาจที่กดขี่

ภาพตำรวจควบคุมฝูงชนที่ออกปฏิบัติหน้าที่คงให้คำตอบนี้ได้ดี และทั้งๆ ที่เขาเหล่านี้คือลูกหลานคนพื้นเมืองที่ถูกกดขี่นั่นแหละ

ลูกหลานคนพื้นเมืองที่ไปได้ดิบได้ดีจากระบบอุปถัมภ์ ก็พร้อมจะเป็นแขนขาให้อำนาจอาณานิคมที่มากดขี่คนพื้นเมืองด้วยกันเอง

ประชาชนคนไทยอีกจำนวนมากก็เห็นว่าเอกราชและอำนาจอธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอย่างสมบูรณ์แบบนั้นเป็นเอเลี่ยน เพราะตั้งแต่เกิดจนตายก็ถูกหล่อหลอมมาให้ “เชื่อง” ต่อระบบอุปถัมภ์ของเจ้าอาณานิคม

พูดอีกนัยหนึ่งคือ คนเหล่านี้คิดว่าชีวิตตนนั้นเป็นของผู้มีอำนาจวาสนา ตนเองมีหน้าที่รับใช้ ภักดี และกตัญญู

คนไทยอีกจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยและอำนาจทางการเมืองของตนจึงถูกมองว่าเป็นพวก “ชังชาติ” และ “อกตัญญู” หรือแม้กระทั่ง “จาบจ้วง”

เผด็จการไทยจึงเป็นคราบของระบอบอาณานิคมที่มีรัฐราชการอันจำลองรูปแบบของระบบราชการแบบอาณานิคม (แม้กระทั่งเครื่องแบบ) จึงเป็นเครื่องมือค้ำจุนอำนาจนี้อย่างเหนียวแน่นที่สุด และมีสลิ่มผู้ทอดตัวเป็นทาสรับใช้อย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นมวลชนผู้หวงแหนความเป็นทาสคอยปกป้องมิให้ระบบนี้ถูกสั่นคลอน

เราคงได้แต่ลุ้นให้เมืองไทยมีชาวพื้นเมืองผู้อยากประกาศเอกราช เห็นคุณค่าของเอกราชและความเป็น “ไทย” มาร่วมกันลุกขึ้นมาส่งเสียงเรียกร้องให้ปึกแผ่น และอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น ดังที่ไผ่ ดาวดิน พูดเอาไว้ว่า

“ประเทศนี้มีให้เลือกแค่จะสู้หรือจะยอม”