Club House! ‘สโมสร’ ประชาธิปไตย “อินเตอร์เน็ตกำลังกลายเป็นจัตุรัสกลางเมืองของหมู่บ้านโลกในอนาคต” Bill Gates / สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

Club House!

‘สโมสร’ ประชาธิปไตย

 

“อินเตอร์เน็ตกำลังกลายเป็นจัตุรัสกลางเมืองของหมู่บ้านโลกในอนาคต”

Bill Gates

 

การสื่อสารสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ ได้เปลี่ยนโลกไปอย่างมาก จนนำไปสู่การเกิดของพื้นที่ใหม่คือ “พื้นที่ไซเบอร์” (Cyber Space) ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์แบบเดิมที่เราคุ้นเคย

หากแต่เป็น “พื้นที่เสมือนจริง” ที่มีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ จนเป็นพื้นที่ทางสังคมของคนร่วมสมัย และชีวิตในพื้นที่เช่นนี้ถูกเชื่อมต่อกันจนเกิดเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่

การสื่อสารของโลกในศตวรรษที่ 21 มีพัฒนาการของแพลตฟอร์มใหม่ๆ และเชื่อมต่อกันด้วยระบบอินเตอร์เน็ต จนเรามักเรียกยุคปัจจุบันว่าเป็น “โลกไร้สาย” ที่ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลเพียงใดในทางภูมิศาสตร์ ความไกลของระยะทางจะไม่ใช่อุปสรรคของการติดต่อสื่อสารอีกต่อไป…

ขอเพียงมีสัญญาณอินเตอร์เน็ต อยู่ที่ใดในโลกก็เชื่อมต่อถึงกันได้เสมอ

โลกไซเบอร์จึงเป็นปรากฏการณ์สำคัญของการมาของศตวรรษใหม่ และประเทศต่างๆ ดูจะกลายเป็นดังบ้านเล็กๆ ในหมู่บ้านที่ชื่อ “โลก” และความเป็นหมู่บ้านโลกที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมต่อของอินเตอร์เน็ต

จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในระดับโลก ระดับรัฐ ระดับสังคม และระดับตัวบุคคล ซึ่งชีวิตในสี่ระดับดังกล่าวเปลี่ยนจนไม่มีอะไรที่เหมือนเดิมอีกต่อไป

และผลความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอีกประการคือ ผลกระทบต่อภาคการเมือง

และต้องยอมรับว่าการเมืองในยุคอินเตอร์เน็ตเป็นการเมืองใหม่ของศตวรรษใหม่

อินเตอร์เน็ตในอาหรับสปริง

 

หากมองจากปรากฏการณ์ของการเมืองโลกแล้ว คงต้องถือว่าการลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับ หรือที่เรียกกันว่า “อาหรับสปริง” เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงบทบาทของโลกอินเตอร์เน็ตที่ต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

และที่สำคัญคือการสะท้อนถึงบทบาทของเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ในการโค่นล้มระบอบเผด็จการ เพราะเครื่องมือเช่นนี้ได้เปิดการเชื่อมต่อการประท้วงในสังคม และพาคนเป็นจำนวนมากในโลกอาหรับที่ไม่พอใจกับระบอบการปกครองเก่าออกมาบนถนนในปลายปี 2543 ต่อเนื่องปี 2544

พลังเช่นนี้ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างจิตสำนึกทางการเมืองในการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยม และดึงเอาพลังจากคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ที่แม้อาจจะมีความแตกต่างกันในเรื่องอาชีพ หรือความต่างทางสังคมให้เข้ามาร่วมเป็นกลุ่มเดียวกันในการต่อสู้ทางการเมือง

เช่น ไม่น่าเชื่อว่าคนที่เป็นแนวหน้าในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่อสู้กับรัฐบาลทหารอียิปต์ คือบรรดานักเล่นเกม และตามมาด้วยการเข้าร่วมของแฮ็กเกอร์

โดยพวกเขาได้สร้างระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับผู้ประท้วงในการต่อสู้กับรัฐบาล ซึ่งทำให้บรรดาผู้เข้าร่วมการประท้วงเชื่อมต่อกัน และสามารถส่งภาพและข้อความถึงกันได้ในเวลาจริง

อีกทั้งภาพและข้อมูลการเคลื่อนไหวเหล่านี้ถูกส่งผ่านอินเตอร์เน็ตไปยังสื่อต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และในระดับโลก

การต่อสู้ที่เกิดในโลกอาหรับกลายเป็นตัวแทนที่ชัดเจนของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ในการต่อสู้ทางการเมือง แม้ว่าก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยเห็นบทบาทเช่นนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “เครื่องแฟกซ์” กับการต่อสู้ของนักศึกษาจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532

หรือบทบาทของ “โทรศัพท์มือถือ” กับการต่อสู้ในไทยจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

แต่การมาของโลกอินเตอร์เน็ตเห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์อาหรับสปริง

ดังจะเห็นได้ว่าภาพและเสียงของการต่อสู้ในโลกอาหรับถูกส่งขึ้นจออย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นในตูนิเซีย อียิปต์ หรือลิเบียก็ตาม จนอินเตอร์เน็ตทำหน้าที่เป็น “ประชาสัมพันธ์การปฏิวัติ” อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่เมื่อการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะแล้ว สื่อตะวันตกจะขนานนามความสำเร็จครั้งนี้ว่าเป็น “การปฏิวัติโดยทวิตเตอร์” (The Twitter Revolution) หรือบางครั้งก็เรียกว่า “การปฏิวัติโดยเฟซบุ๊ก” (The Facebook Revolution)

อาหรับสปริงจึงเป็นภาพแทนที่ระบอบเผด็จการถูกโค่นล้มด้วยการปฏิวัติประชาชนที่มีโลกโซเชียลเป็นพลังขับเคลื่อน และอินเตอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือของการปลดปล่อยของบุคคลในการต่อสู้เผด็จการ

การต่อสู้ของบุคคลถูกเชื่อมต่อเข้ากับการต่อสู้ของมวลชนกลุ่มใหญ่

และพลังของตัวบุคคลที่อยู่ใจกลางการชุมนุมประท้วงได้ถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นพลังของมวลชนด้วยการเชื่อมต่อของอินเตอร์เน็ต

คลับเฮาส์กับการเมืองไทย

 

ในบริบทของไทยวันนี้ ดูจะเป็นเรื่องที่ฮือฮาในทางการเมืองอย่างมากกับการปรากฏตัวของแพลตฟอร์มที่ชื่อ “คลับเฮาส์” (Club House) หรืออาจะเรียกเล่นๆ ในชื่อแบบไทยว่า “สโมสร” และแน่นอนว่า คลับเฮาส์ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของการสื่อสารในการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และเป็นเครื่องมือสื่อสารที่อาจสร้างพลังอย่างมากให้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยไทย

ในระยะเวลาก่อนหน้านี้ไม่นานนัก แพลตฟอร์มที่ชื่อ “เทเลแกรม” (Telegram) [หรือ “โทรเลข” ที่ไม่ใช่โทรเลขในแบบเดิม] ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึง และถูกนำมาใช้ในการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับข่าวสารของฝ่ายรัฐ เพราะนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารรับรู้เป็นอย่าวดีกับการถูก “ติดตามทางข่าวสาร” จากทางฝ่ายรัฐบาล จนฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องแสวงหาช่องทางในการติดต่อสื่อสารใหม่

ซึ่งปัญหาในการเมืองไทยเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดการ “ไล่ล่า” ในเวทีข่าวสารของฝ่ายรัฐ

และอีกส่วนหนึ่งเกิดความไม่มั่นใจในแพลตฟอร์มเดิมในการรักษาความลับของการสื่อสาร

ซึ่งปัญหาเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมทั่วโลก เพราะฝ่ายรัฐมีเครื่องมือมากกว่าฝ่ายต่อต้านเสมอ

อย่างไรก็ตาม เทเลแกรมเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นในรัสเซีย และถูกพิสูจน์จากการใช้ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีปูตินมาแล้ว

ในบริบทของไทย เทเลแกรมอาจจะใช้ในการสื่อสารแทนแพลตฟอร์มเดิมเช่นในกรณีอย่างไลน์ แต่ถ้าต้องการการสื่อสารทางการเมืองในวงกว้างแล้ว คลับเฮาส์ตอบสนองต่อความต้องการเช่นนี้โดยตรง

เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้คนเป็นจำนวนมากเข้าร่วมได้ในแต่ละครั้ง จนอาจจะเป็นเสมือนกับการเปิด “ปราศรัยใหญ่” ในโลกอินเตอร์เน็ต

ผลสะเทือนจากการมาของเครื่องมือสื่อสารในโลกสมัยใหม่ของศตวรรษที่ 21 เช่นนี้ เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน และนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การกำเนิดและพัฒนาการของโลกดิจิตอล กลายเป็นการสั่นสะเทือนต่อทุกภาคส่วนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

จนถึงกับมีข้อพิจารณาที่มองว่า ความก้าวหน้าที่กำลังเกิดขึ้นอาจกลายเป็นภาวะ “ดิสรัปชั่นทางเทคโนโลยี” (Technological Disruption)

และอาจนำไปสู่ความ “แปรปรวน” ในด้านต่างๆ จากพัฒนาการของเทคโนโลยี หรืออาจกล่าวได้ว่าความก้าวหน้าเช่นนี้จะ “ดิสรัปต์” หรือก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนาดใหญ่ ที่โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โลกดิจิตอลเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน เช่น นำไปสู่การกำเนิดของธุรกิจใหม่ๆ

ดังเช่น “อีคอมเมิร์ซ” ทั้งหลาย ในทางเศรษฐกิจ จะเห็นถึงการเกิดของระบบเศรษฐกิจใหม่ในโลกไซเบอร์

ในทางการทหาร จะเห็นได้ว่าการสงครามในยุคปัจจุบันไม่ใช่การรบแบบเก่าอีกต่อไป เช่น สงครามโดรน สงครามไซเบอร์ ในทางการเมืองนั้น รัฐไม่มีขีดความสามารถในการควบคุมสังคมและข่าวสารแบบเดิมได้ทั้งหมด และการต่อสู้ทางการเมืองย้ายไปอยู่ในเวทีใหม่ที่เป็นไซเบอร์มากขึ้น

อีกทั้งในชีวิตทางสังคม คนพึ่งพาอยู่กับการติดต่อสื่อสารของโลกสมัยใหม่ที่เป็นออนไลน์

ชีวิตของผู้คนในสังคมถูกจับไปไว้ในโลกออนไลน์มากขึ้น

และเมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว โลกไซเบอร์จึงเป็นคำตอบของชีวิตในยุคโควิด เพราะคนไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน

ฉะนั้น การเข้ามาของคลับเฮาส์ในการเมืองไทยครั้งนี้ จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่า เพราะไม่เพียงคลับเฮาส์สอดรับกับยุคโควิด ที่การชุมนุมทางการเมืองไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่สาธารณะ มีแต่เพียงพื้นที่ไซเบอร์ก็เพียงพอแล้ว เพราะสามารถรองรับผู้เข้าร่วมการชุมนุมได้เป็นจำนวนมากในแต่ละครั้ง

จนอาจเรียกได้ว่า เป็น “ม็อบไซเบอร์” ก็คงไม่ผิดนัก

พลังดิจิตอล

 

ความสำเร็จของการลุกขึ้นสู้ในโลกอาหรับสะท้อนให้เห็นถึง “พลังดิจิตอล” ที่เป็นแรงขับเคลื่อนการต่อสู้ที่เกิดขึ้น และได้เห็นอีกครั้งในคลื่น “อาหรับสปริงลูกที่สอง” ในปี 2562 (ค.ศ.2019) ไม่ว่าจะเป็นในซูดานและในแอลจีเรียก็ตอกย้ำบทบาทของเครื่องมือการสื่อสารในโลกสมัยใหม่ ที่มีส่วนอย่างสำคัญกับการเรียกร้องประชาธิปไตย

และแน่นอนว่าไม่ต่างกับบทบาทของเครื่องมือนี้ในฮ่องกง อันเป็นพลังของคนหนุ่มสาวในฮ่องกงที่ใช้ต่อสู้กับรัฐบาล ที่ทำให้เกิดการประท้วงขนาดใหญ่อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในฮ่องกงในปี 2562

ฉะนั้น วันนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “คลับเฮาส์” จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของการต่อสู้ทางการเมืองในไทย

และต้องถือว่าเป็นการเปิดมิติใหม่อีกขั้นตอนหนึ่งของเทคโนโลยีการเมือง ซึ่งครั้งแรกคือ ความสำเร็จในการสร้าง “กระแสการเมืองออนไลน์” ที่พรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งในต้นปี 2562

และเมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เปิดสโมสรชวนคนมาคุย เป็นดังการ “ปราศรัยใหญ่” ทางการเมือง แม้จะอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยต่างแดน แต่เงื่อนไขความไกลทางภูมิศาสตร์ก็ไม่ใช่ข้อจำกัดของการสื่อสารอีกต่อไป และคาดได้ว่า อีกไม่นาน “คลับเฮาส์” จะไปแสดงศักยภาพในการประท้วงที่เมียนมาด้วย

นอกจากนี้ คงต้องยอมรับว่า “คลับเฮาส์” รองรับอย่างดีกับการเปิดเวทีการเมืองในโลกยุคโควิด ที่คนไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน

ในภาวะเช่นนี้ คนจึงไม่จำเป็นต้องออกไปชุมนุมในเวทีสาธารณะ โดยโลกไซเบอร์ได้สร้าง “เวทีสาธารณะใหม่” ในทางการเมืองขึ้น อันทำให้การ “ปราศรัยทางการเมือง” และ “การโฆษณาทางการเมือง” ตลอดรวมถึง “การปลุกระดมทางการเมือง” จะมีคลับเฮาส์เป็นเวทีสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตยในอนาคต

แต่ในอีกด้าน ฝ่ายอำนาจนิยมและบรรดาปีกขวาจัดทั้งหลายก็อาจเลียนแบบด้วยการเปิดสโมสรของตัวเองบ้าง

และอีกไม่นาน “สโมสรขวาจัด” ก็คงถือกำเนิดในการเมืองไทย พร้อมกับปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อของทหารขวาจัดก็คงเกิดขึ้นตามมาเช่นกัน

 

เรื่องราวทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า “สนามรบไซเบอร์” คือพื้นที่การต่อสู้ใหม่ของการเมืองไทย และจะเป็นการรบทางการเมืองที่มีความเข้มข้นขึ้น

อีกทั้งเมื่อฝ่ายประชาธิปไตยเปิดการรบด้วยเครื่องมือใหม่ที่เป็น “คลับเฮาส์” แล้ว จึงน่าสนใจว่าปีกขวาจัดและปีกอำนาจนิยมจะตอบโต้อย่างไร

และ “สโมสรขวาจัด” จะขับเคลื่อนในการต่อสู้ครั้งนี้อย่างไร…

โจทย์ของฝ่ายขวาจัดไทยในครั้งนี้ไม่ง่ายเลย และเป็นความท้าทายต่อปีกอนุรักษนิยมไทยอย่างมากในการต่อสู้ทางการเมืองในโลกสมัยใหม่

เมื่อฝ่ายขวาไม่สามารถคุมพื้นที่ “สื่อใหม่” ได้ทั้งหมดแล้ว!