ปุ๊ดทะลักขะณะแบบล้านนา

ปุ๊ดทะลักขะณะแบบล้านนา

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ปุ๊ดทะลักขะณะแบบล้านนา”

แปลว่า พุทธลักษณะแบบล้านนา

พระพุทธรูปของที่ไหนๆ ก็มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น พระพุทธรูปแบบศรีสัชนาลัย แบบศรีอยุธยา ฯ กับแบบของเชียงใหม่นั้นแตกต่างกัน เฉกเช่นหน้าตาของผู้คนในแต่ละภาค

การสร้างพระพุทธรูปแบบล้านนานั้น มีจุดมุ่งหมายคือ ให้องค์พระมีความสง่างาม น่าเลื่อมใส ดูแล้วเกิดความศรัทธา สงบเย็น เกิดความสบายใจ

โดยเฉพาะใบหน้านั้นต้องให้งดงามเป็นพิเศษ

ดังคำโบราณที่ว่าการสร้างพระเจ้านั้น ต้องให้มีคิ้วโก่งราวรุ้งกินน้ำ ช่วงตากลมงามดุจกลีบเท้าวัวอุสุภราช ตาที่เปิดให้แหลมคมดั่งกลีบกระเทียม ริมฝีปากงามเหมือนแย้มหัว คางกลมงามเช่นจันทร์วันเพ็ญ

ดังนั้น ตำราของพุทธลักษณะ ตลอดจนสัดส่วนขององค์พระ ในล้านนาจึงมีการจดจารเอาไว้แน่นอน และมีหลายตำรา

เช่น ตำราของวัดธาตุคำ ตำบลหายยา อำเภอเมือง เชียงใหม่ กล่าวไว้โดยละเอียดว่า

พระพุทธรูปนั่ง ควรมีสัดส่วนหน้าตักกว้างเท่าใด ความยาวของพระบาทเป็นเท่าใด วัดจากสะดือไปถึงนมเป็นเท่าใด ไหล่กว้างเท่าใด ฯลฯ จนได้ “นิโครธลักษณะ” ซึ่งเมื่อใครมองดูแล้วก็จะนึกถึงพระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นศรีมหาโพธิ

จมูกขององค์พระจะต้องได้ “สีหลักษณะ” ว่าจมูกจะต้องยาวเท่าใด เมื่อเทียบกับความยาวของพระบาท เพื่อที่จะสะท้อนถึงการแสดงธรรมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน “อภิธรรมเจ็ดคัมภีร์” บนชั้นดาวดึงส์ หรือ “สุทัสสนจักกัปปวัตตนสูตร” ที่เมืองกุสินารา

ระยะระหว่างพระเนตรทั้งสองให้เทียบกับความยาวของพระบาทจนได้ “ศุภพุทธลักษณะ” เพื่อสะท้อนถึงการนั่งฉันข้าว 49 ก้อนแทบฝั่งน้ำเนรัญชรา ฯลฯ

การกำหนดสัดส่วนยังละเอียดละออมากขึ้นอีก เช่น ความยาวของใบหน้า วัดจากตีนผมมาถึงคิ้วจะต้องเป็นเท่าไร วัดจากคิ้วถึงดั้งจมูกต้องเป็นเท่าใด ปลายจมูกถึงคางยาวเท่าใดจึงจะงาม ติ่งหูควรยาวเท่าใด ริมฝีปากอีก พระโมลีเรียงกันจากใหญ่ขึ้นไปหาเล็ก ฯลฯ

ตำราเหล่านี้ แตกต่างกันไปในแต่ละสำนัก ทำให้ใบหน้าของพระพุทธรูปแบบล้านนามี 3 แบบด้วยกันคือ หน้าขอมค่อนข้างกลมหนึ่ง หน้าแช่มชื่นหนึ่ง และหน้าสว่าง ดูสง่า เหมือนจะเจรจาได้ อีกหนึ่ง

การสร้างพระแบบล้านนา ไม่ว่าจะใช้พุทธลักษณะจากตำราไหน ไม่ว่าจะเป็นพระดินปั้น พระหล่อด้วยโลหะ ครูบาอาจารย์กล่าวว่า ล้วนแล้วแต่ประเสริฐดีงามเสมอกัน