เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ /ปลุกอดีตด้วยดนตรี ที่วัดพระราม

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ปลุกอดีตด้วยดนตรี

ที่วัดพระราม

 

ศุกร์ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไปร่วมงานดนตรี “เสียงอดีตสร้างจินตนาการภาพโบราณ เล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระราม”

ชื่อยาวหน่อย แต่ก็บอกเรื่องราวได้หมดด้วยเสียงดนตรีจากวง “ไทยซิมโฟนีออเคสตรา” ที่มี รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เป็นผู้อำนวยการวง มี พ.อ.ประทีป สุพรรณโรจน์ เป็นผู้ควบคุมวงและวาทยกร

ที่ว่าชื่องานบอกเรื่องราวได้หมดจดก็เพราะสถานที่หรือเวทีแสดงนั้นอยู่บนลานกลางแจ้งหน้าวัดพระราม ที่มีสถูปสถานอันมีพระปรางค์สูงเด่นตระหง่านท่ามกลางซากปรักหักพังของปูชนียสถานใต้ฟ้าสีฟ้าใสยามสนธยา

เสียงดนตรีกับคำบอกเล่าเรื่องราวที่มาของเพลงอันผูกพันกับประวัติศาสตร์อยุธยาทั้งสิ้นนั้น ปลุกวิญญาณของซากสถูปสถานให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ แม้เพียงในจินตนาการ

ปรางค์เปล่าเล่าเรื่องเขื่องโข

ตำนานอันโอ่อดีตสมัย

ลำดับปรับเปลี่ยนแปรไป

ยิ่งใหญ่แห่งศรีอโยธยา

ดนตรีได้ทำหน้าที่ตรงนี้แล้วคือ เล่าเรื่องด้วยจินตนาการจากเสียงเพลง

แม้หลายเพลงจะไม่คุ้นหูด้วยถอดจากตัวโน้ตฝรั่งในหนังสือโบราณ ก็ยิ่งทำให้สัมผัสได้ถึงความลึกลับของคำบอกเล่าถึงเรื่องนั้นๆ อันเคยมีอยู่จริงกลางซากปรักหักพังที่ยังตระหง่านอยู่กลางฟ้ากลางดินตรงนี้วันนี้

 

เสน่ห์ของงานนี้คือ คำบอกเล่าที่มาของแต่ละเพลงโดยอาจารย์สุกรี เจริญสุข เช่นเพลง “ต้นวรเชษฐ์” เล่าจากเนื้อหาในหนังสือ “สูจิบัตร” ว่า

“…เป็นเพลงฝรั่งโบราณที่เข้ามาต้นกรุงศรีอยุธยาสมัยพระเชษฐาธิราช เมื่อชาวโปรตุเกสนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายเมื่อ พ.ศ.2055 ประกอบด้วยเสื้อเกราะทำด้วยผ้าซาตินสีแดงเลือดหมู หอก โล่ หมวกเหล็ก ตกแต่งอย่างงดงาม ปืนและกระสุนดินดำ เชื่อว่าจะมีเครื่องดนตรี (แตรวิลันดา) เข้ามาในสมัยนั้นด้วย ซึ่งจะต้องมีเพลงแตรเข้าแถวของทหารติดเข้ามาพร้อมกัน

“เพลงต้นวรเชษฐ์ มีคุณสมบัติเป็นไทยทำนองสากล แต่เพลงปะปนอยู่ในเพลงสยามยาวนานจนไม่รู้ว่าเพลงดั้งเดิมชื่อว่าเพลงอะไร “ต้นวรเชษฐ์ หรือต้นโปรตุเกส”

ทำนองเพลงนี้ครูชลธี ธารทอง นำมาทำเป็นเพลงลูกทุ่ง “กินอะไรถึงสวย” และเพลง “กินข้าวกับน้ำพริก” ที่หลายคนคงคุ้นหูอยู่ ก่อนนั้นวงสุนทราภรณ์ทำเป็นเพลงรำวง “วันนี้วันดี” และบรู๊ซ แกสตัน นำมาเรียบเรียงเป็นเพลงเปิดโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท

จำทำนองกันได้ยังล่ะ

 

ทํานองเพลงไทยสมัยอยุธยานั้น ภาษาดนตรีไทยเรียกทำนองในจังหวะสองชั้นเป็นพื้นมายืดขยายเป็นจังหวะสามชั้น (ช้า) และจังหวะชั้นเดียว (เร็ว) ดังเรียก “เพลงเถา” ในยุครัตนโกสินทร์นี้เอง

สันนิษฐานว่า เพลงยุคอยุธยามีต้นฉบับจากเพลงพื้นบ้านเป็นสำคัญ กับมีเพลงจากฝรั่งนานาชาติเข้ามาสัมพันธ์กับราชสำนักในสมัยนั้นด้วย ทำให้จังหวะเพลงกระชับขึ้น ดังเพลงต้นวรเชษฐ์นี้เองด้วยกระมัง

เพลงกล่อมเด็กหลายเพลงจากยุคอยุธยาที่มีอยู่ เช่นเพลง

 

“วัดเอ๋ยวัดโบสถ์              ตาลโตนดเจ็ดต้น

เจ้าขุนทองไปปล้น           ป่านฉะนี้ไม่เห็นมา

คดข้าวใส่ห่อ                   ถ่อเรือไปตามหา

เขาก็ร่ำลือมา                   ว่าเจ้าขุนทองตายแล้ว

———ฯ

 

น่าสังเกตคือ เนื้อหาในเพลงกล่อมเด็กมักฝากเรื่องราวสำคัญของยุคสมัยนั้นๆ ไว้ด้วย…ภาษาสมัยว่า

“อย่างมีนัยยะสำคัญ”

อีกเพลงคือ “การะเกด”

 

เจ้าการะเกด (เอย)           เจ้าขี่ม้าเทศ

จะไปท้ายวัง                   ชักกฤชออกมาแกว่ง

ว่าจะแทงฝรั่ง                  ใครห้ามก็ไม่ฟัง

(ชัง) เจ้าการะเกดเอย ฯ

 

บางสำนวนว่า “เมียห้ามก็บ่ฟัง” ส่วนที่วงเล็บไว้นั้น เอยเป็นสำเนียงเอื้อนในทำนองเพลงเพื่อให้ถูกจังหวะหรือได้จังหวะ หาได้มีความหมายอะไรไม่ ตรงนี้จึงเป็นปัญหาเมื่อฝรั่งยุคอยุธยาบันทึกเพลงไทยสมัยนั้น มาสมัยนี้ให้นักดนตรีถอดโน้ตถอดเนื้อดังเพลงสุดใจ และเพลงสายสมร คิดว่าฝรั่งเองไม่รู้เรื่อง ไทยเราเองวันนี้ก็ยิ่งไม่รู้เรื่องไปใหญ่

เหตุหนึ่งสันนิษฐานว่า “เสียงเอื้อน” นี่กระมังที่ฝรั่งถอดเป็นเนื้อร้องไปด้วย เช่น เพลงสายสมร

สายสมรเอย ลูกประคำซ้อนเสื้อ

ขอแนบเนื้อฉะอ้อน เคียงที่นอนในเอย

เพลงนี้ก็เจ้าเอยเพลงใด เพลงระบำหรือเจ้าเอยเจ้าใต้

เพลงนี้ก็เท่าเอย เพลงซอนะเอยพี่เอย

หวังละจะเชย จะเยื้องก้าวย่าง นางช่างจะเลี้ยว จะเดินเอย

“ระบำหรือเจ้าเอยเจ้าใต้” นี่น่าจะเป็น “ระบำชาวใต้” ไม่ใช่ “เจ้าใต้” แน่

ฝรั่งแปลจากการฟังเพลงไทย โดยบันทึกเป็นอักษรฝรั่งไว้ ไทยเรามาแปลจากภาคฝรั่งเป็นไทยก็ถอดความมาได้ดังนี้แล

กลับกันไทยเราฟังเพลงฝรั่งแล้วถอดความมาเป็นภาคไทยก็สนุกไปคนละทางคนละอย่างเช่นกัน ดังเพลงที่ไทยเรียก “ฝรั่งยีแฮม” จากเพลง “The Heavenly Bridegroom Soon Will Come” ไทยเรามาร้องเป็นไทยว่า

“แดแฮนลิมไล้สมสู่มแวนก่ำ”

ดังนี้เป็นต้น

 

งานดนตรี เสียงอดีตวันนี้มี ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินนานาชาติมาร่วมนิรมิตภาพสีน้ำบนผืนผ้าใบ บันทึกได้ทั้งภาพแวดล้อมแสนงดงามโดยมีองค์ปรางค์ตระหง่านโอบอุ้มบรรยากาศทั้งหมดทั้งมวลแล้วยังได้ความรู้สึกถึงจิตวิญญาณอยุธยาจากเสียงเพลงอย่างมีชีวิตชีวา โยงยืนจากอดีตถึงปัจจุบันได้อย่างวิเศษอีกด้วย

งานนี้เป็นโครงการร่วมจากหลายภาคส่วน นำโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือที่เรียกกระทรวง “อว.” มีเจ้ากระทรวงคือ รมต.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โดยมาเป็นประธานเปิดงานในวันนั้นด้วย รวมทั้งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด คือ คุณภานุ แย้มศรี กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันการศึกษา การท่องเที่ยว และหน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

รวมทั้งคณะอนุกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ร่วมติดตามเสนอแนะและเร่งรัดตามแผน “ภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม” นั้น

บึงพระรามในยุคโน้นเป็นที่เล่นเพลงเรือ เพลงสักวาของชาวบ้าน วันนี้ขอฝากสักวาที่เคยเขียนถึงไว้ดังนี้

 

สักวามาถึงบึงพระราม     เมื่อเย็นยามสายัณห์ตะวันย่ำ

บัวเคยบานดอกเด่นเป็นประจำ       บัวจะร่ำลาแล้วหรือแก้วบัว

ใครจะเด็ดดอกไม้ไปไหว้พระ        ที่ริมสระหนองโสนโพล้เพล้สลัว

ทั้งโทนทับกรับฉิ่งเคยหริ่งรัว         วันนี้มัวมืดแล้วแก้วพี่เอย

 

อยุธยา

 

๐ อยุธยาพินาศแก้ว                      กรุงศรี

เกลื่อนกรุกองเจดีย์                       ระดาดพื้น

ปราสาทซากไพที                        พลอยเทวษ

ปรางค์เปล่าเสาอิฐสะอื้น               อาบน้ำค้างหนาว

 

๐ พราวพราวพุทธรูปปั้น               เป็นศิลป์

สูงส่งโย่งใจถวิล                          วิมุติแก้ว

ขัดสมาธิกลาดกองดิน                  เป็นเศษ

เป็นซากกากปูนแล้ว                     ระกะกลิ้งกลางสถาน

 

๐ ตระหง่านพระมหาธาตุทิ้ง         อาทวา

ศรีสถูปอโยธยา                           วิโยคไว้

สูงสุดต่ำสุดสา-                           มัญลักษณ์

ไตรลักษณ์ตระหนักให้                 ถ่องห้วงธรรมหน

 

๐ ไพชยนต์ยศยิ่งแล้ว                   ลอยสวรรค์

สมมติเทวราชัน                          พิชิตหล้า

อยุธยายิ่งเมืองฝัน                        ใจโลก

ใจหล่อใจล่มล้า                           เร่งแจ้งใจเห็น