จิตปราศจากกิเลส : สูตรสำเร็จในชีวิตตามหลักพุทธศาสนา

สูตรสำเร็จในชีวิต (50)

จิตปราศจากกิเลส

สูตรสำเร็จข้อนี้คือ วิรชํ แปลตามอักษรว่า จิตปราศจากธุลี ในทางพระพุทธศาสนา ท่านมักเปรียบกิเลสดุจธุลีเสมอ “จิตปราศจากธุลี” จึงหมายถึงจิตปราศจากกิเลสนั้นเอง

“กิเลส” หมายถึง สิ่งที่ทำจิตให้สกปรกมัวหมอง จิตปราศจากกิเลสจึงเป็นจิตที่บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว

คำว่า “กิเลส” ดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่คนไทยเพราะได้ยินได้ฟังได้อ่านหนังสืออยู่เสมอ คู่กับคำ ตัณหา บางคนนำเอาสองคำนี้มาพูดล้อกันเล่าว่า “ผมหมดกิเลสแล้ว ยังเหลืออยู่แต่ตัณหา”

นั่นแสดงว่า ถึงเราจะได้ยินบ่อย พูดถึงบ่อย แต่เราก็ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของมัน

ความจริง “กิเลส” เป็นคำกลางๆ เรียกความชั่วทางจิตทุกชนิด ความโลภก็เป็นกิเลส ความโกรธก็เป็นกิเลส ความหลงก็เป็นกิเลส ตัณหาก็เป็นกิเลส เพราะฉะนั้น ในคัมภีร์พระไตรปิฎกท่านไม่ค่อยใช้คำศัพท์นี้ เวลาพูดถึงความชั่วของจิต ท่านก็ระบุชื่อมันตรงๆ เลย เช่น ราคะ โทสะ โกธะ ตัณหา ในคัมภีร์ระดับอรรถกถาเท่านั้นที่ใช้ “กิเลส” กันแพร่หลาย

ที่พูดมานี้เป็นข้อสังเกตในแง่วิชาการที่อยากจะฝากไว้ ไหนๆ ก็วิชาการแล้วก็ขอวิชาการต่อไปให้อ่านปวดหัวเล่นสักวันก็แล้วกัน

กิเลสถ้าจะจัดเป็นระดับท่านจัด 3 ระดับคือ

ระดับอนุสัย เป็นกิเลสที่ซึมลึก นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานเป็นพื้นของจิต ถ้าไม่กระทบอย่างแรงก็ไม่แสดงตัวออกมา ท่านเปรียบเหมือนตะกอนที่นอนก้นตุ่ม น้ำในตุ่มนั้นจะมองดูใสน่าดื่ม แต่ถ้ากวนน้ำในตุ่มอย่างแรง ตะกอนนั้นก็จะฟุ้งขึ้นมาทำให้น้ำขุ่นดื่มกินไม่ได้ ถ้าพูดตามหลักวิชา คนที่ยังมิได้เป็นอรหันต์ทุกคนมีกิเลสระดับนี้ทั้งนั้น

ระดับปริยุฏฐานะ แปลตามตัวว่ากิเลสที่กลุ้มรุมจิต เป็นกิเลสประเภทที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน กลัดกลุ้มคุกรุ่นภายใน แต่ยังไม่สำแดงออกมาเป็นพฤติกรรมการล่วงละเมิด

ยกตัวอย่างเรื่องโกรธ ถ้าเป็นเพียงความขัดใจที่แฝงลึกเป็นพื้นของจิตท่านเรียกมันว่า ปฏิฆะ (ความขัดเคือง, ความขุ่นข้องลึกๆ)

ถ้ามันถูกยั่วยุมันก็จะสำแดงออกมาเป็น โกธะ (ความโกรธ ความเดือดดาล)

ถ้าระงับไว้ไม่อยู่ก็จะกลายเป็น โทสะ (ความกราดเกรี้ยวหรือบันดาลโทสะ) พอถึงขั้นนี้ไม่ใช่ยืนหน้าบูดหน้าเบี้ยวเฉยๆ ต้องถึงขั้นลงไม้ลงมือชกต่อย ทุบตีไปตามเรื่อง

ระดับวีติกกมะ หมายถึงกิเลสที่ควบคุมไม่อยู่แล้ว มันต้องแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม ยกตัวอย่างในเรื่องความรัก หนุ่มกรเห็นสาวอรสวยน่ารักไปหมดทุกอย่าง นึกชอบลึกๆ ในใจเป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิต วันดีคืนดีก็ครุ่นคิดคำนึงกระสับกระส่ายด้วยความคิดถึง จิตใจมันว้าเหว่ว้าวุ่นพิกล ฝันถึงทั้งหลับและตื่น นี่เป็นปริยุฏฐานะ วันดีคืนดี (น่าจะเรียกวันร้ายคืนร้าย) สบโอกาสเหมาะอยู่สองต่อสองลับหูลับตาคน หนุ่มกรก็ปล้ำสาวอรเพราะอดรนทนไม่ไหวแล้ว

ขั้นนี้เรียกว่าวิติกกมะ

เห็นหรือยังครับ ถ้าปล่อยกิเลสมันฟุ้งออกมาจนถึงขั้นวิติกกมะแล้ว คนดีๆ ก็กลายเป็นอาชญากร

พระก็กลายเป็นอลัชชี

ท่านจึงสอนวิธีระงับกิเลสแต่ละขั้นๆ ไว้ว่า กิเลสอย่างละเอียดละได้ด้วยการเจริญวิปัสสนา อย่างกลางละได้ด้วยเจริญสมาธิ อย่างหยาบละได้ด้วยรักษาศีล

ระดับปุถุชน การทำจิตให้ปราศจากกิเลสถาวรคงยาก ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ เอาแค่ว่าควบคุมมันไว้มิให้มันแสดงตัวออกจุ้นจ้านน่าทุเรศอย่างกรณีหนุ่มกรก็ใช้ได้แล้ว