สุจิตต์ วงษ์เทศ : แม่นาคพระโขนง “เรื่องแต่ง” ผีผู้หญิง ผู้พิทักษ์ครอบครัว

 

แม่นาคพระโขนง “เรื่องแต่ง”

ผีผู้หญิง ผู้พิทักษ์ครอบครัว

 

แม่นาคพระโขนงไม่เป็นเรื่องจริง แต่เป็นความทรงจำจากคำบอกเล่าเก่าแก่ตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ แล้วแต่งเติมเสริมต่อตกทอดถึงปัจจุบัน และจะมีต่อไปในอนาคตไม่สิ้นสุด

เชื่อกันว่าผีแม่นาคฯ เป็นที่รับรู้กว้างแล้วตั้งสมัย ร.3 น่าจะมีเหตุจากในแผ่นดินนั้นขุดคลองแสนแสบที่หัวหมาก แล้วแต่งคลองพระโขนงกับคลองหัวตะเข้ แสดงว่ามีชุมชนหนาแน่นบริเวณคลองพระโขนง-คลองตัน หลังจากนั้นการค้าเติบโตทำให้ชุมชนขยายออกไป จึงมีคำบอกเล่าสมัย ร.5 ว่า คนรู้จักแม่นาคฯ หรืออีนาคฯ มากกว่ารู้จักสมเด็จโต, ร.1 ฯลฯ

แม่นาคพระโขนงสำนวนแพร่หลายเป็นที่รู้จักมากสุดสืบทอดจนทุกวันนี้ มีต้นแบบเป็นของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

 

นางนาคในความทรงจำ

นางนาคในความทรงจำจากคำบอกเล่า น่าจะมีแล้วตั้งแต่เมืองพระประแดงเก่า สมัยอยุธยาตอนต้น (หรือก่อนหน้านั้น) ซึ่งประชากรสำคัญและส่วนมากเป็น “ขอม” พูดภาษาเขมร ครั้นหลังภาษาไทยมีอำนาจก็พูดภาษาไทย แล้วกลายตนเป็นไทย

ผีบรรพชนของกัมพูชาและไทยตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยา คือ นางนาค เป็นที่รับรู้ทั่วไปย่านคลองพระโขนงทั้งคนชั้นนำและประชาชาติราษฎร เพราะคลองพระโขนงเป็นลำน้ำสายหลักของเมืองพระประแดงเก่า ซึ่งเป็นชุมชนการค้าขนาดใหญ่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้อ่าวไทย (สมัยโน้นเรียกปากน้ำพระประแดง)

เมืองพระประแดงสมัยอยุธยาตอนต้นอยู่คลองเตย สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ บอกในสาส์นสมเด็จว่าคลองเตยมีวัดหน้าพระธาตุ, ศาลเจ้าพระประแดง นอกจากนั้น พบเทวรูป 2 องค์จากคลองสำโรง (แต่ถูกกัมพูชาเอาคืนโดยพญาละแวก) ว่า “ที่ใต้คลองเตยลงไปหน่อยเดียวมีวัดหน้าพระธาตุ มีศาลเจ้าพระประแดง และเจ๊กที่ทำไร่หน้าบ้านขุดได้ทวนเล่มหนึ่ง ทั้งสามสิ่ง—-นี้ ทำให้คิดว่าเมืองพระประแดงเดิมตั้งอยู่ที่คลองเตย”

เมืองพระประแดงเก่า สมัยอยุธยาตอนต้น อยู่ท่าเรือคลองเตย (ท่าเรือกรุงเทพฯ) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเมืองปากน้ำ ทำหน้าที่หลายอย่างเกี่ยวกับการค้าภายในกับภายนอก มีหลักฐานสำคัญ ดังนี้ กำแพงเมืองก่ออิฐ ต่อมาถูกรื้อเอาอิฐไปสร้างกรุงธนบุรีสมัยพระเจ้าตาก ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยกำแพงเมืองพระประแดงเก่า วัดหน้าพระธาตุ ศูนย์กลางของเมืองพระประแดง อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกรื้อพร้อมวัดอื่นๆ ใกล้เคียงเพื่อเอาพื้นที่สร้างท่าเรือกรุงเทพฯ ราว พ.ศ.2478-2480

(หลังจากนั้นสร้างทดแทน คือวัดธาตุทอง สุขุมวิท)

ปากคลองพระโขนงออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือคลองเตย (ฝั่งตรงข้ามคือพื้นที่บางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ)

ผีผู้หญิง ผู้พิทักษ์ครอบครัว

ความทรงจำยาวนานไม่ขาดสายเรื่องแม่นาคพระโขนง เพราะโครงสร้างของเรื่องถูกจริตชาวอุษาคเนย์ คือ love story ของผีผู้หญิง ผู้พิทักษ์ครอบครัว รักผัวรักลูก เป็นมรดกตกทอดจากเรื่อง “แม่นาค” ผีบรรพชนหลายพันปีมาแล้วของกัมพูชาและไทย

ผี หมายถึงคนที่ตายไปแล้ว แต่ขวัญไม่ตาย เรียกผีหรือผีขวัญ ดำรงวิถีปกติเหมือนตอนไม่ตาย แต่ต่างมิติ จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น เป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ตั้งแต่มีคนและมีชุมชนเกิดขึ้นในโลกครั้งแรก

ขวัญเป็นความเชื่อดั้งเดิมของอุษาคเนย์และจีน (อาจทั้งโลกก็ได้) แต่ปัจจุบันในไทยเอาปนกับวิญญาณที่รับจากอินเดีย

ผีตายทั้งกลม หมายถึงตายพร้อมกันทั้งแม่และลูกในท้องยังไม่คลอด ถือว่า “เฮี้ยน” (ไม่ใช่ดุร้าย) พบหลักฐานเก่าสุดพงศาวดารมอญ-พม่า ผลักหญิงท้องแก่ลงหลุมให้เสาปราสาทกระแทกตายคาหลุมจนเลือดกระฉูดพุ่งขึ้นมาเป็นงู

พระเจ้าฟ้ารั่วสร้างปราสาทในเมืองเมาะตะมะ พ.ศ.1827 หญิงมีครรภ์คนหนึ่งเดินมาริมหลุม เจ้าพนักงานพร้อมกันว่าเป็น “ราชาฤกษ์” ก็ผลักหญิงนั้นลงในหลุมเสาเอก แล้วตัดเชือกที่ผูกปราสาทให้ขาด เสาปราสาทนั้นก็ลงไปในหลุม ทับสตรีมีครรภ์ตาย โลหิตสตรีกระเด็นขึ้นมากลายเป็นอสรพิษสี่ตัวสองหน (8 ตัว) อสรพิษ 7 ตัวนั้นตายอยู่ริมปากหลุม ส่วนอสรพิษตัวหนึ่งเลื้อยไปข้างตะวันตกแล้วจึงตาย

ฟ้ารั่ว (เป็นคำแบบไทยกลายจากคำมอญว่าสมิงวาโร) เดิมเป็นมอญรามัญชื่อมะกะโท มีนิทานว่าเคยรับราชการกับพระร่วงเมืองสุโขทัย แล้วหนีกลับเมืองเมาะตะมะ ต่อมามีอานุภาพขึ้นเป็นใหญ่ได้เป็นกษัตริย์เมืองเมาะตะมะนาม “สมิงวาโร”

ศาลแม่นาคพระโขนง วัดมหาบุศย์ อยู่ริมคลองพระโขนง บริเวณสามแยก (ขวา) มีคลองตันไหลมาบรรจบ

แม่นาค

แม่นาคพระโขนง เป็นชื่อยกย่องเรียกในสมัยหลัง ส่วนคนสมัย ร.5 เรียก “อีนาคพระโขนง” หมายถึงผีผู้หญิงตายทั้งกลมชื่อนาค แล้วศพถูกฝังไว้ป่าช้าวัดมหาบุศย์ คลองพระโขนง กรุงเทพฯ

ชื่อแม่นาคพระโขนง สะกดว่า “นาค” มีรากศัพท์เป็นคำละตินว่า noc แปลว่าเปลือย เป็นรากศัพท์ภาษาอังกฤษ snake แปลว่างู ซึ่งเปลือยเปล่า เพราะไม่มีขน ต่อมาชาวอินเดียเรียกคนพื้นเมืองอุษาคเนย์อย่างเหยียดหยามว่านาค หมายถึงคนเปลือย

แต่คนพื้นเมืองยกย่องเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เรียกผีบรรพชนว่า “นางนาค” พบทั่วไปในกัมพูชาและไทย ว่าเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองบ้านเมืองและผู้คน ตั้งแต่นครธมถึงอยุธยา

เพลงดนตรีในเขมรและไทยมีชื่อ “นางนาค” ได้รับยกย่องเป็นเพลงศักดิ์สิทธิ์ในพิธีทำขวัญทุกชนิด สมัยอยุธยา เพลงนางนาคใช้ในพิธีทำขวัญแต่งงาน คู่กับเพลงพระทองนางนาค-พระทอง มีในตำนานเขมรว่าเป็นผีบรรพชนกษัตริย์กัมพูชา สร้างปราสาทหิน นางนาคเป็นธิดาพญานาค พระทองเป็นเจ้าชายมาทางทะเลสมุทร ต่อมาพระยานาคจัดพิธีแต่งงานนางนาค-พระทอง แล้วเนรมิตปราสาทให้อยู่บริเวณโตนเลสาบ (ทะเลสาบ) คือ นครวัด-นครธม

เอกสารสมัย ร.5 สะกดว่า “อีนาก” มีผู้รู้อธิบายว่า “นาก” เป็นโลหะผสมชนิดหนึ่ง คนสมัยก่อนนิยมตั้งชื่อลูกสาวว่า “นาก” แต่สำหรับแม่นาคพระโขนง ควรสะกดว่า “นาค” เพราะสืบทอดความเชื่อจากผีบรรพชน (ตามที่อธิบายมาแล้ว)

อักขรวิธีสมัย ร.5 และก่อนหน้านั้นยังไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น จะเหมารวมอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป