ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 กุมภาพันธ์ 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษในประเทศ
กลองศึก
รัวพลัน
ไม่หวั่นเกรง
การรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และมีการควบคุมตัวออง ซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งนั้น
ถูกจับตาจากประชาคมโลกอย่างใกล้ชิด ว่า จะนำไปสู่อะไร
ชาวเมียนมาจะสงบราบคาบแก่กองทัพเมียนมา
หรือจะลุกฮือขึ้นต่อต้าน
ซึ่งก็ปรากฏว่า เป็นไปในประการหลัง
นั่นคือ ได้ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงกองทัพเมียนมาครั้งใหญ่ที่สุดในรอบมากกว่าทศวรรษ
โดยเริ่มจากการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์
ด้วยการนัดตีหม้อ เคาะกระทะ
ประหนึ่ง “กลองศึก รัวพลัน ไม่หวั่นเกรง”
เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการของทหาร
ตามด้วยมีขบวนการอารยะขัดขืนที่ขยายตัวขึ้นจากโรงพยาบาล โรงเรียน และหน่วยงานรัฐ ที่ไม่ให้ความร่วมมือกับกองทัพ
จากนั้น ก็มีการชุมนุมตามเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าย่างกุ้ง กรุงเนปิดอว์ มัณฑะเลย์ ท่าขี้เหล็ก พะโค ฯลฯ
แม้จะเริ่มมีการปราบปรามรุนแรงจากตำรวจ ไม่ว่าการยิงปืนขึ้นฟ้า ฉีดน้ำ จับกุมผู้ชุมนุม
แต่ไม่อาจระงับยับยั้งจากฝูงชนจำนวนมากได้
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาล พยายามคลี่คลายปัญหา
โดยได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ และย้ำถึงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ทำให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี ชนะอย่างถล่มทลาย จะต้องได้รับการพิสูจน์
พร้อมให้คำมั่นรัฐบาลทหารจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงและมีระเบียบวินัย
จะมีการเลือกตั้งแบบหลายพรรคและจะมอบอำนาจให้แก่ผู้ที่ชนะในการเลือกตั้ง ตามหลักของประชาธิปไตยหลังใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี
แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดยั้งการประท้วงของประชาชนเมียนมา
ทำให้มีการประกาศเคอร์ฟิวในนครย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์ ระหว่างเวลา 20.00-04.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น
แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งสถานการณ์ได้
ทำให้ต้องมีการประกาศกฎอัยการศึกในเขตปกครองท้องถิ่น 7 เขต ที่มีกิจกรรมต้านรัฐประหารอย่างเข้มข้น
โดยห้ามประชาชนชุมนุมกันเกิน 5 คน ห้ามการชุมนุมประท้วง พร้อมกันนี้มีการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 20.00-04.00 น.
แต่นั่นดูเหมือนกลุ่มต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาจะไม่หวั่นเกรง
ยังคงประกาศเดินหน้าชุมนุมประท้วงต่อเนื่อง
แถลงการณ์ของผู้นำเคลื่อนไหวระบุว่า เราจะยังคงต่อสู้ต่อไป
พร้อมกับเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง โค่นล้มเผด็จการอย่างสมบูรณ์ ล้มเลิกรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกองทัพวีโต้ในรัฐสภา และสร้างระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐเพื่อปกครองเมียนมาที่เต็มไปด้วยความแตกแยกจากชาติพันธุ์ต่างๆ
ขณะที่กลุ่ม 88 ซึ่งเคยรวมตัวกันเมื่อเกิดการนองเลือดในการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงในปี พ.ศ.2531
ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยังคงหยุดงานเพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการรัฐประหารต่อไปอีกอย่างน้อย 3 สัปดาห์
ทางกลุ่มยังขอเรียกร้องให้ผู้ประท้วงทั้งประเทศรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว
และคอยให้ความช่วยเหลือกันและกันอย่างเป็นระบบ
ท่ามกลางแรงกดดันที่ประชาคมโลกเรียกร้องสอดคล้องกับผู้ชุมนุมในเมียนมา
ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยด้วย
แน่นอนว่า การรัฐประหารในไทยและเมียนมา มีสาเหตุ ที่มา และเบื้องหลัง ต่างกัน
แต่กระนั้น ในความต่างกันดังกล่าว สิ่งที่เป็นประเด็นร่วมกันอย่างแยกไม่ออกนั่นคือ “ประชาธิปไตย” ถูกทำลาย
จึงกลายเป็นประเด็นร่วมในการเคลื่อนไหว ที่ประชาชนทั้งสองประเทศยึดเป็นแนวทางเดียวกัน
นั่นคือ การเรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมา
ผู้คนในนครย่างกุ้งถือลูกโป่งสีแดงแสดงการประท้วง ขณะที่รถยนต์และรถบัสได้บีบแตรเพื่อแสดงการสนับสนุน
หลายคนได้ทำท่าชูสามนิ้ว
ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านเผด็จการในภูมิภาค ทั้งฮ่องกงและไทย
อย่างที่ ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเมียนมา ให้ข้อสังเกตว่า พม่ากับไทยอาจไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การชู 3 นิ้ว เชื่อว่าส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากไทย
“คิดว่าการชู 3 นิ้วส่วนหนึ่งมาจากไทย เพราะคนพม่าชอบตามข่าวไทย เขารู้สึกว่า คนพม่าผ่านมาแล้ว แต่ตอนนี้สถานการณ์กลับกัน คนพม่าต้องกลับไปอยู่สถานะตรงนั้น” ผศ.ดร.ลลิตากล่าว
และเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน สำหรับผู้มีจิตใจประชาธิปไตย
อย่างที่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ดาวดิน ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก “ไผ่ ดาวดิน – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา – Jatupat Boonpattararaksa” ถึงการที่ประชาชนชาวเมียนมาออกมาต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพ โดยระบุว่า
“เห็นคนเมียนมาต่อสู้ รู้สึกมีพลัง มีความหวังมากๆ สู้ๆ ครับ ประเทศคุณจะไม่เหมือนประเทศไทย เพราะประชาชนต่อสู้ ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร พวกคุณยังมีหมอ พยาบาล ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา พระ เณร พนักงานสายการบิน วิศวกรลาออกประท้วง ดารานักแสดง ทุกคนออกมาพร้อมกันต่อต้านการรัฐประหาร |||
#ไม่สู้ก็อยู่อย่างไทย”
สอดคล้องกับนายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน แกนนำกลุ่มราษฎร ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา ว่า
“ปลุกวิญญาณขบถในตัวทุกคนออกมา แล้วลุกขึ้นยืนพร้อมกัน
ทำลายสังคมเก่าที่เอาเปรียบ เหยียบให้ยับ สร้างสังคมใหม่ไปด้วยกัน”
เช่นเดียวกับ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ว่า รัฐประหารเมียนมาไม่จบง่ายๆ แล้ว วันนี้ประชาชนชุมนุมใหญ่บนท้องถนนในนครย่างกุ้ง ต้านรัฐประหาร ส่วนในออนไลน์กระแสอารยะขัดขืนแรงมาก จนกองทัพบล็อก FB และ IG ก็ยังเอาไม่อยู่ ล่าสุดถึงขั้นตัดอินเตอร์เน็ตอีกรอบ
อย่ามีที่ยืนให้เผด็จการ #ไม่สู้ก็อยู่อย่างไทย
และนี่เองได้นำมาสู่แรงบันดาลใจ การจัดกิจกรรมในไทย
คือกิจกรรม #รวมพลคนไม่มีจะกิน #ตีหม้อไล่เผด็จการ
จัดโดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน x ราษฎร ที่สกายวอล์ก หน้า MBK Center เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564
นายอานนท์ นำภา ยืนยันว่านี่ไม่ใช่การโหนกระแสม็อบเมียนมา เรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องสากล อะไรที่เราสนับสนุนได้เราสนับสนุน
เช่นเดียวกับนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน บอกว่า
“ประชาธิปไตยไม่มีพรมแดนอยู่แล้ว การเคาะหม้อไม่ได้เริ่มที่เมียนมา แต่เริ่มที่สเปน”
“ดังนั้น ไม่แปลกที่เราจะเคาะหม้อไล่เผด็จการ เรียกร้องปฏิรูปสถาบัน และที่เมียนมาก็ชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เราใช้กันมาในขบวนการประชาธิปไตยของไทย ประชาธิปไตยไร้พรมแดน ไม่ว่าประชาชนประเทศไหนก็มีสิทธิเป็นเจ้าของแผ่นดินที่ตนเองเกิด”
อย่างไรก็ตาม ทั้งนายอานนท์และนายพริษฐ์ ก็ไม่ได้มีโอกาสไปร่วมตีหม้อไล่เผด็จการ
ด้วยก่อนการชุมนุม 1 วัน อัยการได้นำนายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ 4 ผู้ต้องหา แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ไปฟ้องคดีต่อศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรณีร่วมชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-สนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ข้อหา ม.112, ยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 และข้อหาอื่น
ปรากฏว่า ศาลไม่ให้ประกันเพนกวินกับพวก เหตุมีโทษสูง และมีพฤติกรรมกระทำซ้ำหลายครั้ง หากปล่อยชั่วคราวเกรงไปก่อเหตุอีก
ถูกควบคุมตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างพิจารณาคดี หมดอิสรภาพ
ถือเป็นวิบากกรรมของฝ่ายที่พยายามเรียกร้องประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ จากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่ยังเผชิญอยู่
ที่ยังเผชิญกับนิติสงครามอย่างหนักหน่วง และต่อเนื่อง
มีสิทธิที่จะสูญเสียเสรีภาพได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ในลบก็มีบวก การไร้อิสรภาพของแกนนำกลุ่มราษฏร ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นสำคัญอีกแรงหนึ่ง ที่ดึงให้คนออกมา #ตีหม้อไล่เผด็จการ
ที่นอกจากแสดงความไม่พอใจความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแล้ว การถ่วงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็จะเป็นเงื่อนไขที่เร้าให้มีการเคลื่อนไหวของคนในปีกประชาธิปไตย เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในปี 2564 นี้
คู่ขนานไปกับการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา
ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยและเมียนมา จึงเป็นเหมือนด้านกลับของกันและกัน
ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เรากลับไปสู่ยุคของเผด็จการทหารหรือการดูแลควบคุมของกองทัพ ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในขณะที่พม่า ดูเหมือนจะก้าวหน้าไปมากกว่า ด้วยอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพลเรือน
แต่วันนี้ เมียนมากลับมาอยู่ใต้เผด็จการ ที่เหมือนล้าหลังกว่า
และกำลังลั่นกลอง รัวพลัน ไม่หวั่นเกรง
เป็นกำลังใจให้กันและกันของฝ่ายประชาธิปไตยทั้งสองประเทศ