เมื่อเหมาแยกทางกับครุสชอฟ / กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

เมื่อเหมาแยกทางกับครุสชอฟ

 

การเผชิญหน้าระหว่างยักษ์มะกันกับจีนที่ผมกำลังเขียนเป็นซีรีส์อยู่ในคอลัมน์นี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่าที่คิด

เพราะผมเชื่อว่าเรากำลังจะเห็น “ระเบียบโลก” ใหม่ที่กำลังถูกเขย่าอย่างแรงด้วยหลายปัจจัย เช่น

1. โควิด-19

2. การแข่งขันด้านเทคโนโลยี

3. เศรษฐกิจที่เสื่อมทรุดเพราะโควิด

4. การเมืองในประเทศของจีนและสหรัฐ

5. ความตึงเครียดจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์

ปีนี้ครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเป็นจังหวะเดียวกับที่สหรัฐจะมีประธานาธิบดีคนใหม่ชื่อโจ ไบเดน

ประกอบกับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่อเมริกาต้องพิสูจน์ว่าจะสามารถปราบโควิดได้สำเร็จหรือไม่

และจีนต้องยืนยันกับชาวโลกว่าไม่ได้ต้องการจะ “ครองโลก” อย่างที่สหรัฐกล่าวหา

โลกกำลังจะเปลี่ยน “สมการ” ใหม่เพราะสองยักษ์จะต้องปรับความสัมพันธ์ต่อกันและกัน

บวกกับความสัมพันธ์ที่วอชิงตันกับปักกิ่งจะสร้างกับประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่เพลี่ยงพล้ำ

 

ผมเรียงลำดับเหตุการณ์ในอดีตมาหลายตอนเพื่อให้เห็นถึงวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้

ที่ท้ายที่สุดก็ตัดสินด้วยผลประโยชน์แห่งชาติของตนเป็นสำคัญทั้งสิ้น

ประเด็นอุดมการณ์ทางการเมืองและลัทธิความเชื่อทางสังคมนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบของการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่อกันเท่านั้น

ดังนั้น แม้ว่าไบเดนจะมาแทนโดนัลด์ ทรัมป์ ในทำเนียบขาวแล้วก็ตาม แต่ผู้นำคนใหม่ก็ยังต้องกดดันจีนเพื่อสกัดไม่ให้เบอร์สองก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งแทนตน

และเบอร์สองวันนี้ก็จะต้องยืนยันในสิทธิของตนที่จะพัฒนาตนเองให้สามารถก้าวขึ้นไปยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับเบอร์หนึ่งเหมือนกัน

จีนอาจไม่ได้ต้องการประกาศศักคาตนเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในทุกๆ ด้าน

แต่ปักกิ่งย่อมถือสิทธิ์ที่จะสร้างตนเองให้เก่งกาจขึ้นกว่าวอชิงตันในบางมิติที่เขาถือว่าสามารถผลักดันตนเองให้วิ่งไปข้างหน้าได้เร็วกว่า

ย้อนกลับไปหลังสงครามเกาหลีที่ทหารจีนกับอเมริกันปะทะกัน และตกลง “พักรบ” ในปี 1953

ปีต่อมา สองยักษ์ใหญ่ก็เผชิญหน้ากันกรณีไต้หวัน

จีนแผ่นดินใหญ่ระดมทหารจุดตรงกันข้ามกับเกาะไต้หวัน ประกาศว่าพร้อมจะบุกยึดเกาะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ที่เพิ่งสถาปนาภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อห้าปีก่อนหน้านั้น

สหรัฐออกมาขวางเต็มที่

วอชิงตันประกาศว่า ถ้าจีนยกทัพข้ามไปเกาะไต้หวันก็จะต้องเจอกับแสนยานุภาพทางทหารอันมหาศาลของอเมริกา

ขณะนั้น เหมาเจ๋อตุงไม่พร้อมจะทำสงครามกับอเมริกาเพราะรู้ดีว่า “จีนใหม่” ยังไร้พลังด้านทหารและเศรษฐกิจพอที่จะปักหลักสู้กับกองทัพที่ใหญ่ที่สุดของโลก

อีกทั้งจีนวันนั้นก็ไม่แน่ใจว่าหากเปิดศึกกับอเมริกา สหภาพโซเวียตจะพร้อมมาร่วมทำสงครามอยู่ข้างตัวเองหรือไม่

หลังจากนั้น อเมริกาก็ตอกย้ำกับปักกิ่งว่าสหรัฐจะปกปักรักษาอธิปไตยของไต้หวันอย่างเต็มที่

เป็นการย้ำเตือนว่าจีนอย่าได้ริอ่านที่จะบุกยึดไต้หวันด้วยกำลังเป็นอันขาด เพราะนั่นเท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับอเมริกา

จีนไม่พร้อมรบ แต่ก็ยืนหยัดว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ดังนั้น ปักกิ่งสงวนสิทธิ์ที่จะ “ทวงคืน” ไต้หว้นเมื่อใดก็ได้

และเตือนว่าต่างชาติไม่ควรจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใต้ของจีน

สหรัฐเข้าช่วยไต้หวันอย่างเต็มที่ด้วยการช่วยปฏิรูปทางเศรษฐกิจและสังคมของไต้หวันอย่างต่อเนื่อง

“สาธารณรัฐจีน” บนเกาะไต้หวันเป็นสมาชิกของสหประชาชาติเพราะสหรัฐยังหนุนหลังอยู่

อีกทั้งอเมริกาก็ยังมีสนธิสัญญาป้องกันประเทศกับไต้หวันเพื่อเป็นยันต์ค้ำความอยู่รอดของไต้หวัน

ในปีเดียวกันนั้น (1954) มีการประชุมใหญ่ที่เจนีวาเพื่อหาทางสงบสงครามเกาหลี

และสงครามอินโดจีนระหว่างเวียดนามกับฝรั่งเศส

คณะผู้แทนจากจีนนำโดยนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลมาร่วมประชุมเพื่อแสดงจุดยืนของปักกิ่ง

นายกฯ โจวเอินไหลพยายามแสดง “ความเป็นผู้ใหญ่” ของตนด้วยการจะไปจับมือทักทายกับนายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลลัส (John Foster Dulles) ณ มุมหนึ่งของห้องประชุม

แต่นายดัลลัสปฏิเสธท่าทีของความเป็นมิตรจากผู้นำจีน

กลายเป็น “ดราม่า” การเมืองที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองครั้งสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะนั่นคือการที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐ “ตบหน้า” จีนที่เพิ่งตั้งไข่อย่างจงใจ

เคยเชื่อกันว่าเมื่อมะกันไม่ไว้หน้านายกฯ ของตนอย่างนี้ ก็ไม่ต้องเผาผีกันทั้งชาติ

แต่สัจธรรมแห่งการเมืองระหว่างประเทศก็ยังมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง

นั่นคือไม่มีมิตรหรือศัตรูถาวร

เมื่อจีนกับสหภาพโซเวียตมีอันต้องระหองระแหงกันอย่างเปิดเผย ในอีก 17 ปีต่อมาเหมาเจ๋อตุงกับส่งสัญญาณคืนดีกับริชาร์ด นิกสัน

เป็นการพลิกประวัติศาสตร์โลกอีกครั้งหนึ่งเช่นกัน

 

แต่แม้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐจะไม่ยอมจับมือกับนายกฯโจวเอินไหลที่เจนีวาในปี 1954 แต่ทูตสหรัฐและจีนที่นั่นก็เริ่มต้นมีการพบปะอย่างเป็นทางการเป็นระยะๆ

แม้การพูดจาทุกครั้งระหว่างผู้แทนทางการทูตของสองประเทศจะย้ำเตือนจุดยืนที่แตกต่างกันทุกคราว แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เชื่อว่าการสร้างภาพว่าพร้อมจะพูดคุยย่อมจะดีกว่าการฟาดฟันกันในสนามรบเป็นแน่

การนัดหมายของทูตจีนและมะกันย้ายจากเจนีวาไปกรุงวอร์ซอในปี 1958

แต่ปักกิ่งก็ได้รับรู้ว่าการทูตย่อมหมายถึงการพูดไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องมีข้อตกลงก็ได้

เพราะในปี 1955 รัฐบาลวอชิงตันก็ออกประกาศข้อตกลงกับไต้หวันในอันที่จะปกป้องอธิปไตยของเกาะแห่งนี้หากถูกรุกราน

เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่าอเมริกายังถือว่าตัวแทนของประชาชนคนจีนนั้นคือรัฐบาลที่ไต้หวัน มิใช่ที่ปักกิ่งแต่อย่างใด

สัญญาณแห่งความร้าวฉานระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเริ่มปรากฏให้เห็นในปี 1956

(มองย้อนกลับไป ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่เหมายอมให้ตัวแทนของตนนัดพบพูดคุยกับทูตอเมริกันที่วอร์ซอเพราะเริ่มรู้ว่าหากต้องห่างเหินจากมอสโกก็ยังมีโอกาสสมานแผลกับวอชิงตัน?)

แม้จีนกับสหภาพโซเวียตจะแสดงความเป็น “สหาย” อุดมการณ์คอมมิวนิสต์เดียวกันมาตลอด แต่ลึกๆ แล้วความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศก็มิได้ราบรื่นมากนัก

แต่รอยปริแยกแห่งจุดยืนกลายเป็นเรื่องที่เปิดเผยเมื่อนายกรัฐมนตรีนิกิต้า ครุสชอฟ แห่งสหภาพโซเวียตประกาศประณามสตาลินในคำปราศรัยในห้องประชุมเฉพาะผู้นำของมอสโก

นั่นคือปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของสหภาพโซเวียตที่ฉีกตัวออกจากแนวทางของสตาลินที่เคยมีอำนาจเบ็ดเสร็จตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เหมาตัดสินตอบโต้ด้วยการประณามครุสชอฟ

ความสัมพันธ์ที่ประคับประคองกันมายาวนานระหว่างปักกิ่งกับมอสโกก็มีอันขาดสะบั้นลง ณ จุดนั้น

แม้เหมาจะเริ่มคิดหาทางซาวเสียงผู้นำสหรัฐหวังจะยับห่างจากมอสโกเพื่อแสวงหาความเป็นมิตรกับวอชิงตัน แต่ก็ต้องเผชิญกับวิกฤตภายในจีนที่สร้างความปั่นป่วนอย่างต่อเนื่องอีกกว่า 20 ปี

นักประวัติศาสตร์หลายสำนักยอมรับว่าแม้จะเกิดความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งในประเทศจีนที่กำลังปรับท่าทีต่ออเมริกาให้อ่อนลง แต่กลไกข่าวกรองของสหรัฐก็หาได้จับสัญญาณที่ชัดเจนแต่อย่างใดไม่

เป็นความล้มเหลวของระบบข่าวกรองโลกตะวันตกที่น่าตะลึงพรึงเพริดไม่น้อยทีเดียว