อินเตอร์เน็ตไทยปี 2021 เร็วแรงกว่า-ถูกกว่า ในอาเซียน / รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

 

อินเตอร์เน็ตไทยปี 2021

เร็วแรงกว่า-ถูกกว่า ในอาเซียน

 

สังคมยุคข่าวสารปัจจุบัน “อินเตอร์เน็ต” กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมากในโลกนี้ไปแล้ว ทั่วโลกกำลังใช้อินเตอร์เน็ตในการประกอบกิจกรรมต่างๆ

สะท้อนให้เห็นภาพของการสื่อสารที่ไร้พรมแดนขยายวงกว้างออกไปมากขึ้นทุกสาขาอาชีพ

การที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็วต้นทุนการลงทุนต่ำ จึงถูกใช้เพื่อประโยชน์สำหรับหน่วยงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การประชาสัมพันธ์องค์กร การโฆษณาสินค้า การค้าขาย การติดต่อสื่อสาร ฯลฯ สร้างความบันเทิงภายในครอบครัว

อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย เริ่มมีการติดต่อเชื่อมโยงเข้าสู่อินเตอร์เน็ตใน พ.ศ.2535 โดยเริ่มที่สำนักวิทยบริการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เช่าวงจรสื่อสารความเร็ว 9600 บิตต่อวินาทีจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย

ต่อมาใน พ.ศ.2536 เนคเทคได้เช่าวงจรสื่อสารความเร็ว 64 กิโลบิตต่อวินาที ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการขนถ่ายข้อมูล ทำให้ประเทศไทยมีวงจรสื่อสารระหว่างประเทศ 2 วงจร

หน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมเชื่อมโยงเครือข่ายในระยะแรกๆ ได้แก่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ และต่อมาได้ขยายไปยังหน่วยงานราชการอื่นๆ

สำหรับภาคเอกชน ได้มีการก่อตั้งบริษัทสำหรับให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่เอกชนและบุคคลทั่วไปที่นิยมเรียกกันว่า ISP (Internet Service Providers) หลายราย เช่น ศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศไทย (Internet Thailand) บริษัท เคเอสซีคอมเมอร์เชียลอินเตอร์เน็ต จำกัด (Internet KSC) บริษัท ล็อกซเล่ย์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด (Loxinfo) เป็นต้น

จากการสำรวจของ Speedtest by Ookla ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่วัดความเร็วอินเตอร์เน็ตที่ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2549 โดยทำการวัดความเร็วอินเตอร์เน็ตไปมากกว่า 30,000 ล้านครั้งนับแต่ก่อตั้งบริษัท โดยมีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 10 ล้านคนต่อวัน

ล่าสุดเว็บไซต์ดังกล่าว เผยแพร่รายงานความเร็วในการใช้งานอินเตอร์เน็ตประจำเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่าประเทศไทยมีอินเตอร์เน็ตมือถือ และอินเตอร์เน็ตบ้านที่มีความเร็วเป็นอันดับ 59 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ (อันดับ 13 ของโลก)

โดยมีความเร็วในการใช้งานเฉลี่ย 32.87 Mbps และยังพบว่าความเร็วอินเตอร์เน็ตบ้านในไทยนั้น ยังเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลกอีกด้วย โดยมีความเร็วเฉลี่ย 171.45 Mbps

ขณะที่ The Economist Intelligence Unit หน่วยงานวิจัยของนิตยสารระดับโลก ที่ Economist ร่วมกับ Facebook ได้จัดทำผลการศึกษาการใช้งาน และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกในปี 2020 ภายใต้ดัชนีชี้วัด Inclusive Internet Index ที่วัดผลของอินเตอร์เน็ต ใน 4 ด้านคือ

1. การเข้าถึงการใช้งานในด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Availability)

2. การแข่งขันและราคาการใช้งานอินเตอร์เน็ตเมื่อเทียบรายได้ประชากร (Affordability)

3. ปริมาณและความหลากหลายของข้อมูล (Relevancy)

และ 4. ความสามารถและความปลอดภัยที่เอื้อในการใช้งาน (Readiness)

พบว่าดัชนี Inclusive Internet Index ของไทยได้คะแนน 74.8 เป็นอันดับที่ 39 ของโลก

และเป็นอันดับ 8 ของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง

ในส่วนของอันดับด้านการเข้าถึงการใช้งานและราคาของการใช้งานอินเตอร์เน็ตนั้นประเทศไทยมีความโดดเด่นเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ แต่เป็นอันดับ 1 ในด้านความถูกของราคาการใช้งานอินเตอร์เน็ตเมื่อเทียบกับรายได้ของประชากร

ประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จของบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเตอร์เน็ต ทั้งในส่วนของความครอบคลุม การเข้าถึงบริการโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน และโดยเฉพาะราคาของการใช้งานอินเตอร์เน็ตเมื่อเทียบรายได้ประชากรที่ประเทศไทยต่ำเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน

ซึ่งการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนไทยไม่ได้เพิ่มเพียงอัตราเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับชั่วโมงการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนไทยอยู่บ้านมากขึ้นใช้เวลาไปกับอินเตอร์เน็ตมากขึ้น

การที่ไทยก้าวสู่สังคมการใช้ดิจิตอลเต็มรูปแบบและมีการใช้ช่องทางสื่อสารช่องทางความเห็นต่างๆ ข่าวต่างๆ สูงกว่าหลายประเทศในทั่วโลกจึงน่าเป็นห่วง

ขณะที่เว็บทดสอบความเร็วอินเตอร์เน็ตอย่าง Speedtest.net โดย ookla ได้สรุปความเร็วเน็ตทั่วโลกประจำเดือนธันวาคม 2020 ดาวน์โหลดแบบเฉลี่ยอยู่ที่ 308.35 Mbps. และค่าอัพโหลดอยู่ที่ 260.86 Mbps. และมีค่า Latency อยู่ที่ 7ms. ไทยขึ้นไปอยู่อันดับ 1 แซงสิงคโปร์ที่หล่นไปอยู่อันดับ 2 และฮ่องกง หล่นอยู่อันดับ 3

เรียกได้ว่าประเทศไทยอันดับขึ้นถึง 2 อันดับเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยของ Fixed Broadband ทั่วโลก ดาวน์โหลด 96.43 Mbps. และค่าอัพโหลด 52.31 Mbps. และมีค่า Latency อยู่ที่ 21ms.

ส่วนความเร็วของเน็ตบนอุปกรณ์มือถือนั้น Qatar เร็วที่สุดอยู่ที่ 178.01 Mbps เป็นอันดับ 1 และ 2-4 คือ UAE, เกาหลีใต้ และจีน ตามลำดับ

ส่วนไทยอยู่ที่อันดับ 33 มีความเร็วดาวน์โหลดแบบเฉลี่ยอยู่ที่ 51.75 Mbps. และค่าอัพโหลดอยู่ที่ 17.47 Mbps. และมีค่า Latency อยู่ที่ 28ms.

 

ทั้งนี้ หลังจากการเดินหน้าเปิดประมูล 5 จี เมื่อต้นปี 2563 มีส่วนทำให้ประเทศไทยสามารถเปิดให้บริการ 5 จีในเชิงพาณิชย์ได้ก่อนประเทศอื่นในภูมิภาคนี้

ไม่เพียงจะทำให้คนไทยเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตที่เป็นบริการพื้นฐานในราคาที่ถูกแล้ว ยังทำให้รัฐบาลสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึงในการสกัดกั้น และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19

และเป็นโอกาสของประเทศที่จะเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มและปรับโครงสร้างบริการโอทีที 5 จี ของประเทศ ให้ก้าวทันโลก เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคดิจิตอลที่กิจกรรมทุกอย่างจะขับเคลื่อนบนมือถือและสมาร์ตโฟน กิจกรรมทุกอย่างจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ในปี 2021

ยุคแห่งสังคมข่าวสารการสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์โทรมือถือทำให้ผู้ใช้งานแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกันแทบทุกมุมโลกได้เชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง การใช้งานอินเตอร์เน็ตในประเทศเติบโตสูงสุด ประชาชนตอบรับการซื้อขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงการขยายตัวของสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เต็มรูปแบบ

มูลค่าการค้าขายบนอินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ คิดเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ในการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศหรือจีดีพี

ซึ่งเชื่อว่าอนาคตของโลกเทคโนโลยีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา รวมรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ต่างก็ตระหนักถึงความสำคัญของ AI ในอนาคตประเทศที่มี AI ล้ำหน้า มีโอกาสจะเป็นผู้ชนะ

แต่ความทะเยอทะยานของประเทศเหล่านี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะ AI เพื่อการพาณิชย์เท่านั้น แต่ได้แพร่ขยายขอบเขตเข้าไปสู่การพัฒนาเพื่อความมั่นคงและการทหารอีกด้วย