จากการเลือกตั้ง สู่รัฐประหารในเมียนมา / บทความต่างประเทศ

A military armoured vehicle is seen along a street in Myitkyina, Kachin State on February 2, 2021, as Myanmar's generals appeared in firm control a day after a surgical coup that saw democracy heroine Suu Kyi detained. (Photo by STR / AFP)

บทความต่างประเทศ

 

จากการเลือกตั้ง

สู่รัฐประหารในเมียนมา

 

เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โฆษกพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) พรรครัฐบาลประเทศเมียนมา แถลงข่าวที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกว่า นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ ผู้นำประเทศโดยพฤตินัยของชาวเมียนมา และบรรดาผู้นำรัฐบาลพลเรือนของพม่าถูกกองทัพพม่าควบคุมตัวไป ตอกย้ำกระแสข่าวลือมาตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจะเกิดการ “รัฐประหาร” ขึ้น

และในที่สุดกองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์เมียวดีทีวี สื่อของกองทัพเอง ประกาศส่งต่ออำนาจบริหารประเทศให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดวัย 64 ปี พร้อมทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี

กองทัพประกาศแต่งตั้งให้ พล.อ.มินต์ ส่วย รองประธานาธิบดี อดีตเจ้าหน้าที่ทหาร ทำหน้าที่ประธานาธิบดีรักษาการ แทนประธานาธิบดีวิน มินต์ ที่ถูกจับกุมไปพร้อมกับซูจี โดยจะดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 1 ปี และจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นหลังจากนั้น

กองทัพเมียนมาให้เหตุผลของการทำรัฐประหารในครั้งนี้ว่า เพราะมีการทุจริตการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีหลักฐานออกมาแสดงแต่อย่างใด

กองทัพอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 417 ที่เปิดทางให้กองทัพสามารถยึดอำนาจได้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นมาตราที่ถูกมองว่าเป็น “กลไกรัฐประหารที่รอการใช้งาน” มาโดยตลอด

 

เกิดคำถามตามมาว่า เพราะเหตุใด? กองทัพเมียนมาจึงต้องทำรัฐประหาร จะเป็นเพราะความพ่ายแพ้ของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) พรรคร่างทรงของกองทัพในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่อาจทำให้อำนาจของกองทัพสั่นคลอนหรืออย่างไร?

ย้อนกลับไปที่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 หลังจากรัฐบาลทหารยอมเปลี่ยนผ่านประเทศจากเผด็จการสู่การเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน ซูจีนำพรรคเอ็นแอลดีได้รับชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย

เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งก่อน ครั้งนี้พรรคเอ็นแอลดีของซูจีก็คว้าชัยชนะเช่นเดิม แถมยังได้เก้าอี้เพิ่มขึ้นเป็น 396 ที่นั่ง จากเก้าอี้ที่ชิงชัยกัน 476 ที่นั่ง แบ่งเป็น สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง 258 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง และสภาชนชาติ หรือสภาสูง 138 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) พรรคการเมืองที่สนับสนุนโดยกองทัพ ได้เก้าอี้ในสภาลดลง โดยในสภาล่างได้ไป 26 ที่นั่ง ลดลง 4 ที่นั่ง และสภาชนชาติได้ไป 7 ที่นั่ง ลดลง 4 ที่นั่งเช่นกัน

ความพ่ายแพ้ของยูเอสดีพีถูกมองว่าไม่มีน้ำหนักมากพอให้กองทัพทำรัฐประหารเนื่องจาก “กองทัพเมียนมา” ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงในรัฐสภาเมียนมา

รัฐธรรมนูญพม่าที่ร่างขึ้นเมื่อปี 2008 ในยุครัฐบาลทหารกำหนดเอาไว้ว่า ให้ “กองทัพเมียนมา” มีโควต้าแต่งตั้งสมาชิกสภาสูงและสภาชนชาติ คิดเป็นสัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์ในทั้งสองสภา คือ 166 ที่นั่ง จากทั้งหมด 664 ที่นั่ง และยังให้อำนาจ “กองทัพ” ในการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน รวมไปถึงมีโควต้ารองประธานาธิบดี 1 ใน 2 คนด้วย

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังบัญญัติเอาไว้ด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งสองสภามากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากจากกองทัพเท่านั้น

นั่นทำให้แนวคิดที่ว่า กองทัพเกรงกลัวว่า “ฝ่ายพลเรือน” จะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญจนกองทัพสูญเสียอำนาจในรัฐสภาไปก็ดูจะไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในประเด็นขัดแย้งที่สร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพเมียนมาที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ที่มีการแต่งตั้งโดยรัฐบาลพลเรือน

หลังการเลือกตั้งไม่นาน กองทัพเมียนมาออกมาแสดงความกังวลว่าจะมีการทุจริตเลือกตั้งขึ้นโดยอ้างว่ามีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีปัญหาอยู่หลายล้านคน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้ตอบรับข้อร้องเรียนดังกล่าว โดยระบุว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ

หลังจากนั้น พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ออกมาประกาศส่งสัญญาณการรัฐประหาร โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญ “เป็นกฎหมายแม่บทของทุกกฎหมายที่มีอยู่และควรได้รับความเคารพ” อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ “ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องล้มล้างรัฐธรรมนูญ”

จากเหตุผลทั้งหลายทั้งปวง นักวิเคราะห์การเมืองเมียนมายังคงปะติดปะต่อหาเหตุผลที่ชัดเจนในการรัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้ บ้างก็ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเกษียณอายุราชการที่ใกล้จะมาถึงของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ที่เวลานี้อยู่ในวัย 64 ปีแล้ว หรืออาจเป็นคดี “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวโรฮิงญา ที่กองทัพกำลังเผชิญอยู่ในศาลระดับนานาชาติ

ขณะที่บางส่วนมองว่าอาจมีประเด็นการเมืองภายในกองทัพเองก็เป็นได้

 

จากนี้ต่อไปสถานะของเมียนมาในเวทีโลกจะได้รับผลกระทบแน่นอน เมื่อชาติตะวันตกต่างเรียงหน้าออกมาประณามการก่อรัฐประหารของกองทัพเมียนมา และอาจนำไปสู่การหวนคืนประกาศคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐอเมริกาได้อีกครั้ง หลักจากยกเลิกไปเมื่อครั้งเมียนมาเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเมื่อ 5 ปีก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องจับตาสถานการณ์ในประเทศเมียนมาว่าจะเกิดกระแสประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารจากประชาชนที่เทคะแนนเลือกตั้งให้ซูจี ที่ชาวเมียนมาต่างเรียกกันว่า “แม่” หรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพรรคเอ็นแอลดีโพสต์แถลงการณ์ในนามของนางออง ซาน ซูจี เรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านการรัฐประหารดังกล่าว

แถลงการณ์ซึ่งถูกร่างเอาไว้ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารขึ้น ระบุว่า

“พฤติกรรมของกองทัพเป็นการนำพาประเทศกลับไปสู่การปกครองแบบเผด็จการ ดิฉันขอเรียกร้องให้ประชาชนปฏิเสธสิ่งนี้ และตอบโต้ด้วยการประท้วงอย่างจริงจังกับการทำรัฐประหารของกองทัพ” ซูจีระบุ