เรื่องที่เกิดไกลตัว เรามักมองเป็นความน่าหัวเราะ แต่เมื่อเกิดใกล้ตัวกลับไม่รู้สึกอย่างนั้น

เมนูข้อมูล | ที่มาอำนาจอันน่าขัน

เกิดการรัฐประหารที่เมียนมา

แน่นอนคนที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องกุมกองทัพและอาวุธ ใช้กำลังพลและอาวุธของประเทศ ยึดอำนาจทางการเมืองให้ตัวเอง

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า คือผู้ก่อการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ด้วยเหตุผลที่คุ้นอย่างยิ่ง แบบว่าการเลือกตั้งที่เพิ่งเสร็จสิ้น และเตรียมจัดประชุมสภาครั้งแรก โดยที่พรรคการเมืองของกองทัพพ่ายแพ้อย่างยับเยินนั้น เป็นการเลือกตั้งที่อยุติธรรม จัดการเลือกตั้งแบบไม่โปร่งใส

กองทัพซึ่งเป็นห่วงเป็นใยประเทศจึงต้องทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ ประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปี เพื่อทำให้อำนาจการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศมีความโปร่งใส

สรุปให้เข้าใจสั้นๆ ง่ายๆ ว่า พรรคทหารแพ้ไม่ได้ ถ้าแพ้ก็ไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากการจัดการเลือกตั้งไม่โปร่งใส ทำให้ประชาชนไปเลือกพรรคพลเรือน

คุ้นๆ ใช่ไหมกับเหตุผลแบบนี้

 

หลังการทำรัฐประหารในพม่า เกิดการแสดงความคิดความเห็นกันมากมายในคนแทบทุกกลุ่มในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการมองเห็นความล้าหลังของการเมืองในเมียนมา การแสดงความเห็นที่แสนจะตลกของทหารแต่ใช้ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้

การไม่ยอมรับการตัดสินในของประชาชนก่อให้เกิดความรู้สึกน่าละอาย

ผู้คนจำนวนมากในประเทศไทยเรา มองการรัฐประหารครั้งล่าสุดของเมียนมาเหมือนเป็นเรื่องไร้สติ

ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดมากกับมุมมองของคนไทยส่วนใหญ่เช่นนี้

เพราะเอาเข้าจริงประเทศไทยเราใช่ว่าจะดูดีกว่าสักเท่าไร

ปี 2557 ทำรัฐประหาร แต่งเพลงเปิดในสื่อรวมการเฉพาะกิจกรอกหูประชาชนอยู่ทุกวันว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” แล้วหลังจากนั้นแก้รัฐธรรมนูญถ้าโอนอำนาจพิเศษจากกองกำลังและอาวุธไปยัดใส่ไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศเพื่อเป็นข้ออ้างกับนานาชาติ ขณะที่ยังมีกองทัพสนับมสนุนอยู่เงียบๆ ตลอดเวลา

ใช้กฎหมายและกลไกอย่างที่เพื่อควบคุมอำนาจ จัดการคนเห็นต่างอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะที่จะกระทบต่อการสืบทอดอำนาจของพรรคพวกตัวมีปัญหา

แปลกมั้ย คนไทยเราไม่ละอายกับพฤติกรรมทางการเมืองเช่นนี้ เท่ากับรู้สึกถึงความย่ำแย่ที่กองทัพพม่าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

 

มีปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ

“นิด้าโพล” สอบถามคะแนนนิยมทางการเมืองของปีที่ผ่านมา ถามในเรื่องเดียวกัน 3 เดือนครั้ง

ในคำถามถึง “บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้” (หมายถึงวันที่ตอบแบบสอบถาม)

แม้ว่าในทุกครั้งส่วนใหญ่จะตอบว่า “ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้”

แต่ผลของคำตอบรองลงมา คือให้เลือกทุกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคนอื่นอยู่ทุกที

สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน ได้ร้อยละ 25.47 พอมากันยายน ได้ร้อยละ 18.64 ลดลง แต่ธันวาคม พรวดขึ้นมาที่ร้อยละ 30.32

เหนือกว่าผู้นำพรรคการเมืองอื่นทั้งหมด

เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศด้วยการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับท่านนายพลแห่งเมียนมา

แตกต่างกันที่การกระทำของนายพลเมียนมาให้ความรู้สึกน่าจะละอาย แต่การกระทำของนายพลไทยกลับเป็นเรื่องน่านิยมยกย่อง

“พล.อ.ประยุทธ์บริหารงานดีอยู่แล้ว เป็นคนจริงจังกับการทำงาน ทำงานตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์ บ้านเมืองไม่วุ่นวาย สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาด ช่วยเหลือประชาชนทุกเพศทุกวัยอย่างทั่วถึง เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และมีความชื่นชมเป็นการส่วนตัว”

คือเหตุผลของผู้ให้การสนับสนุน

ซึ่งเป็นความน่าสนใจมาก

น่าสนใจตรงที่หากเป็นเรื่องที่เกิดไกลตัวเรามักมองเป็นความน่าหัวเราะ แต่เมื่อเกิดใกล้ตัวกลับไม่รู้สึกอย่างนั้น