นงนุช สิงหเดชะ/”รัฐประหาร”ทรัมป์

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

“รัฐประหาร”ทรัมป์

ตอนชนะเลือกตั้งใหม่ๆ แบบพลิกความคาดหมาย ก็ทำให้ชาวอเมริกันบางคนอยากให้มีการยับยั้งไม่ให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่

พูดตรงๆ ก็คือ ขอให้ใครสักคน (ซึ่งก็น่าจะเป็นกองทัพ) เข้ามายึดอำนาจเอาไว้เสียเลย เพราะรู้สึกเหลือทนกับผู้นำคนใหม่นี้เกินกว่าจะยอมรับได้

อันที่จริง แม้แต่คนในพรรครีพับลิกันเองก็ไม่ยอมรับทรัมป์มาตั้งแต่แรก ไม่อยากให้เขาได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงประธานาธิบดี เพราะพฤติกรรมและคำพูดของทรัมป์นั้นสร้างปัญหามากอย่างที่ทราบกัน และอาจกระทบต่อภาพลักษณ์โดยรวมของพรรค

อย่างไรก็ตาม หลังจากทำพิธีสาบานตน ก็มีข่าวเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวด้านลบของเขาออกมาเป็นระยะซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย

ซึ่งระดับความอื้อฉาวเข้มข้นขึ้นตลอดเวลา จนมีบางคนเปรียบเทียบว่าคล้ายกับคดี “วอเตอร์เกต” สมัยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (รีพับลิกัน) ซึ่งทำให้นิกสันต้องลาออกจากตำแหน่ง

ถือเป็นคดีใหญ่มากในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน เรียกได้ว่ากล่าวขานกันชั่วลูกชั่วหลาน

เมื่อมาถึงยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังลุ้นกันว่าชะตากรรมของเขาจะซ้ำรอยวอเตอร์เกตหรือไม่

เพียงแต่ครั้งนี้เป็น “รัสเซียนเกต” เท่านั้นเอง

วอเตอร์เกตยุคนิกสันและรัสเซียนเกตยุคทรัมป์ มีความคล้ายกันหลายอย่าง

เช่น เกี่ยวข้องกับสื่อมือพระกาฬด้านข่าวสืบสวนสอบสวนอย่างวอชิงตันโพสต์ เกี่ยวข้องกับการโจรกรรมข้อมูลพรรคเดโมแครต เกี่ยวข้องกับเอฟบีไอ

วอเตอร์เกตเป็นคดีที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1972 เมื่อนิกสันและคนในคณะรัฐบาลครึ่งร้อยมีส่วนเกี่ยวข้องในการโจรกรรมข้อมูลที่สำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครตที่ตั้งอยู่ในอาคารสำนักงานชื่อวอเตอร์เกตในวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วยการติดตั้งเครื่องดักฟัง

นักข่าววอชิงตันโพสต์ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่อยู่ในวงสุดที่มีนามแฝงว่าดีพโทรต เกี่ยวกับการใช้อำนาจในทางมิชอบดังกล่าวของนิกสันและพวกจึงเสนอข่าวขุดคุ้ยแบบเกาะไม่ปล่อย

ในที่สุดนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนจนพบว่านิกสันและคณะมีความผิดจริง

ตามหลักปฏิบัติของนักข่าว จะไม่เปิดเผยแหล่งข่าวว่าเป็นใคร เพื่อให้แหล่งข่าวไว้วางใจว่าเขาหรือเธอจะไม่เป็นอันตรายหรือได้รับผลกระทบจากการออกมาเปิดเผยความจริงที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือส่วนรวม เมื่อทำได้เช่นนี้แหล่งข่าวก็จะไว้วางใจป้อนข้อมูลให้เป็นระยะ

นี่จึงกลายเป็นที่มาของข่าวสุดยอดระดับโลก

ดีพโทรตนั้นไม่เปิดเผยตัวเอง จนกระทั่งปี 2005 หรืออีก 33 ปีต่อมา

ซึ่งปรากฏว่าเขาคือ มาร์ก เฟลต์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) ในยุคนิกสัน

สําหรับ “รัสเซียนเกต” ยุคทรัมป์นั้น วอชิงตันโพสต์ก็มีบทบาทสำคัญในการเปิดประเด็น ร่วมกับสื่อค่ายหลักๆ เช่น นิวยอร์กไทม์ส

แรกเริ่มมีการแฉว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเพื่อช่วยให้ทรัมป์ชนะ

ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าทำไมทรัมป์จึงมีท่าทีเป็นมิตรและเอาใจผู้นำรัสเซีย

ซึ่งวอชิงตันโพสต์รายงานอ้างอิงข้อมูลจากซีไอเอว่ารัสเซียได้แทรกแซงจริงด้วยการแฮกข้อมูลของพรรคเดโมแครต

และนำไปส่งให้กับเว็บไซต์วิกีลีกเพื่อโจมตี นางฮิลลารี คลินตัน ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

ถัดมาหลังจากทรัมป์ทำพิธีสาบานตนไม่ถึง 1 เดือน ไมเคิล ฟลีนน์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ ต้องลาออกหลังจากถูกแฉว่าติดต่อกับรัสเซียและสัญญาว่าจะยกเลิกการคว่ำบาตรรัสเซีย

ทั้งที่ในช่วงนั้นทรัมป์ยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

จึงถือว่าทำผิดกฎหมาย

เรื่องรัสเซียนเกตยกระดับขึ้นสูงสุด เมื่อทรัมป์ไล่ เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ ออกจากตำแหน่งกะทันหันโดยที่เจ้าตัวก็คาดไม่ถึง

ทรัมป์อ้างเหตุผลว่าปลดเพราะทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่กี่วันถัดมาสื่อหลักๆ เปิดข้อมูลใหม่ขึ้นมาอีกโดยระบุว่าได้อ่านบันทึกของโคมีย์ ซึ่งบันทึกหลังจากทรัมป์เรียกตัวเข้าพบ ในบันทึกแฉว่าทรัมป์ได้ขอให้เขายุติการสืบสวนกรณี ไมเคิล ฟลีนน์

นั่นเท่ากับว่าการปลดผู้อำนวยการเอฟบีไอเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ไม่ใช่ปลดเพราะทำงานไร้ประสิทธิภาพอย่างที่ทรัมป์อ้าง

ต่อจิ๊กซอว์ได้ไม่ยากว่าคนที่นำบันทึกไปให้นักข่าวดู ก็คงไม่พ้น เจมส์ โคมีย์

ซึ่งสุดท้ายเขาอาจกลายเป็นดีพโทรตรายที่สองซึ่งโค่นเก้าอี้ทรัมป์ก็เป็นได้

สื่ออเมริกันและคอลัมนิสต์ที่เชียร์ทรัมป์ ได้พยายามวิเคราะห์ว่าข่าวรัสเซียที่มากระแทกทรัมป์ระลอกแล้วระลอกเล่า เป็นความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะกำจัดทรัมป์ออกไปจากตำแหน่ง

หรือจะเรียกว่าเป็นความพยายาม “รัฐประหาร” ทรัมป์โดยทำให้เห็นว่าเขาไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง

สื่อที่เชียร์ทรัมป์ระบุว่ากลุ่มคนที่พยายามโค่นทรัมป์นี้ เป็นคนในพรรครีพับลิกันเองส่วนหนึ่งโดยร่วมมือกับเดโมแครต

ซึ่งในบรรดาคนรีพับลิกันที่ต้องสงสัยว่าปูดข้อมูลดิสเครดิตทรัมป์ก็คือ จอห์น แม็กเคน (วุฒิสมาชิกและวีรบุรุษสงครามเวียดนาม) ลินด์ซีย์ เกรแฮม และพอล ไรอัน (ประธานสภาผู้แทนราษฎร)

ฝ่ายเชียร์ทรัมป์อ้างเหตุผลแบบแปลกๆ ว่าไม่ถูกต้องที่จะกำจัดทรัมป์ เพราะว่าเขาได้รับเลือกจากประชาชน (ฟังดูคุ้นๆ คล้ายคนพูดอยู่เมืองไทย)

แล้วก็เฉไฉไปว่าคนที่นำข้อมูลทรัมป์ไปเปิดเผยน่าจะเป็นการทำผิดกฎหมาย

ซึ่งผู้วิเคราะห์เช่นนี้ไม่ยอมมองอีกด้าน ในประเด็นที่ว่าหากสิ่งที่ทรัมป์ทำนั้นละเมิดกฎหมาย ไม่เหมาะสม ทำให้ชาติเสียประโยชน์ ใครๆ ที่เห็นแก่ชาติก็ย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะนำไปบอกกล่าวแก่สื่อมวลชน

โดยปกติแล้วหากผู้นำคนใดไม่มีแผล ก็ยากที่ใครจะโค่นล้มได้ เพราะสังคมจะเห็นเอง

แต่กรณีทรัมป์นั้น ถึงแม้ไม่มีใครนำความลับมาเปิดเผยต่อสื่อ ลำพังแค่คำพูดและการกระทำที่สาธารณชนมองเห็นได้เองก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะประทับตราว่าเขาเป็นคนแบบไหน

เพราะไม่ได้มีแค่เรื่องรัสเซีย แต่ยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนหลายอย่าง เช่น ลูกเขยและลูกสาวของเขาเอาตำแหน่งประธานาธิบดีไปเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ

ผู้นำคนใดก็ตามที่ถูกคนใกล้ชิดนำข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบไปเปิดเผยต่อสื่อ ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่คนใกล้ชิดยังทนไม่ได้กับพฤติกรรมของผู้นำประเภทนี้

หากยังเงียบเฉยก็เท่ากับปล่อยให้คนคนนี้หาประโยชน์ใส่ตัวไปเรื่อย

และบางครั้งอาจถึงกับทำลายผลประโยชน์ของชาติ

ชะตากรรมของทรัมป์จะจบลงอย่างไรคงต้องลุ้นกันอีกนาน

เพราะโดยพื้นฐานเขาไม่น่าจะมีสปิริตอะไรในเรื่องนี้คงดื้อแพ่งจนนาทีสุดท้าย

และเป็นไปได้ว่าถ้าโดนบีบมากๆ เขาอาจปลุกระดมให้คนที่เลือกเขาลุกฮือขึ้นมาประท้วงหรือขัดขวางใครก็ตามที่จะตรวจสอบเอาผิดเขาก็เป็นได้

แต่ระหว่างต่อสู้เพื่อยื้ออำนาจนี้ เศรษฐกิจจะเสียหายไปทีละน้อยเนื่องจากนักลงทุนจะเกิดความไม่มั่นใจ

เพราะถือว่าเกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองขึ้นแล้ว