ความจำกัดของความเติบโต หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 /อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (10)

 

ความจำกัดของความเติบโต

หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

 

มีความรู้และการปฏิบัติที่ขัดแย้งกันคู่หนึ่งเกี่ยวกับวิกฤติสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ความรู้ทั้งคู่นี้ ต่างมีฐานบนวิทยาศาสตร์ ความรู้แรกคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่

อีกความรู้หนึ่งได้แก่ความจำกัดของการเติบโต

จะได้กล่าวเป็นลำดับไป

 

1) การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ตั้งอยู่บนฐานของการปฏิวัติอุตสาหกรรมสามครั้งที่ผ่านมา และขับเคลื่อนด้วยพลังหลายประการด้วยกัน ได้แก่

ก) พลังการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว สร้างทฤษฎี เทคนิคและนวัตกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเทคโนโลยีดิจิตอล อวกาศ การทหาร และการแพทย์

ข) การแปรเศรษฐกิจเป็นเชิงการเงิน ประดิษฐ์ใช้เครื่องมือและมาตรการทางการเงินจำนวนมาก เพื่อแก้ไขวิกฤติ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขยายการเติบโต และกลับไปสนับสนุนการวิจัยพัฒนาในด้านต่างๆ

ค) การแปรเป็นแบบโลกาภิวัตน์ เกิดการผลิต การค้า การลงทุน และธุรกรรม การไหลเวียนของเงินตราอย่างไร้พรมแดน เชื่อมทุน แรงงานของโลกเข้าเป็นตลาดเดียว

ในการปฏิบัติดังกล่าว ได้เกิดปัญหาในทุกระดับ เช่น ในด้านเทคโนโลยี เกิดการผูกขาดใหม่ทางเทคโนโลยี โดยบริษัทอย่างเช่น กูเกิล แอปเปิล และแอมะซอน เป็นต้น

พร้อมกับเกิดกระแสการต่อต้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

ในด้านการแปรเป็นเชิงการเงิน ได้เกิดวิกฤติการเงินใหญ่ปี 2008 เริ่มต้นที่สหรัฐต้องใช้มาตรการอัตราดอกเบี้ยต่ำจนถึงขณะนี้ จนเกิดวิกฤติหนี้ทั่วโลก

ในด้านโลกาภิวัตน์ได้เกิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจ และระบอบการเมืองแบบประชานิยมเอียงขวาขึ้นในหลายประเทศ เกิดเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน เป็นต้น

การระบาดของโควิด-19 ยังได้ทำให้กระบวนโลกาภิวัตน์ร่อแร่หนักขึ้น เมื่อเกิดการปิดเมือง ปิดประเทศ ไม่ไปมาหาสู่กัน พบกันแต่ในความเสมือนจริง แม้แต่สินค้าก็มีการตรวจอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันโรค การค้าโลกปี 2020 ลดลงร้อยละ 9.2

ยังไม่รู้ว่าโลกไร้พรมแดนจะฟื้นตัวเหมือนเดิมได้หรือไม่ และเมื่อใด

แม้จะเกิดปัญหามากดังกล่าว แต่ชาติต่างๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ จีน สหภาพยุโรป ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเดินไปตามหนทางทั้งสามประการข้างต้น เพราะมีเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องระหว่างกัน ยากที่จะหย่าขาดจากกันโดยเร็ว

สหรัฐสมัยทรัมป์ (2017-2020) ที่ประกาศสงครามการค้ากับจีนและประเทศอื่นทั่วโลก หวังที่จะลดการขาดดุลทางการค้า ลดการพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศ ใช้ของที่ผลิตในอเมริกามากขึ้น แต่ปรากฏว่าในยุคของเขา สหรัฐกลับเสียเปรียบดุลการค้ามากขึ้น

แม้แต่อินเดียที่เศรษฐกิจล้าหลังและยากจน ในทางทฤษฎีสามารถอยู่กันอย่างพอเพียงได้มากกว่าชาติใหญ่อื่น ก็ต้องการปฏิวัติเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของตน ไล่ให้ทันจีนเป็นอย่างน้อย

ในสมัยรัฐบาลนายโมดี (2014-ปัจจุบัน) ได้ดำเนินนโยบายใหญ่ ได้แก่

ก) การทำระบบเงินตราเป็นแบบดิจิตอล เพื่อขจัดการเลี่ยงภาษี การพิมพ์ธนบัตรปลอม การเกิดเศรษฐกิจใต้ดิน หรือเศรษฐกิจสีเทา การซักฟอกเงินที่เพิ่มความเข้มแข็งแก่กลุ่มอาชญากรกลุ่มก่อการร้าย ดำเนินการขั้นแรกในปลายปี 2016 ยกเลิกธนบัตรราคา 500 และ 1,000 รูปี และให้ผู้ที่มีธนบัตรเหล่านี้ไปแลกเปลี่ยนธนบัตรที่จะพิมพ์ขึ้นใหม่โดยเร็ว

ผลทำให้ธนบัตรทั้งสองชนิดที่ใช้กันมากที่สุด พากันเข้าสู่ระบบธนาคารเกือบทั้งหมด ซึ่งทำความพึงพอใจให้แก่นายธนาคาร แต่ก่อผลเสียคือทำให้เกิดการขาดแคลนธนบัตร จนถึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ที่ยังไม่กล่าวถึงผู้คนต้องเสียชีวิตไปจำนวนหนึ่งจากการแย่งกันแลกธนบัตรใหม่ ทำให้ถูกวิจารณ์ไม่น้อย

ก้าวต่อไปของอินเดียได้แก่ การออกธนบัตรแบบเข้ารหัสคล้ายกับบิตคอยน์ (ที่รัฐบาลห้ามซื้อ-ขาย) แต่เป็นการออกโดยรัฐ เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมการไหลเวียนของเงินได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นการไล่หลังจีนไปติดๆ ขณะที่เมื่อก่อนหน้านั้น ตามหลังอยู่ไกลลิบ พบว่ามีหลายชาติรวมทั้งไทยได้เคลื่อนไหวทำนองนี้

ข) การเดินนโยบายชาตินิยมฮินดู เพื่อเป็นการสร้างเอกภาพในชาติ คล้ายกับของจีนที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่เป็นประเทศของร้อยภาษา ร้อยศาสนาเหมือนเดิม

นโยบายนี้โดยทั่วไปเป็นที่ยอมรับ เห็นได้จาก “พรรคชาวภารตะ” (BJP) ของนายโมดีชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายในปี 2019 แต่ถูกคัดค้านจากฝ่ายก้าวหน้า ว่าเป็นการทำลายประเพณีประชาธิปไตยของอินเดีย

ค) การแปรการเกษตรให้เป็นธุรกิจการเกษตร เดือนกันยายน 2020 ทางการอินเดียคิดการใหญ่ออกกฎหมายการเกษตร 3 ฉบับ เพื่อเปิดช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดได้หลากหลายขึ้น และกำกับดูแลการเกษตรพันธสัญญา ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

แต่เหล่าเกษตรกรอินเดียเห็นว่าเป็นการล้มเลิกการเกษตรที่เป็นเชิงวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ยาวนาน เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบรรษัทการเกษตรและค้าพืชผล จะทำให้พืชและสัตว์ดัดแปรพันธุกรรมเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ได้รวมตัวเป็นสหภาพเกษตรกรอินเดียนำการประท้วงอย่างแข็งขัน

จนฝ่ายรัฐบาลยอมอ่อนข้อว่า จะขอยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป แต่ทางฝ่ายเกษตรกรต้องการให้ยกเลิกกฎหมายนี้ทั้งหมด

ง) การวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล ในช่วงปี 2020 ทางการอินเดียได้ระงับการใช้แอพพลิเคชั่นจากจีนหลายระลอก รวมทั้งหมดราว 200 แอพพ์

โดยอ้างเหตุผลว่าแอพพ์เหล่านี้คุกคามหรือไม่เป็นผลดีต่ออำนาจอธิปไตย และบูรณภาพของอินเดีย การป้องกันประเทศ ความมั่นคงของรัฐและความเป็นระเบียบของสาธารณชน ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการปิดตลาดด้านกิจการโทรคมนาคมจากจีน และวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอลของตนเอง เป็นทั้งด้านการก้าวสู่โลกดิจิตอล และการทำสงครามเทคโนโลยีกับจีน

จากนี้จะเห็นว่าประเทศจำนวนมากต่างเร่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ของตน ภายใต้กรอบของระบบทุน และความยากลำบากจากโควิด-19

 

2) ความจำกัดของความเติบโต เป็นความรู้ที่นำกฎอุณหพลศาสตร์ ระบบซับซ้อนเชิงพลวัต มาใช้ในการอธิบายระบบนิเวศ มีนักเคมี-ฟิสิกส์ที่ได้รับรางวัลโนเบล เช่น อิลยา พริโกกีน และนักวิทยาศาสตร์เชิงระบบที่มีชื่อเสียง เช่น เจมส์ ฟอร์เรสเตอร์ เข้าร่วม ความรู้นี้โดยทั่วไปไม่ได้รับการสนับสนุนจากวงวิชาการกระแสหลัก แต่แพร่หลายในกระบวนการสิ่งแวดล้อม และมีผู้เห็นพ้องมากขึ้น เนื่องจากความรุนแรงของวิกฤตินิเวศ ในหัวข้อนี้ได้กล่าวถึงความคิด ทฤษฎี ความรู้และการปฏิบัติ รวมทั้งบุคคลองค์การที่เป็นผู้แสดงสำคัญในด้านความจำกัดของความเติบโตมาหลายครั้งแล้ว

ในตอนนี้จะกล่าวถึงบุคคลสองคนที่แนวคิดของเขาได้รับความสนใจมากขึ้น ได้แก่ พอล เฟเยราเบนด์ (Paul Feyerabend 1924-1994) และเมอเรย์ บุกชิน (Murray Bookchin 1921-2006)

ทั้งคู่มีแนวคิดแนวอนาธิปไตยแบบต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะของตน

ก) พอล เฟเยราเบนด์ เป็นนักปรัชญาวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรีย เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง มีแววเป็นเด็กพิเศษตั้งแต่เยาว์วัย มีความสนใจทางด้านศิลปะการละคร เข้าร่วมสงครามโลกและได้รับบาดเจ็บ จึงได้หันสู่วงวิชาการ และผูกพันกับมหาวิทยาลัยเวียนนา แม้ว่าจะได้ไปพำนักในหลายประเทศ รวมทั้งในสหรัฐที่เขาทำงานอยู่นานและสร้างงานชิ้นสำคัญระหว่างนั้น

ในการศึกษาเขาเริ่มต้นที่วิชาสังคมวิทยา และหันไปสู่ฟิสิกส์ สนใจวิชากลศาสตร์ควอนตัมที่เน้นความเป็นไปได้หรือความไม่แน่นอน ความเป็นจริงเป็นเชิงสัมพัทธ์ขึ้นกับการสังเกต เหล่านี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างวิทยาศาสตร์กับอภิปรัชญาพร่ามัว

แนวคิดที่มีอิทธิพลต่อเฟเยราเบนด์อีกชุดหนึ่งคือปรัชญาของลุดวิก วิตเกนสไตน์ (Ludwig Wittgenstein 1889-1951) ที่ชี้ว่าความเป็นจริงขึ้นกับภาษาและความหมายอย่างแยกกันไม่ออก เหล่านี้ช่วยให้เขาสร้างลัทธิอนาธิปไตยทางความรู้ เห็นว่าความรู้ไม่ควรถูกผูกขาดโดยระเบียบวิธีการใดวิธีการหนึ่ง โดยเฉพาะวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพราะว่านักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้เข้มงวดในการใช้วิธีการเชิงประจักษ์นัก หากแต่ใช้เครื่องมืออะไรก็ได้ที่สะดวกในการศึกษา

งานสำคัญของเฟเยราเบนด์ได้แก่ หนังสือชื่อ “ต่อต้านระเบียบวิธี” (Against Method เผยแพร่ครั้งแรกปี 1975 มีการแก้ไขพิมพ์อีกหลายครั้ง) และ “วิทยาศาสตร์ในสังคมเสรี” (เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1978)

งานเขียนของเขาเป็นที่อ้างถึงมากขึ้น เมื่อวิกฤตินิเวศรุนแรงอย่างที่วิทยาศาสตร์ช่วยอะไรไม่ได้ และเกิดความระแวงสงสัยในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ปฏิบัติอยู่

ข) เมอเรย์ บุกชิน เป็นนักอนาธิปัตย์เชิงสังคมมีชีวิตโชกโชนจากการเคลื่อนไหวในหมู่คนงาน เข้าร่วมขบวนการเยาวชนคอมมิวนิสต์ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ (มารดาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหัวรุนแรง ครอบครัวมีเชื้อสายยิว อพยพมาจากรัสเซีย)

บุกชินได้มีการพัฒนาทางความคิดที่สำคัญ คือ การปฏิเสธลัทธิมาร์กซ์ และลัทธิอนาธิปไตยที่เฉื่อยเนือย เขาเสนอแนวคิดสังคมนิยมแบบอิสระนิยม (Libertarianism Socialism เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอนาธิปไตยสังคมนิยมหรือสังคมนิยมเสรี) บุกชินชี้ว่า ชนชั้นคนงานไม่ได้กระตือรือร้นเข้าร่วมการปฏิวัติ หรือมีเจตจำนงปฏิวัติเหมือนอย่างที่มาร์กซ์กล่าวอ้าง

ดังนั้น การกล่าวอ้างอื่น ได้แก่ พรรคของคนงานและเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ยิ่งเป็นเรื่องนิยายเลื่อนลอย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากว่า ในระบบทุนได้ปฏิวัติเทคโนโลยีแห่งความเหลือเฟือขึ้นเอง สร้างสังคมหลังความขาดแคลน ไม่ต้องอาศัยการปฏิวัติของชนชั้นคนงานอย่างที่มาร์กซ์ฝันถึง

ทางออกในการต่อสู้กับระบบทุนนิยมคือ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งมวลมีโอกาสสูงสุดในการมีกิจกรรมร่วมมือกับผู้อื่นและมีส่วนในการตัดสินใจของคอมมูนที่ตนมีส่วนได้เสีย เป็นอนาธิปไตยที่ปฏิวัติ ไม่ใช่อนาธิปไตยเฉื่อยเนือยที่ต่อต้านวิทยาศาสตร์และปลีกตัวไปตามลำพัง

ขณะเดียวกันบุกชินก็ให้ความสำคัญแก่สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างสูง เห็นว่าสภาพสิ่งแวดล้อมมีผลโดยตรงต่อความอยู่ดีและความป่วยไข้ของคนงาน ในปี 1969 เขาเขียนความเรียงชื่อ “นิเวศวิทยาและความคิดปฏิวัติ” สร้างความรู้ที่เรียกว่า “นิเวศวิทยาเชิงสังคม” การเคลื่อนไหวเพื่อขจัดความสัมพันธ์แบบลำดับชั้นที่ไม่เป็นธรรมในสังคมทุนนิยม ด้วยการสร้างชุมชนขนาดเล็ก ที่มีระบบการผลิตของตนแบบกระจายอำนาจ เป็นชุมชนที่มีลักษณะแบบคอมมูน

งานสำคัญของบุกชินอีกอย่างหนึ่งได้แก่ การเป็นนักการศึกษา ได้เข้าสอนในมหาวิทยาลัยทางเลือกที่นิวยอร์ก ต่อมาในทศวรรษที่ 1970 เขาได้ร่วมก่อตั้งสถาบันนิเวศวิทยาเชิงสังคม ในทศวรรษ 1980 เขาได้เผยแพร่หนังสือ 2 เล่ม เล่มแรกชื่อ “นิเวศวิทยาแห่งเสรีภาพ” เล่มที่สองชื่อ “การรุ่งเรืองของเมืองและการเสื่อมถอยของการเป็นพลเมือง” ชี้ว่า การเป็นเมืองในรัฐชาติ ทำให้ความเป็นพลเมืองเสื่อมถอย จะต้องลดทอนจำนวนและบทบาทสถาบันหน่วยงานรัฐให้มีขนาดเล็กเป็นเหมือนคอมมูนที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยทางตรง ไม่ใช่ประชาธิปไตยตัวแทนอย่างที่ปฏิบัติอยู่

ความคิดของบุกชินได้มีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง กล่าวกันว่า โนม ชอมสกี้ นักวิชาการและนักอนาธิปไตยที่มีชื่อเสียง ยอมรับความคิดของบุกชินด้วยความนับถือ อับดุลลาห์ โอจาลัน นักปฏิวัติชาวเคิร์ด ผู้ก่อตั้งพรรคคนงานชาวเคิร์ด ก็ได้รับอิทธิพลจากหนังสือของบุกชิน และได้เขียนจดหมายขอคำแนะนำจากเขา

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงวิกฤตินิเวศกับการผลิตความรู้ล้นเกิน การใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมากเกิน การลดถอยของผลได้ และโลกจะเอียงไปข้างใด