ต่างประเทศ : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ยุทธศาสตร์ใหม่ของไอเอส?

ปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงที่มีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) บนเกาะมินดาเนาของกองทัพฟิลิปปินส์

กับเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย 2 ครั้งซ้อนโจมตีท่ารถโดยสารกลางกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ที่กลุ่มไอเอสออกมากล่าวอ้างว่าเป็นผู้ลงมือ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน

กำลังเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เราเห็นถึงการลุกลามเชื่อมโยงกันบางอย่างของภัยคุกคามด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่น่าหวั่นกลัว

“อิสนิลอน ฮาพิลอน” หัวหน้ากลุ่มติดอาวุธอาบูไซยาฟ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากลุ่มไอเอสในฟิลิปปินส์เมื่อปีที่แล้ว โดยที่ทางการสหรัฐอเมริกายังตั้งค่าหัวเอาไว้สูงถึง 5 ล้านดอลลาร์ เป็นชนวนที่ทำให้กองทัพฟิลิปปินส์เปิดฉากไล่ล่าและนำไปสู่การปะทะกับกลุ่มเมาว์เต กลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงเล็กๆ อีกกลุ่มที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มอาบูไซยาฟของนายฮาพิลอนที่เข้ายึดพื้นที่บางส่วนในเมืองมาราวีบนเกาะมินดาเนาเอาไว้

จนประธานาธิบดี โรดริโก ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วทั้งเกาะมินดาเนา เพื่อหมายจะกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงให้ได้เด็ดขาด

ทว่า ทั้งกลุ่มเมาว์เตและกลุ่มอาบูไซยาฟที่ประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มไอเอส ยังคงยืนระยะต้านทานกองทัพฟิลิปปินส์อยู่ได้จนถึงตอนนี้

นี่สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงเหล่านี้มีความแข็งแกร่งมากเพียงไร

 

อีกสัญญาณความเชื่อมโยงที่น่าวิตกก็คือ ในกลุ่มติดอาวุธที่ถูกกองทัพฟิลิปปินส์สังหาร เผยให้เห็นว่าไม่ใช่มีแค่กองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นอย่างกลุ่มเมาว์เต

หากแต่มีนักรบญิฮาดต่างชาติจากอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์มาเข้าร่วมด้วย

โฮเซ คาลิดา รองอธิบดีกรมอัยการฟิลิปปินส์ กล่าวว่า สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นบนเกาะมินดาเนาไม่ได้เป็นฝีมือป่วนของกลุ่มกบฏในพื้นที่ที่เป็นคนฟิลิปปินส์อีกต่อไป

หากแต่มีการเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการรุกรานของนักรบต่างชาติที่หันมาก่อการในดินแดนฟิลิปปินส์

โดยมีเสียงปลุกเร้าจากกลุ่มไอเอสที่เคลื่อนไหวก่อความรุนแรงอยู่ในประเทศอิรักและซีเรีย เรียกร้องให้ผู้ที่ฝักใฝ่ในอุดมการณ์เดียวกับกลุ่มไอเอส ให้มาเคลื่อนไหวในภูมิภาคนี้แทน เมื่อการจะไปเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรียเป็นไปได้ยากขึ้น

ขณะที่เหตุระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีท่ารถกลางกรุงจาการ์ตา ทางการอินโดนีเซียระบุว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส เหตุโจมตี 2 ครั้งซ้อนนี้นับเป็นเหตุโจมตีอินโดนีเซียของกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งครั้งล่าสุดนับจากเหตุโจมตีในเดือนมกราคมปี 2016 ที่ก็เป็นฝีมือของกลุ่มไอเอส

 

นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างการเคลื่อนไหวก่อความรุนแรงในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กับกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย ซึ่งอาจเป็นฐานความร่วมมือใหม่ระหว่างกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งในภูมิภาค

ซิดนีย์ โจนส์ ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์นโยบายด้านความขัดแย้งในกรุงจาการ์ตา บอกว่า ความถดถอยในการต่อสู้ของกลุ่มไอเอสในดินแดนซีเรียและอิรัก ได้ทำให้การเคลื่อนไหวก่อความรุนแรงในสมรภูมิอื่นของกลุ่มไอเอส ซึ่งรวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟิลิปปินส์มีความโดดเด่นมากขึ้น

สาวกไอเอสหรือกลุ่มที่รับแนวคิดของไอเอสมาถูกปลุกระดมให้เข้าร่วมกับนักรบญิฮาดในฟิลิปปินส์ให้เคลื่อนไหวก่อเหตุป่วนในภูมิภาคนี้ หากไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในซีเรียและอิรักได้

โจนส์ยังให้ข้อมูลด้านหนึ่งว่า มีชาวอินโดนีเซียราว 500 คนที่พยายามเดินทางไปเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในซีเรีย แต่ส่วนใหญ่ถูกจับกุมตัวได้เสียก่อน ทว่าก็ยังมีที่สำเร็จเดินทางไปถึงซีเรีย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะตัวประสานการเคลื่อนไหวก่อความรุนแรงในดินแดนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

ซาคารี เอ็ม.อาบูซา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในวอชิงตัน มองว่า ไอเอสชอบกล่าวอ้างว่าเหตุวินาศกรรมก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ว่าเป็นฝีมือของตัวเอง แต่ก่อนหน้านี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เคยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่กลุ่มไอเอสให้ความสำคัญมากมาก่อน จึงทำให้ยากในการจะประเมินว่าเหตุเพราะการสูญเสียพื้นที่ยึดครองในซีเรียและอิรักไปของกลุ่มไอเอส จึงทำให้กลุ่มติดอาวุธหัวสุดโต่งกลุ่มนี้หันมาให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวก่อความรุนแรงในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นหรือไม่

ขณะที่ โรฮาน กูนารัตนา หัวหน้าศูนย์นานาชาติเพื่อการวิจัยความรุนแรงทางการเมืองและลัทธิก่อการร้าย (ไอซีพีวีทีอาร์) ให้ข้อมูลว่า อิทธิพลของกลุ่มไอเอสแผ่ขยายไปทั่วพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในชั่วเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดยมีกลุ่มติดอาวุธมากกว่า 60 กลุ่มแล้วในภูมิภาคนี้ที่ประกาศสวามิภักดิ์ต่อ อาบู บักร์ อัล-แบกห์ดาดี ผู้นำกลุ่มไอเอสที่ประกาศเป้าหมายของการเคลื่อนไหวที่จะจัดตั้งนครรัฐอิสลามขึ้นในดินแดนอิรักและซีเรีย

เหตุโจมตีรุนแรงหลายครั้งที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และมาเลเซียก่อนหน้านี้เป็นสิ่งสนับสนุนข้อมูลที่ได้มานี้ได้

 

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประเทศหมู่เกาะทั้งของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ยังถูกระบุว่าเป็นปัจจัยเอื้ออย่างดีที่ทำให้กลุ่มติดอาวุธรวมถึงกลุ่มอาชญากรหลบซ่อนตัวหรือหนีพ้นจากเงื้อมมืออำนาจรัฐได้ง่าย

โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์นี้เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง รวมถึงอำนาจอธิปไตย การแย่งสิทธิเหนือดินแดน

และประเด็นการเมืองในภูมิภาค ที่นักวิเคราะห์ชี้ว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางความร่วมมือในภูมิภาคในการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงเหล่านี้

ซึ่งหากยังไม่มีการร่วมมือกันดำเนินมาตรการใดๆ ก็อาจทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นดินแดนแห่งความไม่สงบ

ที่ไม่ต่างไปจากอัฟกานิสถานหรือปากีสถานได้!