แด่กัมปูเจียแอร์ไลน์ส และอุดม ตันติประสงค์ชัย / อัญเจียแขฺมร์ – อภิญญา ตะวันออก (ฉบับประจำวันที่ 29 ม.ค.- 4 ก.พ. 2564 ฉบับที่ 2111)

อภิญญา ตะวันออก
อุดม ตันติประสงค์ชัย

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

แด่กัมปูเจียแอร์ไลน์ส

และอุดม ตันติประสงค์ชัย

 

ข่าวเล็กๆ ที่แทบจะไม่ปรากฏอยู่ในหน้าข่าวกระแสหลัก กระตุ้นเตือนความจำอันน้อยนิดของฉัน ถึงชีวิตใครบางคนผู้เพิ่งจะลาโลกไป

มันทำให้เรารับรู้ถึงลมหายใจห้วงมีชีวิตของใครคนนั้น ที่เต็มไปด้วยความจริงอีกด้านอันโหดร้าย และผลพวงแห่งความคับแค้นและสายลมที่พัดผ่านตลอดกาลของชีวิตใครคนหนึ่ง ซึ่งเฆี่ยนตีเขาอย่างโหดร้าย ไม่แม้แต่จะเมตตาปรานี แม้เพียงเสี้ยวเล็กๆ ของพื้นที่ขณะมีชีวิต

อุดม ตันติประสงค์ชัย

คนที่จากโลกนี้ไป และทิ้งเราไว้ด้วยความจริงบางอย่าง

และนั่นคือช่วงเวลาอันแสนสั้นแต่สวยงามครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา ฉันคิดเช่นนั้นสำหรับอุดม ตันติประสงค์ชัย กับชีวิตที่เป็นในกัมพูชา ในฐานะของซีอีโอสายการบินกัมปูเจียแอร์ไลน์ส ซึ่งเป็นรอบ 2 ของการได้สัมปทานในการบินระหว่างประเทศ และมีส่วนทำให้อุดม ตันติประสงค์ชัย ต่อลมหายใจในธุรกิจการบินที่เขาลงหลักปักฐานในไทย

อุดม ตันติประสงค์ชัย ผุดสายการบิน CIA (Cambodia International Airlines) ในช่วงที่เขมรกำลังถ่ายผ่านประเทศจากระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (เก่า) ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย (2535-2537) ที่สร้างความสำเร็จอย่างมากต่ออุดม ตันติประสงค์ชัย และเป็นสายป่านในการลงทุนต่อไป โดยที่ธุรกิจของเขานั้น แทบไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงใจและจริงจังจากหน่วยงานของไทย

แต่จะกล่าวไปไย เพราะมันเป็นช่วงของปฏิวัติ!

และประเทศนี้ก็มีแต่ปฏิวัติวนไปอย่างซ้ำซาก

อุดม ตันติประสงค์ชัย ก็เช่นกัน ชีวิตของเขาต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับกลไกอันไม่ปกติทางการเมืองนั่น โดยเฉพาะในกัมพูชา (และพม่าด้วยระยะหนึ่ง)

สําหรับฉันนั้น ไม่รู้สึกแปลกใจเลยที่เขาตั้งชื่อสายการบินว่า CIA ให้ตายเถอะ มันทำให้ฉันนึกถึงงานชุด “หมูบินจ้าวเวหา” เรื่องราวการบินพาณิชย์ช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชา ซึ่งขณะนั้นเต็มไปด้วย “ชื่อแปลกๆ” ของบริษัทสายการบินเอกชนนานาที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคนั้น อย่างล้อกระมัง CIA ของอุดม ตันติประสงค์ชัย ที่ถือกำเนิดตามมา ยุคนายฮุน เซน-ที่ฉวยโอกาสเปิดน่านฟ้าขณะรอการถ่ายผ่านประเทศจากสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็นประชาธิปไตย

CIA ของอุดม ตันติประสงค์ชัย ทำให้ฉันนึกถึง “พวกหมูบินจ้าวเวหา” นักบินพาณิชย์และบริษัทการบินเอกชนเขมรสาธารณรัฐ (2513-2518) ที่พยายามต่อสู้กิจการของตนให้อยู่รอด

ท่ามกลางวิกฤตประเทศที่ไม่ปกตินั้น

อ่า หรือว่าซีอีโออุดม ตันติประสงค์ชัย มาด้วยอิทธิพลของความไม่ปกตินั้น

บางทีฉันก็อดคิดไปแบบนั้นไม่ได้

กระทั่งการเลือกตั้งผ่านไปและพรรคประชาชนกัมพูชาเสียศูนย์แพ้พ่ายการเลือกตั้ง (2536)

มันคือการพลิกผันครั้งใหญ่ อุดม ตันติประสงค์ชัย และ CIA พลอยโดนหางเลขถูกบีบให้สิ้นสุดธุรกิจการบินไปด้วย

แต่ด้วยกลเกมแบบฮุน เซน ที่กลับมาได้ด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 พร้อมกับโควต้ารัฐมนตรีร่วม ครม.ทั้งหมด!

เดชะบุญ คุณพระช่วย! CIA แอร์ไลน์ส ของอุดม ตันติประสงค์ชัย พลอยรอดไปด้วย เพราะเป็น 1 ในโควต้าของพรรคร่วมรัฐบาล

แต่จะอยู่แบบไหน เมื่อฝ่ายฟุนซินเปกเองก็เซ็นสัญญาผุด Royale Air Cambodge สายการบินแห่งชาติไปแล้ว

ช่วงอันชุลมุนรัฐบาลผสมในปีนั้น มีเหตุการณ์มากมายที่ “ปะทะ” ระหว่าง 2 พรรคการเมืองนั่น ใหญ่ๆ คือประเด็นเขมรแดงนำโดยเอียง สารี-ฮุน เซน ตามแนวคิดรีแบรนด์เนม

อุดมเองก็เช่นกันไม่น้อยหน้า ว่าไปแล้วเขาน่าจะคิดเรื่องนี้มาก่อนด้วยซ้ำ ฉันเชื่อเช่นนั้น ดังนี้ CIA แอร์ไลน์สของเขาจึงกลายเป็น “กัมปูเจียแอร์ไลน์ส” (KA) ที่ได้ไฟเขียวต่อสัมปทานจากโควต้าของฮุน เซน-ผู้ที่ไม่มีวันจะโดยสารรอยัลแอร์กัมโบจด์อย่างเด็ดขาด ด้วยความเชื่อว่าเขาจะถูกปองร้าย!

ขนาดเจ้าสัวเท่ง บุนมา ผู้สนับสนุนหลักของเขายังเคยฉุนขาดไม่พอใจบริการ ถึงกับชักปืน (รปภ.) ออกมายิงปัง ปัง ปังไปที่ล้อเครื่องบินมาแล้ว!

ด้วยประการฉะนี้ กัมปูเจียแอร์ไลน์สของอุดม ตันติประสงค์ชัย มันจึงจำเป็นต้องมี!

ปากกาที่ระลึกในเฉดสีทองปนจุดกระสีดำอ่อน และตรงปลอกปากกานั่น มีลายเส้นเป็นรูปเครื่องบินลำหนึ่งสลักชื่อว่า “กัมปูเจียแอร์ไลน์ส”

ไม่น่าเชื่อว่า นี่คือปากกาที่ระลึกด้ามหนึ่ง ซึ่งบ่งบอกความหมายต่อมา ในความเป็นอุดม ตันติประสงค์ชัย และช่วงชีวิตสั้นๆ ของเขาในกัมพูชา

หนึ่งในนั้นคือวันเปิดสายการบินรีแบรนด์-น้องใหม่ ที่ทำให้ฉันรู้ว่า อุดม ตันติประสงค์ชัย คือหนึ่งในตัวแทนการต่อสู้รอบ 2 ของการเมืองระหว่าง 2 พรรคใหญ่ที่มีธุรกิจการบินเป็นเดิมพัน และอุดม ตันติประสงค์ชัย คือซีอีโอคนนั้น

ในห้องจัดเลี้ยงริมสระของโรงแรมแคมโบเดียน่าที่คลาคล่ำไปด้วยฉากหนึ่งของการสังฆกรรมระหว่างตัวแทนพรรคฟุนซินเปก ที่ขณะนั้นไม่พอใจอย่างมากต่อการกระทำของฮุน เซน

สารภาพว่าซีอีโออุดม ตันติประสงค์ชัย ทำให้ฉันเรียนรู้สมเด็จฯ ฮุน เซน ในอีกด้านของความเป็นนักเลง และนี่คือสิ่งที่ทราบมา

ตามที่เคยผ่านหูผ่านตาบทสัมภาษณ์ของอุดม ตันติประสงค์ชัยมาจากหน้านิตยสารไทย และจากที่เคยทราบว่ามีนักธุรกิจไทยลงขันซื้อสัมปทานการบิน (ในฝัน) ที่เขมรไว้กับนักการเมืองบางราย

แต่อุดม ตันติประสงค์ชัย เอาตัวรอดมาได้ ตั้งแต่สมัยที่ฮุน เซน ยังไม่มีใครให้ความสนใจ

อุดม ตันติประสงค์ชัย ผู้ที่พื้นครอบครัวมาจากธุรกิจส่งออกเครื่องหนัง แต่ความที่เขาขบถและมีนิสัยนักสู้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนทั้งไต้หวันและฮ่องกง กระทั่งดิ้นรนต่อสู้ในธุรกิจการบิน ที่เขาหลงใหลและรักในอาชีพนี้จนเป็นที่มาของ “โอเรียนท์ไทย-วันทูโก” สายการบินโลว์คอสต์รายแรกของไทย

และแตกไลน์เป็น “ซีไอเอ-กัมปูเจียแอร์ไลน์ส” สายการบินแห่งแรกของกัมพูชาในรัฐบาลชั่วคราวโดยฝ่ายฮุน เซน ที่ประสบความสำเร็จทั้งเม็ดเงินและชื่อเสียง

และคำตอบให้อุดม ตันติประสงค์ชัย ได้ฝ่าฟันว่า เขามาถูกทางแล้ว

โดยแม้ว่าชะตากรรมแห่งพระเจ้าจะยังทดสอบเขาต่อไป

นั่นคือ เมื่อฮุน เซน ตัดสินใจทำรัฐประหาร และกลับมาชนะเลือกตั้ง (2541) ท้ายที่สุดแล้วฟุนซินเปกโมเดลคือสิ่งนายฮุน เซน เลือกใช้บริการ โดยให้รอยัลแอร์คัมโบดจ์ เป็นสายการบินแห่งชาติแต่เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น

แต่ขณะเดียวกัน ฮุน เซน ก็เปิดให้สัมปทานใหม่แก่บริษัทการบินที่มีเม็ดเงินมหาศาลกว่า…กัมปูเจียแอร์ไลน์สของอุดม ตันติประสงค์ชัย ที่ถูกยกเลิกสัมปทานไปโดยเช่นกัน

บริษัทของอุดม ตันติประสงค์ชัย ที่บุกเบิกชื่อเสียงให้ฮุน เซน ดูจะเล็กไปแล้วเมื่อเทียบกับคู่แข่งใหม่-เก่าเวลานั้น และพระเจ้าของเขาคือสมเด็จฯ ฮุน เซน ก็ได้มาถึงจุดนั้น สำหรับการเมืองแบบเก่าที่เขาดำเนินมา มันถึงกาลอวสาน มันจบแล้วสหายอุดม ตันติประสงค์ชัย นักต่อสู้ผู้ไม่เคยสยบต่อโชคชะตา

ลาก่อนกัมปูเจียแอร์ไลน์ส และกัมพูชา

แม้ว่าจะกลับมาต่อสู้อีกครั้งด้วยไอเดีย “โลว์คอสต์” สายการบินต้นทุนต่ำที่เขาปลุกปั้นขึ้นมาเป็นเจ้าแรกในชื่อวัน-ทู-โกแอร์ไลน์ส

แต่เชื่อมั้ย เส้นทางต่อสู้ธุรกิจการบินของอุดม ตันติประสงค์ชัย ที่ไทยกลับยากและแบกรับต้นทุนธุรกิจการบินที่ไม่เป็นธรรมต่อรายย่อยอย่างเขาในแทบจะทุกสารบบธุรกิจของประเทศนี้ที่เต็มไปด้วยความไม่ตรงไปตรงมา

มันคือชะตากรรมของธุรกิจขนาดเล็กที่ถูกปิดกั้นโอกาสจากระบบอุปถัมภ์ที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นและไม่ตรงไปตรงมา และด้วยเงื่อนไขที่ไม่เคยเอื้ออาทรต่อนักธุรกิจเล็กๆ คนหนึ่งที่ปรารถนาต่อโอกาส ความเท่าเทียมและความเป็นธรรม

อย่างนั้นเองตลอดมาที่อุดม ตันติประสงค์ชัย ประสบชะตากรรม

มันเป็นความไม่ปกติในระบบอุปถัมภ์ของประเทศนี้ที่เป็นอย่างนั้น มิฉะนั้นแล้ว คนอย่างอุดม ตันติประสงค์ชัย คงไม่ต้องหากินกับเส้นทางการบินชายขอบประเทศพม่า-เขมร

แต่ด้วยความเป็นนักสู้ที่ในทุกสนามไม่ว่าจะต้องฟันฝ่าอย่างไร อุดม ตันติประสงค์ชัย ยอมทุ่มเทอย่างสุดรันเวย์ แม้ที่สุดแล้วจะหัวใจสลายกับอุบัติเหตุของวัน-ทู-โกที่ภูเก็ตเมื่อหลายปีก่อน และราวกับโหดร้ายไม่เคยปรานี และก่อนที่อุดม ตันติประสงค์ชัย จะอำลาจากโลกนี้

ใน 5 วันสุดท้ายที่เหลืออยู่ การถูกลงทัณฑ์ครั้งสุดท้ายก็ยังตามมาและไม่เคยจะปรานี

หลับให้สบายเถิด อุดม ตันติประสงค์ชัย

และโปรดรับรู้ว่า คุณไม่ติดค้างอะไรอีกแล้วกับประเทศนี้

“ณ ความทรงจำอันอบอุ่น…

อุดม ตันติประสงค์ชัย

บิดา, สามี, พี่ชาย

26 สิงหาคม 2498 – 16 มกราคม 2564″