จาก John Cage ถึง สุชาติ สวัสดิ์ศรี ‘ความเงียบ’ เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง / บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จาก John Cage ถึง สุชาติ สวัสดิ์ศรี

‘ความเงียบ’ เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง

 

วันก่อนได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่น่าตื่นตะลึงของ YouTuber ชื่อดังชาวสหรัฐ คือ Mr. Beast ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแฟนๆ ของเขา

โดย Mr. Beast ได้เปิดให้แฟนพันธุ์แท้เข้ามาตอบคำถาม ว่าแต่ละคนใช้เวลากับ YouTube วันละกี่ชั่วโมง

Mr. Beast รายงานผลการสำรวจว่า แฟนพันธุ์แท้ของเขาหลายรายบอกว่า พวกเขาใช้เวลากับ YouTube ในแต่ละวัน มากกว่า 10 ชั่วโมง!

สอดคล้องกับผลสำรวจที่น่าตกใจของ Whistle Out ที่เปิดเผยผลการคำนวณระยะเวลาการใช้ Smart Phone ในแต่ละวัน ของผู้คนหลากหลายสัญชาติ สาขาอาชีพ และช่วงวัย

Whistle Out พบว่า โดยเฉลี่ย ตลอดช่วงชีวิตคนคนหนึ่งจะใช้เวลาถึง 8.74 ปี หรือประมาณ 76,500 ชั่วโมง ไปกับการใช้ Smart Phone

เช่นเดียวกับผลการวิจัยของ Pew Research ที่พบว่า Generation Z มากถึง 95% มี Smart Phone ใช้อย่างน้อยคนละ 1 เครื่อง และในจำนวนนี้ 45% เปิดมือถือ Online ตลอด 24 ชั่วโมง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 91% ของ Generation Z นั้น “เล่น Social Media” ตลอดทั้งวัน!

สำทับด้วยข้อมูลจากวารสารการแพทย์ JAMA Pediatrics ที่ได้ทำการสำรวจข้อมูลของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในสหรัฐอเมริกาจำนวน 59,397 คน พบว่า มีไม่ถึง 5% เท่านั้นที่เคร่งครัดกับการใช้ Smart Phone

หมายความว่า มี Generation Z บนโลกใบนี้ น้อยกว่า 5% ที่การจัดสรรเวลาสำหรับการพักผ่อนนอนหลับ และการออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม

แปลไทยเป็นไทยก็คือ มนุษยชาติทุกวันนี้ โดยเฉลี่ย ได้เสียเวลาในชีวิตไปมากถึงเกือบ 10 ปี กับ Smart Phone ครับ!

พูดอีกแบบก็คือ จากผลสำรวจปัจจุบัน มีคนร่วมสมัยจำนวนน้อยมาก (น้อยกว่า 5%) ที่จัดสรรเวลาเพื่อ “หยุดนิ่ง” “พักสายตา” และดื่มด่ำกับ “ความเงียบ”

ได้เห็นข้อมูลของ Whistle Out เกี่ยวกับการใช้ Smart Phone โดยเฉลี่ยตลอดช่วงชีวิตคนคนหนึ่ง ซึ่งใช้เวลามากถึงเกือบ 10 ปีแล้ว

ทำให้ผมนึกถึงบทเพลงของ John Cage และวรรณกรรมของ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ขึ้นมา

John Cage คือนักประพันธ์เพลงคลาสสิคชาวอเมริกัน ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังกับการสร้างสรรค์ Symphony หมายเลข 4′ 33” ครับ

ส่วน “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ของเรา ก็เป็นเจ้าของวรรณกรรมที่ชื่อว่า “ความว่าง”

ทั้งสองคนมีจุดเชื่อมโยงกันที่สำคัญก็คือ การค้นหาแนวทาง และรูปแบบงานประพันธ์ใหม่ ที่ท้าทายขนบการสรรค์สร้างศิลปะ คือคีตศิลป์ และวรรณศิลป์

เหมือนกับที่ Marcel Duchamp เคยทำไว้ในแวดวงทัศนศิลป์ กับผลงานที่มีชื่อว่า Fountain ซึ่งเป็นการนำเอา “โถฉี่” ในห้องน้ำชาย มาจัดแสดงร่วมกับกลุ่มศิลปิน Society of Independent Artists ที่ The Grand Central Palace มหานคร New York เมื่อปี ค.ศ.1917

4′ 33” ของ John Cage ก็ไม่ต่างกันครับ

เพราะในท่ามกลางขนบของการแสดงดนตรีคลาสสิค John Cage ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ชมใน Maverick Concert Hall เมื่อปี ค.ศ.1952 ด้วยการประพันธ์บทเพลง “ความเงียบ” ออกแสดงเป็นเวลา 4 นาที 33 วินาที

เป็นบทเพลง “ความเงียบ” ที่ไม่มีเสียงเครื่องดนตรี Orchestra ชิ้นใดเลยยาวนานถึง 4′ 33” มีเพียงอากัปกิริยาการ “เปิดและปิด” ฝาเปียโน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการแบ่ง Movement ของ Symphony

การแสดง 4′ 33” รอบปฐมทัศน์ บรรเลงโดย David Tudor นักเปียโนชาวอเมริกัน ที่เดินขึ้นเวทีมาพร้อมกับกระดาษโน้ตเพลงจำนวน 6 แผ่น

ทั้งหมดเป็น “กระดาษเปล่า”

David Tudor เริ่ม Movement แรกด้วยการอ่านกระดาษโน้ตเปล่า “เปิดและปิด” ฝาครอบลิ่มเปียโน จากนั้นเขาได้กดปุ่มนาฬิกาจับเวลา และวางมือนิ่งๆ ไว้บนตัก ผ่านไป 30 วินาที David Tudor “เปิดและปิด” ฝาเปียโนเพื่อจบ Movement แรกของ 4′ 33”

เข้าสู่ Movement ที่ 2 เขาพลิกกระดาษโน้ตเปล่าใบใหม่ “เปิดและปิด” ฝาครอบลิ่มเปียโน กดปุ่มนาฬิกาจับเวลา และวางมือนิ่งๆ ไว้บนตัก 2 นาที 23 วินาทีผ่านไป เขา “เปิดและปิด” ฝาเปียโน และทำเช่นเดิมอีกครั้งกับ Movement ที่ 3

หลังจากผ่านไป 1 นาที 40 วินาที David Tudor ได้ “เปิดและปิด” ฝาครอบลิ่มเปียโนเป็นครั้งสุดท้าย เขายืนขึ้น และโค้งคำนับผู้ชม เป็นอันจบการแสดงบันลือโลกที่มีชื่อว่า 4′ 33” ของ John Cage โดย David Tudor

เช่นเดียวกับ John Cage วงการวรรณกรรมไทย มีเรื่องสั้นชิ้นหนึ่งซึ่งเคยสร้างความฮือฮามาแล้วในอดีต

เรื่องสั้นเรื่องนั้นมีชื่อว่า “ความว่าง”

“ความว่าง” เป็นผลงานการประพันธ์ของ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” บรรณาธิการนิตยสารวรรณกรรม “ช่อการะเกด” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ช่อการะเกด” ฉบับที่ 36 ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2541 (ค.ศ.1998)

“ความว่าง” เป็นเรื่องสั้นที่ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” นั้น “ไม่ได้เขียนตัวอักษรอะไร” ลงในเรื่องสั้นเลย โดยเขาได้ “ปล่อยกระดาษให้เป็นหน้าว่างเปล่าๆ” จำนวน 6 หน้า

หลังจากที่เขาเป็นบรรณาธิการคัดสรรเรื่องสั้น “ผ่านเกิด-ผ่านรอ-ผ่านเลย” ให้กับนิตยสาร “โลกหนังสือ” และ “ช่อการะเกด” มาก่อนหน้านั้นกว่า 20 ปี

โดยที่ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” เคยเขียนเรื่องสั้น และจัดพิมพ์รวมเรื่องสั้น “ความเงียบ” ในปี พ.ศ.2515 ซึ่งคำว่า “ความเงียบ” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเขาตราบจนปัจจุบัน

ประการหนึ่ง ต้องยอมรับว่า “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” คือผู้บุกเบิกการเขียน “เรื่องสั้นแนวทดลอง” ที่นอกจากเขาจะส่งเสริมให้เรื่องสั้นแนวดังกล่าวได้ตีพิมพ์ใน “ช่อการะเกด” แล้ว

ตัวเขาเองก็ได้ลงมือสาธิตการเขียน “เรื่องสั้นแนวทดลอง” ให้เป็นที่ประจักษ์

และ “ความว่าง” ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของ “เรื่องสั้นแนวทดลอง” ฝีมือ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี”

หากเราย้อนกลับไปพิจารณาบทเพลง 4′ 33” ของ John Cage ที่เล่นกับ “ความเงียบ” ร่วมกับเรื่องสั้น “ความว่าง” ของ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” นี่คือแนวคิดของศิลปินที่ต้องการสะท้อนกลับภาวะบางอย่างในแวดวงศิลปะ

นั่นคือ “บทเพลงที่ไม่มีเสียง” ของ John Cage ที่ชื่อ 4′ 33” และ “หนังสือที่ไม่มีตัวอักษร” ของ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ที่ชื่อ “ความว่าง”

แม้ทั้งสองชิ้นจะเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมานานแล้ว (4′ 33” ค.ศ.1952 และความว่าง ค.ศ.1998) ทว่ายังคงตราตรึงใจผู้เสพผลงานข้ามยุคข้ามสมัย

และยั่วให้เกิดวิวาทะทางศิลปะ คล้ายกับ “โถฉี่” ของ Marcel Duchamp

การหยิบเอา “บทเพลงที่ไม่มีเสียง” ของ John Cage ที่ชื่อ 4′ 33” และ “หนังสือที่ไม่มีตัวอักษร” ของ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ที่ชื่อ “ความว่าง” กลับมาบอกเล่า เสมือนการสื่อสารให้คนร่วมสมัยได้ฉุกคิด

“หยุดนิ่ง” “ปิดตา” “พักหู” ดื่มด่ำกับ “ความเงียบ” และ “ความว่าง”

เสมือนการฉุดรั้ง “เวลา” ที่มนุษยชาติกำลังสูญเสียให้กับ Smart Phone

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลจาก Whistle Out ที่กล่าวว่า “เวลา” ที่คนเราหมดไปกับ Smart Phone โดยเฉลี่ยตลอดช่วงชีวิตคนคนหนึ่ง มีมากถึงเกือบ 10 ปี!