QUESTION MAN : ในประเทศ

ภาพยนตร์ Batman Forever (1995) ในชื่อไทย แบทแมน ศึกจอมโจรอมตะ กำกับฯ โดย โจเอล ชูมักเกอร์

ตัวละครที่ออกมาปั่นป่วน สร้างความปวดหัวให้มนุษย์ค้างคาว คือ Question Man หรือรู้จักในนาม The Riddler (เดอะริดเลอร์ หรือมนุษย์เจ้าปัญหา แสดงโดย จิม แคร์รี่)

ในรูปลักษณ์ สวมหน้ากากโดมิโน พร้อมชุดสูทสีเขียวที่มีเครื่องหมายคำถาม สีดำ สีเขียวหรือสีม่วงติดอยู่

โดยเดอะริดเลอร์มีพฤติกรรมชอบทิ้งคำถาม ปริศนา เกมคำศัพท์ให้เจ้าหน้าที่และมนุษย์ค้างคาวขบคิด เพื่อแก้ปัญหาและอาชญากรรม ที่เดอะริดเลอร์จะก่อขึ้น

ความโอ้อวดในความชาญฉลาด ทำให้คนดูต้องลุ้น เพื่อเอาใจช่วยมนุษย์ค้างคาว ว่าจะคลี่คลายคำถาม หรือปริศนาอย่างไร

จึงมากด้วยความหวาดเสียว แต่ก็มากด้วยความสนุกสนาน

เพราะไม่ต้องคิดอะไรมากเนื่องจากเป็นเรื่องของโลกมายา

แต่ตรงนี้อาจจะแตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง

กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตั้งคำถามกับคนไทยใน 4 ข้อ

1) ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

2) หากไม่ได้จะทำอย่างไร

3) การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้นถูกต้องหรือไม่

4) คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

โดยคำถาม 4 ข้อ พล.อ.ประยุทธ์ เชิญชวนให้ประชาชนส่งความคิดเห็นจากคำถาม 4 ข้อไปยังศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด ก่อนจะรวบรวมให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อส่งต่อให้นายกรัฐมนตรีอีกที

ต้องยอมรับว่า คำถามทั้ง 4 ข้อ มิได้สร้างความความสนุกสนานให้เกิดขึ้นในความรู้สึกของประชาชน นักการเมือง นักวิชาการ

ด้วยมีคนเหล่านั้นจำนวนมากมองว่า คำถามทั้ง 4 ข้อ ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อหาคำตอบ

แต่เป็นการโยนหิน เพื่อปูทางอะไร “บางอย่าง”

ทั้งนี้ มีความเชื่อในกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารว่า คสช. และรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ คงจะไม่วางมือจากอำนาจโดยง่ายๆ

มีความพยายามที่จะสืบทอดออกไปใน 2 รูปแบบ

รูปแบบหนึ่ง คือ ตั้งพรรคนอมินี รวมทั้งล็อบบี้พรรคการเมืองต่างๆ มาสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก” อีกสมัย โดยมีรัฐธรรมนูญปูทางเอาไว้ให้แล้ว

รูปแบบหนึ่ง คือ การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพื่อที่จะบริหารประเทศอีกระยะหนึ่ง

เหตุผลในการเลื่อนการเลือกตั้งก็เช่น การอ้างเหตุผลถึงความไม่สงบที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็คือ เหตุระเบิด 3 จุดในพื้นที่สำคัญของ กทม.

และการอ้างถึงเหตุผลว่าเลือกตั้งไปแล้ว กลุ่มการเมืองเก่าๆ ก็จะหวนกลับมาครองอำนาจอีก

ด้วยเหตุผลนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมักจะออกมาพูดเพื่อดิสเครดิตนักการเมืองและพรรคการเมือง อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

และที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การตั้งคำถาม 4 คำถามขึ้นมา

เพื่อตอกย้ำถึงด้านมืดจากการเลือกตั้ง

ซึ่งก็ได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากฝ่ายการเมือง

อย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ที่ตั้งข้อสังเกตว่า

คำถามนี้มาในจังหวะที่แปลก เพราะคำถามหลายข้อ คนที่จะต้องตอบคือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งเป็นผู้จัดทำกติกา โดยเฉพาะช่วงที่มีการทำประชามติก็มีการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ป้องกันคนเลวได้

เมื่อนายกฯ ตั้งคำถามแบบนี้ก็อาจสะท้อนว่าไม่มั่นใจ

และตระหนักแล้วว่าลำพังสิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญไม่พอ ต้องทำงานให้หนักขึ้นในการปฏิรูป

“คำถามของนายกฯ จะย้อนกลับไปกดดัน คสช. เอง เพราะถ้าไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ก็จะกลายเป็นว่าสิ่งที่ คสช. ทำมาก็ไม่สำเร็จ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เช่นเดียวกับ นายนิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา

ที่ระบุว่า คำถามมีลักษณะเป็นคำถามนำ และมีผลกระทบทางความรู้สึกของทุกฝ่าย

ในฐานะนักการเมืองมีความไม่สบายใจต่อเรื่องนี้

เพราะมองว่าเป็นการสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อทุกฝ่าย รวมถึงรัฐบาลด้วย

“นายกฯ ควรระมัดระวังสิ่งที่สร้างผลกระทบในวงกว้างและไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ซึ่งเปรียบได้กับมือข้างหนึ่งของรัฐบาลกำลังทำเรื่องปรองดอง แต่มีคนที่อยู่ข้างหลังส่งลิ่มมาให้ เพื่อกะเทาะปรองดองจนแตก ดังนั้น ทุกฝ่ายควรหลีกเลี่ยงการสร้างแรงกดดัน และความตึงเครียดทางการเมือง” นายนิกรกล่าว

ด้านพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

ได้ตอบคำถามดังกล่าว

1. สภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบันมีธรรมาภิบาลดีพอหรือไม่ หากยังไม่ดีพอ จะแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้น

2. ที่ระบบธรรมาภิบาลประเทศเรามีปัญหา เพราะระบบถ่วงดุลและตรวจสอบไม่เข้มแข็งใช่หรือไม่ และถ้ายังไม่ดีพอจะแก้ไขอย่างไร

3. ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ได้รับโอกาสในการตัดสินใจเลือกนโยบายดีๆ มาแก้ปัญหาและดูแลชีวิตของพวกตน ระบบเช่นนี้จะเป็นระบบที่พึงประสงค์หรือไม่

4. ใครสร้างเงื่อนไขให้ระบอบประชาธิปไตยล้มเหลวและมีปัญหา ใครที่ปล่อยปละละเลยจนทำให้ประเทศวุ่นวาย บานปลาย กลุ่มบุคคลที่เป็นปรปักษ์ต่อประชาธิปไตยและไม่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของประชาชน ควรได้รับโอกาสให้มาดูแลชีวิตของประชาชนหรือไม่

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ แกนนำพรรคเพื่อไทย บอกว่าคำถาม 4 ข้อนี้นอกจากถามนำและชี้นำแล้ว

ยังตั้งข้อสงสัยต่อรัฐธรรมนูญของตนเอง

และแสดงความฝักใฝ่เสพติดการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ

โดยหวังว่าประชาชนจะเรียกร้องให้ตนเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จต่อเนื่องไปอีกนานๆ

ถือเป็นการตอบโต้ที่เจ็บแสบ และพุ่งเป้าเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง

สร้างความไม่พอใจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ มาก

ด้านหนึ่ง ก็พยายามตอบโต้ว่า ที่ถามไปนั้น ไม่ได้ถามเพื่อที่จะ “ไม่ไป”

แต่ต้องการให้ประชาชนได้คิด

เพราะวันนี้มีการเดินสายพูดอยู่ข้างล่าง ในระดับท้องถิ่น ชุมชนและหมู่บ้าน บิดเบือนทุกอย่าง และมุ่งโจมตีตนทางสื่อ

จึงอยากถามกลับว่าสิ่งที่พวกเขาพูดนั้นจะเป็นจริงหรือไม่

เช่น ที่บอกว่าหากได้กลับมาเป็นรัฐบาลจะให้มีโครงการรับจำนำข้าวอีก กลับมาแล้วจะทำหลายอย่างที่ประชาชนได้รับผลประโยชน์โดยตรง

จึงถามว่าถ้าปัญหาเหล่านี้กลับมาประชาชนจะทำอย่างไร

“ในเมื่อเขาเล่นงานผม ผมก็ต้องถามกลับไปบ้าง ทำไมต้องฟังเขาข้างเดียวหรือ ผมไม่มีโอกาสจะพูดอะไรเลยเหรอ”

“เรื่องเลือกตั้งผมไม่ได้ขัดแย้ง ยังไงก็ต้องมี โรดแม็ป เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น…ไม่เคยพูดสักคำว่าจะไม่เลือกตั้ง แล้วนักการเมืองตีความอย่างนั้นทำไม”

“หลายคนที่พูดวันนี้สร้างความเสียหาย วันหน้าถ้าเกิดปัญหาขึ้นอีกจะเรียกใคร ประยุทธ์ไม่อยู่แล้วจะเรียกใคร แล้วบอกทหารไม่ต้องรัฐประหาร ซึ่งไม่มีใครอยากจะทำอยู่แล้ว ถ้าไม่สร้างความเสียหายกันไว้”

“ผมไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่น แต่ที่โดนโจมตีมาตลอดนั้นเป็นธรรมกับผมหรือไม่ จะถามก็ไม่ได้เลย แตะต้องไม่ได้ เขาเป็นใครถึงแตะไม่ได้ เป็นเจ้าของประเทศนี้หรือ เพราะเจ้าของประเทศนี้คือประชาชน ถามว่าประชาชนจะเอาอย่างไร ไม่ได้ถามว่าจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ผมไม่ถามอะไรโง่ๆ แบบนั้นอยู่แล้ว”

อีกด้านหนึ่ง ก็พยายามประท้วงด้วยการประกาศว่า จะเลิกพูด 2-3 สัปดาห์

เพื่อตอบโต้สื่อและนักการเมืองที่โจมตีอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม ขบวนการขับเคลื่อน เพื่อสนองคำถาม 4 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเดินหน้าต่อไป

โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทุกจังหวัด เพื่อเตรียมรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรม

ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ ก็ถูกจับตามองโดยใกล้ชิด

เพราะกลไกของมหาดไทยนั้นขึ้นชื่อมานานในการตอบสนอง “นาย”

จึงมีความเป็นไปได้สูงที่คำตอบ 4 ข้อผ่านศูนย์ดำรงธรรมจะออกมาในทิศทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการ

และนั่นอาจจะเป็นข้ออ้างสำคัญ ที่ทำให้ “การเลือกตั้ง” แปรเปลี่ยนไปจากโรดแม็ปก็ได้

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าแม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดระยะเวลาการเลือกตั้งเอาไว้ชัดเจน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มี ม.44 ในมือ

หากคำตอบทั้ง 4 ข้อ ภายใต้กลไกมหาดไทยออกมาอย่างท่วมท้นว่า ไม่วางใจการเลือกตั้ง

การหย่อนบัตรที่คาดหมายว่าจะมีขึ้นในปี 2561 อาจจะเลื่อนออกไปด้วยอำนาจ ม.44 ก็ได้

อย่าประมาท QUESTION MAN หนังมนุษย์ค้างคาว เตือนใจไว้เช่นนั้น!!