เดอะโพสต์ : คลื่นลูกที่สี่กับทางที่เหลือรอด

อาศัยโรงพิมพ์ตะวันออกในกรุงเทพฯ จัดพิมพ์และส่งไปจำหน่ายในพนมเปญทางอากาศ เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์อื่นๆ ในกัมพูชาช่วงถ่ายผ่านสังคมเวลานั้น ทั้งหนังสือพิมพ์รัศมีกัมปูเจีย นิตยสารรายปักษ์ประเจียไปร ทั้งหมดล้วนใช้บริการโรงพิมพ์ในกรุงเทพฯ แล้วขนส่งไปบนทางหลวงหมายเลข 5

แต่หนังสือพิมพ์สี่สีภาษาอังกฤษรายปักษ์ ปรากฏตัวในกัมพูชาวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ.1992 ครั้งแรก ชื่อของ “เดอะพนมเปญโพสต์” ก็คงอยู่กับสังคมกัมพูชาไปด้วยกันจนจำเนียรกาลผ่านไป 16 ปี

ไมเคิล เฮยส์ และ แคตเธอลีน โอคีฟ ผู้ก่อตั้งและปลุกปั้นแท็บลอยด์ฉบับนี้จึงยอมปล่อยเดอะโพสต์-ลูกสาววัย 16 ไปเติบโตบนเส้นทางที่สอดคล้องกับสังคมกัมปูเจีย

โอ ในที่สุดทางอันเหลือรอดของเดอะโพสต์ก็มาถึง

จําได้ว่า ระยะแรกๆ ที่จัดจำหน่าย หนังสือพิมพ์ที่ลักษณะเด่นมากฉบับนี้ยังมีวางขายที่เอเซียบุ๊คสย่านสุขุมวิท แบบเดียวกับร้านดวงกมลที่วางจำหน่าย “Le Mekong” ที่สำนักงานวัฒนธรรมฝรั่งเศสตรงถนนสาธร

ไม่นานนัก ทั้ง 2 ฉบับ Le Mekong และเดอะพนมเปญโพสต์ก็หายหน้าจากเอเซียบุ๊คส-กรุงเทพฯ ไปโลดแล่นในกรุงพนมเปญอย่างโดดเดี่ยว และ เลอแม่โขง ในที่สุดก็ล้มหายไปจากสนามประลองแห่งนี้

ท่ามกลางการเกิดขึ้นของสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับอื่นๆ ซึ่งช่วยยกระดับให้ประเทศนี้ เต็มไปด้วย เดอะโพสต์ แม้หลายครั้งหลายครา ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจดังกล่าวนั่น จะโถมใส่ประเทศนี้

แต่พนมเปญโพสต์และเฮยส์ยังเหนียวแน่น มั่นคง สถานการณ์ที่น่าจดจำของกัมพูชาในแต่ละปี แต่ละปีที่ ไมเคิล เฮยส์ นั่งทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร / Editor-in-Chief (1992-2008) สร้างสรรค์ผลงานแต่ละฉบับอย่างประณีตตั้งแต่หน้าแรกไปจนถึงหน้าสุดท้าย

โดยเฉพาะใน 3-4 ปีแรก ที่การผลิตยังอาศัยวิธีข้ามจากสรฺ๊กไทยไปจำหน่ายที่กัมพูชา กระบวนการดังกล่าวนี้เอง ที่ดูจะทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีลักษณะชวนให้ทั้งจดจำและหลงลืม

แต่ด้วยเนื้อหาของความเป็นกัมพูชานั่นเอง ที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ฉบับนี้มีลักษณะทรงคุณค่าในตัวเอง

หากจดจำได้ หน้าคู่กลางพนมเปญโพสต์ทุกฉบับจะเป็นกราฟิกแผนที่ อาคาร ร้านค้าและสถานบริการต่างๆ ที่ได้รับการออกแบบอย่างมีศิลปะ

ไม่ใช่แต่นักท่องเที่ยวที่อาศัยหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เดินท่องทัวร์ทั่วพนมเปญ แม้แต่คนที่อาศัยประจำอย่างฉันและเพื่อน บางทีนึกไม่ออกบอกมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่ถูก ก็ฉวยแผนที่เดอะโพสต์นี่แหละ มาเป็นไกด์ประจำตัว

และอุ่นใจเสมอ ที่ได้เห็นลายกราฟิกนางนาค สัญลักษณ์อันโดดเด่นของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ที่อยู่ยงมากับสังคมกัมพูชาตั้งแต่ฉบับแรก จนถึงฉบับปัจจุบัน

ตั้งแต่เป็นยังเป็นนางนาควัยสิบห้าหยกๆ สิบหกหย่อนๆ

จนปัจจุบันก็ 24 ปีแล้วล่ะ

ต้องยอมรับว่า ตลอดมา แม้จะทรงคุณค่าในอัตลักษณ์แห่งความเป็นสื่ออิสระสำนักเก่าแก่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ไม่สู้จะส่งอิทธิพลต่อสังคมเท่าใดนัก

แต่ ไมเคิล เฮยส์ บุกเบิกเดอะโพสต์ฉบับนี้จนกลายเป็นสื่ออิสระที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตน ซึ่งจะว่าไปแล้ว สิ่งพิมพ์ของกัมพูชาในแต่ละฉบับก็เหมือนกับพรรคการเมือง สไตล์ใครสไตล์มัน

แบบอุดมการณ์และนโยบาย ของใครก็ของมัน

แต่เมื่อพนมเปญโพสต์ทำไว้อย่างเหนือเมฆ ทั้งบทวิเคราะห์เชิงลึก การสืบสวนสอบสวนแบบเอฟบีไอ เช่นกรณีเหตุระเบิด (1996) รัฐประหาร และการสังหารกลุ่มนักการเมืองที่มากที่สุดยุคหนึ่ง (1997) กรณีสหภาพ, พิสิต พิลิกา (1999) และการอุทิศหน้าข่าวอาชญากรรมบันทึกปรากฏการณ์ทางสังคม, หลักฐานชั้นต้นอดีตผู้นำเขมรแดงและรัฐบาล ฯลฯ

ซึ่งเมื่อมูลบททางสังคมเปลี่ยนทิศทาง ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเหล่านั้น พนมเปญโพสต์ดูจะเป็นเหมือนเอกสารบนหอคอยงาช้างที่ยากจะเข้าถึง และไม่ตอบโจทย์วิถีสมัยใหม่ในสังคมประเทศนี้

ที่ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เคยล้ำหน้ามาก่อน

ในครั้งหนึ่ง สำนักงานเรือนไม้ของเฮยส์หลังวัดบัวตุมวตีที่ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ และการแวะเวียนของใครต่อใครทั้งเจ้าหน้าที่การทูต เอ็นจีโอ นักการเมือง นักข่าวและช่างภาพอิสระ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ดาราผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ฯลฯ และจดหมายข่าวสารที่ไหลหลั่งมาเยือนคอลัมน์ “จดหมายถึงบรรณาธิการ” จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักประวัติศาสตร์วิทู ผู้สื่อข่าวเดนสงคราม ซึ่งล้วนเป็นจุดเด่นของแท็บลอยด์ฉบับนี้

16 ปีของเฮยส์ที่ไม่สูญเปล่าในแง่ที่เดอะโพสต์ของเขาได้ทำหน้าที่ทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายตามที่เขาได้รับมาจากนายทุนยูเอ็นยุคแรกที่อุดหนุนให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ถือกำเนิด

แต่บางทียุคเดอะโพสต์แบบนั้น มันได้ผ่านไปแล้ว

และนั่นคือการตัดสินใจในการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่คือการขาย “เดอะโพสต์” ซึ่งใช้เวลาแรมปีและรวมๆ หลายปีที่หมดไปกับความลังเล แต่ด้วยเงื่อนไขที่รอบคอบรัดกุม เพียงพอที่เขาจะปล่อยให้เดอะโพสต์ฉบับนี้โลดแล่นในกัมพูชา ในมือกลุ่มทุนธุรกิจสิ่งพิมพ์ออสเตรเลีย

นั่นคือ สิงหาคม 2008 ที่วงการซื้อตัวกัมพูชานักข่าวกัมพูชาล็อตใหญ่ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ซึ่งตรงกับที่พรรคซีพีพีกลับมาบริหารประเทศเป็นสมัยที่สาม

ขณะที่วงการสื่อสารมวลชนเขมรนั้นกลับเรียกตัวเองว่าคลื่นลูกที่สี่

ด้วยแรงกระเพื่อมแห่งองคาพยพดังกล่าว หลังจากใช้เวลาหมดเปลืองไปถึง 17 ปี

วันที่ 9 เดือน 9 ปี ค.ศ.2009 พนมเปญโพสต์ฉบับภาษาเขมรรายวันจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างถูกที่ ถูกเวลา

โดยเฉพาะเมื่อเดอะโพสต์อื่นๆ ทั้ง เกาะสันติภาพ, รัศมีกัมปูเจีย ขะแมร์ไทม์ ฯ ได้กลายเป็นสิ่งดาดๆ ที่ชาวกัมพูชาจำนวนมากเริ่มปฏิเสธ โดยเฉพาะการที่กาแสตเหล่านี้ เพิกเฉยกับการรายงานปรากฏการณ์ทางสังคม อีกด้านหนึ่งที่พวกเขาต้องการจะเห็น โดยเฉพาะประเด็นละเอียดอ่อนที่ผู้บริโภคมักเชื่อว่า ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนจะกล้าเล่น

เช่น ครั้งที่มีผู้ชุมนุมนับแสนบนท้องถนนเพื่อต้อนรับ สัม รังสี ในปี 2013 ซึ่งดูจะมีแต่เดอะพนมเปญโพสต์ฉบับเดียวที่ให้ความสำคัญกับข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง จนก่อกระแสตีกลับในความนิยม

แต่กองบรรณาธิการเดอะโพสต์ขะแมร์ดูจะชอบเสิร์ฟข่าวที่บริโภคได้-ไม่เลี่ยนและโอชา

โดยเฉพาะการ “พาดหัวข่าว” หน้า 1-ตามตำรับสำนักหัวสี

เช่น การกว้านซื้อยอดวิวเฟซบุ๊กสมเด็จฮุน เซน จำนวน 1,000,000 วิว ที่ทำกันทั้งในกัมพูชาและประเทศยากไร้ในพิภพโลกอีก 3 ทวีป!

พอถูกกดดันให้แก้ข่าว เดอะโพสต์ขะแมร์ก็ยืนกรานถึงข้อเท็จจริงและเสรีภาพซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้นได้ หาก นายเขียว กัญญฤทธิ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสาร 3 สมัยยังมีอิทธิพลและบารมี

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ บรรดาสรรพอาวุธที่สื่อเขมรภาษา (เข-มะ-ระ-พา-สา) นั้น ต่างท่วมท้นไปด้วยจำนวนและคุณภาพ ทั้งแคมโบเดียเดลี่, รัศมีกัมปูเจีย, เกาะสันติภาพ, เนี้ยะเชียดนิยม/นักชาตินิยม, กัมปูเจียทไม ยุวชนเขมร ล้วนแต่อยู่ในวัยปากลางคือ 20-25 ปี แต่ดูเหมือนพวกเขาเพิ่งจะรู้จักลิ้มลองกับเสรีภาพ

บางฉบับนั้น อาศัยหลากหลายให้ได้มาซึ่งดังกล่าว ทั้งการก่อตั้งแบบใต้ดิน บนดินและในอากาศ บางคนที่ก่อตั้งได้ถึงกาลล้มหายตายจาก แต่ก็แปลกที่เกือบจะไม่พบเลยว่า มีฉบับไหน (หรือเว็บเพจใด) ที่ร่วงโรยและจากลา

ตรงกันข้าม มันกลับแตกหน่อเป็นฉบับทวิภาษา-อังกฤษเขมรอย่างถ้วนทั่ว เช่น CamNews (The Cambodian Internet Newspaper), เขมรสถาปนา, Khmer Intellingence (KI Media), ขะแมร์นิวส์, ยุวชนใหม่, มนสิการขะแมร์ และนิวส์บล็อกอื่นๆ

ยังไม่นับพวกสำนักข่าวดัง VoA, RFA, RFI, ที่หันมาใช้มัลติมีเดียทั้งคลิปเสียง/วิดีโอ/และข่าวรายงานในทุกช่องทางและเครือข่าย เท่าที่สื่อออนไลน์จะทำได้

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ พอจะทำให้เห็นว่า เหลือเชื่อแค่ไหน? สำหรับประเทศเล็กๆ ที่มีพลเมือง 10 กว่าล้าน แต่กลับมีสื่อที่แข่งขันกันมากมายถึงเพียงนี้

ฉะนั้น การที่สิ่งพิมพ์กัมพูชาอย่างพนมเปญโพสต์สามารถเติบโตทางธุรกิจในแบบทวิภาษา ทั้งสิ่งพิมพ์ยุคกระดาษและออนไลน์ จึงสวนกระแสอัสดงของเดอะโพสต์อีกหลายฉบับ

โดยเฉพาะกระบอกเสียงอันดับ 1 ของรัฐบาล อย่างรัศมีกัมปูเจีย

ดูหมือนจะถูกเบียดให้ตกขบวนคลื่นลูกที่สี่

credit : Khmernz.blogspot.com

อภิญญา ตะวันออก