ในประเทศ / 1 2 3 4 5 นะจ๊ะ ‘ทักษิณ-ธนาธร’ ร่วมด้วยช่วยกัน เสนอแนวทางฝ่าวิกฤตโควิด-19

ในประเทศ

 

1 2 3 4 5 นะจ๊ะ

‘ทักษิณ-ธนาธร’

ร่วมด้วยช่วยกัน

เสนอแนวทางฝ่าวิกฤตโควิด-19

 

การแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่

ของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในสายตาชาวบ้านขณะนี้

แน่นอน คงไม่ได้เป็นขั้นเป็นตอนระรื่นหู แบบ วัน ทู ทรี โฟร์ ไฟว์ นะจ๊ะ อย่างแน่นอน

หากแต่น่าจะเป็นแบบ วัน ทู ทรี โฟร์ ไฟว์ I HEAR TOO

คือได้ยินเหมือนๆ กัน ถึงความสับสน วุ่นวาย ไม่เป็นขบวน ในการแก้ปัญหา

อย่างน่าห่วงใยและกังวล

 

แม้ว่าจะมีคนไม่น้อยเห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

คือเลือกที่จะไม่ล็อกดาวน์ ชนิดปิดตายเหมือนการระบาดครั้งแรก

เพราะเป็นยาแรงที่ส่งผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจเกินไป

แต่เลือกที่จะเข้าไปควบคุมอย่างเข้มข้น ในพื้นที่มีการระบาดอย่างรุนแรง

ถือเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือสีแดง 28 จังหวัด และกำหนด 5 จังหวัด

โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาและสามารถประกาศมาตรการต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

อันจะช่วยแยกแยะปัญหาเป็นพื้นที่ที่ไป ไม่ใช่เหมารวมจนวิกฤตไปทั่วประเทศ

แต่ภายใต้ธงดังกล่าว เมื่อแปรไปสู่การปฏิบัติ กลับมากด้วยปัญหา

ด้วยต้องมีการตีความตลอด สร้างความมึนงงให้กับประชาชน

บางพื้นที่มีคำสั่งออกมาไม่กี่ชั่วโมง ก็ต้องเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก เพราะส่วนกลางไม่เห็นด้วย

จึงทำให้เกิดการละล้าละลัง

ขณะที่การระบาดก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไป 58 จังหวัด

และเริ่มมีความรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะควบคุมการระบาดต่อไปได้หรือไม่

 

พร้อมกันนั้นยังเกิดคำถามถึงแนวทางปฏิบัติ ว่าที่เลือกจะไม่ล็อกดาวน์ มิใช่เหตุผลที่จะแยกแยะปัญหาเท่านั้น

หากแต่รัฐบาลกังวลว่า หากเกิดประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ต้องมีมาตรการเยียวยาออกมา

ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินอีกมหาศาล

ขณะที่ภาพของรัฐบาลเป็นสภาพอย่างฉายาที่สื่อมวลชนทำเนียบตั้งให้ นั่นคือ “เวรี่กู้”

รอบแรกกู้มาแล้วร่วม 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งก็ยังกระจายออกไปได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตรงเป้าและไม่ตรงโจทย์ ทำให้เงินบางส่วนเหลือบานเบอะ

หากต้องมาเวรี่กู้รอบที่สอง คงเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักแน่

ที่สำคัญ มันไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะประสิทธิภาพการบริหารงานเท่านั้น

หากแต่ “วิกฤต” รอบใหม่ได้สะท้อนปัญหาอันหมักหมมที่เคยถูกเรียกร้องให้ปฏิรูป ให้แก้ไข

โดยเฉพาะระบบราชการ

 

ปัญหาที่แรงงานต่างด้าว ผู้ลักลอบเล่นการพนัน อันเป็นจุดระเบิดของปัญหารอบใหม่นั้น ล้วนเกี่ยวโยงกับกลไกรัฐทั้งนั้น ไม่ว่าตำรวจ ทหาร ข้าราชการด้านความมั่นคง

การนำแรงงานที่ผิดกฎหมายเข้ามา การเปิดบ่อน ล้วนเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

ทำให้ความรู้สึกของประชาชนไม่ใช่เพียงช็อกกับ “วิกฤตโรคระบาด” ที่ระเบิดออกมาเท่านั้น

หากแต่รู้สึกโกรธ

โกรธเพราะถูกเรียกร้อง ขอร้อง บังคับ แม้กระทั่งใช้กฎหมายเข้มข้นถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมมิให้การ์ดตก และอย่าเป็นต้นตอในการแพร่โรคระบาด มานานร่วมปี

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น กลับปริแตกจากจุดอ่อน คือแรงงานข้ามชาติ และบ่อนที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกลไกลรัฐดูแลอยู่

นอกจากจะหละหลวมแล้ว ยังพบร่องรอยเข้าไปหาประโยชน์ จนกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดของไวรัส

นี่เองทำให้ประชาชนโกรธ ไม่พอใจ และเริ่มวิพากษ์รัฐบาลหนักขึ้นเรื่อยๆ

 

ภาวะดังกล่าว จึงทำให้ปัญหาเรื่องโควิดมิใช่เรื่องสาธารณสุขเท่านั้น

หากแต่ได้กลายเป็น “ประเด็นทางการเมือง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะเมื่อนักการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายค้าน จับความรู้สึกไม่พอใจของประชาชนได้อย่างชัดเจน ก็กระโดดเข้ามาตอบสนองและขยายผล

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้สั่งการในที่ประชุม ครม.ว่า ขอให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันออกมาให้ข่าว อย่าเงียบ ใครพูดอะไรได้ก็ช่วยกัน อย่างการเยียวยาประชาชนช่วงสถานการณ์โควิดระลอกสองนั้น กำลังหารือกับ รมว.คลัง รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ และจะนำเข้า ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

แต่ดูเหมือนจะรั้งไม่อยู่ เมื่อฝ่ายค้านอย่างนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะประธานคณะทำงานเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาบอกว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความพร้อมในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้ว

โดยจะเน้นหนักไปที่ความล้มเหลวของรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ ไม่มีมาตรการอะไรที่ชัดเจน

สอดคล้องกับนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ที่ย้ำว่าจะนำเรื่องความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 รอบสอง ทั้งเรื่องความบกพร่องในการควบคุมสถานการณ์ และการใช้งบประมาณแก้ปัญหาโควิด มาเป็นเนื้อหาการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย

ซึ่งแน่นอนย่อมจะเพิ่ม “อาการไข้” ให้หนักหน่วงขึ้น

 

ในสภาพที่วิกฤตแปรสภาพเป็นประเด็นการเมืองเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

และขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังตั้งลำรัฐนาวา สู้คลื่นลมยังได้ไม่ดี

มีบุคคลสองคนที่แม้จะเป็นบุคคลที่ถูกกันให้ออกนอกปริมณฑลการเมือง แต่ก็ถือว่ายังคงมีอิทธิพลทางความคิด

ได้ออกมาช่วงชิงการโชว์วิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหา

นั้นคือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะกลุ่มก้าวหน้า

ซึ่งในอารมณ์ที่ไม่พอใจของประชาชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ยิ่งทำให้วิสัยทัศน์ของทั้ง 2 คนเพิ่มน้ำหนักขึ้น

 

โดยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรียกสติชาวบ้านว่า อย่าไปตกใจมาก ไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นใหม่ มนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และเกิดได้ในหลายรูปแบบ ร่างกายเราจึงยังสู้ไม่ได้ คนที่ตายจริงๆ แล้วส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เรียกว่า เปราะบาง เช่น ผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปี มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจ ความดันสูง

ดังนั้น ถ้าเราให้ความรู้ประชาชนด้านการป้องกันจะดีกว่าการควบคุม

เพราะการควบคุมมันมีราคาแพงกว่าการป้องกัน

วิธีการควบคุมเป็นการปิดเศรษฐกิจทั้งหมด

แต่วิธีการป้องกันมันเปิดเศรษฐกิจ

จึงอยากเห็นประเทศไทยใช้ระบบป้องกัน ให้ความรู้ประชาชนอย่างชัดเจน อย่าตกใจ อย่ากลัว การ์ดอย่าตกเท่านั้นเอง

ถ้าเศรษฐกิจเปิด ประชาชนก็ไม่เครียด สามารถออกไปทำมาหากินได้

วันนี้ต้องหาความพอดีระหว่างความเป็นอยู่กับการป้องกันโรค

จึงต้องมีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับการป้องกัน

การควบคุมนั่นจะเอาไม่อยู่เพราะเชื้อโรคมันไม่เชื่อง แล้วเราก็ต้องมาใช้กำลังคน ใช้เงินจำนวนมาก

“ปีใหม่นี้ เป็นปีที่หนักหน่อย เพราะโลกทั้งโลกระบมกับโรคระบาดนี้ ถึงแม้จะมีวัคซีน แต่คน 100% ก็ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้หมด บางประเทศก็ยังไม่สามารถให้วัคซีนฟรีกับประชาชนได้ ดังนั้น โรคมันทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ก็เลยอยากบอกกับทุกคนว่าอย่าประมาท อย่าการ์ดตก และรีบทำมาหากิน พยายามเรียนรู้ใหม่ จากแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อให้ตัวเองปรับตัว ทำมาหากินได้ ความอดทนและความพยายามเท่านั้นที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในโลกใหม่” นายทักษิณกล่าว

 

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บอกว่า สถานการณ์ในขณะนี้มีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก

การออกมาตรการต่างๆ ของภาครัฐจำเป็นจะต้องยึดหลักการที่สำคัญสองหลักการ

คือ 1. ความได้สัดส่วน

และ 2. การตั้งอยู่บนความเป็นธรรมและความเสมอภาค

ความได้สัดส่วน หมายความว่ามาตรการที่ออกมาจะต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่รุนแรงจนเกินเหตุ หรือไม่อ่อนจนเกินเหตุ

ส่วนเรื่องของความเสมอภาคเท่าเทียม หมายถึงการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ให้คุณหรือไม่ให้โทษกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ยกตัวอย่าง ถ้าบริเวณเดียวกันมีสถานที่สองแห่ง ที่หนึ่งถูกสั่งปิด แต่อีกที่หนึ่งมีลักษณะการใช้พื้นที่แบบเดียวกันแต่ไม่ถูกสั่งปิด นี่คือความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม

 

นายธนาธรบอกอีกว่า ปัญหาอีกชุดหนึ่งที่ต้องดำเนินการคือ การจัดการวัคซีนที่เป็นธรรม

และ 2. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ฉับพลัน

“ตอนนี้ที่เป็นข่าวอยู่คือทางรัฐบาลจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทยจำนวน 26 ล้าน dose 1 คนใช้ 2 dose เพียงพอสำหรับคน 13 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แผนนี้เราไม่เคยได้รับรู้รายละเอียดเลยว่าคนที่เหลือจะทำอย่างไร จะจัดสรรด้วยงบประมาณอย่างไรที่จะทำให้คนได้วัคซีนอย่างถ้วนหน้าและเป็นธรรม” นายธนาธรกล่าว

และว่า ได้เคยเสนอว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ควรจะต้องตั้งเอาไว้เลย 6.7 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดสรรวัคซีนให้กับคนไทยจนเพียงพอ เสียดายที่รัฐบาลไม่เคยกันงบประมาณส่วนนี้ไว้

ถ้าเราไม่ตั้งเงื่อนไขกติกาให้ชัดเจนว่ากลุ่มคนกลุ่มใดควรจะได้ก่อน เกรงว่าวัคซีนจะไปถึงมือคนที่มีเงินและมีอำนาจก่อน

ส่วนการเยียวยา อยากเสนอให้การเยียวยาเป็นไปอย่างถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน คิดเป็นวงเงิน 4 แสนล้านบาท

โดยนำมาจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติมาจากสภา มีการอนุมัติโครงการไว้แล้ว 4.9 แสนล้านบาท

เสนอว่าจำนวนเงินที่เหลือ 4 แสนล้านบาทเอามาตั้งเป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ส่วนที่เหลือกันไว้เพื่อนำไปซื้อวัคซีนสำหรับทุกคน

ถ้าเป็นตามนี้ จะทำให้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาทถูกใช้เต็มจำนวน

จะทำให้ประชาชนนำเงินไปใช้ในสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตของแต่ละคนและวางแผนชีวิตของตัวเองได้

 

ว่าที่จริงแนวคิดของทั้งนายทักษิณและนายธนาธรมิได้แตกต่างจากสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำ

คือไม่ล็อกดาวน์ประเทศ

แต่ประชาชนก็หวังถึงการได้เห็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นระบบ ไม่ว่าการป้องกัน และจัดหาวัคซีน

ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ทำได้

ก็อาจหยุดภาวะโดนิโน มิให้ล้มต่อเนื่องไปกระทบถึงตนเองและรัฐบาลในที่สุด!