คุยกับทูต : ‘ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี’ ตอนจบ สหรัฐ-ไทย ชูเศรษฐกิจกู้วิกฤตโควิด-19

ที่ผ่านมาสหรัฐได้ขับเคลื่อนความร่วมมือต่างๆ ระหว่างหน่วยงานสหรัฐในประเทศไทยและรัฐบาลไทย ในการรับมือกับโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการต่อยอดความร่วมมือด้านวิทยาการความก้าวหน้าทางสาธารณสุขระหว่างสองชาติที่มีมายาวนานหลายทศวรรษ

ทั้งยังมีความมุ่งมั่นต่อความสำคัญของเสรีภาพในการนับถือศาสนาและสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ โดยทำงานร่วมกับผู้นำศาสนาของไทยจากทุกศรัทธาความเชื่อและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้มั่นใจว่าสหรัฐและไทยจะเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำในการส่งเสริมเสรีภาพเหล่านี้ต่อไป

ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี (His Excellency Mr. Michael George DeSombre) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยมีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่เพื่อให้มั่นใจว่า บรรดาประเทศขนาดเล็กอย่างประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีทางเลือกในการตัดสินใจเกี่ยวกับอธิปไตยของตน

และการเข้าถึงทรัพยากรทางธรรมชาติ

 

สหรัฐมีสัมพันธไมตรีกับไทยมากว่า 2 ศตวรรษแล้ว แต่ก็ยังมีความร่วมมือบางด้านที่ท่านทูตรู้สึกว่าคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักนัก

“ผมคิดว่า คนไทยยังเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการสาธารณสุขที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสหรัฐไม่มากพอ เพราะประวัติศาสตร์ความร่วมมือด้านการสาธารณสุขระหว่างไทยกับสหรัฐนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้ว เมื่อนายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ (หมอบรัดเลย์) ได้สร้างคุณูปการให้กับการแพทย์ไทยยุคแรกในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1830”

“และอีกตัวอย่างในประวัติศาสตร์คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” ก็ทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และที่รัฐแมสซาชูเซตส์นี้เองที่พระองค์ทรงเจรจาทำข้อตกลงกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เพื่อให้เงินทุนสนับสนุนเริ่มต้นทางด้านการศึกษาในสถาบันการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว”

“หน่วยงานสาธารณสุขของสหรัฐหลายแห่งได้ร่วมมือกับไทยมานานกว่า 60 ปี ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) ซึ่งมีสำนักงานนอกประเทศขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีในไทย โดยได้มอบทุนกว่า 125 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครเพื่อสนับสนุนโครงการด้านการสาธารณสุขมากมายที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โรคไม่ติดต่อ การระบาดของไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้ออื่นๆ”

“โครงการ Field Epidemiology Training Program ของ CDC เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1980 ได้ฝึกอบรมแพทย์ชาวไทยมาแล้วหลายร้อยคน ปัจจุบัน คนเหล่านี้ทำงานในแนวหน้าเพื่อรับมือกับโควิด-19”

 

“องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ได้ทำงานร่วมกับแพทย์ พยาบาล และนักวิจัยชาวไทยเพื่อพัฒนาสุขภาพของคนไทย ชาวอเมริกันได้มอบเงินช่วยเหลือประเทศไทยแล้วกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยผ่านทาง USAID เงินช่วยเหลือสถานการณ์โควิด-19 ที่ USAID และ CDC ได้มอบให้กับไทยมีมูลค่ารวมกันแล้ว 18.5 ล้านเหรียญสหรัฐ”

“สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐมีต้นกำเนิดจากความร่วมมือทางการแพทย์ทหารระหว่างกองทัพบกสหรัฐและกองทัพบกไทย นอกจากนี้ กองทัพบกสหรัฐและกระทรวงสาธารณสุขไทยได้ร่วมมือกันใน “โครงการวิจัยวัคซีนเอชไอวีครั้งประวัติศาสตร์” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี นั่นคือโครงการ RV144 ในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ.2003 นับเป็นครั้งแรกที่เราเห็นความเป็นไปได้ของการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี”

“นอกจากนี้ ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ดำเนินงานในประเทศไทย AFRIMS ได้มีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบเจอี และอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนายารักษาโรคและวัคซีนสำคัญๆ ที่ช่วยชีวิตผู้คนได้อย่างมากมายอีกด้วย”

“ชาวไทยหลายคนอาจไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับโครงการ “ดีๆ ที่ไม่มีใครพูดถึง” เหล่านี้มาก่อน แม้ว่าโครงการเหล่านี้จะมีผลอย่างมาก และมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง”

 

ทําไมจึงสนใจประเด็นแม่น้ำโขง

“ผมคิดว่าแม่น้ำสายหลักๆ มีความสำคัญกับชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก ทั้งชาวอเมริกันและชาวไทยเคารพและเห็นความสำคัญของแม่น้ำสายสำคัญๆ ของเราที่เป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพของคนจำนวนนับไม่ถ้วน ตอนเด็กๆ ผมอยู่ใกล้กับแม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์และขนบประเพณีอเมริกัน ชาวบ้านที่มีชีวิตความเป็นอยู่เรียงร้อยเข้ากับสายน้ำที่มีสุขภาพดีเช่นแม่น้ำมิสซิสซิปปีและแม่น้ำโขงนั้น มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน และนั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผมสนใจเรื่องความยั่งยืนของแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก”

“ผมเติบโตมาในเมืองชิคาโกริมทะเลสาบมิชิแกน จึงรู้ว่าทางน้ำขนาดใหญ่ยังเป็นเสาหลักทางอัตลักษณ์ที่สำคัญของชุมชนที่อยู่ล้อมรอบ ในอดีตนั้น การพัฒนาต่างๆ ได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อทะเลสาบมิชิแกนและแม่น้ำชิคาโก แม่น้ำชิคาโกประสบกับมลภาวะทางน้ำอย่างมากจนในปีหนึ่งได้เกิดไฟไหม้ขึ้น โชคดีที่รัฐบาลระดับท้องถิ่นและระดับรัฐช่วยกันทำความสะอาดแม่น้ำสายนี้ และในปัจจุบันมีทางเดินเลียบแม่น้ำที่มีชีวิตชีวาและมีผู้คนหลายล้านคนมาท่องเที่ยวในทุกๆ ปี”

“ผมทราบว่าแม่น้ำโขงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคนไทย การสร้างเขื่อนและการจัดการน้ำกำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตและการดำรงชีพของผู้คน เรามุ่งมั่นที่จะทำงานกับไทยและประเทศต่างๆ ที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกัน เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและทรัพยากรที่จำเป็นต่างๆ รวมทั้งเพื่อให้แน่ใจว่าการพัฒนาจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ทุกประเทศริมฝั่งโขง และเราอยู่ที่นี่เพื่อจะบอกให้ทุกคนรู้ว่า สหรัฐเป็นหุ้นส่วนกับท่าน”

 

ท่านทูตชอบอะไรเกี่ยวกับการเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยมากที่สุด

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่มีโอกาสได้รับใช้ประเทศของผม และมีส่วนช่วยส่งเสริมการดำเนินนโยบายด้านการทูตและยุทธศาสตร์ของสหรัฐ และในเวลาเดียวกันก็ได้เสริมสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสหรัฐและไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปด้วย”

“ตอนนี้ผมอยู่ที่เมืองไทย ได้พบปะกับผู้คนมากมายหลายอาชีพ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ผมได้ฟังความคิดเห็นของพวกเขา และดูว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ในระหว่างการล็อกดาวน์ช่วงที่โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย ยังได้แสดงความคิดเห็นของผมผ่านทางบทความแสดงความคิดเห็นหลายชิ้น รวมทั้งผ่านทางการประชุมทางออนไลน์ และการให้สัมภาษณ์กับสื่อ เพื่อที่จะบอกเล่าเกี่ยวกับประเด็นความสนใจของสหรัฐ เช่น เรื่องสาธารณสุข การปกป้องแม่น้ำโขง และห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อถือได้ ปลอดภัย และมั่นคง”

“หลังจากที่สถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้น ผมเน้นไปที่การพบปะโดยตรงกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐบาลไทย รวมทั้งธุรกิจและภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อช่วยกระชับความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างสหรัฐและไทย ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ และเชื่อว่าความสัมพันธ์นั้นจะเกิดขึ้นได้จากการใช้เวลาร่วมกัน”

“ผมเป็นคนที่มุ่งมั่น ชอบใช้ทุกโอกาสและทุกการปฏิสัมพันธ์ที่มีเพื่อหาทางที่จะทำให้ประเด็นต่างๆ พัฒนาไปข้างหน้า และหาทางที่จะนำประเทศของเราทั้งสองให้ใกล้กันยิ่งขึ้น ผมชอบพบปะกับคนไทย ชอบประเทศไทยมากๆ และรู้สึกโชคดีที่ได้อยู่ที่นี่ในปีนี้ ได้เป็นตัวแทนของประธานาธิบดีสหรัฐ ในประเทศที่น่าอยู่นี้”

“ดังนั้น เมื่อถึงโอกาสอันสวยงามเนื่องในศุภวารดิถีขึ้นปีใหม่ ผมขอส่งความสุข ความปรารถนาดีมายังทุกท่าน และหวังว่าในปีใหม่นี้ เราจะได้ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจจะดีขึ้นโดยเร็ว”

 

ประวัติ
นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี
ได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2019 และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2020 ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำราชอาณาจักรไทย

ประสบการณ์ : เป็นหนึ่งในผู้บริหารสำนักงานกฎหมาย Sullivan and Cromwell ตั้งแต่ปี 2004 -2019 โดยดำเนินงานด้านการควบรวมและเข้าซื้อกิจการในทวีปเอเชีย มีประสบการณ์กว่ายี่สิบปีทางด้านการดำเนินการทางกฎหมายและการเจรจาต่อรองให้แก่ลูกความสหรัฐ และประเทศอื่นๆ ในโครงการการลงทุนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย จึงมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความท้าทายต่างๆ ทางการเมือง กฎหมาย และยุทธศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียและอินโด-แปซิฟิก

การศึกษา : ปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ และปริญญาโทสาขาเอเชียตะวันออกศึกษาจาก Stanford University และหลักสูตรนิติศาสตร์ (Juris Doctor) จาก Harvard University

ครอบครัว : สมรสและมีบุตรสี่คน

ภาษา : จีน เกาหลี ญี่ปุ่น / กีฬา : กอล์ฟ เทนนิส และเต้นรำ

ดนตรี : หลากหลาย ป๊อป, ร็อก, คลาสสิคร็อก, แร็พ, EDM

อาหารไทยที่โปรดปราน : ต้มยำกุ้ง, ต้มข่าไก่, ยำปลาหมึก, ส้มตำ