นิ้วกลม | ความล่มสลายของเกาะอุดมสมบูรณ์

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1ยังจำความรู้สึกเมื่อครั้งนั่งเครื่องบินจากกรุงซานติอาโกของประเทศชิลีไปยังเกาะอีสเตอร์อันโดดเดี่ยวได้เป็นอย่างดี

เป็นการเดินทางภายในประเทศเดียวกันอันแสนยาวไกล

ตอนจองตั๋วเครื่องบินผมยังสงสัยว่าเว็บไซต์ลงเวลาผิดหรือเปล่า เหตุใดเกาะอีสเตอร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชิลีในปัจจุบันจึงต้องใช้เวลาบินถึงห้าชั่วโมงกว่า (นั่นมันเฉียดๆ กรุงเทพฯ-โตเกียวเลยเชียวนะ)

ระยะเวลาในการบินแสดงให้เห็นความห่างไกลแผ่นดินของเกาะโดดเดี่ยวแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะชิลีคือแผ่นดินใหญ่ที่ใกล้ที่สุดแล้ว

เมื่อไปถึงที่นั่น ผมรู้สึกว่าตัวเองอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ส่วนอื่นของโลก เกาะแห่งนี้มีความเงียบ โล่ง ว่าง และวังเวงในหลายจุด

พื้นที่บางแห่งเหมือนยังไม่เคยมีมนุษย์เยื้องกรายเข้าไป ทว่า ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่แบบนั้น

เกาะแห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์และมีมนุษย์ใช้ชีวิตเต็มพื้นที่ แต่แล้วเมื่อมาถึงในปี 1877 ทั้งเกาะเหลือผู้รอดชีวิตอยู่เพียง 111 คนเท่านั้น

อะไรคือสาเหตุของความล่มสลายนี้?

2เมื่อพูดถึงเกาะอีสเตอร์

ภาพแรกที่ปรากฏขึ้นในสมองของคนจำนวนมากน่าจะเป็น “โมไอ” (moai) รูปสลักหินแทนมนุษย์ผู้ชาย ไร้ขา หูยาว สูงประมาณ 4-6 เมตร รูปสลักที่ใหญ่ที่สุดสูงถึง 21 เมตร ซึ่งสูงกว่าตึกแถว 4 ชั้นเสียอีก แต่สิ่งน่าทึ่งที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจกลับกลายเป็น “อาฮู” (ahu) หรือฐานหินที่ตั้งของบรรดาโมไอทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่จำนวน 300 แห่งบนเกาะ

อาฮู เป็นฐานหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำจากหินก้อนเล็กๆ บรรจุในขอบหินสีเทาสี่ด้าน แผ่นหินปิดหน้าก้อนหนึ่งมีน้ำหนักถึง 10 ตัน อาฮูจึงมีน้ำหนักโดยรวมตั้งแต่ 300 ตัน ไปจนถึง 9,000 ตัน

ส่วนโมไอนั้นมีน้ำหนัก 70-80 ตัน มีการแกะสลักไว้ทั้งหมด 887 รูป

รูปสลักหินและฐานที่ตั้งเหล่านี้สำคัญอย่างไร

จาเร็ด ไดมอนด์ เล่าเรื่องราวบนเกาะอีสเตอร์ไว้อย่างน่าตะลึงพรึงเพริศในหนังสือ Collapse โดยชี้ให้เห็นว่า โมไอซึ่งเหมือนเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษที่มีสถานภาพสูงในสังคมนั้นถูกสร้างให้มีความสูงใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอาฮูก็มีขนาดใหญ่ขึ้นและตกแต่งประดับประดามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

อาฮูแรกสุดอาจเป็นเพียงลานเรียบๆ ไม่มีรูปสลักใดๆ ตั้งอยู่เลย แต่แล้วชาวโพลินีเชียนที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่ปี ค.ศ.900 ก็ค่อยๆ ค้นพบว่า ดินเถ้าภูเขาไฟนั้นเหมาะสำหรับการแกะสลัก เพราะแกะง่าย แตกยาก และขัดเงาได้ จึงค่อยๆ ลงมือแกะแล้วพัฒนาให้ใหญ่และเยอะขึ้นเรื่อยๆ

โมไอที่ใหญ่ขึ้นตามวันเวลาแสดงถึงการแข่งขันกันเองระหว่างหัวหน้ากลุ่มต่างๆ ที่ใช้รูปสลักเป็นสัญลักษณ์แสดงความเหนือกว่าผู้อื่น

เหตุผลของการแข่งกันเองนี้น่าสนใจ

นอกจากเรื่องหินที่เหมาะกับการแกะสลักแล้ว จาเร็ด ไดมอนด์ ให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกสอง-สามอย่าง มีสองเหตุผลที่น่าสนใจเป็นพิเศษ

หนึ่ง, เพราะอีสเตอร์นั้นเป็นเกาะที่อยู่ห่างไกลจากเกาะอื่นๆ จนทำให้ไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ง่ายๆ ทำให้ชาวเกาะไม่ทุ่มเทพลังงานไปกับการค้าขาย ยกพวกไปยึดดินแดนอื่น หรือออกเรือไปสำรวจแผ่นดินใหม่ พวกเขาจึงมาเล่นเกมแย่งชิงอำนาจในเกาะด้วยกันเอง

ฟังแล้วอดคิดถึงชาวโลกไม่ได้ พอเราไม่มีศัตรูที่ดาวอื่นก็เลยตีกันเองในดาวเคราะห์โดดเดี่ยวดวงนี้

สอง, การสร้างฐานหินและรูปสลักขนาดใหญ่โตแบบนั้นต้องใช้แรงงานจากผู้คนจำนวนมาก จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีอาหารส่วนเกิน ซึ่งต้องทำการเกษตรแปลงใหญ่ภายใต้การควบคุมของชนชั้นนำ

ด้วยความที่สภาพภูมิศาสตร์บีบให้ต้องแย่งชิงอำนาจกันเอง และการควบคุมคนจำนวนมากก็ต้องอาศัย “ความรู้สึก” ว่าผู้ปกครองมีอำนาจมากพอ เหล่าชนชั้นนำจึงทุ่มสรรพกำลังสร้างรูปสลักให้ใหญ่โตและทรงอำนาจกว่ากลุ่มอื่น

3ไม่เพียงแค่แรงงานในการสลักโมไอขึ้นมาเท่านั้น สิ่งที่ใช้กำลังคนมหาศาลคือการเคลื่อนย้ายและการยกหินก้อนใหญ่เหล่านี้ขึ้นมาเพื่อตั้งตระหง่านอย่างที่เห็น ซึ่งเป็นปริศนามายาวนาน

จนบางคนเสนอทฤษฎี “ฝีมือมนุษย์ต่างดาว” เพราะไม่เชื่อว่ามนุษย์สามารถขนย้ายและยกหินใหญ่ขนาดนี้ตั้งขึ้นมาได้โดยไม่ล้ม ในยุคสมัยที่ไม่มีเครื่องจักรกลใดช่วยเหลือ

การขนย้ายเหล่านี้ต้องใช้แรงของผู้ใหญ่วัยฉกรรจ์ 500 คน (สังคมแต่ละกลุ่มมีประมาณ 1,000-2,000 คน) การก่อสร้างโมไอและฐานที่ตั้งขึ้นมาสักหนึ่งจุดต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรอาหารในปริมาณมหาศาล เพราะแต่ละครั้งก็ใช้เวลาเป็นเดือนๆ

จากนั้นยังต้องจัดงานฉลองให้กับผู้คนในกลุ่มที่เป็นเจ้าของอาฮูร่วมกัน

ความท้าทายไม่ได้จบแค่แรงคนเท่านั้น การขนย้ายและติดตั้ง “เรื่องใหญ่” ระดับนี้ยังต้องการวัสดุที่มีคุณภาพมากพอ ทั้งเชือกที่เหนียวและไม่ขาด แถมยังต้องยาวมาก ในจำนวนมหาศาล

เชือกที่ว่านี้ทำจากเปลือกต้นไม้ นอกจากนั้นยังต้องการซุงขนาดใหญ่และแข็งแรงสำหรับทำเลื่อน บันไดแคนู และคานงัด ทั้งหมดนี้ต้องใช้ทรัพยากรต้นไม้นับไม่ถ้วน

เช่นนี้เอง เกาะอีสเตอร์ซึ่งเคยมีป่าไม้ที่มีความหลากหลายอย่างมาก สุดท้ายจึงกลายมาเป็นเกาะที่มีต้นไม้แทบจะน้อยที่สุดในบรรดาเกาะโพลินีเชียทั้งหมด และแทบไม่เหลือต้นไม้ใหญ่ให้เห็นเลย

สิ่งที่หายไปพร้อมต้นไม้คือนกนานาพันธุ์ จากที่ในอดีตเคยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์นกที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง

มาถึงวันนี้ เกาะอีสเตอร์กลายเป็นตัวอย่างที่สุดขั้วของการทำลายป่าไม้และธรรมชาติ ต้นไม้ทุกชนิดสูญพันธุ์ ผลที่ตามมาคือชาวเกาะสูญเสียวัตถุดิบ สูญเสียอาหารที่เคยได้จากป่า และผลผลิตพืชไร่ตกต่ำลง ส่งผลให้วัสดุทั้งหลายก็หมดสิ้นตามไปด้วย เชือก เปลือกไม้สำหรับทำเครื่องนุ่งห่ม ขนนก

การขาดแคลนไม้ซุงและเชือกทำให้การเคลื่อนย้ายเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

ภายหลังปี 1650 เป็นต้นมา ชาวอีสเตอร์ต้องนำต้นหญ้า สมุนไพร กากอ้อย และเศษผักต่างๆ มาเผาเป็นเชื้อเพลิง น่าจะมีการต่อสู้แย่งชิงพุ่มไม้ที่หลงเหลืออยู่อย่างดุเดือด แม้แต่พิธีเผาศพก็ต้องเปลี่ยนเป็นการห่อแล้วฝัง เพราะการเผานั้นเปลืองไม้มากไป

การเพาะปลูกก็ย่ำแย่ เพราะการทำลายป่าส่งผลให้ดินถูกกัดกร่อนเสียหายทั้งจากลมและฝน ไร่นาบางแห่งไม่สามารถปลูกพืชได้ ถูกทิ้งร้างไว้ตั้งแต่ปี 1400

4เมื่อธรรมชาติถูกทำลาย สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือความขัดแย้งของประชากร เพราะอดอยาก ไม่มีกิน จนต้องกินเนื้อพวกเดียวกัน

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะแหล่งอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ตามธรรมชาตินั้นหมดไปแล้ว เนื้อมนุษย์ด้วยกันจึงเป็นทางรอดที่เหลืออยู่

ผมจำได้ว่า ในตอนนั้นต้องเดินเท้าระยะไกลพอสมควรเพื่อไปดูถ้ำและอุโมงค์แคบๆ ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นที่อยู่ของชาวเกาะจำนวนมาก เพราะไม่เหลือทรัพยากรใดๆ จะมาทำเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว

ส่วนรูปสลักโมไอที่ล้มระเนระนาดนั้นเกิดจากการแย่งชิงอำนาจในช่วงหลัง แต่แทนที่จะ “สร้าง” ของใหม่ให้ใหญ่โตสวยงามเพื่อข่มกัน ในเมื่อไม่เหลือทรัพยากรให้ทำเช่นนั้นอีกต่อไป จึงต้องหันมา “ทำลาย” ของศัตรูคู่แข่งให้ล้มลงแทน

พอมาถึงปี 1868 ก็ไม่มีรูปสลักที่ตั้งตรงอีกเลย จำนวนมากถูกทำลายลงด้วยความโกรธแค้นและสิ้นหวัง

ทั้งหมดนี้คือความล่มสลายของเกาะสวรรค์ที่เคยอุดมสมบูรณ์

เป็นความล่มสลายในทุกระดับ ตั้งแต่สภาพแวดล้อม ทรัพยากร อำนาจ สังคม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ จนกระทั่งถึงชีวิตผู้คน

5ช่วงปี 1805 เริ่มมีการจับตัวชาวเกาะอีสเตอร์ไปใช้แรงงาน เรือจากเปรูลักพาตัวชาวเกาะไป 1,500 คน (นับเป็นครึ่งหนึ่งของคนที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่) เพื่อนำไปขายให้กับเจ้าของเหมือง หลังจากนั้นเปรูส่งเชลยที่รอดชีวิตสิบกว่าคนกลับคืนถิ่น แต่กลับกลายเป็นว่าคนเหล่านี้นำเชื้อไข้ทรพิษมาระบาดบนเกาะอีก

พอถึงปี 1872 มีชาวอีสเตอร์หลงเหลืออยู่เพียง 111 คน

อะไรคือบทเรียนที่เราได้จากเกาะอีสเตอร์?

จาเร็ด ไดมอนด์ สรุปปัจจัยของการล่มสลายว่ามีอยู่สองอย่างหลักๆ

หนึ่ง, การทำลายสภาพแวดล้อมอย่างหนักหนา จนป่าสูญสิ้นและสัตว์สูญพันธุ์

สอง, การเมือง ศาสนา และสังคม ที่เน้นความสำคัญกับการก่อสร้างรูปสลัก และการแย่งชิงกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ทำให้ต้องสร้างรูปสลักที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ อันนำมาซึ่งการล้างผลาญทรัพยากรมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ในยุคสมัยที่เราไม่ได้แกะหินเป็นโมไออีกต่อไป เราอาจไม่ทันสังเกตเห็นก็ได้ว่า มนุษย์ในสังคมต่างก็แข่งกันสร้าง “รูปเคารพ” ของตัวเองผ่านการบริโภคข้าวของเครื่องใช้ที่แพงขึ้นอีก หรูหราขึ้นอีก ใหญ่โตขึ้นอีก เพื่อแสดงสถานะที่เหนือกว่าของตนกับเพื่อนบ้านญาติมิตร

เราอาจเห็นแค่ “วัตถุ” ที่อยู่ในมือ ในบ้าน หรือบนเรือนร่างของตัวเอง แต่ก่อนจะกลายมาเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง มันต้องใช้ทรัพยากรมากมายในโลกเพื่อผลิตขึ้นมา แน่นอนว่าหากค่านิยมเช่นนี้ยังไม่เปลี่ยน สิ่งที่ค่อยๆ ถูกทำลายลงไปก็คือธรรมชาติบนโลกใบนี้

ต้นไม้ สัตว์ ดิน ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับอาหาร ยา เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย

จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องถามตัวเองอย่างจริงจังว่า เรากำลังตัดต้นไม้มาสร้าง “โมไอ” เพื่อเสริมสร้างความยิ่งใหญ่ สวยงาม เก่งกาจของตัวเองอยู่หรือเปล่า และถ้าวัฒนธรรมนี้คือค่านิยมหลักของสังคมก็ยิ่งน่าคิดว่า…

เรามีเวลาสำหรับความล่มสลายอีกนานแค่ไหน