รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่? (3) : ยุคนอมินีที่หนึ่ง

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็น “รัฐบาลทักษิณเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่?” ไปแล้ว

มาคราวนี้ ถึงตารัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็นเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือเปล่า?

ก่อนที่จะวิเคราะห์ว่าเข้าข่ายหรือไม่ จะขอย้ำถึงนิยามหรือกรอบความหมายของระบอบ “อำนาจนิยม” อีกครั้ง

กรอบที่ผู้เขียนใช้วิเคราะห์เป็นเกณฑ์ ระบอบอำนาจนิยมตามเกณฑ์อำนาจนิยมและอำนาจนิยมอำพราง (authoritarianism และ stealth authoritarianism) ของ Ozan O. Varol

เงื่อนไขสำคัญของระบอบอำนาจนิยมตามที่ Varol ได้วางไว้ นั่นคือ

รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญหรือเปิดโอกาสรับฟังความเห็นต่างและความหลากหลายทางการเมือง (political pluralism) และรัฐบาลหรือพรรคที่ปกครองประเทศมักจะกระทำการอย่างมุ่งมั่นชัดเจนที่จะกดหรือบีบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว โดยใช้วิธีการต่างๆ ที่จะกดหรือปิดกั้นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคอื่นๆ และการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลในระบอบอำนาจนิยมมักจะเกิดขึ้นโดยอาศัยวิธีการผ่านช่องทางตามกฎหมายหรือเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ (extra-legal) และการใช้อำนาจนั้น แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดตามอำเภอใจคาดการณ์ไม่ได้เหมือนอย่างในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่ก็มักจะไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน (ill-defined norms) แต่กระนั้นก็เป็นการใช้อำนาจที่พอคาดการณ์ได้

ตามคำอธิบายของ Juan J. Linz ใน Totalitarian and Authoritarian Regimes หน้า 162 ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian) กับระบอบอำนาจนิยม (authoritarian)

โดยระบอบเบ็ดเสร็จขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ (ideology)

ในขณะที่ระบอบอำนาจนิยมขับเคลื่อนโดยทัศนคติหรือวิธีคิด (mentality) และ Zargorka Golubovic ได้ขยายความความหมายของ “authoritarian mentality” ไว้ใน “Traditionalism and Authoritarianism as Obstacles to the Development of Civil Society in Serbia,” in Civil Society in Southeast Europe หน้า 92 ว่า ทัศนคติหรือวิธีคิดแบบอำนาจนิยม (authoritarian mentality) ปรากฏหรือแสดงออกในลักษณะของการยอมรับและเชื่อฟังอำนาจโดยไม่พินิจพิเคราะห์ (uncritical)

การเชื่อฟังอำนาจที่ว่านี้ เริ่มต้นจากการเชื่อฟังอำนาจของผู้นำพรรคและพรรคของรัฐ ต่อมาคือการยอมรับและเชื่อฟังอย่างผู้นำรัฐและรัฐชาติอย่างไม่พินิจพิเคราะห์

 

ก่อนจะกล่าวถึงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ จะขอปูพื้นบริบททางการเมืองก่อนหน้าที่เธอเป็นนายกรัฐมนตรี หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และหลังการทำประชามติรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม 2550 ได้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และผลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 แสดงให้เห็นว่า ระบบเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่มุ่งหวังที่จะให้ผลการเลือกตั้งสะท้อนคะแนนเสียงของประชาชนให้เป็นจริงมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้คะแนนเสียงมากเกินจริงจนนำไปสู่การครอบงำสภาและฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งเกินไป และรวมถึงการมุ่งหวังที่จะไม่ให้เกิดขั้วขัดแย้งทางการเมืองภายใต้พรรคใหญ่สองพรรคนั้นไม่บรรลุผลเท่าที่ควร

แม้ว่าจะทำให้พรรคไทยรักไทยภายใต้พรรคพลังประชาชนที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นได้คะแนนเสียงลดลงจากผลการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2548 ที่พรรคไทยรักไทยได้ถึง 377 ที่นั่ง

แต่ถ้าเทียบกับผลการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ.2544 ที่พรรคไทยรักไทยได้ 248 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2550 พรรคพลังประชาชน (เดิมไทยรักไทย) ได้ที่นั่งลดลงไปเพียง 15 ที่นั่งเท่านั้น

การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนั้นก็กลับสะท้อนภาพการเมืองแบบเดิม นั่นคือ การรวมตัวของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ต้องการร่วมจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน

และการรวมตัวกันครั้งนี้ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคเดียว

ซึ่งแน่นอนว่า การตรวจสอบถ่วงดุลทางการเมืองยิ่งย่อมเป็นไปได้ยาก แต่ภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปและจะถือว่าเป็นเรื่องใหม่ก็ได้คือ การเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “นอมินี”

นั่นคือ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนและนายกรัฐมนตรีอยู่ในสถานะที่ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองควบคุม ส.ส. ในพรรคและรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีได้อย่างแท้จริง

เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งรัฐมนตรีต่างอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่พำนักอยู่ต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการขนานนามนายสมัครว่าเป็น “นอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร”

การเกิดปรากฏการณ์ “นอมินี” หรือ “หุ่นเชิด” นี้ยิ่งทำให้การเมืองไทยดำเนินไปอย่างบิดเบี้ยวและมีปัญหามากขึ้นกว่าในช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้การใช้อำนาจทางการเมืองของสถาบันทางการเมืองดำเนินไปอย่างไม่อิสระ

โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีกลับอยู่ภายใต้ของบุคคลที่ไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมาย

กล่าวได้ว่า การปฏิบัติการทางการเมือง (political practices) ดำเนินไปในลักษณะอำนาจนิยมอำพราง (stealth authoritarianism) ที่ไม่สามารถตรวจสอบผู้มีอำนาจทางการเมืองและสั่งการตัวจริงอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้

อีกทั้งปรากฏการณ์ “นอมินี” ยังส่งผลให้ในเวลาต่อมา เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มก๊วนต่างๆ ภายในพรรคพลังประชาชน ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างแย่งกันเป็นกลุ่มนำเพื่อเข้ากำหนดทิศทางของพรรค ด้วยผู้มีอำนาจตัวจริงอยู่ต่างประเทศ

และตัวนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก็เป็นเพียง “หุ่นเชิด” เท่านั้น

 

หลังจากที่พรรคพลังประชาชนสามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่นๆ ได้แล้ว ต่อมาในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2551 พรรคพลังประชาชนมีความพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และมาตรา 309

ขณะเดียวกัน ส.ส.พรรคพลังประชาชนและแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) บางส่วนต้องการให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ทั้งหมด

ทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 ได้กลายเป็นชนวนสำคัญของความขัดแย้ง

การเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโจมตีต่อต้าน “การเมืองแบบนอมินี” ภายใต้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

การเมืองไทยจึงกลับเข้าสู่สภาวะของการเมืองบนท้องถนนที่มีการชุมนุมประท้วงใหญ่ไม่ต่างจากช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

แต่มีความรุนแรงที่เกิดขึ้นชัดเจนและเพิ่มมากขึ้น ด้วยแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ได้ขับเคลื่อนมวลชนออกมาต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2551 จนเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน โดยมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการปะทะกันระหว่างมวลชนจำนวนมากสองฝ่ายในการเมืองไทย

และถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นของวิกฤตการเมืองไทยในอนาคตที่จะทวีความรุนแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา

อีกทั้งการรัฐประหารในอดีตที่มักเกิดขึ้นก่อนที่ความขัดแย้งจะรุนแรงบานปลายก็เกิดขึ้นได้ยากภายใต้บริบทที่มีมวลชนออกมาต่อต้านรัฐประหารและเชื่อมโยงไปยังประธานองคมนตรี/สถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ พ.ศ.2550 ยกเว้นเสียแต่จะต้องปล่อยให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายมากขึ้นกว่าที่ผ่านๆ มาเสียก่อน

ขณะเดียวกัน ในเดือนพฤษภาคม 2551 ส.ว. จำนวน 29 คนได้ยื่นหนังสือผ่านประธานวุฒิสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยคุณสมบัติของ นายสมัคร สุนทรเวช กรณีที่มีการกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 มีความผิดในเชิงผลประโยชน์ทับซ้อน และในเดือนกันยายน 2551

คณะตุลาการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่านายสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี

ส่งผลทำให้นายสมัครสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีลง แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่

 

การตัดสินดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก เพราะการตัดสินคดีดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

คนไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจและคุ้นเคยกับคดีในลักษณะนี้

ประกอบกับประเด็นข้อกฎหมายและภาษากฎหมายมีความสลับซับซ้อนยากที่คนธรรมดาทั่วไปจะเข้าใจได้

ไม่เข้าใจว่าการที่นายสมัครเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์จะมีปัญหาทางการเมืองอย่างไร และไปขัดกับรัฐธรรมนูญได้อย่างไร

ความเห็นของผู้คนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นปฏิปักษ์กับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เป็นผลพวงตามมาที่ลดทอนไม่ให้ ส.ส. มีส่วนในการสรรหาคณะตุลาการได้เหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540 ต่างปักใจเห็นว่า

รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาและถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับนักการเมืองฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ!