วิเคราะห์ : มองกระบวนการกำจัดขยะของไทย-จีน มีทิศทางอย่างไร?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

รัฐบาลจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะต่างชาติทุกชนิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้า โดยมีหน่วยงาน 3 แห่ง กระทรวงนิเวศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากรผนึกกำลังร่วมปฏิบัติการกวาดล้างและสกัดขยะต่างชาติให้หมดสิ้นไปจากแดนมังกร

จีนเอาจริงเอาจังกับการสกัดขยะต่างชาติและลงมือทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่ปี 2560 เริ่มจากการออกคำสั่งห้ามนำเข้าขยะประเภทต่างๆ 24 ชนิด เช่น กระดาษ สิ่งทอและขี้แร่ จากนั้นประกาศเพิ่มเป็น 32 ชนิด จนกระทั่งคำสั่งสุดท้ายที่จะเริ่มในวันขึ้นปีใหม่ 2564 ห้ามนำเข้าอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ก่อนหน้านี้ในช่วงจีนเพิ่งเปิดประเทศใหม่ๆ ได้อนุญาตให้นำเข้าขยะจากทั่วโลกเพื่อคัดแยกเอาวัตถุดิบมาแปรรูป ขยะส่วนใหญ่ส่งจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

เมื่อปี 2559 จีนนำเข้าขยะต่างชาติมากถึง 46.5 ล้านตัน

ตลอดเวลา 40 ปี อุตสาหกรรมรีไซเคิล กระดาษ พลาสติก หรือโลหะในประเทศจีน เติบโตเฟื่องฟูมาก อย่างเมืองกุ้ยหยู ทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง กลายเป็นแหล่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดของจีน

ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะแต่ละปีมีขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้ามายังเมืองกุ้ยหยูมากกว่า 1 ล้านตัน

เช่นเดียวกับเมืองไต้โจว มณฑลเจ้อเจียง เป็นแหล่งรีไซเคิลโลหะหนักขนาดใหญ่ สร้างงานให้กับชาวไต้โจวมากถึง 20,000 ตำแหน่ง

 

แม้อุตสาหกรรมแปรรูปไปได้สวย แต่รัฐบาลจีนเห็นว่าขยะที่นำเข้ามารีไซเคิล ปนเปื้อนไปด้วยมลพิษ สารเคมีอันตราย และกรรมวิธีรีไซเคิลทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำเน่าเสีย ควันพิษ

เด็กๆ ในเมืองกุ้ยหยูกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีสารตะกั่วปนเปื้อนในเลือดสูงกว่ามาตรฐาน

รัฐบาลจีนส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบโรงงานรีไซเคิลพบว่าส่วนใหญ่ละเมิดกฎหมาย ทั้งทิ้งน้ำเน่าเสียลงในลำรางสาธารณะ ปล่อยควันพิษฟุ้งกระจายไปทั่ว

ในที่สุดรัฐบาลจีนจึงตัดสินใจเลือกแนวทางดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคน แทนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยขยะพิษ

ผลจากคำสั่งห้ามนำเข้าขยะต่างชาติทำให้ปริมาณนำเข้าขยะลดลงเป็นลำดับ ปี 2561 นำเข้า 22.63 ล้านตัน ปี 2562 เหลือเพียง 13.48 ล้านตัน และ 10 เดือนแรกของปีนี้ลดวูบเหลือ 7.18 ล้านตัน

นี่เป็นผลงานของรัฐบาลจีนในการแก้ปัญหาขยะต่างชาติที่เห็นเป็นประจักษ์ชัดจนได้รับเสียงชื่นชมจากนักสิ่งแวดล้อมนานาชาติ

 

หันมาดูบ้านเรากันมั่ง ปัญหาการนำเข้าขยะต่างชาติเรื้อรังมานาน จนถึงวันนี้ยังสับสนอลหม่าน ไม่รู้ว่าจะเอายังไงกันแน่

ในช่วง 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่จีนออกคำสั่งขยะต่างชาติได้ทะลักเข้ามาในไทยจำนวนมากมหาศาลและเกิดเสียงร้องเรียนจากชาวบ้าน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำท่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่มีชื่อยาวๆ ว่า “คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ”

ผลการประชุมของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 มีมติว่าให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี ช่วงผ่อนผันปีที่ 1 นำเข้าได้ไม่เกิน 70,000 ตัน

ปีที่ 2 ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 40,000 ตัน และปีที่ 3 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ใบอนุญาตนำเข้าตามโควต้าดังกล่าวสิ้นสุดทั้งหมดในวันที่ 30 กันยายน 2563

แต่ก่อนใบอนุญาตนำเข้าจะสิ้นสุด ปรากฏว่ากลุ่มนักธุรกิจขยะต่างชาติร้องขอให้คณะอนุกรรมการเปิดทางนำเข้าเศษพลาสติกต่อไป อ้างว่าวัตถุดิบที่มีภายในประเทศไม่เพียงพอ คุณภาพต่ำ และมีการปนเปื้อนสูง

กระทรวงอุตสาหกรรมแสดงท่าทีหนุนฝ่ายนักธุรกิจอย่างเต็มที่ถึงขั้นเสนอในที่ประชุมอนุกรรมการชุดดังกล่าวขอให้นำเข้าพลาสติกอีก 6.5 แสนตันในปี 2564

 

นี่เป็นอาการยึกยักของฝ่ายรัฐที่ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมต้องออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะอนุกรรมการชื่อยาวๆ ยืนยันในมติเดิมเมื่อปี 2561 ที่ “กำหนดให้ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะหรือเศษพลาสติกและซากอิเล็กทรอนิกส์ 100% ภายในปี 2563”

เครือข่ายภาคประชาสังคมชี้เหตุผลเป็นข้อๆ ชัดเจน เช่น รัฐบาลให้ระยะเวลาผู้ประกอบการนำเข้าเศษพลาสติกมาแล้ว 2 ปี และได้แจ้งเป้าหมายที่จะยกเลิกการนำเข้าในปีที่ 3 ล่วงหน้าแล้ว

ดังนั้น ผู้นำเข้าควรปรับตัวหรือปรับแผนธุรกิจเพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มสัดส่วนการใช้เศษพลาสติกในประเทศให้มากขึ้น

เพราะหากรัฐบาลเปลี่ยนเป้าหมายที่เคยประกาศไว้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและกระทบกับเป้าหมายตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ในช่วงปี 2561-2562 จะเป็นช่วงผ่อนผันที่กำหนดโควต้าการนำเข้าไม่เกิน 70,000 ตันในปีที่ 1 และให้นำเข้าได้ไม่เกิน 40,000 ตันในปีที่ 2 แต่ข้อมูลสถิติการนำเข้าเศษพลาสติก พิกัด 3915 พบว่าในปี 2562 มีการนำเข้าถึง 323,167 ตัน และในปี 2563 (มกราคม-กรกฎาคม) นำเข้า 96,724 ตัน แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก

นอกจากนี้ การอ้างเรื่องราคาขยะพลาสติกนำเข้าจากต่างประเทศถูกกว่าในประเทศ จะมีผลกระทบกับกลุ่มซาเล้ง 1.5 ล้านคนที่มีอาชีพเก็บขยะขาย และร้านค้าของเก่าอีก 3 หมื่นแห่งอาจต้องเลิกประกอบอาชีพ

ดังนั้น การเปิดให้นำเข้าเศษพลาสติกอีกหลายแสนตันในปีหน้าจะยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก และสวนทางกับนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนของประเทศไทย

เสียงคัดค้านของเครือข่ายภาคประชาสังคมครั้งนี้ จะเป็นแรงหนุนให้คณะอนุกรรมการชื่อยาวๆ ตัดสินใจยืนยันในมติเดิมห้ามนำเข้าขยะต่างชาติภายในสิ้นปีนี้หรือไม่

ต้องตามดูกันต่อ