นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปัจจัยที่ทำให้การศึกษาของคนพม่าล้มเหลว-กองทัพใช้เงินหนุนการทหาร

นิธิ เอียวศรีวงศ์

พม่าเมื่อชำเลืองมอง (ตอน 4)

ย้อนอ่านตอน  3   2   1  

หากพม่าจะเดินต่อไปบนเส้นทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ค่อนข้าง “เปิด” ได้ ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของคนชั้นกลาง กล่าวคือ นอกจากต้องมีในสัดส่วนที่ใหญ่ขึ้นแล้ว ยังต้องมีคุณภาพที่ดีขึ้น เพื่อรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ และนี่คือเหตุผลที่ผมสนใจเรื่องคนชั้นกลางพม่ามากเป็นพิเศษ

ในทัศนะของ Thomas Piketty (Capital in the Twenty-First Century) รายได้ของแรงงานจะสูงขึ้นได้ก็เพราะเทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยนไป ทำให้ต้องการทักษะใหม่ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ และจัดการกับเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้น หากรายได้ของแรงงานสูงขึ้นเพราะเหตุดังกล่าว คนที่เลื่อนตนเองเข้ามาอยู่ในกลุ่มคนชั้นกลางย่อมเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมีคุณภาพที่สูงขึ้นไปด้วย

แน่นอนว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจโต (คือคนมีรายได้เพิ่มขึ้น) ย่อมมีมากกว่าสองอย่างนี้ แต่ความรู้เกี่ยวกับพม่าของผมไม่พอที่จะพูดอะไรเกี่ยวกับปัจจัยอื่นๆ ได้ จึงขอพูดเพียงปัจจัยเดียวคือการศึกษา (เพราะหาข้อมูลได้ง่าย)

ในยุคอาณานิคม พม่าเคยได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ มหาวิทยาลัยย่างกุ้งสมัยนั้นมีมาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยในอังกฤษ แต่หลังจากทหารยึดอำนาจตั้งแต่ 1962 (2505) เป็นต้นมา การศึกษาในพม่าก็เริ่มเสื่อมลง โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา เพราะนักศึกษาพากันต่อต้านทหารมาตั้งแต่แรก มีการปิดมหาวิทยาลัยเป็นระยะ ยิ่งหลังเหตุการณ์ 8888 สลอร์กสั่งปิดมหาวิทยาลัยต่อเนื่องกันนานเลยทีเดียว

เมื่ออนุญาตให้เปิดใหม่ ก็มีเหตุให้ต้องปิดเสียมากกว่าเปิด เช่น ระหว่าง 1988 (2531) ถึง 2003 (2546) นับเป็นเวลาถึง 15 ปี มหาวิทยาลัยพม่าเปิดทำการเพียง 30 เดือนเท่านั้น กองทัพย้ายวิทยาเขตไปอยู่นอกเมืองไกลๆ เพื่อไม่ให้นักศึกษาเข้ามาเดินขบวนในเขตเมืองใหญ่ และส่งเสริมการศึกษาทางไกล เรียนที่บ้าน ไม่ต้องมามหาวิทยาลัย จะได้รวมตัวกันไม่ได้ มีกฎหมายห้ามนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหนึ่งเข้าไปยังวิทยาเขตของอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง

การศึกษาทั้งระบบเสื่อมโทรมลงหมด เพราะไม่ได้รับความเอาใจใส่จากรัฐบาลทหาร และได้งบประมาณไม่เกิน 1.2% ของจีดีพี รัฐบาลทุ่มเทงบประมาณไปกับการทหารจำนวนมาก ก็คิดดูแล้วกัน เพิ่มกำลังพลจาก 2 แสนเป็น 5 แสนในเวลาไม่กี่ปี จะต้องใช้เงินขนาดไหน

ก่อนการปฏิรูปสมัยเต็งเส่ง ครูได้เงินเดือนเพียง 8 เหรียญสหรัฐ (หมอได้ 15 เหรียญ) ซื้อข้าวกระสอบเล็กหนึ่งกระสอบก็หมดไป 2 ใน 3 ของเงินเดือนแล้ว หลังปฏิรูป รัฐบาลเห็นความสำคัญของการศึกษาจึงเพิ่มเงินเดือนครูเป็น 25-30 เหรียญสหรัฐ (คงจำได้นะครับว่าจะใช้ชีวิตแบบคนชั้นกลางในพม่าต้องมีถึง 120 เหรียญ)

ดังนั้น ครูพม่าจึงยังมีชีวิตที่ค่อนข้างย่ำแย่ และมักต้องหารายได้พิเศษมาจุนเจือครอบครัว ง่ายๆ ก็คือรับสอนพิเศษ เพราะผู้ปกครองพม่ารู้ดีว่าคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนรัฐบาลนั้นเสื่อมทรามขนาดไหน หากพอมีฐานะก็มักส่งลูกเรียนพิเศษ ซึ่งก็คือเรียนสิ่งที่อยู่ในหลักสูตรของโรงเรียนนั่นเอง เพียงแต่เรียนให้เข้าใจ ไม่เพียงแต่ท่องจำเหมือนในโรงเรียนเท่านั้น ฐานะเศรษฐกิจของครูตกต่ำเช่นนี้ จึงทำให้การคอร์รัปชั่นระบาดในวงการศึกษา ว่ากันว่าอยากได้คะแนนเท่าไรก็ซื้อเอาได้ โดยเฉพาะคะแนน (คล้ายๆ โอเน็ต) เพื่อประเมินเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

ในสมัยก่อนปฏิรูป ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยรับเย็บผ้าอยู่ข้างถนนก็มี

การศึกษาของพม่าใช้การท่องจำเป็นหลัก แม้แต่ไวยากรณ์อังกฤษ ครูก็ให้นักเรียนท่องคำตอบที่ถูกเอาไว้ให้ขึ้นใจเพื่อสอบผ่าน แต่ถึงคุณภาพการศึกษาดีกว่านี้ ว่าที่จริงก็ไม่ค่อยมีอะไรให้คนที่สำเร็จการศึกษาทำในพม่ามากนัก ก่อนการปฏิรูป จะเห็นบัณฑิตล้างส้วม หรือเป็นโสเภณีในโรงแรมห้าดาวเสมอ

ความยากจนของประชาชนทำให้ไม่สามารถส่งลูกเรียนหนังสือได้นานนัก ยูเนสโกบอกว่า 2 ใน 3 ของนักเรียนชั้นประถม (ภาคบังคับ) ออกจากโรงเรียนก่อนสำเร็จการศึกษา ผู้ใหญ่พม่ามีอัตราเฉลี่ยเคยใช้เวลาในโรงเรียนเพียง 2.8 ปี ในบรรดานักเรียนจำนวนน้อยที่เรียนจนจบชั้นประถม มีนักเรียนเพียง 36.5% เท่านั้นที่เรียนต่อในระดับมัธยม

แม้กระนั้นสถิติการอ่านออกเขียนได้ของชาวพม่า (คงไม่รวมชนกลุ่มน้อย) ก็สูงมาก คือสูงถึง 89.5% ที่เป็นเช่นนี้ต้องยกให้แก่วัดซึ่งยังมีบทบาทด้านการศึกษาของประชาชนสืบมาจนปัจจุบัน ทุกวัดมักใช้ลานใต้วิหารและกุฏิ เป็นโรงเรียนสอนเณรและเด็กของหมู่บ้านทั้งหญิงและชาย ให้อ่านออกเขียนได้เป็นอย่างน้อย ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ผู้หญิงพม่ามีสถิติอ่านออกเขียนได้สูงกว่าผู้หญิงอังกฤษ

ดังนั้น หากชาวพม่ามีนิสัยรักการอ่าน (ซึ่งยังไม่มี) และมีอะไรให้อ่านได้ง่ายๆ และมากๆ แล้ว สถิติที่ผมยกมาข้างต้นอาจไม่ได้สะท้อน “การศึกษา” ที่แท้จริงของชาวพม่าเลยก็ได้

แต่จนถึงทุกวันนี้ หากไม่นับอินเตอร์เน็ตซึ่งกระจายกว้างขวางและเร็วกว่าไทยแล้ว ซึ่งผมไม่ทราบว่ามีข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ในภาษาพม่าอยู่มากน้อยเพียงไร ก็หาวัสดุทางการศึกษาได้น้อยมากในพม่า หนังสือที่เกี่ยวกับพม่าในภาษาอังกฤษทั้งหมดที่ผมได้เห็นในร้านข้างถนน ล้วนเป็นหนังสือซีรอกซ์ เพราะฉบับจริงคงแพงเกินกว่าที่ตลาดพม่าจะรับไหว

ผมเองซื้อฉบับซีรอกซ์เรื่อง Burmese Days ของ ยอร์ช ออร์เวิล มาอ่านเหมือนกัน ชาวพม่าจัดนวนิยายเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนิยายไตรภาคของออร์เวิล ที่ทำนายชะตากรรมของพม่าไว้ได้อย่างแม่นยำ เริ่มจากเรื่องนี้ (อาณานิคม) ไปสู่เรื่อง 1984 (เผด็จการของพี่ใหญ่) และ Animal Farm (การปฏิวัติล้มล้างเผด็จการกลับสู่เสรีภาพและศักดิ์ศรี)

ผมไม่ได้เห็นห้องสมุดสาธารณะของรัฐสักแห่ง วงสนทนาในร้านน้ำชาคงมีทั่วไป แต่ไม่ได้เห็นการจัดวงสนทนาสาธารณะที่ใครๆ ก็สามารถเข้าไปนั่งถกเถียงอะไรที่สนใจร่วมกันได้ แม้ว่าเราไปพม่าเมื่อรัฐบาลเปิดเสรีแล้ว (หรือมีแต่เราไม่รู้ก็เป็นได้นะครับ) หนังสือเกี่ยวกับชนบทพม่าตั้งแต่ก่อนเนวินปฏิวัติใน 1962 (2505) มีการพูดคุยเหนือถ้วยน้ำชามาก และมีการพูดคุยเป็นสาธารณะอยู่บ้างเหมือนกันในหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะชี้ว่าการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ในหมู่บ้าน ไม่ได้เกิดขึ้นในวงสนทนา ไม่ว่าส่วนตัวหรือสาธารณะเพียงอย่างเดียว ยังมีพิธีกรรม, เครือญาติ, การสาปแช่ง, หลวงพ่อที่วัด, ฯลฯ อีกหลายอย่างที่ถูกชาวบ้านใช้เป็นกลไกการต่อรอง ชีวิตในเมืองขาดกลไกเหล่านี้ อำนาจต่อรองของชาวเมืองเกิดขึ้นได้จากการสร้างกลไกใหม่ นับตั้งแต่สื่อสมัยใหม่เช่นหนังสือพิมพ์ไปจนถึงโทรทัศน์และเฟซบุ๊ก การจัดองค์กรแบบใหม่ ฯลฯ วงสนทนาเรื่องที่สนใจร่วมกันก็เป็นกลไกอันหนึ่ง

ถ้าวงสนทนาเช่นนี้ถูกกำกับควบคุมหรือห้ามขาด เปิดเสรีให้แต่การซุบซิบนินทาในวงสนทนาส่วนตัว สังคมเมืองนั้นย่อมขาดอำนาจและมักจะแปรเปลี่ยนความไร้อำนาจนี้ไปสู่ความเกลียดชัง สังคมแตกร้าวหนักขึ้นจนยากจะกลับมาประสานอย่างเดิมได้อีก แม้เปิดเสรีภาพให้กลับมา ในระยะแรกช่วงหนึ่ง สังคมย่อมใช้เสรีภาพนั้นเพื่อประณามและกล่าวผรุสวาทใส่กัน มากกว่าทางสร้างสรรค์ ที่เราเห็นในพม่าเวลานี้คือความเกลียดชังและทำร้ายมุสลิม… เราจะได้เห็นอะไรในเมืองไทยหลังจาก Animal Farm ฉบับของเราจบลง?

เพราะคุณภาพการศึกษาของพม่าเป็นอย่างนี้ อภิสิทธิ์ชนพม่าจึงไม่ส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนของรัฐ แต่ส่งเรียนโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดได้หลังการปฏิรูป 1990 (2533) เด็กที่เรียนจากโรงเรียนเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์สอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ผู้ปกครองไม่แคร์นัก เพราะมักส่งลูกไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ส่วนผู้ปกครองที่ไม่รวยเท่าอภิสิทธิ์ชน ก็มักให้ลูกได้เรียนกวดวิชา

สรุปก็คืออนาคตของสังคมพม่าก็ไม่ต่างจากไทยนัก คือมีอภิสิทธิ์ชนซึ่งสามารถส่งทอดอภิสิทธิ์ให้แก่ลูกหลานได้อย่างมั่นคง กลายเป็น “ชนชั้น” แล้วก็มีคนชั้นกลางที่อยากหวงแหนอภิสิทธิ์ที่ตนได้มาจากการศึกษา และตำแหน่งงานที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าคนทั่วไปไว้ให้มั่นคงแก่ลูกหลานเหมือนกัน จึงพร้อมจะสละสิทธิเสรีภาพจนหมดตัว เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงนั้น

เวลานี้ พม่าขาดคนที่จะทำให้เศรษฐกิจสมัยใหม่เดินหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเทคนิค, วิชาชีพเฉพาะ, ฝีมือแรงงานระดับกลาง, นักบริหารองค์กรสมัยใหม่ ทั้งรัฐบาลเต็งเส่งและเอ็นแอลดีซึ่งตอนนั้นยังเป็นฝ่ายค้าน ต่างเห็นความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องปฏิรูปการศึกษา เต็งเส่งเคยตั้งคณะกรรมการทำข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาที่ดอว์ออง ซาน ซูจี เป็นประธานด้วย แต่ข้อเสนอของเธอไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา (ว่ากันว่าเพราะมันก้าวหน้าเกินกำลังทางการคลังของประเทศจะรับไหว และในส่วนอุดมศึกษาก็ลงทุนกับมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในฐานะมหาวิทยาลัยต้นแบบ มากจนกระทั่งมหาวิทยาลัยอื่นหมดโอกาสพัฒนาไปอีกนาน)

บัดนี้พรรคเอ็นแอลดีเป็นรัฐบาลเอง และมีข่าวเมื่อเรากลับจากพม่าแล้วว่า รัฐบาลวางนโยบายปฏิรูปการศึกษาขนานใหญ่ ลงทุนหลายแสนล้านบาทตลอดช่วงที่เอ็นแอลดีเป็นรัฐบาลสมัยแรก แต่ข่าวไม่ได้ให้รายละเอียดว่าแผนการปฏิรูปจะเป็นอย่างไร

จากประสบการณ์ของไทย สิ่งที่น่าวิตกแทนพม่าก็คือ ความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องสร้างกำลังคนออกมารับใช้การพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ต้องผลิตผู้มีวุฒิการศึกษาที่ไร้การศึกษาจำนวนมาก เป็นหมอ, เป็นวิศวกร, เป็นสถาปนิก, เป็นนักบัญชี, เป็นนักโน่นนักนี่ แต่ไม่เป็นอะไรอื่นอีกเลย ไม่รู้และไม่รู้สึกอะไรอีก นอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้เฉพาะด้านของตนเอง จึงดำรงทัศนคติทางสังคมและการเมืองที่ไร้เดียงสาของตนไว้ได้ด้วยเงินเดือนสูงกว่า 120 เหรียญสหรัฐไปได้เรื่อยๆ

คุณซาน คนขับรถของเราเป็นคนหนึ่งที่มีรายได้เกิน 120 เหรียญแน่ แม้ไม่จบมหาวิทยาลัยแต่ก็จบชั้นมัธยมปลาย น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี คุณซานไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี แต่เป็นอาสาสมัครทำงานสนับสนุนพรรคอย่างแข็งขัน วันหนึ่งคุณอ้อย ซึ่งเป็นหัวหน้าทัวร์ของเราถามคุณซานด้วยคำถามเรียบๆ ที่ไม่แสดงความโน้มเอียงไปทางใดเลยว่า ตั้งแต่เอ็นแอลดีได้จัดตั้งรัฐบาลมาจนถึงทุกวันนี้ พรรคได้ทำอะไรในทางที่จะแก้ไขปรับปรุงบ้านเมืองบ้าง

คำตอบของคุณซานทำให้ผมตกใจ เพราะคุณซานตอบว่าไม่ได้ทำอะไร แต่คำอธิบายก็คือประชาชนเรียกร้องแต่ความเปลี่ยนแปลง พอรัฐบาลเริ่มเปลี่ยนก็รับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ (คุณซานไม่ได้ยกนโยบายอะไรของพรรคที่ประชาชนรับไม่ได้) ประชาชนเองนั่นแหละที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง

ผมตกใจเพราะคำอธิบายของคุณซานไม่แตกต่างจากเผด็จการทั้งโลก ความผิดเป็นของประชาชนเสมอ ขนาดยึดรายการทีวีมาปราศรัยแล้วไม่มีใครฟัง ยังเป็นความผิดของประชาชนเลย เพราะประชาชนไม่มีวินัย คอยแต่จะขอความช่วยเหลือจากรัฐ ได้ความช่วยเหลือแล้วก็เอาไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เช่นซื้อมอเตอร์ไซค์หรือโทรศัพท์มือถือ พอรัฐเข้ามาจัดระเบียบโน่นนี้ก็ได้แต่โวยวาย ดังนั้น จะให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้จึงเหลือวิธีเดียวคือมาตรการบังคับเด็ดขาด

รัฐเผด็จการแบบนี้แหละที่ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากคนชั้นกลางที่มีวุฒิบัตรแต่ขาดการศึกษา

ที่มัณฑะเลย์ เราเวียนรถรอบพระราชวังหลวง แต่ไม่ได้เข้าชม เพราะครูแมนนี่, ครูโก และภรรยาผม อันเป็นสามคนในคณะท่องเที่ยวของเราตัดสินใจไม่เข้าชม ทั้งๆ ที่ไม่เคยเข้าชมมาก่อน อย่างที่ทราบอยู่แล้วว่า เมื่ออังกฤษยกพลขึ้นบกริมฝั่งอิระวดี กษัตริย์พม่าก็ยอมจำนน ส่งคนไปติดต่อขอเจรจา แต่อังกฤษซึ่งตั้งใจจะรวบพม่าไว้ทั้งหมดอยู่แล้ว ไม่ยอมเจรจาด้วย ดังนั้น มัณฑะเลย์จึงไม่ใช่ฉากสงคราม และพระราชวังยังอยู่ในสภาพดี

พระราชวังหลวงถูกอังกฤษใช้เป็นค่ายทหารตลอดสมัยอาณานิคม ทรัพย์สมบัติในวังส่วนหนึ่งถูกชาวพม่าลักขโมยไป อีกส่วนหนึ่งทหารอังกฤษงิบไปเป็นสมบัติส่วนตัว ชิ้นใหญ่และงามๆ ก็ปล้นไปเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์อังกฤษในลอนดอน

วังหลวงมาพังอย่างย่อยยับในสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นบุกก็ทิ้งระเบิดวัง เพราะเป็นที่ตั้งหน่วยทหาร ยึดพม่าได้ก็ยังใช้วังเป็นที่ตั้งหน่วยทหารญี่ปุ่นต่อไป อังกฤษบุกกลับในปลายสงคราม ก็ต้องทิ้งระเบิดวังอีก เพราะเป็นที่ตั้งหน่วยทหารญี่ปุ่น เมื่อพม่าได้เอกราชแล้ว ก็ยังใช้วังเป็นค่ายทหารสืบมาจนถึงทุกวันนี้

แม้กระนั้น กำแพงวังและหอรบสำหรับยามก็ยังอยู่ครบถ้วน คูที่ล้อมรอบวังกว้างกว่าคูเมืองกรุงเทพ มีน้ำใสสะอาดเต็มอยู่ชั่วนาตาปี งานสงกรานต์ของเมืองมัณฑะเลย์จัดรอบวัง มีเวทีดนตรีหลายสิบเวที เราเห็นเขากำลังเร่งสร้างกันอยู่ คุณซานอธิบายว่าปีนี้รัฐบาลสั่งให้ลดเวทีลงเสียบ้าง คงเพราะเสียงของแต่ละเวทีตีกันจนได้ยินไม่เป็นศัพท์

เพราะเป็นค่ายทหาร หน้าที่การตรวจคนเข้าออกวัง และเก็บเงินค่าเข้าชมวังจึงเป็นของทหาร คนพม่าเช่นคุณซานก็ดูไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับการที่วังถูกใช้เป็นค่ายทหาร ผมรู้สึก (ซึ่งแปลว่าไม่ทราบว่าจริงหรือไม่) ว่า คนพม่าไม่มีความอาลัยอาวรณ์อะไรกับสถาบันกษัตริย์ของเขา คุณซานซึ่งมีการศึกษาดีกว่าชาวพม่าทั่วไป ชื่นชมว่ามินดงเป็นกษัตริย์ที่ดี ถามว่าดีอย่างไร แกก็พูดถึงความเมตตากรุณาของมินดงมากกว่าความพยายามของมินดงที่จะรักษาพม่าไว้จากจักรวรรดินิยมอังกฤษ (อย่างที่คนไทยมักยกย่องตามหนังสือฝรั่ง) แต่ในขณะเดียวกัน คุณซานก็ประณามเจ้าสีป้อว่าเป็นกษัตริย์ที่ไม่ดีต่างๆ นานา

กษัตริย์คือความล้มเหลวที่ไม่สามารถรักษาเอกราชไว้ได้ และผู้กู้เอกราชก็คือกองทัพ โดยเฉพาะนายพลอองซาน ผู้นำของขบวนการทะขิ่น

จริงอยู่ วีรบุรุษสามคนที่กองทัพยกย่องคือกษัตริย์ (อโนรธา บุเรงนอง และอลองพญา) แต่ทั้งสามคนไม่เกี่ยวอะไรกับการกู้เอกราชของชาติ และไม่เกี่ยวอะไรกับไทยด้วย แม้ว่าทั้งสามคนเคยยกทัพมารุกรานดินแดนที่ปัจจุบันเป็นประเทศไทย (นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าพระเจ้าอโนรธาเคยยกทัพเลยจากเมืองมอญมาตีแถบภาคกลางของไทยปัจจุบัน) แต่ทั้งสามพระองค์คือกษัตริย์พม่าที่รวบรวมพม่าและชนกลุ่มน้อยให้เป็นข้าขอบขัณฑสีมาได้หมด (หรือเกือบหมด) และนี่คือปัญหาที่กองทัพพม่าเผชิญมาเป็นเวลาหลายทศวรรษต่อเนื่องกันมา นั่นคือจะรักษาเอกภาพของสหภาพไว้ได้อย่างไร กองทัพยกย่องสามกษัตริย์ในฐานะวีรบุรุษมากกว่าในฐานะกษัตริย์

ผมคิดว่าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ของพม่า สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนพม่าเห็น มากกว่าไว้อวดชาวต่างชาติ เพราะภารกิจอันยิ่งใหญ่ของกองทัพก็คือทำอย่างสามมหาราชนี้ และภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้คือความชอบธรรมรองรับอำนาจเผด็จการของกองทัพ ที่ประชาชนพม่าควรยอมรับ

ย้อนอ่านตอน  3   2   1