พม่าเมื่อชำเลืองมอง (1) : นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

พม่าเมื่อชำเลืองมอง (1)

เมื่อเครื่องบินจากเชียงใหม่ร่อนลงจอดที่สนามบินมัณฑะเลย์ กัปตันก็ประกาศสิ่งที่ต้องประกาศเมื่อส่งผู้โดยสารถึงที่หมายแล้ว และเพราะเครื่องบินมีต้นทางจากประเทศไทย เขาจึงต้องบอกเวลาของพม่าว่าต่างจากประเทศไทยเท่าไร เขาใช้คำว่าเวลาในพม่าอยู่หลัง (behind) ประเทศไทย 30 นาที

16 ปีก่อน ผมได้มาพม่าเป็นครั้งแรกในชีวิต และก็บินจากเชียงใหม่ลงมัณฑะเลย์เหมือนกัน ผมจำได้ว่ากัปตันประกาศเรื่องเวลาอย่างเดียวกันนี้ มีคนไทยที่ร่วมคณะไปด้วยกันคนหนึ่งพูดขึ้นว่า ไม่ได้อยู่หลัง 30 นาทีละมั้ง แต่อยู่หลังตั้ง 30 ปี เรียกเสียงหัวเราะจากคนไทยในกลุ่มพอสมควร

ด้วยทุนทรัพย์อันจำกัดที่คณะท่องเที่ยวของเรามี แต่มีเวลาเหลือเฟือเพราะไม่ต้องลงทุนซื้อ เราจึงตัดสินใจเดินทางในพม่าด้วยรถยนต์เช่า เลือกพักในโรงแรมที่สะอาดแต่ไม่แพงนัก ทำให้ได้เห็นโฉมหน้าของเศรษฐกิจ-สังคมพม่าได้มากกว่าเมื่อไปครั้งแรก ผมจึงอยากสังเกตดูว่าพม่าอยู่หลังไทยนานสักเท่าไร

หรือเอาเข้าจริง พม่ากำลังเดินบนเส้นทางเดียวกับที่ไทยได้เดินผ่านมาแล้วหรือไม่ และเพียงไร

เมื่อรถพาเราเข้าเมือง บนถนนสี่เลนขนาดใหญ่จากสนามบิน มองเห็นเจดีย์ปิดทองขนาดมหึมาไม่ไกลจากถนนนัก คนขับรถบอกว่าเจดีย์นี้ชาวบ้านร่วมทุนกันสร้างขึ้นเอง ประเพณีการสร้างพระเจดีย์ไว้ในจุดต่างๆ ทั้งในและนอกวัด เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งเกียรติยศในสังคม คำที่ใช้เรียกคนอื่นอย่างยกย่องสำนวนหนึ่งคือ “พ่อเจ้าประคุณผู้สร้างพระเจดีย์เป็นร้อย” (ผมเอามาจากคำพูดของตัวละครหนึ่งใน Burmese Days ของ George Orwell) คนพม่ารวยพอที่จะรวมเงินกันสร้างพระเจดีย์ขนาดนี้ได้ แสดงว่าน่าจะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น

มากแค่ไหนผมประมาณไม่ถูก เพราะผมจำได้ว่าคนพม่าใช้เงินในการทำบุญมากเหลือเกิน นักวิชาการอเมริกันคนหนึ่งชื่อ Manning Nash เข้าไปศึกษาหมู่บ้านแห่งหนึ่งแถบภาคกลางอันแห้งแล้งของพม่าตั้งแต่ก่อนหน้าเนวินจะยึดอำนาจใน 1962 (2505) ได้สำรวจการใช้จ่ายของชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน แล้วพบว่าไม่ว่ารวยหรือจน ชาวบ้านใช้เงินในการทำบุญมากเป็นที่สองรองลงมาจากค่าอาหาร ดังนั้น แค่มีเงินมากขึ้น ชาวพม่าก็อาจควักออกมาทำบุญในพระศาสนาได้มากกว่าที่คนไทยปัจจุบันจะคาดถึง (The Golden Road to Modernity)

เมื่อรถวิ่งเข้าเมืองมัณฑะเลย์ในตอนโพล้เพล้ ผมจำมัณฑะเลย์ที่เคยเห็นไม่ได้เลย มันกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีรถราวิ่งขวักไขว่ ร้านรวงแน่นขนัด ป้ายร้านและป้ายโฆษณาตกแต่งไฟหลากสี ไม่ต่างจากเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ข้างถนนที่ผมเฝ้าสังเกต ส่วนใหญ่เป็นสินค้าและบริการของจีน โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ

ผู้สื่อข่าวอังกฤษคนหนึ่ง – Richard Cockett ผู้เขียน Blood, Dreams and Gold – เล่าถึงมัณฑะเลย์ว่า ทุนจีนโดยเฉพาะจากยูนนาน เข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติพม่า ทั้งแร่ธาตุ, ป่าไม้ และอัญมณี ทำกำไรมหาศาล โดยร่วมมือทางธุรกิจกับกองทัพพม่าหรือเสี่ยๆ ที่เป็นลูกสมุนกองทัพ (ฟังคุ้นๆ นะครับ) ขนทรัพยากรเหล่านั้นข้ามแดนไปยูนนานเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนหนึ่งของทรัพยากรเหล่านั้น โดยเฉพาะพวกอัญมณี จีนยังทำกำไรด้วยการขายต่อให้ต่างชาติด้วย โดยใช้มัณฑะเลย์เป็นเหมือนศูนย์กลางกระจายสินค้า อัญมณีส่วนหนึ่งส่งมาขายแก่นักท่องเที่ยวในร้านซึ่งเป็นของคนจีน แต่อีกด้านหนึ่งก็ใช้มัณฑะเลย์กระจายสินค้าอุปโภคของจีนสู่พม่าตอนกลาง

เพราะมัณฑะเลย์เป็นเมืองที่ทำหน้าที่อย่างนั้นได้ดี มีถนนสี่เลนที่เก็บค่าผ่านทางจากย่างกุ้งขึ้นมามัณฑะเลย์และต่อไปเนปิดอว์ เหมือนเป็นกระดูกสันหลังของการคมนาคม อีกทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญสุดของพม่าด้วย เพราะในมัณฑะเลย์ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของพม่าก็มีอะไรที่น่าชมในตัวเอง ทั้งยังเป็นศูนย์ที่เชื่อมต่อไปยังพุกาม (อังวะ, อมรปุระ และสะกาย) ซึ่งคงเทียบได้กับนครวัดในกัมพูชา ย่อมดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วพม่าและโลกไปเยี่ยมเยือน ซึ่งอย่างไรเสียก็ต้องผ่านมัณฑะเลย์

แถมจังหวัดมัณฑะเลย์ยังเป็นจุดผ่านของท่อน้ำมันจากยะไข่ขึ้นไปยังล่าเฉียวและคุนหมิง ความยาว 480 ไมล์ อันเป็นยุทธศาสตร์ด้านพลังงานที่สำคัญของจีนด้วย บางคนบอกว่ามัณฑะเลย์เป็นเมืองของจีนไปแล้ว รองลงมาจากล่าเฉียวซึ่งเป็นเมืองจีนไปเลย

เมื่อเราเดินทางด้วยรถยนต์จากมัณฑะเลย์ขึ้นเหนือไปสีป้อ อันเคยเป็นรัฐสำคัญในรัฐชานเหนือ ถนนลาดยางแคบๆ ที่ต้องไต่เขาขึ้นไปนั้นอันตรายพอสมควร เพราะการเลี้ยวหักศอกนับเป็นร้อยจุดตลอดทาง ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือมีรถบรรทุกวิ่งบนถนนแคบๆ นั้นจำนวนมาก ทุกๆ หักศอก รถที่สวนมาต้องหยุดหมด เพราะรถบรรทุกจะเลี้ยวได้ต้องใช้ทั้งสองเลน แม้เป็นรถทะเบียนพม่า แต่ก็ขนสินค้าจีนทั้งนั้น (และอาจเป็นของชาวจีนด้วย) ที่มุ่งเหนือก็ขนทรัพยากรธรรมชาติของพม่าขึ้นไป ที่ลงใต้ก็ขนสินค้าจีนลงมา แต่เท่าที่ผมสังเกตดู ผมพบว่ามีรถเปล่าลงใต้มากกว่า ในขณะที่รถขึ้นเหนือบรรทุกอะไรเพียบทั้งนั้น

ก็สมเหตุสมผลนะครับ ประชาชนในภาคกลางพม่าก็มีอยู่เท่านั้น แถมกำลังซื้อก็ไม่สูงนัก จะบริโภคสินค้าจีนได้สักเท่าไร แม้ว่าเท่าที่เราเห็นด้วยตามีสินค้าจีนเต็มเมือง – มอเตอร์ไซค์, แอร์, ตู้เย็น, โทรศัพท์มือถือ, ถ้วยชามรามไห ฯลฯ – แต่ก็เท่านั้นแหละครับ ผิดจากทรัพยากรพม่าซึ่งจีนกลืนกินได้ไม่มีวันอิ่ม จึงต้องขนกันขึ้นไปอย่างไม่มีวันหยุดเช่นนั้น

อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน เขียนไว้ที่ไหนสักแห่งในงานของท่านว่า ประเทศอุษาคเนย์ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สุด (เมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ของตน) มีอยู่สองประเทศเท่านั้น คือพม่าและมาเลเซีย น่าเอามาเปรียบเทียบกันนะครับว่า ทรัพยากรธรรมชาติมีส่วนกำหนดพัฒนาการของสองประเทศนี้อย่างไร และทำไมจึงลงเอยแตกต่างกันมากถึงเพียงนั้น

ธุรกิจร้านรวงและโรงแรมซึ่งมีเพิ่มขึ้นทุกหัวระแหงจึงเป็นทุนจีนเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้กระนั้นก็คงก่อให้เกิดการจ้างงานชาวพม่าอยู่ไม่น้อย เพราะเราไม่ได้พบคนจีน (จากประเทศจีน) นั่งขายของที่ร้านใด หรือในโรงแรมที่เราเข้าพัก ก็พบแต่ชาวพม่าหรือไทยใหญ่ทำงานอยู่ทั้งนั้น

เมื่อเราต้องการกินอาหารพม่า ก็ได้รับคำแนะนำว่าควรไปกินที่ร้านหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงในมัณฑะเลย์ ก็คงเป็นร้านที่มีชื่อเสียงจริง เพราะเป็นที่รู้จักของแท็กซี่ทุกคัน ผมคิดว่าคงได้พบภัตตาคารที่ติดแอร์เย็นฉ่ำอย่างภัตตาคารจีนซึ่งเปิดให้เห็นอยู่ทั่วไป เพียงแต่เสิร์ฟอาหารพม่าเท่านั้น แต่ไม่ใช่เช่นนั้นเลย เป็นห้องอาหารใหญ่ที่จุคนได้เป็นร้อยจริง แต่ไม่ได้ติดแอร์ มีโต๊ะเรียงรายเบียดเสียดกันทั้งร้าน เราสั่งอาหารตามเมนูซึ่งก็ได้อาหารมากินเกือบจะทันที เพราะเขาทำไว้แล้วเป็นหม้อ เป็นกะละมัง แค่ตักใส่ถ้วยให้เราเท่านั้น เหมือนอาหารริมถนนในเมืองไทยมากกว่าภัตตาคาร

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า นั่งล้อมวงกินอาหารกันอยู่เกือบทุกโต๊ะ เขาสั่งอาหารกันมาเต็มโต๊ะยิ่งกว่ากลุ่มของเราเสียอีก แต่ค่าอาหารของร้านนี้ต้องถือว่าถูกมากทีเดียวเมื่อเทียบกับเมืองไทย โดยเฉพาะจานที่เป็นเนื้อสัตว์ก็ดูจะมีคุณภาพยิ่งกว่าร้านอาหารไทยในระดับเดียวกัน พวกเรา 5 คนเสียค่าอาหารแต่ละมื้อไม่เกิน 20,000 จ๊าด (ประมาณ 500 บาท)

ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานทอและตัดเย็บเสื้อผ้าที่รัฐบาลกำหนดไว้คือ 3,600 จ๊าดต่อวัน (ประมาณ 90 บาท) แรงงานประเภทนี้อาจมี “เป็นทางการ” มากที่สุดในพม่า เฉพาะทุนทอและตัดเย็บผ้าขนาดใหญ่ของไทยก็ย้ายฐานการผลิตไปพม่าถึง 6 บริษัทแล้ว ส่วนแรงงานทำเหมืองในพม่าเหนือ ซึ่งคงมีจำนวนมากกว่ากันมาก ทุนจีนร่วมมือกับกองทัพกึ่งเกณฑ์กึ่งจ้างคนพม่า (คะฉิ่น) ไปทำงานในสภาพที่อันตรายด้วยค่าตอบแทนต่ำสุดๆ

ดังนั้น ชาวพม่าที่นั่งกินอาหารร่วมร้านกับเรานั้น คงไม่มีใครเป็นแรงงานสักคน ทั้งหมดเป็นคนชั้นกลางพม่าซึ่งคงเพิ่มจำนวนขึ้นมากทีเดียว เพราะเมื่อ 16 ปีที่แล้ว เท่าที่ผมจำได้ แทบไม่พบชาวพม่าที่มีฐานะเศรษฐกิจระดับนี้เลย และแน่นอนไม่พบร้านที่ขายอาหารพม่าสำหรับคนทั่วไปอย่างนี้ด้วย (นอกจากที่แบกะดินหรือตามเพิงข้างถนน) ได้กินอาหารพม่าในโรงแรมชั้นหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมีแต่นักท่องเที่ยวและชาวพม่าชั้นสูง (ซึ่งคงเป็นนายทหารหรือนักธุรกิจสมุนของนายทหาร) เท่านั้นที่เข้าไปใช้บริการ

ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากรของพม่าดีขึ้นอย่างมากในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟพยากรณ์ว่าในปีนี้จะมีค่าเท่ากับ 1,438.8 เหรียญสหรัฐ (48,918.2 บาท – ประเทศไทยเท่ากับ 5,841.85 เหรียญสหรัฐ หรือ 198,622.9 บาท) แต่ก็คงรู้ดีอยู่แล้วว่าตัวเลขต่อหัวประชากรนี้ไม่สู้จะมีความหมายในชีวิตจริงของผู้คนนัก เพราะเขาไม่ได้เอาเงินมากองรวมกันแล้วแจกประชากรคนละเท่าๆ กัน ฉะนั้น ส่วนใหญ่ของเงินจึงกระจุกอยู่ในกระเป๋าของคนจำนวนน้อยเสมอ

ปัญหาอยู่ที่ว่าคนชั้นกลางพม่าที่เข้ามากินอาหารในภัตตาคารเดียวกับเรานี้ มีจำนวนทั่วประเทศสักเท่าไร เศรษฐกิจของพม่าเติบโตขึ้นหลังจากที่ทหารยอมเปิดประเทศในทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา จนปัจจุบันธนาคารโลกจัดให้พม่าเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำแล้ว (จากที่เคยเป็นประเทศยากจนที่สุดในเอเชียมาก่อน)

องค์กรธุรกิจของอังกฤษแห่งหนึ่งประมาณว่า ที่จะจัดให้เป็นคนชั้นกลางในพม่าได้ (ถือเอามาตรฐานการจับจ่ายใช้สอยในปี 2013) ต้องมีรายได้อย่างน้อยที่สุดเดือนละ 120 เหรียญสหรัฐ (4,080 บาท) ในปี 2013 หรือ 2556 พม่ามีคนที่มีรายได้ระดับนี้ขึ้นไปอยู่ 10% จากประชากรประมาณ 51 ล้านคน คือราว 5.3 ล้านคน แต่ก็พยากรณ์ว่าคนระดับนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น 15.4% ในปี 2020 (2563) จากจำนวนประชากรที่ต้องเพิ่มขึ้นด้วย

กองทัพเริ่มการปฏิรูปอย่างช้าๆ และระมัดระวังหลังเหตุการณ์นองเลือด 8888 (1988) โดยเฉพาะหลังเลือกตั้ง 1990 (2553) ซึ่งพรรคเอ็นแอลดีชนะขาดลอย (แต่กองทัพจัดเลือกตั้งขึ้นโดยไม่ได้บอกว่าผู้ชนะจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ฉะนั้น จึงไม่มีผลอะไรทางการเมือง) ถึงตอนนั้นเป็นที่ประจักษ์มานานแล้วว่า ต้องยกเลิกนโยบายสังคมนิยมวิถีพม่าของเนวินลง เพราะนำความพินาศย่อยยับมาสู่เศรษฐกิจพม่า รัฐบาลเริ่มเปิดประเทศให้แก่การลงทุนจากภายนอก แต่การแซงก์ชั่นของโลกตะวันตกซึ่งมีสหรัฐเป็นผู้นำ ทำให้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างเชื่องช้ามากๆ ประเทศที่เข้าไปลงทุนอย่างมากคือกลุ่มอาเซียนและจีน ต่อมาภายหลังก็มีญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย จนถึงปัจจุบัน แม้ตะวันตกได้ยกเลิกการแซงก์ชั่นไปแล้ว ประเทศที่ลงทุนในพม่าสูงสุดคือจีน รองลงมาคือไทย

เหตุผลอย่างหนึ่งที่อ้างกันในหนังสือที่ฝรั่งเขียนกันมากก็คือ ความพร้อมของพม่ายังไม่เพียงพอที่จะรับการลงทุนจากตะวันตก เช่น ระบบธนาคารยังพัฒนาไปไม่เต็มที่ การคมนาคมขนส่งค่อนข้างย่ำแย่ พลังงานไม่เสถียร (ขนาดทุกโรงแรมในมัณฑะเลย์และพุกามต้องมีเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่ของตนเองเตรียมพร้อมเสมอ) และ ฯลฯ

แต่ผมคิดว่าเหตุผลที่สำคัญกว่าก็คือ ธุรกิจของตะวันตกได้เดินเลยหน้าโอกาสทางธุรกิจของพม่าไปแล้วต่างหาก สิ่งที่พม่ามีเสนอให้แก่การลงทุนของต่างชาติก็คือทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานราคาถูก ระหว่างที่ตะวันตกยังแซงก์ชั่นพม่าอยู่นั้น จีนได้ถือโอกาสเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติในภาคเหนือของพม่า ด้วยวิธีที่ผูกพันกับการเมืองพม่าอย่างยิ่ง นั่นคือร่วมทุน, จ่ายค่าต๋ง และติดสินบนกับนายพลในกองทัพพม่า หรือกลุ่มวิสาหกิจของกองทัพพม่า จนกระทั่งว่ายากที่ทุนของประเทศอื่นจะเข้าไปแทรกได้ ทุนจีนอาศัยอำนาจกองทัพในการยึดที่ดิน, เกณฑ์แรงงานฟรีบ้าง จ่ายค่าจ้างถูกๆ บ้าง แก่ชาวพื้นเมืองซึ่งล้วนเป็นชนกลุ่มน้อย อันเป็นศัตรูของกองทัพในการขูดเอาทรัพยากรไปในราคาต้นทุนถูกๆ แถมยังทำลายสิ่งแวดล้อมและปล่อยสารพิษอย่างเสรี

 

เพราะความผูกพันที่แน่นเหนียวระหว่างธุรกิจจีนและกองทัพพม่านี่เอง จนถึงทุกวันนี้รัฐบาลเอ็นแอลดียังไม่กล้าออกกฎหมายหรือทำอะไรที่อาจกระทบต่อผลประโยชน์ของกองทัพที่ผูกอยู่กับธุรกิจจีนได้สักอย่าง ชะตากรรมของประชาชนที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่าเหนือ ภายใต้ธุรกิจจีนและพลานุภาพของกองทัพพม่า ตกต่ำลงยิ่งกว่าเดิมถึงขนาดที่ว่าการประชุมปางโหลงครั้งที่สองไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

ส่วนน้ำมันและก๊าซในทะเล ซึ่งบริษัทอเมริกันและฝรั่งเศสเคยเข้ามาลงทุน แต่เมื่อราคาน้ำมันถูกลงเช่นนี้ การลงทุนสำรวจหรือใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการดูดขึ้นมามากขึ้นก็ไม่คุ้มเสียแล้ว แต่นั่นคงเป็นสภาวะชั่วคราว ถึงอย่างไรโลกก็ยังมีประเทศที่หิวน้ำมันฟอสซิลไปอีกนาน เฉพาะประเทศพัฒนาแล้วไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่จะสามารถทดแทนพลังงานฟอสซิลได้ด้วยพลังงานอื่นอย่างกว้างขวางเพียงพอ

ในแง่นี้พม่ายังรุ่มรวยทรัพยากรพลังงานอย่างยิ่ง นอกจากไฟฟ้าพลังงานน้ำซึ่งจีน (และไทยในสัดส่วนน้อยกว่ากันมาก) ตักตวงไปใช้จำนวนมากแล้ว ยังมีแหล่งที่จะผลิตได้อีกมาก (ซึ่งจะทำลายระบบนิเวศและสังคมเสียยิ่งกว่าที่ได้ทำลายไปแล้ว) พม่ายังมีสำรองก๊าซธรรมชาติทั้งบนฝั่งและนอกฝั่งอีก 2.46 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำมันดิบอีก 3.2 พันล้านบาร์เรล

แรงงานราคาถูก จึงเหมาะกับอุตสาหกรรมไทยที่สุด ในขณะที่สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, เกาหลี และตะวันตกต้องการแรงงานฝีมือ (ที่ราคาถูก) มากกว่าแรงงานไร้ฝีมือเพื่อทอผ้า พม่าไม่มีแรงงานฝีมือมากพอที่จะดึงดูดนักลงทุนจากประเทศเหล่านั้น (จะคุยเรื่องการศึกษาพม่าข้างหน้า) ยิ่งประเทศพัฒนาแล้วซึ่งหากำไรจากธุรกิจภาคบริการมาก ก็ยิ่งต้องการฝีมือแรงงานมาก จึงไม่เหลียวมองพม่าเอาเลย

ถ้าอย่างนั้น คนชั้นกลางพม่าที่นั่งกินข้าวกับเราในภัตตาคารเดียวกัน เป็นใครมาจากไหน?