นิธิ เอียวศรีวงศ์ : พม่าเมื่อชำเลืองมอง (ว่าด้วยเศรษฐกิจ จราจร กองทัพ นักท่องเที่ยว)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

15% ของคนพม่ากินอะไรอย่างที่เรากินในภัตตาคาร พม่าที่เหลือกินอะไร?

บังเอิญวันหนึ่ง ผมได้ไปยืนและเตร่อยู่หน้าตลาดเมืองญองอูใกล้เมืองพุกามนานกว่าชั่วโมง เพราะทุกคนในคณะทัวร์ของเราล้วนเป็นนักช้อปมือเซียนทั้งสิ้น โดยเฉพาะตลาดสดพื้นเมืองเป็นสุดยอดของการช้อปทีเดียว ส่วนผมได้ให้ความรักทั้งหมดแก่ซูเปอร์มาร์เก็ตไปแล้ว รังเกียจตลาดสดเท่ากับเจ้าหนี้ จึงปล่อยเสือเข้าป่าไป และขอรอข้างนอกคนเดียว

ผมจำได้ว่า เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ก็ถูกพามาตลาดแห่งนี้เหมือนกัน ความประทับใจซึ่งเป็นความทรงจำที่ไม่เที่ยงตรงนักก็คือ ไม่มีอาคารตลาด แต่แบขายกันบนพื้นดินใต้ต้นโพธิ์หรือต้นไทรใหญ่บ้าง ตั้งโต๊ะและกางร่มขายบ้าง เป็นภาพอย่างเดียวกับที่มิชชันนารีถ่ายภาพกาดประตูเชียงใหม่ไว้กว่าร้อยปีมาแล้ว 16 ปีก่อน ผู้คนคลาคล่ำอย่างนี้ ทางเดินบนพื้นดินแฉะๆ ทำให้หลบหลีกผู้คนยากขึ้นไปอีก ผมเดินหนึ่งรอบแล้วก็รีบออกมารอข้างนอกเหมือนครั้งนี้ แต่เท่าที่จำได้ข้างนอกตลาดไม่ได้เป็นตึกแถวร้านค้าอย่างที่เห็น ตัวเมืองญองอูสมัยนั้นเป็นเพิงและกระท่อม มีบ้านเรือนแทรกอยู่บ้าง

เล็กนิดเดียวและเงียบเหงา

ญองอูในปัจจุบันคือเมืองที่ในเมืองไทยสมัยผมเป็นเด็กเขาเรียกว่า “ตลาดเจ๊ก” คือชุมชมจีนซึ่งเปิดร้านค้าห้องแถวถาวร และขายของทั้งวันและทุกวัน (ผิดจากตลาดไทยที่มักขายบางวันและบางเวลาเท่านั้น) ชุมชนใกล้เคียงทั้งที่เป็นเจ๊กด้วยกัน กึ่งเจ๊กกึ่งไทย หรือไทยล้วน ต่างเดินทางเข้ามาซื้อหาสิ่งของที่ไม่มีขายในตลาดสด เช่น เครื่องมือการเกษตร, เครื่องมือประมง, ยาทั้งกลางบ้านและฝรั่ง, ยาเส้นยาสูบ, ฯลฯ รวมทั้งก๋วยเตี๋ยวและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ต่อมาตลาดเจ๊กก็ขยายใหญ่ขึ้นไปตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นนั้น เมืองในต่างจังหวัดหลายเมืองล้วนมีตลาดเจ๊กเป็นฐานทั้งสิ้น

ญองอูเป็นอย่างนั้น ไม่เฉพาะแต่ในตลาดสด หากรวมถึงทั้งเมืองดูคึกคักด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ รถราวิ่งขวักไขว่เสียยิ่งกว่าเมืองพุกามใหม่ด้วยซ้ำ อาจจะเพราะเป็นเมืองที่เล็กกว่ากันมาก

ทั้งหมดนี้คงเป็นผลมาจากการเปิดประเทศ และด้วยเหตุผลใดผมอธิบายไม่ได้ ญองอูกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายขนส่งด้านการเกษตรที่ใหญ่พอสมควรแห่งหนึ่งในแถบนั้นของพม่าตอนบน ผมเดินดู “ตลาดเจ๊ก” ของญองอู ก็พบสินค้าเพื่อป้อนเกษตรกร หรือรวบรวมสินค้าเกษตรบางอย่างเพื่อส่งไปขายต่อหลายร้านทีเดียว อาชีพหนึ่งที่ดูจะเพิ่มความคึกคักบนท้องถนนของญองอูอย่างมาก คือรถเข็นสินค้าซึ่งต้องใช้คนเข็นสองคน วิ่งบนล้อยางรถยนต์ เพราะต้องบรรทุกของหนักมาก ส่งของไปยังท่ารถบ้าง ขนจากท่ารถไปยังร้านค้าบ้าง ขวักไขว่อยู่ตลอดเวลา

ผมเดินเข้าไปดูในโรงเรือนที่เป็นตลาดสด ก็พบของขายเหมือนตลาดสดทั่วไป ส่วนมากเป็นผักผลไม้นานาชนิด ลึกเข้าไปก็มีเนื้อสัตว์ เช่น ปลา, หมู, เนื้อวัว และคงมีเนื้อแพะด้วย กลิ่นคละคลุ้งเหมือนตลาดสดในโลกแถบบ้านเรา

แล้วผมก็ออกมาดูว่า แม่บ้านพม่าซื้ออะไรไปทำอาหารกินที่บ้านบ้าง ผมแทบไม่ได้เห็นเนื้อสัตว์ในตะกร้าหรือกะละมังที่ใช้ทูนหัวเลย โปรตีนซึ่งแม่บ้านบางคนซื้อไปคือไข่ไก่ อันเป็นโปรตีนราคาถูกที่สุด ทั้งหมดที่เธอหอบกลับบ้านคือผัก ผมไม่ทราบว่าเธออาจหาโปรตีนในธรรมชาติโดยไม่ต้องซื้อได้หรือไม่ เช่น ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่า วัตถุดิบที่ทูนหัวกลับบ้านเหล่านี้ ไม่อาจทำอาหารพม่าอร่อยๆ ที่เรากินในภัตตาคารได้

ญองอูให้ความประทับใจอีกเรื่องหนึ่ง คือการจราจร อย่างที่กล่าวแล้วว่าญองอูเป็นเมืองเล็ก แต่มีธุรกิจคึกคัก การจราจรจึงคับคั่งและสับสนอย่างยิ่ง ที่สับสนก็เพราะไม่มีตำรวจกำกับการจราจร ตำรวจก็มีนะครับ แบ่งเช่าห้องแถวครึ่งห้องเป็นโรงพักอยู่หน้าตลาดสด มีตำรวจอยู่สักสองสามคน เขาจะเดินออกจากโรงพักมาควบคุมการจราจรต่อเมื่อรถบนถนนหน้าตลาดสดเกิดติดขัด ซึ่งก็ไม่เกิดบ่อยนัก เพราะเป็นถนนตรงเฉยๆ การจราจรจะวุ่นวายหน่อยก็ต่อเมื่อรถขนาดใหญ่ เช่น รถทัวร์หรือรถบรรทุกสินค้าจะเลี้ยวเข้าหรือออกจากตลาดเท่านั้น เพราะถนนในญองอูค่อนข้างแคบสำหรับปริมาณของยวดยานบนท้องถนน

ที่เขาน่าจะไปกำกับการจราจรมากกว่าคือตรงปลายถนนหน้าตลาด อันเป็นทางเลี้ยวไปยังท่ารถจึงเกิดเป็นสามแยกขึ้น เขาทำวงเวียนขนาดเล็กตรงกลางถนนเพื่อกำกับการจราจร คงจะเป็นวิธีการแบบอังกฤษ เพราะนักวิชาการอังกฤษคนหนึ่งเคยบอกผมว่า วงเวียนกำกับการจราจรที่คับคั่งได้ดีกว่าไฟแดง เพราะจราจรจะคล่องตัวกว่า (จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบนะครับ แต่นึกขึ้นมาได้เหมือนกันว่า ผมไม่เห็นไฟแดงสักอันในญองอู)

ตรงวงเวียนสามแยกนี่แหละที่การจราจรสับสนวุ่นวายจริง รถโดยสารจะมาจอดส่งผู้คนที่ท่ารถ คันที่จะเดินทางไปที่อื่นก็ต้องวิ่งเลี้ยวตรงนี้เพื่อไปยังเมืองอื่น รวมทั้งรถที่วิ่งออกจากท่ารถและผ่านท่ารถก็ต้องผ่านสามแยกตรงนี้ เพื่อไปยังเมืองอื่นอีกเหมือนกัน รถบรรทุกสินค้าอีกจำนวนมากต้องไปลงสินค้าแถบท่ารถ รวมทั้งรถบรรทุกที่จะขึ้นสินค้าก็ต้องผ่านสามแยกวงเวียนนี้ ยังไม่พูดถึงรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ของชาวบ้าน ที่จะผ่านไปมาเพราะชานเมืองญองอูและเขตไร่นาก็ต้องผ่านถนนนี้ไปเหมือนกัน

ยิ่งกว่านั้น ยังมีผู้หญิงทูนหัวสิ่งของไปตลาด หรือกลับจากตลาดที่ต้องข้ามถนนตรงแถววงเวียนนี้เหมือนกัน ไหนจะรถเข็นบรรทุกสินค้าคันใหญ่ที่กล่าวแล้ว ก็ต้องผ่านตรงนี้เพื่อไปยังท่ารถหรือไปส่งของที่ตลาดสดและตลาดเจ๊ก

ผมไปยืนมองการจราจรตรงสามแยกวงเวียนนี้อยู่นาน ด้วยความคิดว่าเดี๋ยวต้องเกิดอุบัติเหตุจราจรอะไรสักอย่างแน่ แต่ไม่เกิดขึ้นสักที สังเกตดูจึงเห็นว่า ที่ไม่เกิดก็เพราะทุกฝ่ายใช้ความระมัดระวังกันอย่างยิ่ง ต่างหลบกันไปหลบกันมา หรือชะลอความเร็วจนเลี่ยงกันไปได้ทุกที แต่มองจากสายตาคนนอกอย่างผม ก็สับสนวุ่นวายไร้ระเบียบจนไม่น่าจะมีความปลอดภัยแก่ใครเลย เพราะไม่มีทางรู้ว่าใครมี “สิทธิได้ทางก่อน” (right of way) อันเป็นหัวใจสำคัญของระเบียบการจราจรในโลกสมัยใหม่

เช่นเดียวกับรถพวงมาลัยขวาขับอยู่บนจราจรชิดขวา ซึ่งทำให้คนขับอยู่ฝั่งชิดขอบถนน จะแซงแต่ละครั้งต้องเบี่ยงรถออกมาดูว่ามีรถสวนหรือไม่ ซ้ำร้ายถนนส่วนใหญ่ยังแคบคือมีสองเลน วิ่งสวนกันได้เท่านั้น

รัฐบาลทหารเนวินสั่งให้จราจรพม่าเปลี่ยนจากวิ่งชิดซ้ายเป็นวิ่งชิดขวา อ้างว่าเป็นการสลัดคราบจักรวรรดินิยมอังกฤษทิ้งเสีย (ในขณะที่เพื่อนบ้านที่มีพรมแดนชิดกับพม่าทั้งด้านตะวันออก, ตะวันตก และอยู่ใกล้ๆ ทางใต้ ล้วนใช้จราจรชิดซ้ายทั้งสิ้น) แต่เศรษฐกิจพม่าภายใต้เนวินฝืดเคืองเสียจนไม่มีใครอาจซื้อรถพวงมาลัยซ้ายมาใช้ได้ รวมทั้งรถสาธารณะด้วย ทุกคนจึงนั่งอยู่ในรถพวงมาลัยขวาและวิ่งชิดขวาตลอดมา

เมื่อเปิดประเทศ รถยนต์เป็นเครื่องมือทำมาหากินหลายอย่าง แต่ทุนมีจำกัดและไม่มีใครอยากลงทุนเกินจำเป็น รถยนต์ราคาถูกที่พอหาได้คือรถยนต์ใช้แล้วของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่จราจรชิดซ้าย ดังนั้น กว่า 90% ของรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนในพม่าจึงล้วนเป็นรถพวงมาลัยขวาทั้งสิ้น ไม่แต่เฉพาะรถนั่งส่วนบุคคล แต่รวมถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถเมล์ด้วย รถที่เราเช่าไปตระเวนพม่าครั้งนี้ก็เป็นรถพวงมาลัยขวา

คุณซาน คนขับรถของเราอธิบายว่า รัฐบาล (เต็งเส่ง) เพิ่งออกกฎหมายบังคับว่า รถที่จะจดทะเบียนใหม่หลัง 2015 จะต้องเป็นรถพวงมาลัยซ้ายเท่านั้น ฉะนั้น ในอนาคตสัก 10 ปี คงไม่ได้เห็นรถพวงมาลัยขวาในพม่าแล้ว

แต่ช่วงนี้ยังมีสภาพอย่างที่ผมเล่าข้างต้น คือวิ่งกันบนถนนแคบๆ ที่จราจรชิดขวาด้วยรถพวงมาลัยขวา แต่ตลอดการเดินทาง 7-8 วันของเรา ได้พบอุบัติเหตุจราจรครั้งเดียวบนเส้นทางภูเขาสูงไปสู่สีป้อ ซ้ำเป็นอุบัติเหตุที่ไม่ร้ายแรงนัก คือรถบรรทุกไปเบียดจักรยานยนต์ล้ม (ผมเพิ่งกลับจากปากช่องมายังดอนเมืองเมื่อกลับจากพม่าไม่กี่วัน เจออุบัติเหตุที่ค่อนข้างหนักถึงสามราย) แต่เพราะเป็นเขตภูเขาสูง การจราจรจึงติดอยู่นาน เพราะกว่าจะขยับรถบรรทุกออกไปให้พ้นทางโค้งหักศอกได้ ต้องใช้เวลานาน

ความปลอดภัยในถนนและพาหนะที่ไม่เอื้อเลยเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ผมพบว่าการตัดสินใจผิดนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งเขาและเรา แต่ทุกครั้งที่มีการตัดสินใจแซงขึ้นหน้า ทุกฝ่ายจะช่วยกันประคองให้การตัดสินใจนั้นเป็นไปได้โดยปลอดภัย นับตั้งแต่รถที่วิ่งสวนมาหากเห็นว่าน่าจะไม่พ้น ก็จะชะลอความเร็วของตนลง รถที่ถูกแซงก็ช่วยด้วยการชะลอความเร็วเหมือนกัน เราเคยวิ่งตามรถที่ถูกแซงและเห็นเขาช่วยเบรกให้ด้วย

เช่นเดียวกับถนนและวงเวียนในเมืองญองอู การจราจรของพม่าตั้งอยู่บนหลักถ้อยทีถ้อยอาศัย ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า ที่จริงแล้วถ้อยทีถ้อยอาศัยก็เป็นระเบียบสังคมอย่างหนึ่ง เพียงแต่ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวว่าต้องทำอะไรในสถานการณ์ต่างๆ ในเมืองไทยเรามักสอนกันว่า เมื่อไรที่มีคนหมู่มากอยู่ด้วยกัน เราจำเป็นต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์บังคับพฤติกรรมของทุกคน ไม่อย่างนั้นจะเกิดความวุ่นวายปั่นป่วนจนจะหาความปลอดภัยแก่ใครไม่ได้เลย

ก็คงจริงนะครับ แต่ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาบังคับผู้คน ต้องบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ลูกเสี่ยขับรถชนตำรวจแล้วลากไปอีก 100 เมตรก็ยังลอยนวลอยู่ได้เกือบ 5 ปี ขับรถทำให้เกิดอุบัติเหตุจนมีคนตายไป 9 คน ก็แค่รอลงอาญา ตรงกันข้ามกับสามัญชนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ผิดระเบียบกฎเกณฑ์เมื่อไรก็จะต้องโทษอย่างหนัก

การจราจรในระเบียบกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้อย่างไม่เสมอหน้ากันเช่นนี้ ทำให้เก็งไม่ถูกว่า ควรหลบให้ใคร ชะลอให้ใคร ต่างถือ “สิทธิ” ของตนอย่างไม่ยอมใคร ก็ไม่รู้นี่ครับว่าใครใหญ่ใครเล็กบนท้องถนน กลับทำให้เกิดอุบัติเหตุในการจราจรมากกว่าหลักการง่ายๆ ของการถ้อยทีถ้อยอาศัย

(ไม่น่าแปลกใจใช่ไหมครับ เจ้าของรถหรูทั้งหลายในเมืองไทยจะกล่าวตรงกันว่า รถหรูไม่ได้มีค่าตรงที่หรูอย่างเดียว แต่ให้ความปลอดภัยด้วย ทั้งปลอดภัยจากตำรวจ, จากกฎหมาย และจากผู้ใช้ทางร่วมกัน)

เมื่อเห็นอาหารสดที่ผู้หญิงทูนหัวกลับจากตลาดเช่นนี้แล้ว ผมจึงอยากสรุปว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของพม่าดีขึ้นอย่างมากหลังเปิดประเทศ แต่เขาก็ยังจนอยู่ ส่วนใหญ่ของคนพม่าที่เราได้พบเจอในการท่องเที่ยว นับตั้งแต่คนขายของที่ระลึกตามแหล่งท่องเที่ยว, เจ้าหน้าที่ดูแลโบราณสถาน, คนขี่รถม้า, เจ้าพนักงานโรงแรม, กุ๊กและเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร, ฯลฯ ล้วนเพิ่ง “เงยหน้าอ้าปาก” ได้จากการท่องเที่ยว พวกเขาสำนึกถึงความสำคัญของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

แต่น่าประหลาดกว่าประเทศที่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเหมือนกัน ผมรู้สึกว่าคนพม่ามองนักท่องเที่ยวเป็นคนมากกว่าทุกประเทศแถบนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มักมองนักท่องเที่ยวเหมือนเงินที่ลมพัดมาตกอยู่ข้างหน้า ชาวพม่าไม่ปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวอย่างพินอบพิเทาหรือเอาอกเอาใจให้เห็นอย่างออกหน้า แม้ว่ามีมารยาทดีเป็นปรกติ (คนที่ไม่ดี ก็ไม่ดีแก่ทุกคนอย่างเสมอหน้า) ด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่แยกระหว่างเงินก้อนโตกับเงินก้อนที่เล็กกว่า

เช่น ระหว่างนักท่องเที่ยวฝรั่งกับนักท่องเที่ยวไทย ผิวขาวๆ เป็นสัญลักษณ์ของเงินก้อนใหญ่กว่าผิวเหลืองๆ ของไทย และมักได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าในประเทศอื่นแถบนี้ เช่น ขณะที่เรากำลังติดต่อที่เคาน์เตอร์ของโรงแรมอยู่ ฝรั่งเข้ามา พม่าก็ไม่ข้ามหัวเราไปทำธุระให้ฝรั่งก่อน แต่จัดการธุระเราให้เสร็จก่อนจึงหันไปถามฝรั่งว่าจะให้ช่วยอะไร

ผมไม่ค่อยพบอย่างนี้ในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมฝรั่งมาก่อน โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านทางตอนใต้ของเรา แต่คิดอีกที ไม่ค่อยพบแม้แต่ในบ้านเราเอง จึงอาจไม่เกี่ยวกับความเป็นอาณานิคมของอำนาจฝรั่ง เท่ากับความเป็นอาณานิคมของอำนาจเงิน

ที่วัดชานเมืองพุกามแห่งหนึ่ง ซึ่งมีภาพเขียนสีค่อนข้างบริบูรณ์ เราเข้าชมเอาตอนเย็นแล้ว พบตาแก่คนหนึ่งซึ่งแต่งตัวด้วยสีกากีซอมซ่อ พาเราเข้าชมภาพเขียนสีด้วยการฉายไฟให้เห็นตามจุดที่มืด แม้คุณตาพูดภาษาอังกฤษได้น้อยมาก แต่เราก็รู้เรื่องได้ดีเพราะอาจารย์แมนนี่สมาชิกทัวร์ของเรา เป็นนักท่องเที่ยวชั้นดีเยี่ยม คือมีตำราประวัติศาสตร์ศิลปะที่เธอสนใจ ติดตัวไปยังทุกวัดที่เราไป หลังจากได้ชมทุกจุดที่ตำราของอาจารย์แมนนี่แนะนำแล้ว เราก็ซุบซิบกันว่า คุณตาคงให้บริการนี้เป็นรายได้ส่วนหนึ่งของแกด้วย ดังนั้น เราจึงต่างรวบรวมเงินจ๊าดที่เหลืออยู่ของแต่ละคน ซึ่งได้มากพอสมควร เพราะถึงอย่างไรเราก็จะเดินทางกลับบ้านในวันรุ่งขึ้นอยู่แล้ว เมื่อยื่นให้พร้อมแสดงความขอบคุณ คุณตาโบกมือปฏิเสธ และให้คำอธิบายว่าคุณตาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ต้องทำอยู่แล้ว โดยชี้ให้ดูตราที่ติดหน้าอก ซึ่งเราก็เห็นอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็นตราอะไร

คณะของเราอึ้ง อย่างแรกก็อึ้งกับความซื่อสัตย์ของข้าราชการพม่าคนหนึ่ง ถึงคุณตารับเงินไปก็ไม่มีใครอื่นเห็น เพราะเป็นเวลาเย็นที่ไม่มีนักท่องเที่ยวอื่นอยู่เลย อึ้งอย่างที่สองคือ เราทุกคนรู้ว่าชาวพม่าส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่มาก การแต่งกายของคุณตาก็บอกให้รู้ว่าแกเป็นหนึ่งในคนส่วนใหญ่แน่

ดังนั้น จึงไม่ใช่ความซื่อสัตย์ธรรมดา แต่เป็นความซื่อสัตย์บนความยากจนด้วย

ผมรู้ตัวครับว่า ผมกำลังพูดถึงเงื่อนไขทางวัตถุที่แวดล้อมศีลธรรม ซึ่งคนไทยไม่ค่อยเชื่อหรือไม่ค่อยคำนึงถึง (อาจเป็นเพราะกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์) ผมไม่ปฏิเสธว่า คนเราบางคนอาจปฏิบัติศีลธรรมโดยไม่ขึ้นกับเงื่อนไขทางวัตถุเลยก็ได้ แต่หากเราจัดการให้เงื่อนไขทางวัตถุเอื้อต่อการปฏิบัติศีลธรรมด้วย คนส่วนใหญ่ก็อาจปฏิบัติศีลธรรมได้ง่ายขึ้น

จะว่าคนไทยไม่เชื่อเงื่อนไขทางวัตถุเลยก็ไม่เชิงทีเดียวนัก ข้าราชการ ตำรวจ อัยการ ไปจนถึงผู้พิพากษา ต่างอ้างว่าควรได้เงินเดือนสูง เพื่อจะได้ไม่โกง ฟังดูเป็นการปล้นมากกว่าการจัดการเพื่อให้เกิดเงื่อนไขทางวัตถุที่เอื้อต่อการปฏิบัติศีลธรรม เพราะการจัดการเงื่อนไขทางวัตถุต้องมีความหมายมากกว่าค่าตอบแทน และต้องรวมคนอื่นๆ ทุกคน ฉะนั้น แม้แต่รัฐสวัสดิการที่ดี ก็เป็นเงื่อนไขทางวัตถุที่ช่วยเอื้อให้การปฏิบัติศีลธรรมเป็นไปได้ง่ายขึ้น มัวคิดแต่เงินเดือนผู้มีอำนาจอย่างเดียว ไม่ช่วยอะไรได้มากนัก

นักท่องเที่ยวไทยถึงไม่ใช่เงินก้อนใหญ่เท่านักท่องเที่ยวฝรั่ง แต่ก็เป็นเงินที่ปลิวว่อนอยู่ในพม่าเวลานี้ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของชาวพม่า นักท่องเที่ยวไทยเป็นคนรวยทีเดียว จำนวนของนักท่องเที่ยวไทยก็สูงมากเสียด้วย เพราะคนพม่าที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมักพูดภาษาไทยได้ อย่างน้อยก็สวัสดี หลายคนไหว้ทักทายเป็น (พม่าใช้กิริยายืนตรงโค้ง เรียกว่า shikko แม้ว่าถือมารยาทเดียวกับไทย คือระวังไม่ให้ศีรษะตนเองสูงกว่าศีรษะผู้ใหญ่)

และอีกไม่น้อยพูดหรือฟังภาษาไทยคล่องทีเดียว เพราะเคยเข้ามาทำงานในเมืองไทย

ผมไม่ทราบว่า คนพม่ามีทัศนคติต่อนักท่องเที่ยวไทยอย่างไร เท่าที่ได้พบเมื่อเขารู้ว่ามาจากเมืองไทย สิ่งที่เราได้รับอย่างชัดเจนคือความเป็นมิตร เช่น พูดภาษาไทยหรือใช้มารยาทไทยเท่าที่เขารู้ คนขายของที่ระลึกมักรู้ว่าเรามีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน และมักเลือกเสนอสินค้าที่แตกต่างจากที่เสนอแก่นักท่องเที่ยวฝรั่งหรือจีน เช่น แทนที่จะเสนอเศียรพระพุทธรูป กลับเสนอหน้าของมินมหาคีรี ซึ่งเป็นหัวหน้าของนัตหลวงแทน

นักท่องเที่ยวไทยยังจะได้รับความเป็นมิตรจากชาวพม่าต่อไปอีกนานเท่าไรผมไม่ทราบ คนรวยมักน่ารังเกียจ เพราะไปนึกว่าใช้เงินแทนมนุษยสัมพันธ์ได้ มีอะไรที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมความรวยแบบญี่ปุ่น ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้รับความเป็นมิตรจากคนทั่วโลก แม้ว่าสงครามรุกรานของญี่ปุ่นยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนอีกมาก จะด้วยเหตุใดก็ตาม ผมคิดว่าวัฒนธรรมไทยไม่มีภูมิคุ้มกันความรวย ดังนั้น พอคนไทยรวยเมื่อไหร่ก็มักกลายเป็นคนน่าขยะแขยงไปหมด เช่น “กราบรถกู” หรือ “มึงรู้ไหมว่ากูเป็นใคร” หรือทำบุญด้วยมือขวา ไม่แต่เพียงประกาศให้มือซ้ายรู้ แต่ตะโกนให้รู้ทั่วสรรพางค์กายทีเดียว เป็นต้น

คนไทยอยากเป็นคนรวย แต่ไม่มีความสามารถทางวัฒนธรรมที่จะรวยเป็น เลิกจนเมื่อไหร่ก็ดูเหมือนเลิกเป็นคนไปด้วย

(ยังมีต่อ)