อยู่ไปวันวัน : คำ ผกา

คำ ผกา

ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า กลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้สูงสุดถือครองทรัพย์สินกว่า 35% คิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการถือครองทรัพย์สินของประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด 10% ถึง 22 เท่า

ส่วนความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สิน พบว่าสินทรัพย์ทางการเงินกระจุกอยู่กับคนจำนวนน้อย

โดยบัญชีเงินฝากของคน 0.1% มีเงินฝากเท่ากับ 49.2% ของเงินฝากในระบบทั้งหมด

ขณะที่การถือครองที่ดินของกลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้สูงสุดมีสัดส่วนถือครองที่ดินถึง 61.5%

ขณะที่ประชากรอีก 90% ถือครองที่ดินรวมกันเพียง 38.5%

ประชากรกว่า 40% หรือกว่า 26.9 ล้านคน ยังมีรายได้ต่ำกว่า 5,344 บาทต่อเดือน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรและแรงงานทักษะต่ำ

ขณะที่มีคนในกลุ่มนี้อีก 5.6 ล้านคนที่มีรายได้อยู่เหนือเส้นยากจนไม่มากนัก หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติก็สุ่มเสี่ยงที่จะกลับไปอยู่ใต้เส้นยากจน

กลุ่มนี้จึงถือเป็น moderate poor ในประเทศไทย

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639825

เป็นตัวเลขที่น่าตกใจว่า ร้อยละสี่สิบของประชากรไทย มีรายได้ต่ำว่า 5,344 บาท – ร้อยละสี่สิบของคนไทย เป็นคนยากจน

ทุกวันนี้เราอธิบายสาเหตุความยากจนกันกี่แนวทาง?

แนวทางพื้นบ้าน อธิบายความยากจนเป็นกรรมเก่า ชาติที่แล้ว ทำบาปทำกรรมมาเยอะ อาจจะเคยไปกดขี่ ขูดรีดใครมา ไม่ทำบุญ ไปขโมยของในวัด ต่างๆ นานา ชาตินี้จึงเกิดมายากจน

แนวทางชนชั้นกลาง ที่หลงเชื่อตำนานว่าด้วยความร่ำรวยของเจ้าสัวที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาค้าขายด้วยความขยันอดออม จนร่ำรวยเป็นหมื่นๆ ล้าน

เมื่อเชื่อว่ามหาเศรษฐีหมื่นล้านแสนล้านพวกเขารวยขึ้นมาเพราะความขยัน เสื่อผืนหมอนใบมา คนเหล่านี้ย่อมอธิบายเหตุความยากจนได้ว่า เพราะคนจนมันขี้เกียจ มันขี้เมา มันขี้โกง มันสกปรก มันคิดสั้น มันเอาแต่ปั๊มลูก มันเฉื่อยชา มันกินเหล้า มันใช้เงินเกินตัว หาได้ร้อย ใช้สามร้อย ไม่พอก็กู้ พอกู้ก็ติดกับดักหนี้สิน จนต่อเนื่อง จนอินฟินิตี้ มันเล่นการพนัน จ้างมาทำงานก็ทำสามวัน ไปงานบวชสี่วัน – แล้วเมื่อไหร่จะรวยฟะ?

แนวทางนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คนจนเพราะไม่รับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่มากพอ

แนวทางนักเศรษฐศาสตร์การเมือง มองว่า โลกนี้มีนายทุนกับกรรมาชีพ นายทุนสร้างกำไรจากการขูดรีดส่วนเกินจากกรรมาชีพ มีทั้งการขูดรีด เอาเปรียบแบบตรงไปตรงมา

และการรักษาระบบการครอบงำ ขูดรีดให้ดำรงอยู่ได้ด้วยการทำงานเชิงอุดมการณ์

ทีนี้ในระหว่างแนวทางการอธิบายหลักๆ ก็มีปัญญาชนไทยหลายคน เคยอธิบายไว้กว่า 30 ปีแล้วว่า โอ๊ยยย ปัญหาความยากจนของคนเราไม่ได้มาจากนิสัยส่วนตัว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญญาชนเหล่านั้นรวมทั้ง อ.เสน่ห์ จามริก, ประเวศ วะสี, อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็พูดเรื่องความยากจนเชิงโครงสร้างมาโดยตลอด

หมายเหตุไว้หน่อยว่า สำหรับประเวศ ท่านไปขยายความต่อว่า จะแก้ปัญหาความจนเชิงโครงสร้างต้องให้คนจนหลุดจากความโลภ ความอยากได้ อยากมี อันเป็นการครอบงำของทุนนิยม …เอ่อ…

ความยากจนเชิงโครงสร้างคืออะไร? (เขียนไปก็งงไปว่า นี่เราต้องกลับมาพูดเรื่องนี้กันแบบ 101 จริงเหรอ)

ความยากจนเชิงโครงสร้าง ก็มีทั้งโครงสร้างทางการเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ

การมองว่า คนขี้เกียจก็เลยจน หรือมองว่า เวรกรรมทำให้คนยากจน เป็นหนึ่งในโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดความยากจนเชิงโครงสร้าง เพราะจะทำให้เรามองไม่เห็นความไม่เป็นธรรมในมิติต่างๆ ที่ทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นคนจน หรือไม่สามารถก้าวผ่านความยากจนออกมาได้

โครงสร้างทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ การออกแบบโครงสร้างภาษี การส่งเสริมการลงทุน การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายการศึกษา นโยบายการจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นโครงสร้างที่กำกับให้เกิดความจนแก่คนกลุ่มหนึ่ง และส่งให้ทรัพยากรเกือบทั้งหมดของประเทศไปตกอยู่ที่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่มาก

และคนกลุ่มนี้ ยิ่งมั่งคั่งก็ยิ่งสามารถถักทอเครือข่าย ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เพื่อหล่อเลี้ยงความมั่งคั่งของตนเองต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

จริงๆ แล้ว ถามว่าคนจนทำไมถึงจนต่อไปเรื่อย เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเข้าใจได้ยากเลย

คิดง่ายๆ แค่

ก. ลูกแรงงานต่างด้าวอาชีพก่อสร้าง เร่ร่อนไปตามไซต์ก่อสร้าง ได้เรียนหนังสือบ้าง ไม่ได้เรียนบ้าง

ข. ลูกพนักงานระดับล่างของหน่วยงานรัฐ/เอกชน เรียนโรงเรียนตามมีตามเกิด

ค. ลูกข้าราชการระดับกลางค่อนไปทางสูง หรือลูกพ่อค้าแม่ค้าระดับรายได้ปานกลางถึงสูง เรียนโรงเรียนรัฐบาลที่มีชื่อเสียง หรือเอกชนที่มีชื่อเสียง

ง. ลูกคนมีอันจะกิน ส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์ เตรียมปูทางเรียนต่างประเทศ

จ. ลูกมหาเศรษฐี ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนประจำในโรงเรียนเอกชนชั้นนำของโลกตั้งแต่มัธยมต้น

ตรงกันข้าม ในท่ามกลางคนห้ากลุ่ม ถ้าลูกๆ ของคนทั้งห้ากลุ่มได้รับการศึกษาในคุณภาพที่ทัดเทียมกัน คุณภาพสูงเท่ากันเป๊ะ – ในรุ่นลูกๆ ของคนห้ากลุ่มนี้ มันตื่นเต้นว่าเราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไร?

เพราะฉะนั้น หากเราจะต้องอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ความยากจนเชิงโครงสร้างคืออะไร และคนจนเพราะขี้เกียจจริงหรือ – ตัวอย่างนี้ก็อาจจะพออธิบายให้เด็กๆ เข้าใจได้เลย

เราจะแก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างได้อย่างไร?

เป็นที่เข้าใจตรงกันทั่วโลกว่า ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างนั้นต้องเริ่มแก้ไขด้วยการเพิ่มอำนาจการตัดสินทางการเมืองให้กับประชาชนอย่างเสมอภาค

ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

เพราะคนที่เผชิญกับความโหดร้ายของความยากจนเชิงโครงสร้าง มักเป็นคนชายขอบทางการเมืองด้วย เช่น ชนกลุ่มน้อย คนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ คนต่างด้าว ผู้อพยพ ผู้หญิง คนจน

เพราะสิ่งแรกที่คนจนต้องมี คือ ตัวแทนของพวกเขาที่จะเข้าไปทำงานในสภา ไปออกแบบนโยบาย ไปออกกฎหมายที่กระจายผลประโยชน์ให้เขา

เมื่อเขียนถึงตรงนี้ ไม่ได้ว่ารัฐบาลที่คนจนเลือก เป็นนางฟ้า นางสวรรค์ เป็นคนดีเหลือเกิน หรือโรแมนติกถึงขั้นคิดไปว่า โอ๊ย คนจนต้องฉลาด เลือกพรรคการเมืองดีๆ นักการเมืองดีๆ

ไม่มีอะไรสวยงามเช่นนั้น

เพราะนักการเมืองจำนวนมากต้องการกำจัดความยากจน ไม่ได้เพราะรักในมนุษยชาติ แต่เป็นเพราะเขาอยู่ในระบบทุนนิยม ที่เห็นว่า หากไม่ขยายตลาด และไม่เพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค พูดให้ชัดขึ้นไปอีกคือ หากไม่เปลี่ยนคนจนมาเป็นคนชั้นกลางที่มีพลัง มีอำนาจ มีเรี่ยวแรง มีเงิน ในการจับจ่าย ในซื้อๆๆๆๆๆๆ – ทุนทั้งหลายก็จะอยู่ไม่ได้

นายทุนรายใหม่ไม่เกิด ห่วงโซ่อาหาร หรือระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดจะพลอยพัง

และนั่นแปลว่า นักการเมืองที่ขาหนึ่งเป็นนายทุน หรือพวกนายทุนท่อน้ำเลี้ยงนักการเมืองก็จะพลอยพังไปด้วย

แต่หลักใหญ่ใจความของมันคือ การเลือกของประชาชนในสังคมนั้นๆ และการเรียนรู้ร่วมกัน ถกเถียง ด่าทอ ต่อรองกันในหมู่ประชาชน และกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ในสังคมนั้น

พูดให้กระชับลงมาอีกก็คือ มีแต่กลไกของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนได้ดีที่สุด เพราะปราศจากอำนาจทางการเมืองในมือ ประชาชนย่อมไม่มีเครื่องมือใดๆ ที่จะต่อรองผลประโยน์ให้กับตนเองได้เลย ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ในด้านใดก็ตาม

ประชาธิปไตย อาจมอบคนแบบทรัมป์

อาจมอบคนแบบดูร์แตร์เต

อาจมอบความคับข้องใจให้กับคนอังกฤษถึงขั้นออกไปลงประชามติเพื่อออกจากอียู

แต่ขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยก็มอบคุณภาพชีวิตที่ดี รัฐสวัสดิการที่ยอดเยี่ยม ไปจนถึงการเทิดทูนคุณค่าของมนุษย์ไว้เหนือสิ่งอื่นใด อย่างที่เกิดในหลายๆ ประเทศของยุโรป และสแกนดิเนเวีย

แต่ทั้งสองด้าน ทั้งมืดและสว่างของประชาธิปไตย

อย่างน้อยที่สุด มันให้คำมั่นสัญญาว่า ทั้งมืดและสว่าง เป็นทางเลือกที่ประชาชนเลือกเอง เรียนรู้เอง ต่อรองเอง และตัดสินเองว่า จะมืดต่อ หรือจะเดินหาทางเลือกที่สว่างไสวกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตรงกันข้าม คำมั่นสัญญาเดียวที่ระบบซึ่งประชาชนไม่มีอำนาจทางการเมืองเหลืออยู่ในมือเลย คือ-ความเชื่อเท่านั้นที่จะทำให้เรารอด-อย่าคิด อย่าถาม-เชื่อ-ทำตาม-เขาให้อะไรก็รับ

สิ่งที่น่ากลัวเสียยิ่งกว่าความจนด้วยตัวของมันเองคือ ในโครงสร้างทางการเมืองเช่นนี้ โดยทางอ้อม มันเร่งเร้าสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิต เพราะมันไม่มีการประกันความมั่นคง และความปลอดภัยใดๆ ที่เราจะเอาหลังไปพิงได้ ชะตากรรมของเราจะอยู่ในภาวะคาดเดาไม่ได้ วางแผนไม่ได้ ไม่มีแพตเทิร์น แบบแผน

และวันหนึ่ง จุดเร่งเร้านั้นจะรุนแรงจนกระทั่งเราสูญเสียความรักนับถือ และความเชื่อมั่นในตัวของมนุษย์

พัฒนาการขั้นต่อมาของโครงสร้างทางอำนาจการเมืองแบบนี้คือการวิ่งเข้าหาผู้คุ้มครอง เกิดซุ้มทางอำนาจที่ไม่เป็นทางการ และเกิดสิ่งที่เรียกว่า “อิทธิพล” ขึ้นมาทำงานแทนคู่ขนานไปกับอำนาจอย่างเป็นทางการที่กำหนดไว้ในตัวบทกฎหมาย

A customer pays for a beer at the Occidental Hotel in central Sydney June 21, 2011. REUTERS/Tim Wimborne/Files

ลักษณะที่จะเผชิญจึงใกล้เคียงกับคำว่า บ้านเมืองที่ไม่มีขื่อไม่มีแป

และด้วยโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ คนก็จะยิ่งขี้เกียจ เพราะระบบการเมือง เศรษฐกิจไม่ได้ออกแบบมาให้คนขยัน เพราะความขยันไม่รับประกันความมั่งคั่งหรือผลตอบแทนใดๆ

ตรงกันข้าม ความขี้เกียจ อยู่ไปวันๆ ดื่มเหล้าไปวันๆ ไม่คิดมาก ไม่คาดหวังมาก ไม่ฝันมาก ไม่ทะเยอทะยานมาก อาจจะทำให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัยกว่า

อยู่นิ่งๆ กินเท่าที่มี รับเท่าที่มีคนมอบให้ ถ้าอยู่ไม่ไหว ก็ค่อยๆ ปล่อยชีวิตปลิดปลิวไป พลางภาวนาให้ชีวิตที่ดีรออยู่มีภพหน้า

น่าจะเหมาะกับเรา เรา แล้ว