อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ไฮ โจ!

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สหรัฐอเมริกามีความสำคัญต่อโลก

ดังนั้น การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของโจเซฟ ไบเดน (Joseph Biden) พร้อมด้วยกมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีหญิงคนแรก ที่เป็นคนผิวสีและเป็นลูกของผู้อพยพย้ายถิ่นในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ย่อมสำคัญมากพอที่เราควรทำความเข้าใจ โดยเฉพาะทั้งต่อโลกและประเทศไทยในอนาคต

นี่เป็นเพียงแค่โหมโรง

 

ไฮ โจ

เป็นที่แน่นอนว่า รัฐบาลใหม่ของโจต้องมีแผนงานบริหารประเทศจากภายในบ้านของตน

ทว่า ต้องมองไปข้างหน้าด้วย นั่นคือ ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลใหม่สหรัฐเผชิญหน้ากับความต้องการใหญ่มหาศาลจากภายในประเทศ โรคระบาดโควิดยังเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อคนอเมริกัน ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนอเมริกัน

อีกทั้งโควิดได้ฉายภาพให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันในระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติอีกด้วย

โจจะต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา และการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะต้องให้มีส่วนร่วมทั้งหมด แล้วโจยังเผชิญกับความผิดหวังเรื่องการเหยียดผิวและความยุติธรรมทางอาญา พร้อมด้วยเขตเลือกตั้งของพรรคเดโมแครตจะเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม พลังงานและการย้ายถิ่นด้วย

โจนั้นมีความชำนาญด้านนิติบัญญัติมาก่อนในฐานะวุฒิสภาและประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศ

บทบาทนี้เหมือนอดีตประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน (Lyndon Johnson)

ทีมงานวงในของโจจะวางแผนอย่างไรเมื่อประธานาธิบดีคนใหม่อย่างเขาจะได้รับการสนับสนุนในรัฐสภาซึ่งมีพรรคเดโมแครตคุมเสียงข้างมาก

ซึ่งอดีตประธานาธิบดีพรรคเดโมแครตอย่าง Barak Obama, Bill Clinton, Jimmy Carter ไม่เคยได้รับโอกาสนี้

จิ้งจกกระซิบกระซาบผมว่า คะแนนเสียงในวุฒิสภาอเมริกัน คะแนนเสียงระหว่างรีพับลิกันกับเดโมแครตเสียงเท่ากันคือ 50 กับ 50 กมลามีสิทธิ์โหวต สภาล่าง เดโมแครตยังมีคะแนนตามอยู่ แต่เห็นมีอีก 2 รัฐ การเลือกตั้งยังไม่เสร็จ เดโมแครตอาจจะคว้าตำแหน่งเพิ่มได้

โจและทีมงานมีภาระอีกมากด้วยต้องเตรียมนโยบายอีกหลายอย่าง

อาทิ นโยบายด้านสาธารณสุข ความปลอดภัยทางชีววิทยา

ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วม

การป้องกันทางไซเบอร์และนวัตกรรม เทคโนโลยีและการย้ายถิ่น

ที่น่าสนใจ นโยบายภายในประเทศของโจซึ่งได้สะท้อนความสัมพันธ์อันเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับนโยบายระหว่างประเทศคือ นโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ การย้ายถิ่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมีความสำคัญโดยเป็นพื้นฐาน อันเอื้อให้ระบบความร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศของสหรัฐฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง

ระบบดังว่าคือ Transatlantic และ Transpacific

หากกล่าวโดยรวมและย่อสั้นที่สุด สำหรับโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในการร่วมมือระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรอาจมองว่ามีสิ่งท้าทาย สิ่งท้าทายคือ ประการแรก อนาคตของสังคมเสรี (Free Society) ประการที่สอง การแข่งขันกับจีน

 

โจกับโควิด

โจไม่มีทางปฏิเสธและหนีโรคระบาดใหญ่โควิดไปได้

อาจไม่ใช่ความผิดของคุณทรัมป์ แต่คุณคนนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้ประเทศที่รักยิ่งของเขาคือ เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและตายมากที่สุดในโลก แถมยังเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

มีคนเขาแนะนำว่า โจต้องจัดการกับโรคระบาดใหญ่โควิดให้ชัดเจนที่สุดและด่วนที่สุด

เรื่องที่ควรทำคือ โจควรเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างประเทศ สหรัฐต้องการวัคซีน การจัดการดูแลการต่อสู้กับไวรัสนี้ให้มากขึ้น

ทว่า การฟื้นตัวด้านต่อต้านโรคระบาดภายในประเทศสหรัฐก็ต้องการความก้าวหน้าในการต่อสู้กับไวรัสในระบบนานาชาติ

นักวิทยาศาสตร์และหมอของสหรัฐต้องแชร์ความรู้ด้านโรคระบาดขนาดใหญ่และการดูแลผู้ป่วยข้ามพรมแดน

นโยบายสหรัฐในปัจจุบัน สหรัฐจะต้องทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ และร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ด้วย

 

โอ้ กมลา

กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกัน

ไม่เพียงแต่เท่านั้น กมลายังแหวกม่านประเพณีอเมริกันด้วยเธอเป็นลูกของผู้อพยพย้ายถิ่นด้วยพ่อของเธอเป็นชาวจาเมกา แม่ของเธอเป็นคนอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเรียกขานกมลาไม่ถูกต้องนักคือ เธอเป็นอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันหรือเอเชียใต้กันแน่

กมลาจะแหวกม่านประเพณีอเมริกันชนและประชาคมโลกได้ขนาดไหน

แม้เราไม่อาจมองข้ามความสามารถทางการเมืองในฐานะวุฒิสมาชิก ผู้หญิง คนผิวสีและคนรุ่นใหม่ของกมลา

ทว่า ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกท่านนี้ เฉพาะภายในสหรัฐเองที่ยังมีการเหยียดผิว ลัทธิเชื้อชาตินิยม สิทธิสตรี ความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจ การศึกษา

เราไม่ควรลืมว่า โรคระบาดใหญ่โควิดได้เปิดให้โลกรู้ว่า สังคมอเมริกันมีความไม่เท่าเทียมกันเรื่องระบบสาธารณสุขแห่งชาติอีกด้วย

คนผิวสีถูกกีดกันการรักษาพยาบาลเมื่อโรคระบาดใหญ่โควิดระบาด แล้วรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศจะลดช่องว่างความแตกต่างเหล่านี้อย่างไร

คำถามแรกคือ นโยบายจัดเก็บเพิ่มภาษีคนอเมริกันจะทนแรงต้านทานจากคนอเมริกันได้หรือไม่

 

โจ กมลาและไทย

แม้ว่าผู้รู้หลายท่านจะเชื่อว่า คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสหรัฐอเมริกามากนัก ไม่ว่าโจและกมลาเข้ามาบริหารประเทศ ทั้งนี้ เนื่องด้วยระบบการเมืองแบบสองพรรคของสหรัฐ และโครงสร้างสังคมอเมริกัน เราไม่อาจฟันธงได้ว่า โจและกมลาจะเป็นประโยชน์ต่อไทยสักแค่ไหน

ทว่า เราควรดูนโยบายที่แตกต่างของทั้งโจและกมลา ได้แก่ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ นโยบายด้านจีน

เพียงเท่านี้ก็ย่อมอธิบายถึงความอ่อนตัวและยืดหยุ่นของรัฐบาลและกลุ่มคนวงในของโจและกมลา

นี่อาจเป็นประโยชน์สำหรับไทย ณ โอกาสที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทำเนียบขาว

สิ่งหนึ่งที่อาจคาดการณ์ได้คือ ในเมื่อท่านทรัมป์ดำเนินนโยบายแข็งกร้าว กร่าง สะพรั่ง งุ่มง่าม ไม่ฉลาดต่อภูมิภาคเอเชีย อย่างน้อย หากต้องการผลิกโฉมหน้าใหม่ของทำเนียบขาวต่อเอเชีย โจและกมลาน่าจะใช้โอกาสนี้จัดระเบียบใหม่ของภูมิภาคนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระเบียบและพลวัตของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กัมพูชาและ สปป.ลาวกลุ่มหนึ่ง เวียดนามและไทยอีกกลุ่มหนึ่ง เมียนมาต่างหาก บทบาทของพวกลุ่มน้ำโขงกับอาเซียนโดยรวมเป็นอย่างไร?

หากเป็นเช่นนี้ ผมคิดว่าโอกาสไทยจะกลับมาเมื่อไทยทำงานระหว่างประเทศด้วยกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งอาเซียนและลุ่มน้ำโขง ควรรื้อฟื้นความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างโจกับผู้นำนโยบายของไทย พร้อมด้วยผูกสัมพันธ์กับรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐด้วย

ช่วยกันพิเคราะห์ว่า เธอให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง?

ไม่ควรลืมว่า กมลามีโอกาสเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐด้วย