สุจิตต์ วงษ์เทศ/บางปะอิน (อยุธยา) มาจาก ‘บางพระอินทร์’

บางปะอินเป็นถิ่นฐานบรรพชนของพระเจ้าปราสาททอง หอเหมมณเฑียรเทวราชสมัยปัจจุบัน พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา [จากหนังสือ การเมือง "อุบายมารยา" แบบมาคิอาเวลลี (MACHIAVELLI) ของพระเจ้าปราสาททอง สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2549]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

บางปะอิน (อยุธยา)

มาจาก ‘บางพระอินทร์’

 

บางปะอินเป็นชื่อสมัยหลัง เรียกแทนชื่อเดิมว่า “บางขดาน” (หรือบางกระดาน)

ชื่อบางปะอินน่าจะกร่อนกลายจาก “พระอินทราชา” ซึ่งเป็นพระนามพระเจ้าทรงธรรมก่อนเสวยราชย์ (มีหลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ.2182) แล้วทอนลงสั้นๆ ว่า “บางพระอินทร์” นานไปก็กลายเป็น “บางปะอิน”

[นาม “พระอินทราชา” ได้รับยกย่องเรียกภูมิสถานยังตกค้างความนิยมไว้ในชื่อ “ประตูน้ำพระอินทราชา” ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา]

 

บางกระดาน คือ บางปะอิน

บางกระดานในเอกสารโบราณสมัยอยุธยาตอนต้นคือบางปะอิน พื้นที่เฮี้ยนและศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคไปทรงทำพิธีไล่น้ำ (ไล่เรือ) เป็นผลการศึกษาและตรวจสอบของพระยาโบราณราชธานินทร์ฯ (อดีตสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ผู้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์อยุธยาเมืองเก่า และรับราชการในอยุธยาต่อเนื่องนาน 33 ปี)

[ข้อมูลหลักฐานชุดนี้จากคำอธิบายของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ในคำกราบบังคมทูลเรื่อง “ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทรงบวงสรวงอดีตมหาราช ณ พระราชวังกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลที่ 6” [พิมพ์ในหนังสือ กรุงเก่าเล่าเรื่อง โดย รศ.วรรณศิริ เดชะคุปต์ และ ผศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี บรรณาธิการ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2554 หน้า 209-211]

บางปะอินเป็นพื้นที่เฮี้ยนและศักดิ์สิทธิ์ และมีผู้นำท้องถิ่นแข็งแรงตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องเพราะเป็นที่ราบลุ่มชุ่มน้ำ มีลำน้ำผ่านหลายสาย เช่น แม่น้ำป่าสัก (สมัยโบราณ) รองรับการไหลลงมาจากทางเหนือของโคลนตมอุดมสมบูรณ์ในข้าวปลาอาหาร จึงมีชุมชนสองฝั่งลำน้ำหนาแน่นและมีกำลังคนแข็งแรง (สรุปจากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2560 หน้า 253-258) พ้นชุมชนออกไปเป็นพื้นที่ราบรับน้ำหลาก เรียก ทุ่งหลวง

เทวรูปพระเจ้าปราสาททอง ประดิษฐานในหอเหมมณเฑียรเทวราช พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา (ภาพจากสำนักพระราชวัง พ.ศ.2526)

 

“อินทราชา” นามเดิมพระเจ้าทรงธรรม

พระอินทราชา คือนามเดิมของพระเจ้าทรงธรรม ทรงเป็นโอรสองค์โตของสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่ประสูติจาก “นางห้าม” หญิงท้องถิ่นบางปะอิน โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ฯ อธิบายจากคำบอกเล่าเก่าแก่ ดังต่อไปนี้

“พระเอกาทศรถ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช [ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร] เสด็จลงเรือไปประพาสทางแม่น้ำข้างใต้พระนคร เรือพระที่นั่งถูกพายุฝนล่มลง ต้องเสด็จขึ้นอาศัยพักอยู่บนบ้านราษฎรที่บางปะอิน เป็นเหตุทรงได้หญิงชาวบ้านคนหนึ่งเป็นนางห้าม แต่มิได้ทรงรับไปเลี้ยงดูไว้ในพระราชวัง กระทั่งนางนั้นมีบุตรชาย ต่อมาพระเอกาทศรถทรงรับกุมารไปเลี้ยงดู แต่ไม่ได้ทรงรับโดยเปิดเผยว่าเป็นพระราชบุตร

กุมารที่เป็นพระราชบุตร [ของพระเอกาทศรถ] มีบุญญาธิการ ได้เป็นที่พระอินทราชา ต่อมาได้ครองราชสมบัติ ทรงพระนาม พระเจ้าทรงธรรม”

 

“นางอิน” ของชาวบ้านสมัยหลัง

ความเข้าใจทั่วไปจากคำบอกเล่าประจำถิ่นมีนานแล้วตั้งแต่สมัยกรุงเก่า ซึ่งจำสับสนปนกันโดยยกเรื่องของพระเจ้าทรงธรรมเป็นของพระเจ้าปราสาททอง แล้วตกค้างถึงปัจจุบันว่า

“พระเจ้าปราสาททองเป็นกุมารราชบุตร เกิดจากหญิงชาวบ้านชื่อนางอิน ต่อมาพื้นที่นั้นได้นาม บางนางอิน นานเข้ากลายคำเป็นบางปะอิน” แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่สนับสนุนคำบอกเล่านี้

 

พระเจ้าปราสาททอง “ลูกขุนนาง”

พระเจ้าปราสาททองเป็นบุตรขุนนางใหญ่ ซึ่งไม่มีเชื้อสายพระราชาอยุธยา พระยาโบราณราชธานินทร์ฯ อธิบายไว้ (กรุงเก่าเล่าเรื่อง สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2554) ดังนี้

“ส่วนประวัติของพระเจ้าปราสาททองนั้น จดหมายเหตุของพวกฝรั่งได้กล่าวชัดเจน ว่าพระองค์เป็นบุตรพระยาศรีธรรมาธิราชๆ เป็นพี่ของพระชนนีพระเจ้าทรงธรรม และสมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระกรุณาเอาไปเลี้ยงไว้เป็นมหาดเล็ก รับราชการใกล้ชิดพระองค์มาแต่ยังเล็ก ข้อนี้เองทำให้ตำราเกร็ดเอาพระเจ้าปราสาททองไปยกให้เป็นพระราชบุตรสมเด็จพระเอกาทศรถ และด้วยเหตุต่อมาเมื่อพระเจ้าปราสาททองได้ราชสมบัติแล้ว ได้ทรงสร้างพระราชวังบางปะอินไว้เป็นที่ประพาส และทรงสร้างวัดชุมพลนิกายารามซึ่งผู้เล่าหลงไปว่าสร้างลงในที่บ้านเดิมของพระชนนีพระเจ้าปราสาททอง

แต่ความจริงวัดชุมพลนิกายาราม พระเจ้าปราสาททองได้ทรงสร้างลงในบ้านเดิมของพระอัยกาของพระองค์ ซึ่งพระยาศรีธรรมาธิราช พระชนกของพระองค์และสมเด็จพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมผู้เป็นน้อง และซึ่งเป็นพระมาตุฉาของพระองค์ได้ประทับอยู่มาแต่เดิม”

พระเจ้าปราสาททอง กำเนิดเป็นลูกขุนนาง มีหลักแหล่งอยู่บ้านเลน (บางขดาน) บางปะอิน แต่มีตระกูลเป็นเครือญาติใกล้ชิดพระราชวงศ์สมัยนั้น ดังนี้

  1. บิดาของพระเจ้าปราสาททองกับมารดาของพระเจ้าทรงธรรม เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน มีหลักแหล่งอยู่บ้านเลน บางปะอิน โดยบิดาของพระเจ้าปราสาททองเป็นพี่ชายมารดาพระเจ้าทรงธรรม

โดยสรุป พระเจ้าปราสาททองเป็น “ลูกพี่ลูกน้อง” กับพระเจ้าทรงธรรม พบเอกสารฮอลันดาระบุไว้มีความสรุปว่า “พระราชมารดาของพระอินทราชา (คือพระเจ้าทรงธรรม) และพระราชบิดาของพระองค์ (คือพระเจ้าปราสาททอง) เป็นพี่น้องร่วมท้องกัน” (พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ.2182 สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ พ.ศ.2548 หน้า 78)

  1. มารดาของพระเจ้าทรงธรรม เป็น “นางห้าม” ของพระเอกาทศรถ มีคำบอกเล่าครั้งกรุงเก่า ดังนี้

พระเอกาทศรถเมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช (ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร) เสด็จลงเรือไปประพาสทางแม่น้ำข้างใต้พระนคร เรือพระที่นั่งถูกพายุฝนล่มลง ต้องเสด็จขึ้นอาศัยพักอยู่บนบ้านราษฎรที่บางปะอิน เป็นเหตุทรงได้หญิงชาวบ้านคนหนึ่งเป็นนางห้าม แต่มิได้ทรงรับไปเลี้ยงดูไว้ในพระราชวัง กระทั่งนางนั้นมีบุตรชาย ต่อมาพระเอกาทศรถทรงรับกุมารไปเลี้ยงดู แต่ไม่ได้ทรงรับโดยเปิดเผยว่าเป็นพระราชบุตร

กุมารที่เป็นพระราชบุตร (ของพระเอกาทศรถ) มีบุญญาธิการ ได้เป็นที่ พระอินทราชา ต่อมาได้ครองราชสมบัติ ทรงพระนาม พระเจ้าทรงธรรม

  1. “พระยาศรีธรรมาธิราช” นามบิดาของพระเจ้าปราสาททอง (ในคำบอกเล่า) ตรงกับพระนามพระเจ้าปราสาททองเมื่อเสวยราชย์ว่า “พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช” (อยู่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิตฯ) และสอดคล้องกับพระนามพระเจ้าปราสาททองว่า “ศรีสุธรรมราชา” (อยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับภาษาบาลี) ใกล้เคียงชื่อ “ออกพญาศรีธรรมราชเดชชาติอำมาตยานุชิตพิพิธรัตนราชโกษาธิบดีฯ” ศักดินา 10,000 เจ้ากรมพระคลัง (ในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน)

ร่องรอยเหล่านี้เป็นพยานสำคัญว่าพระเจ้าปราสาททองมีหลักแหล่งบรรพชนรวมถึงผู้คนพลไพร่อยู่บางปะอิน ในตระกูลขุนนางใหญ่มีอำนาจกว้างขวางควบคุมการค้าภายในและภายนอก ไม่ใช่โอรสพระราชาตามคำบอกเล่าชาวบ้าน