ทำไมละครไทยมีเนื้อหาซ้ำซากจำเจ ? นักเขียนบทขาดความรู้ทางภาษา แถมอีกว่ามี “ชนชั้น”

คำให้การของจำเลย-กอล์ฟ สรรัตน์ เรื่องละครโทรทัศน์ไทย

ถ้าให้ประเมิน กอล์ฟ-สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ บอกว่า อาจเพราะสถานะนักวิชาการที่เขาเป็นอาจารย์พิเศษของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ อีกทั้งยังควบรวมอาชีพคนเขียนบทละครโทรทัศน์ ทำให้ที่ผ่านมาจึงมักถูกเชิญให้ไปร่วมเสนอและรับฟังความเห็นเกี่ยวกับละครโทรทัศน์ที่หน่วยงานภาครัฐจัดขึ้น นับแล้วก็น่าจะมากกว่า 100 ครั้ง

และนั่นทำให้รู้ว่าเนื้อหาที่พูดคุยกันไม่เคยก้าวไปไหน

“ข้อค้นพบของบรรดานักวิชาการมีเพียงไม่กี่ประเด็น” เขาว่า

นั่นคือละครมีเนื้อหาซ้ำซากจำเจ, นักเขียนบทขาดความรู้ทางภาษา และละครเต็มไปด้วยเรื่องเพศและความรุนแรง

“คนเขียนบทตกเป็นจำเลยตลอด” สรุปความแบบประโยคเดียวจบ แล้วกอล์ฟในวัย 37 ปี ที่เคยฝากฝีมือไว้ในละครเรื่อง อาทิ “เวียงร้อยดาว”, “นาคี” ฯลฯ ก็ว่าในฐานะคนเขียนบทเขาไม่ได้ปฏิเสธ เพราะ “ก็รู้สึกแหละ ว่ามันต้องพัฒนาไปกว่านี้”

แต่ในฐานะนักวิชาการ ก็รู้สึกว่า ผลการศึกษาวิจัยที่หน่วยงานรัฐทำต้องให้ผลที่ชัดเจนกว่านี้ ไม่งั้นก็เสียดายภาษีที่แปรรูปเป็นงบประมาณแผ่นดินที่ถูกนำมาใช้จ่ายแย่

“การวิจัยมันต้องมีหลักฐาน ว่าศึกษาจากอะไร นำไปสู่อะไร แล้วสิ่งนั้นถึงจะนำไปสู่การพัฒนา แต่ถ้าได้มาแค่นี้ มันไม่ต้องวิชาการ ไม่ต้องวิจัย เข้าไปในเว็บไซต์ต่างๆ ก็ได้คำวิจารณ์ประมาณนี้แหละ”

อย่างเรื่องเนื้อหาซ้ำซาก ควรต้องบอกว่าซ้ำซากในลักษณะไหน

โดยตัวอย่างที่เขายกมา เพื่อขยายความเข้าใจคือ ตอนทำวิจัยเรื่องละครประวัติศาสตร์ อันเป็นวิทยานิพนธ์ขณะเรียนปริญญาเอก เขาพบว่าละครประวัติศาสตร์ของบ้านเรา ทำซ้ำอยู่ใน 7 ยุค กับ 5 กลวิธีการเล่าเรื่อง

และนั่นก็ทำให้บอกได้ว่า “เราไม่เคยเล่าประวัติศาสตร์ที่ใกล้ลงมา อย่างเช่น 6 ตุลาเลย”

แต่นั่นก็มีเหตุผล

“กอล์ฟเคยเขียนบทละครสั้นเรื่องหนึ่ง เขียนแค่ว่าพ่อเอาของไปขายในม็อบแล้วไม่กลับมาอีก ซึ่งตรงนี้โดนตัด ปรากฏว่ามันเป็นจุดที่แตะไม่ได้”

“ไปถามเถอะคนเขียนบทแต่ละท่านมีเรื่องที่เป็นประเด็นสังคมที่อยากเขียนทั้งนั้น ไม่ต้องอะไรไกล เรื่อง “เหนือเมฆ 2″ ที่ถูกตัดจบ ที่พูดถึงนักการเมืองไม่ดี ทุกวันนี้มีคำตอบไหม ทำไมเวลานำเสนอเรื่องในเชิงวิพากษ์สังคมแล้วเกิดเหตุการณ์แบบนี้”

“กอล์ฟอยากทำเรื่อง parasite มาก แต่ parasite กอล์ฟเกิดในค่ายทหาร อยากทำเรื่องพลทหารกราดยิง แต่เราเล่าได้ไหม”

“สิ่งที่วนเวียนซ้ำซากที่ทำๆ กัน คือสิ่งที่ไม่กระทบโครงสร้างสังคม ไม่กระทบต่ออะไรที่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่กระทบกลุ่มวิชาชีพ หรืออะไร”

ประเด็นนักเขียนขาดความรู้ด้านภาษา ก็อยากให้ระบุตัวเลยว่าหมายถึงใคร หากกระนั้นก่อนระบุ “ต้องเข้าใจว่าภาษาในละครเป็นภาษาพูดที่มีความลื่นไหล” ให้ดี ขณะที่เรื่องเพศและความรุนแรงยอมรับว่าเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง

ในอีกด้านหนึ่ง ตามมุมมองของเขา เขาเห็นว่าปัจจุบันละครไทยมีความหลากหลายขึ้น มีละครที่พูดถึงเรื่องของ LGBT จำนวนมาก ซึ่ง “ไม่ถือว่าสิ่งนี้คือความหลากหลายบ้างหรือ หรือเลือกมองเฉพาะเรื่องที่อยากมองหรือเปล่า”

“เรามองละครอย่างติดลบหรือเปล่า และพอมองอย่างติดลบ ก็ไม่ได้เห็นถึงประเด็นอื่นๆ”

“คือละครไม่ดี ก็มี แต่ละครดี ก็มีเหมือนกัน”

“เราต้องทำลายมายาคติของละครไทยก่อน เรารู้สึกว่ามันมีสถานะด้อยค่าเมื่อเทียบกับหนัง กับละครเวที ละครโทรทัศน์มีรหัสเชิงลบอยู่ เป็นความบันเทิงที่ไร้สาระหรือเปล่า”

“ครั้งหนึ่งเคยไปประชุมที่เกาหลี งานเทเลวิชั่น อวอร์ด แต่ละประเทศเวลาโชว์วิสัยทัศน์เรื่องละคร ไม่มีชาติไหนมองละครเป็นเรื่องแย่ ทุกคนมองว่าเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรม เป็นซอฟต์ เพาเวอร์ ที่ทรงพลังมาก แล้วพอขอให้จำกัดคำนิยาม 1 คำสำหรับละครชาติตัวเอง จีนบอกคือความยิ่งใหญ่ ที่เราก็เห็นได้ในละครของเขา ญี่ปุ่นบอกคือสปิริตช่วล เพราะฉะนั้น ละครเขาจะพูดถึงความมุมานะ จิตวิญญาณตัวละครชัดมาก เกาหลีบอกว่าสิ่งที่เขาทำคือดรีม ละครเกาหลีจึงทำให้ทุกคนมีความฝัน ความหวังในชีวิต”

“ของเราคงต้องเริ่มจากการเปลี่ยนมายด์ เซ็ต เกี่ยวกับละครไทยมองละครอย่างไม่ติดลบก่อน”

ละครกับ “ชนชั้น”

เรื่องการเปิดกว้างในการนำเสนอเนื้อหาละคร กอล์ฟบอกว่า ถ้าจะมองให้ชัด “ก็ขอเอาจากสถานการณ์มาเทียบเลยนะ เพราะละครก็ต้องอิงกับบริบทเนอะ”

“สมมุติว่าบ้านเรามีการเห็นต่าง เราเชิญเขามาคุยหรือเราเอาแบริเออร์ เอารั้วลวดหนามไปขึง นี่คือวิธีการมองสังคม ซึ่งไม่ต่างอะไรจากละครโทรทัศน์ เพราะความบันเทิงมันไปพันกับเรื่องชนชั้น พันกับโครงสร้างสังคม เกี่ยวกับอำนาจรัฐบางอย่างที่ไม่ถูกเอามาพูด”

“ที่พูดได้ก็แค่เรื่องชายเป็นใหญ่ สุดท้ายผู้หญิงก็เป็นวัตถุทางเพศ ก็วนอยู่แค่นี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น”

“มันไปแตะอย่างอื่นไม่ได้”