ต่างประเทศอินโดจีน : โปรเจ็กต์ยักษ์ที่วังเวียง

โครงการพัฒนาขนาดมหึมากินเนื้อที่กว่า 7,000 เฮกตาร์ หรือกว่า 43,800 ไร่ในวังเวียง เมืองท่องเที่ยวในแขวงเวียงจันทน์ กำลังกลายเป็นหัวข้อถกเถียงกันขนานใหญ่ในลาว

โครงการยักษ์มูลค่าสูงถึง 5,300 ล้านดอลลาร์นี้ เจ้าของคือบริษัทร่วมทุนจีน-ลาว ชื่อ “กลุ่มบริษัทเขตพัฒนาใหม่ลาว-วังเวียง” (The Lao-Vang Vieng New Zone Development Group) ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการจีนให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอันโด่งดัง

รัฐบาลลาวลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัทร่วมทุนดังกล่าวเกี่ยวกับโครงการนี้ไปเมื่อปี 2018 ตามรายงานอย่างไม่เป็นทางการ ระบุว่าโครงการนี้จะมีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่, ถนนหลวง, สะพาน 4 สะพาน, ศูนย์ประชุมนานาชาติ, ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ และโรงพยาบาล

นั่นแทบจะเป็นเมืองทันสมัยขนาดใหญ่ทั้งเมืองเลยทีเดียว

ถึงตอนนี้ สื่อท้องถิ่นของลาวรายงานกันว่า โครงการมหึมานี้ผ่านการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเรียบร้อยแล้ว

หลงเหลือเพียงแค่การนำเสนอให้รัฐบาลลาวให้ความเห็นชอบเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น

 

ปัญหาของโครงการนี้อยู่ตรงที่ วังเวียงได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติที่สวยสดงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

เมืองที่ตั้งอยู่ห่างจากนครเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาวเพียง 160 กิโลเมตรแห่งนี้มีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นราบแทรกอยู่ท่ามกลางเทือกเขาหินปูน โอบล้อมด้วยป่าไม้อุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศดี ไม่ร้อนจัด ไม่หนาวจัด

นักท่องเที่ยวขนานนามวังเวียงเอาไว้ว่า “กุ้ยหลินแห่งเมืองลาว” การันตีความงามของพื้นที่นี้ได้เป็นอย่างดี

ไม่เพียงมีความงาม วังเวียงยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เอกอุ

หลายคนเริ่มตั้งข้อกังขาไว้ว่า รายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการที่ว่าผ่านความเห็นชอบแล้วนั้น ทำไมถึงไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะ

ความไม่โปร่งใสของการดำเนินโครงการ ยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านโครงการนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าคงเป็นอีหรอบเดียวกันกับโครงการพัฒนาที่ร่วมทุนกับต่างประเทศโครงการอื่นๆ ในลาว ที่คุกคามต่อความเป็นอยู่ ที่ทำกินและรายได้ของประชาชน มากกว่าที่จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น

 

ปัญหาถัดมาของโครงการนี้ก็คือ ระดับหนี้สาธารณะของประเทศที่จะพุ่งกระฉูดขึ้นตามมูลค่ามหาศาลของโครงการ

ธนาคารโลกประเมินสถานการณ์เอาไว้ว่า หนี้ภาครัฐของลาวอาจพุ่งขึ้นสูงถึงเทียบเท่ากับ 68 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของลาวภายในปี 2020 นี้

เฉพาะปีนี้ปีเดียว รัฐบาลก็กู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศมาแล้วไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์

 

เรื่องสุดท้ายที่ทำให้กรณีนี้เป็นเรื่องอื้อฉาวก็คือ การคัดค้านต่อต้านโครงการจากชาวบ้านในวังเวียงเอง

ลาวมีกฎหมายที่ทำให้รัฐบาลสามารถยึดที่ดินของประชาชนมาใช้เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะได้ก็จริง แต่ก็มีข้อแม้ไว้ด้วยว่า จะต้องมีเงินชดเชยการเวนคืนดังกล่าวให้ชาวบ้านในระดับที่เหมาะสมกับการสูญเสียรายได้ เรือกสวนไร่นาและทรัพย์สิน

ชาววังเวียงรายหนึ่งยืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่จะนำที่ทำกินซึ่งพวกตนพึ่งพาอาศัย ทำเกษตรกรรมเลี้ยงปากเลี้ยงท้องมานานกว่าร้อยปีไปใช้ทำโปรเจ็กต์นี้

“เราไม่แคร์ว่าโปรเจ็กต์นี้จะถูกโยกไปอยู่ที่อื่นใด แต่เราไม่ยอมแพ้แน่นอนถ้าจู่ๆ จะมายึดเอาพื้นที่ทำกินของพวกเราไป”

และยืนยันว่า เม็ดเงินที่รัฐบาลชดเชยมานั้น ไม่ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงเอาเลย ไม่มีค่าพอให้ต้องยกแผ่นดินปู่-ยา ตา-ยายให้แน่นอน

แต่ชาววังเวียงอีกบางคนยอมรับในความเป็นจริงว่า ถึงที่สุดแล้วพวกเขาก็ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะต่อกรกับโครงการนี้

“พวกเราหลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ไม่อยากให้ดำเนินต่อไป แต่เราจะทำอะไรได้?”

“เราสู้กับอำนาจเงินของจีนไม่ได้แน่!”