“วิสา คัญทัพ” เจ้าของวรรคทอง “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บทกวีศรีประชา ฝ่าข้ามทุรสมัย

แทบทุกเวทีที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตย นับแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงกลุ่มคณะราษฎร 2563 ในปัจจุบัน ผู้ร่วมชุมนุมมักได้ยินเสียงแกนนำอ่านบทกวีอันทรงพลัง 2 บทกระหึ่มก้องเสมอ จนทุกคนท่องตามได้

เมื่อเร็วๆ นี้ฉากที่สะเทือนใจยิ่ง คือตอนที่ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกจับกุมหามขึ้นรถตำรวจอย่างอุกอาจเมื่อบ่ายสี่โมงวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ณ ถนนราชดำเนิน เสียงของไผ่ยังตะโกนก้องถึงเนื้อหาของบทกวีชิ้นนี้จนวินาทีสุดท้าย

 

ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ

ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป

เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่

เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

 

ผู้แต่งบทกวีชิ้นนี้คือ “วิสา คัญทัพ” ฉายา “กวีศรีประชา” มารู้จักชีวิตและผลงานของเขา กับชะตากรรมของนักรบทางวรรณกรรม ที่ย่อมพรุนพร่างไปด้วยบาดแผล

 

1 ใน 9 หัวหอกนักศึกษารามฯ
1 ใน 13 กบฏ คนเดือนตุลา

วิสา คัญทัพ นามนี้เป็นชื่อ-สกุลจริง ไม่ใช่นามปากกา เขาเกิดที่ลพบุรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2496 (ปัจจุบันอายุ 67 ปี) จบมัธยมปลายจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โคราช

จุดพลิกผันเกิดขึ้นในช่วงที่เขาเรียนคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยบทบาทของผู้นำนักศึกษากับเพื่อนรวม 9 คนที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

อธิการบดีในขณะนั้น (รศ.ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์) สั่งลบชื่อเขาและผองเพื่อนให้พ้นจากสถานภาพการเป็นนักศึกษา โดยอ้างว่าหนังสือที่พวกเขาเขียนถึงนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจรนั้นเต็มไปด้วยถ้อยคำจาบจ้วงลบหลู่

นำมาซึ่งการชุมนุมครั้งใหญ่ของนักศึกษารามฯ ต่อต้านการลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่มหาวิทยาลัยกระทำต่อนักศึกษาระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2516

บาดแผลของคนหนุ่มวัย 20 ที่เห็นความไม่ชอบธรรมตั้งแต่ในสถานศึกษา ไปจนถึงความเสื่อมทรามของการบริหารบ้านเมืองภายใต้เผด็จการ

วิสา คัญทัพ ตัดสินใจกระโจนเข้าต่อสู้กับเพื่อนปัญญาชนต่างสถาบัน จัดตั้ง “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ด้วยการเคลื่อนไหวขอแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วนให้ร่วมผลักดันประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ขณะที่กำลังแจกใบปลิว เขาถูกตำรวจรวบตัวจับ ยัดเยียดข้อหารุนแรงให้เป็น 1 ใน 13 “กบฏรัฐธรรมนูญ” กลายเป็นชนวนสำคัญนำไปสู่กระบวนการต่อสู้ของคลื่นนิสิต นักศึกษา ประชาชน 14 ตุลาคม 2516 อันทะลักทลาย

 

ตามรอย “นายผี”
และ “จิตร ภูมิศักดิ์”

วิสา คัญทัพ มีความสามารถในการใช้ภาษากวีที่ส่งตรงจากใจ ถ้อยคำกระชับ ชัดเจน ไม่ประดิดประดอยเล่นสัมผัสสระหรือสัมผัสอักษรจนล้นเกิน หากเน้นสัมผัสใจมากกว่า

ข้อสำคัญคือ มีความสามารถพิเศษในการสร้างท่อนฮุก หรือ “วรรคทอง” ให้คนจดจำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับกวีทั่วไป

จนนักวิจารณ์ให้คำนิยามงานเขียนฉันทลักษณ์ของเขาว่าจัดอยู่ในกลุ่ม “งาม-ง่าย” ไม่ซับซ้อน แต่ “แรง-ทรงพลัง” “มีอารมณ์พวยพุ่งปลุกเร้า” ตามแนวทางของ “นายผี” (อัศนี พลจันทร) กับ “จิตร ภูมิศักดิ์”

วิสาเคยเขียนบทกวีชื่อ “อีสาน” อันเป็นชื่อที่ “นายผี” เคยเขียนไว้ก่อนแล้ว แต่ของนายผีใช้ตัว ศ “อีศาน” ของวิสาใช้ ส “อีสาน”

“อีศาน” ของนายผี บทที่เรารู้จักกันดีคือ “ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย” อีสานของวิสาพบคำว่า “เหนือฟ้าสิเหือดน้ำ…” บาทสุดท้ายนายผีใช้ “อีศานนับแสนแสน สิจะพ่ายผู้ใดหนอ?” บทสุดท้ายอีสานของวิสาเขียนว่า “หวังฟ้าจะเฟื่องฟุ้ง อีสานรุ่งบรรเจิดผล” ฯลฯ

“จิตร ภูมิศักดิ์” ภายใต้นามปากกา “ทีปกร” เขียนหนังสือเรื่อง “ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน” ด้วยการตั้งคำถามว่า หากศิลปินที่มีฝีมือคิดแต่จะสร้างงานศิลปะเพียงเพื่อความงามทางสุนทรียศาสตร์ แต่ปราศจากการต่อสู้ให้มวลมนุษยชาติมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือมีอิสรภาพที่สมบูรณ์ เราควรเรียกงานประเภทนั้นว่าเป็น “ศิลปะ” หรือไม่

วิสา คัญทัพ ขานรับคำถามของจิตร ภูมิศักดิ์ ผ่านบทกวีที่เขาใช้ชื่อว่า “ศิลปะ” อย่างไม่รอช้า แม้ชีวิตจริงไม่เคยพบกัน วิสาตอกย้ำว่า ศิลปะไม่ใช่เรื่องของความงามความบริสุทธิ์เท่านั้น หากแต่ศิลปะต้องมีความสัมพันธ์กับชีวิตอย่างแน่นแฟ้น เพราะศิลปะก่อกำเนิดมาจากชีวิต

“สัญลักษณ์ความงามความบริสุทธิ์ อยู่ที่จุดความเงียบความเรียบง่าย

ศิลปะกับความว่างไม่มีอะไร ก็เปลี่ยนไปในความคิดคำนึง”

การมี “นายผี” และ “จิตร ภูมิศักดิ์” เป็นธงนำในการเขียนบทกวีนี่เอง ทำให้วิสายังสามารถเขียนกาพย์ยานี 11 ได้ในลีลาที่เร้าใจตามรูปแบบที่ปรมาจารย์ทั้งสองวางแนวไว้อีกด้วย เช่น บทกวีที่เขาตอบโต้กับเพื่อนหนุ่ม ประเด็นการเผาวรรณคดีของคอมมิวนิสต์จีน

“เผาเถิดถ้าต้องการ เออกูค้านวรรณคดี

มอมเมาประชาชี เพื่อศักดิ์ศรีศักดินา

นิ้วดีก็เอาไว้ นิ้วร้ายเอาให้หมา

เลือกดูด้วยวิจา- รณญาณประชาชน”

สหายกวีร่วมรุ่นของวิสา คัญทัพ ที่โดดเด่น ใช้วรรณศิลป์เป็นเครื่องมือต่อกรทางการเมือง ได้แก่ รวี โดมพระจันทร์, วัฒน์ วรรลยางกูร, ประเสริฐ จันดำ, คมทวน คันธนู เป็นต้น

บทกวีของวิสายุคแรก ตีพิมพ์ในนิตยสารแนวก้าวหน้าที่สุดคือ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ต่อมาเขาพิมพ์หนังสือรวมบทกวีเล่มแรกมีชื่อว่า “ตำนานลิงยุคมืด”

วิสาใช้สัญลักษณ์ “ลิง” (ชนชั้นปกครองสยาม) ผู้ไม่รู้ค่าของ “แก้ว” (พลังของประชาชน) เป็นตัวเดินเรื่อง เพื่อเปิดโปงความเน่าเฟะของระบอบศักดินา ทั้งยังมี “ลิงฝรั่ง” (หมายถึงจักรวรรดิอเมริกัน) เข้ามาช่วยกันยีย่ำทำลาย “แก้ว” อีกด้วย

ตัวอย่างวรรคทองของ “ตำนานลิงยุคมืด” 2 บท ซึ่งภายหลังเขามาตั้งชื่อใหม่ว่า “กดหัวประชาชน”

 

“หยาดน้ำตาประชาไทยในวันนี้ ไหลเกือบท่วมปฐพีแล้วพี่เอ๋ย

ถ้าความจริงสามารถอ้างเหมือนอย่างเคย ก็จะเอ่ยและจะอ้างอย่างไม่กลัว

นี่มีปากก็ถูกปิดจนมิดเม้ม มันแทะเล็มถุยรดและกดหัว

ปัญหาต่างต่างนั้นก็พันพัว ไม่อยากโทษใครชั่วเพราะกลัวตาย”

 

สู่วรรคทองอมตะ
“ท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ”

บทกวีของเขามาสุกงอมภายใต้บรรยากาศที่เรียกกันว่า “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” หลังจากผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยคไปแล้ว

ยุคนั้นคำว่า “ขบถ” ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในความหมายที่ต้องการตอกย้ำถึงความเป็นเสรีชน แทนที่คำว่า “กบฏ” ที่พวกนักกิจกรรมถูกยัดเยียดจากอำนาจรัฐ

วิสา คัญทัพ เขียนบทกวีขึ้นชิ้นหนึ่งในปี 2517 ในวาระครบรอบ 1 ปีการสูญเสียวีรชนสิบสี่ตุลา เพื่อนำไปใช้อ่านประกอบละครทางโทรทัศน์เรื่อง “พ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม” สร้างและเขียนบทโดย “สุวัฒน์ วรดิลก” นักเขียนนักการละครผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่ง

นั่นคือบทที่ว่า “ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า… ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

ปรากฏว่าทันทีที่ละครแพร่ภาพ บทกวีสองท่อนนี้โด่งดังเป็นพลุแตกและติดปากคนทั้งสังคมอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา เพราะเป็นบทกวีที่แสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนอย่างชัดเจนและแจ่มแจ้ง ว่ามีพลานุภาพมหาศาลเกินกว่าอำนาจใดๆ

อันที่จริงบทกวี 2 บทนี้ เป็นส่วนหนึ่งของตอนท้ายบทกวีฉบับเต็มที่มีความยาวมากกว่า 10 บท เพียงแต่ตอนต้นๆ ยังไม่โดดเด่นมากนัก เป็นการพรรณนาถึงความเจ็บช้ำน้ำใจในเหตุการณ์ 14 ตุลา มาระเบิดวรรคทองสองบทสุดท้าย ที่ทำให้คนจดจำไปตราบนานแสนนานนั่นเอง

ต่อมาบทกวี “วีรชนสิบสี่ตุลา” ถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือรวมบทกวีเล่มที่ 2 ของเขาชื่อว่า “เราจะฝ่าข้ามไป”

 

ละเมียดละไมไหวหวาม
พริ้งพรายยามร่ายเพลง

อีกบทบาทหนึ่งของวิสา คัญทัพ นอกเหนือจากความเป็น “กวีการเมือง” แถวหน้าของสยามแล้ว เขายังเป็นนักแต่งเพลง แถมร้องเองอีกด้วย น้ำเสียงของเขามีอัตลักษณ์พิเศษ แตกต่างไปจากนักร้องอาชีพแนวเพื่อชีวิตคนอื่นๆ

ดิฉันจับทางได้ว่า ในฐานะกวี เขาจำเป็นต้องสื่อสารกับผู้ฟังแบบกระชับชัดเจนในห้วงเวลาอันสั้น ฉับพลันทันด่วนบนเวที กลุ่มผู้ฟังกำลังต้องการพลังใจอันมหาศาลจากเขา ฉะนั้นบทกวีจึงเน้นการยิงศรตรงทะลุเป้า ไม่เยิ่นเย้อยืดยาว ฟังแล้วต้องติดตราตรึงใจและจดจำง่าย

ทว่าการสร้างศิลปะในบทเพลงนั้น เป็นพื้นที่เฉพาะของเขา ที่ไม่ได้มีองค์ประกอบเพียงแค่ตัวอักษรา หากต้องมีท่วงทำนอง เสียงดนตรี ลีลา อารมณ์ มาคลุกเคล้า เปิดทางให้เขามีโอกาสเปล่งศักยภาพในตัวเองอย่างเจิดจรัสเต็มที่ยิ่งขึ้น

เขาจึงใช้พรสวรรค์พิเศษปลดปล่อยอารมณ์ ภาษาวรรณศิลป์อันวิจิตรพริ้งพราย (สิ่งที่เขาไม่อาจนำไปใช้สื่อสารในบทกวีเพื่อชีวิต) ได้อย่างไร้ขีดจำกัด

เพลงของเขาจึงทะลุเพดานความหวานละเมียดละไม เต็มไปด้วยความโรมานซ์ โรแมนติกที่เกินขั้นของคำว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” หรือบทกวีเพื่อการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น

นักวิจารณ์วรรณกรรมเรียกเพลงของเขาว่าเป็นแนว “จินตนิยม” (Romanticism)

บทเพลงที่รุ่มรวยเสน่ห์มากที่สุดในบรรดาเพลงนับร้อยในทรรศนะของดิฉันมี “ร้อยบุปผา” “รักที่อยากลืม” “กำลังใจ” “สวรรค์บ้านนอก” และ “ฝากเพลงถึงเธอ” โดยเฉพาะเพลงสุดท้ายนี้อยากเชื้อเชิญให้ฟังกัน แม้ดูเผินๆ แล้วอาจคล้ายเพลงลูกทุ่งธรรมดาๆ เพลงหนึ่งก็ตาม

แต่เป็นลูกทุ่งที่ลุ่มลึกคลาสสิค งดงามเทียบชั้น “ในฝัน” กับ “จูบมัดจำ” ของทูล ทองใจ เลยทีเดียว

 

ทุกวันนี้ วิสา คัญทัพ ลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ประเทศเยอรมนี พร้อมศรีภริยาคู่ชีวิต “ไพจิตร อักษรณรงค์” นักร้องผมสลวยเสียงหวาน สามารถติดตามผลงานบทกวีที่เขายังคงส่งสารต่อพี่น้องชาวไทยได้ผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ Visa Khantap

แม้เขาจะป่วยหนักอยู่ในระหว่างการรักษาตัว แต่ดิฉันเชื่อว่าหัวใจของนักสู้เช่น “วิสา คัญทัพ” ไม่มีวันยอมแพ้ต่อชะตากรรม

หัวใจของเขาค่อยๆ เบ่งบานขึ้นอีกครั้ง เมื่อรู้ว่าทุกเวทีการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ณ วันนี้ บทกวีวรรคทอง 2 บทที่เขาร้อยเรียงทิ้งให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานนั้น ได้ถูกนำมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าวันละหลายร้อยรอบ ก้องกระหึ่มไปทั่วโลก

ไม่ว่าเขาจะได้กลับคืนมาสู่มาตุคามหรือไม่ก็ตาม