หลังเลนส์ในดงลึก / “เขียว”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“เขียว”

“เขียว” เป็นชื่อของผู้ชายผิวคล้ำจัด หน้าเข้ม หนวดเครารุงรัง อายุ 30 ต้นๆ มีเมียหนึ่งคน และลูกชายอายุ 6 ขวบ

เราเคยร่วมงานกัน

และเป็นผู้ที่ผมบอกว่า ตอนต้นยางเปลี่ยนสีใบครั้งหน้าผมจะมาหา

ผ่านเวลาซึ่งต้นยางเปลี่ยนสีใบมาแล้วหลายครั้ง

เรายังไม่ได้พบกัน…

วันนั้น ปลายฤดูฝน

ผมเดินตามเขียว ไต่ขึ้นไปตามด่านค่อนข้างรก จนกระทั่งหยุดที่เชิงหน้าผา

“ทางไม่มีแล้วล่ะ ต่อไปต้องปีนผานี่ขึ้นไป” เขียว คนทำสวนยางจากบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี หยุดเดิน หันหน้ามาบอก หน้าผาหินปูน ชันร่วม 90 องศา

“ปีนขึ้นไปหน่อย จะมีด่านอยู่ริมหน้าผา โครำ เดินผ่านประจำ ผมเคยมาดักยิงได้แถวๆ นี้แหละ”

ผาหินปูน พอมีแง่งหินให้เราปีนขึ้นไปได้ จากพื้น ขึ้นมาสัก 20 เมตร ริมหน้าผามีเส้นทางเล็กๆ มีรอยตีนโครำ หรือเลียงผา สัตว์ป่าสงวนที่ผมกำลังติดตามถ่ายรูป

“มีขี้ด้วย” เขียวชี้ให้ดู

“เอาล่ะ ผมพาพี่มาถึงแหล่งมันแล้ว ต่อไปก็สุดแล้วแต่พี่เถอะ” เขาพูดพลางทรุดตัวลงนั่งมวนยาเส้นด้วยใบจากจุดพ่นควันโขมง

ควันยาฉุนช่วยให้ยุงที่บินหึ่งๆ รอบตัวเรากระจายไปบ้าง ผมหันมองรอบๆ จริงอยู่ เขียวพามาถึงแหล่งที่อยู่ของเลียงผาแล้ว แต่บริเวณหน้าผาแคบเกินไปไม่มีจุดที่จะซ่อนตัวเพื่อเฝ้ารอ รวมกับสภาพอากาศมืดครึ้ม เมฆฝนแผ่กระจาย เหล่านี้คืออุปสรรค

เขียวคุ้นเคยกับการล่าด้วยปืน การฆ่า นั่นขอเพียงเห็นสัตว์ป่าแค่เสี้ยวเดียว ไม่ต้องพะวงเรื่องแสง หรือการมองเห็นได้ชัดเจนอย่างไร

“จะเฝ้ารอไหม” เขียวถาม และจับทากออกจากขา บริเวณนิ้วโป้งเขามีเลือดแดง ทากหลายตัวถูกเขาจับออกและใช้มีดสับเป็นชิ้นเล็กๆ

“ไม่หรอก เฝ้าไปเลียงผาก็ไม่มา” ผมตอบ และจับทากที่ไต่ขึ้นถึงคอออกเหมือนกัน

ในที่แคบๆ อย่างนี้ กลิ่นกระจายไปทั่ว เลียงผาสัมผัสได้ไม่ยาก

“ลงไปข้างล่างก่อน พรุ่งนี้ค่อยหาทางใหม่”

ผมใส่รองเท้าหลังจากถอดออก และพบทากอยู่ในนั้นเกือบ 10 ตัว ทุกตัวอ้วนเป่ง แผลที่ทากกัดเลือดไหลเป็นทาง

“เอานี่แปะไว้” เขียวส่งกระดาษห่อยาฉุน ซึ่งฉีกเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม

เป็นวิธีห้ามเลือดที่ค่อนข้างได้ผล

ฝนเริ่มโปรย อีกสักหนึ่งกิโลเมตรจะถึงแคมป์ริมลำห้วย

ผืนป่าที่เรากำลังตามหาเลียงผาอยู่นี้เป็นป่าที่กำลังเตรียมผนวกเข้ากับพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาสก มีเส้นทางหมายเลข 401 ที่เริ่มจากสุราษฎร์ฯ ถึงอำเภอตะกั่วป่า ผ่านกลาง

เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่ซึ่งเขียวและเพื่อนๆ พอหาล่าเนื้อได้ และเป็นถิ่นชำนาญของเขา

“หาพรานที่รู้จักสักคนได้ไหม ผมจะให้เขาพาไปหาเลียงผา” ผมถามสุทิน พิทักษ์ป่าเขาสก

ช่วงเวลานั้น การตามหาสัตว์ป่าไม่ง่าย ผมลองวิธีเริ่มต้นกับคนล่าที่รู้แหล่ง

สุทินพาผมมาพบกับเขียวที่กระท่อมในสวนยางเช้าวันหนึ่ง

“ผมเลิกล่าแล้ว แต่ให้พาไปก็ได้” เขียวออกตัว

เขาขยับถุงปุ๋ยบนแคร่ เพื่อให้ผมนั่ง ปากถุงเปิด หนังชะมดแห้งๆ ร่วงลงพื้น

“ไอ้นี่หมามันกัดได้ในสวน” ผมยิ้ม

เขียวหัวเราะแก้เก้อ

เขียวพาผมมาฝากรถไว้ที่กระท่อมคนรู้จัก พาเดินผ่านสวนยางและลัดเลาะไปตามลำห้วย

“เดินไปตามห้วยสบายกว่า ในป่าไม่ไหว รกหนามเยอะ” เขาให้เหตุผล

ป่ารกทึบ และพื้นอุดมด้วยทาก คือสิ่งที่พบเมื่อเราขึ้นจากลำห้วย

ไม่มีที่โล่งให้ผูกเปลด้วยซ้ำ เราพักแรมบนก้อนหินราบๆ ขึงผ้ายางกันฝน

เขียวก่อไฟหุงข้าวด้วยหม้อสนามอย่างคล่องแคล่ว

“เคยเป็นทหารเหรอ” เขาดูคุ้นเคยกับอุปกรณ์

เขียวเงยหน้ามอง “ไม่เคยเป็นทหาร เคยแต่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับทหาร” เขายิ้มฟันขาว

ใบหน้าดูเหมือนจะคลายความเหี้ยมลงได้บ้าง

“ดูข้าวนะ เดี๋ยวมา” เขาลุกขึ้นคว้ามีดเดินทวนน้ำไป ผมเอากุนเชียงเสียบไม้ปักข้างกองไฟ

ข้าวร้อนๆ น้ำพริกตาแดง และกุนเชียง อาหารมื้อนี้หรูไม่น้อย เขียวกลับมาในมือถือกบตัวลายๆ มาสามตัว

“เดี๋ยวต้มยำให้กิน” เขาว่า

“อร่อยนะ เนื้อหวานเชียว” เขียวเชิญชวน พลางฉีกขากบที่เขาโยนลงหม้อทั้งตัว ส่งเข้าปาก

นั่งบนลานหินแคบๆ กินข้าวหม้อเดียวกันดูคล้ายความแปลกหน้าระหว่างเราจะหายไป

ฝนเบาบาง กลิ่นยาฉุนคละคลุ้ง

“ผมเพิ่งกลับจากกรุงเทพฯ” เขียวเล่า

“ช่วยเพื่อนขับรถเอาเงาะไปขายตลาดสี่มุมเมือง” เขาหยุดจุดใบจากที่ดับบ่อย

“โดนตำรวจเรียกตลอด ค้นหายา ตำรวจว่า หน้าแบบนี้มีของแน่ๆ” เขาเล่าไปหัวเราะไป “เขาว่าหน้าเหมือนโจร”

“อยู่ได้สองวันรีบกลับ อีกอย่างเมียกรีดยางคนเดียวไม่ไหว”

ผมเอนหลังกับพื้นหินแข็งๆ ช่วงกลางคืนหินคลายความร้อนออกมา ทำให้ไม่รู้สึกเย็นเพราะอากาศที่เริ่มหนาว

เรื่องที่เขียวเล่า ทำให้ผมนึกถึงตอนที่ขับรถบนเส้นทางสายระนอง-ตะกั่วป่า ผมออกจากระนองค่ำๆ วันหนึ่ง น้ำมันเหลือหนึ่งขีด ด้วยระยะทางไม่ไกล บวกกับความสะเพร่าผมไม่เติมน้ำมันที่ระนอง ออกเดินทางโดยหวังว่าจะมีปั๊มน้ำมันระหว่างทาง

เส้นทางกำลังก่อสร้าง เต็มไปด้วยหลุมบ่อลูกรัง และหินก้อนโต รถต้องใช้เกียร์ต่ำ

ขณะวกวนอยู่บนเขา เจ้าเม่น กระบะขับเคลื่อนสี่ล้อก็น้ำมันหมด

ผมแอบรถเข้าข้างทาง ลงจากรถเริ่มวิตก และหาทางแก้ปัญหา ทางกำลังก่อสร้าง เวลากลางคืน หารถผ่านมายาก

ผมล็อกรถ ตัดสินใจเดินไปข้างหน้าหาบ้านและขอยืมมอเตอร์ไซค์ไปซื้อน้ำมัน

มอเตอร์ไซค์คันหนึ่งแล่นมาจอด ผมเดินจากรถมาไม่ถึง 20 เมตร

“เป็นอะไร” ผู้ชายหน้าเข้ม ถามเสียงห้วนๆ

ความดุบนใบหน้า ทำเอาผมลังเล

“รถเป็นอะไร” เขาถามซ้ำ

“น้ำมันหมดครับ” ผมตอบ

ชายหน้าเหี้ยมนิ่งไปสักพัก ก่อนพูด “รออยู่นี่แหละ”

เขาขี่รถจากไปขณะผมยังงงๆ

ผมเดินไปมาราวครึ่งชั่วโมง ชายผู้นั้นขี่รถกลับมา ในมือถือแกลลอนขนาด 5 ลิตร

“เอ้า! นี่น้ำมัน 5 ลิตรคงพอไปข้างหน้าสัก 15 กิโล มีปั๊ม”

เขายื่นให้และขี่รถจากไปโดยไม่รอฟังทั้งคำขอบคุณและค่าน้ำมัน “ภายนอก” ย่อมไม่ใช่วิธีที่จะตัดสินคน

นี่เป็นบทเรียนและความประทับใจระหว่างทางที่ผมจำได้เสมอ

สามวัน ผมพบแค่ร่องรอยเลียงผา ฝนตกตลอด เรายอมล่าถอย

“ไปนอนบ้านผมรอฝนหายแล้วค่อยขึ้นมาใหม่” เขียวชวนกลับ

ผมพักอยู่ในกระท่อมเขียวอีกหลายวัน ลุกขึ้นตั้งแต่ตีสองตามเขาไปกรีดยาง แกงเหลืองฝีมือเมียเขาทำให้เจริญอาหารทุกมื้อ

“ปีใหม่แล้วมานะ ช่วงนั้นผมว่าง ต้นยางผลัดใบพอดี” เขียวชวน

“ได้ครับ ตอนใบยางเปลี่ยนสี พบกัน”

ผมจากมาโดยไม่ได้รูปเลียงผา ที่ได้คือเพื่อนคนหนึ่ง และวิธีกรีดยาง

ว่าไปแล้ว ถึงวันนี้ดูเหมือนเลียงผาจะไม่ใช่สัตว์ป่าหายากแล้ว เราพบแหล่งอาศัยที่พบตัวพวกมันได้ง่ายๆ หลายแห่ง มีรูปเลียงผามากมายได้รับการเผยแพร่

ทุกครั้งที่พบเลียงผา หรือเห็นรูป ผมจะนึกถึงเขียว นึกถึงคำนัดหมายที่ยังไม่ได้ทำ

ครั้งล่าสุดที่พบเลียงผา เป็นการพบอย่างง่ายๆ มันอยู่ริมแม่น้ำที่เราล่องแพมา

ผมมองเลียงผาตัวนั้นด้วยสายตาเปล่าๆ

พบเห็นได้ง่ายขึ้น แต่ความเชื่อว่า ซากของมันมีคุณค่าในการนำมารักษาโรคกระดูก ก็ไม่หายไปไหน

ทุกครั้งที่พบเลียงผา ผมนึกถึงเขียว