จาก “จุฬามณี” ถึงละคร “วาสนารัก” “อิหยังวะ อิหยังวะ อิหยังวะ”

จาก “จุฬามณี” ถึงละคร “วาสนารัก” “อิหยังวะ อิหยังวะ อิหยังวะ”

“ดูไปก็อิหยังวะ อิหยังวะ อิหยังวะ” “จุฬามณี”-นิพนธ์ เที่ยงธรรม พูดถึงความรู้สึกที่มีต่อละครเรื่อง “วาสนารัก” ที่ช่อง 3 นำบทประพันธ์ชื่อเดียวกันของเขามาสร้าง และเพิ่งแพร่ภาพจบไปไม่นาน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรง

ที่รู้สึกอย่างนั้น คนที่ติดตามดูทุกตอน ทั้งๆ “บอกตรงๆ คือคงเลิกดูไปนานแล้ว ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าของผลงานเรื่องนี้ แต่พอดีเป็นงานของเรา ก็ทนดูกันต่อไป ดูสิว่าจะไปถึงไหน”

แล้วก็ได้เห็นว่า นอกจากแคแร็กเตอร์ตัวละครจะถูกตีความต่างไปจากต้นเรื่อง เนื้อหายังถูกแปรเปลี่ยน

ซึ่งแรกๆ ยังพอรับไหว ดังนั้นจึง “ทำหน้าที่เชียร์ละครแบบเก๋ๆ มึนๆ งงๆ” ไป

กระทั่งถึงจุด “เกินจะทำใจ” ตอนได้เห็น “ใกล้รุ่ง” ซึ่งถูกปูแคแร็กเตอร์ให้เป็นคนเรียบร้อย อยู่ในขนบของนางเอกมาตลอด จู่ๆ ก็ไปนอนกับผู้ชาย อย่าง “ง่ายๆ ไม่มีปี่มีขลุ่ย”

ซึ่ง “ไม่ใช่แล้วไหม พังแล้ว แม่รันจวนจะโดดสะพานโดยไม่มีเหตุผลอีก มันเตลิดไปจนกู่ไม่กลับ แล้วก็เหลือจะทน”

นั่นแหละที่ทำในเฟซบุ๊ก นพนธ์ นครสวรรค์ ของเขาเริ่มปรากฏข้อความทำนอง “เรือเล็กงดออกจากฝั่ง พายุเข้าจะกู่ไม่กลับเอานะ #วาสนารักกู” ไปจนถึง “อย่าถามอะไรชั้นนะ มันออกทะเลมาจนถึงอ่าวตังเกี๋ยละ ดูๆ กันไปนะ”

จุฬามณียืนยันด้วยว่า ปกติแล้วเขาไม่ได้เป็นคนที่หวงบทประพันธ์ชนิดงานของข้าใครอย่าแตะ เพราะเอาเข้าจริงงานหลายชิ้นของเขาก็เคยถูกนำไปสร้างเป็นละครมาก่อน ทั้ง “ชิงชัง”, “กรงกรรม”, “ทุ่งเสน่หา”, “สุดแค้นแสนรัก” “ราชนาวีที่รัก” ฯลฯ

อีกทั้งยังมีความเข้าใจเรื่องกฎของการเปลี่ยนแปลง เมื่อนวนิยายกลายมาเป็นละครดี

แต่ถ้าจะให้เล่าหมดเปลือก ว่าอะไรในเรื่องนี้ที่เขารู้สึกไม่โอเค คงยากที่จะบอกได้หมด

อย่างไรก็ตาม ถ้าให้ยกบางตัวอย่าง นอกจากเรื่องแคแร็กเตอร์ตัวละครที่บอกไปแล้ว

บางอย่างที่ควรมี เช่น เรื่องความสัมพันธ์ในวัยเด็กของตัวละคร ที่เขาตั้งใจใส่ ก็ห้วนและหาย

ขณะเดียวกันภาพของเด็กใสๆ ที่เขาตั้งใจนำเสนอ ก็กลายเป็น “เกินเด็ก แก่แดด แย่งผู้ชายกัน เราก็เอ๊อะ อ๊า เอ๊ะ อ๊า ตลอดตอนที่ดู”

“คือมันไม่ใช่”

“ยิ่งมามีการจับเพื่อนขังห้อง เพราะริษยา มันใช่เหรอ”

“เราเกลียดงานแบบนี้มาก บอกตรงๆ รู้สึกแบบเราไม่ได้ทำน่ะ แต่เราต้องรับผิดชอบด้วย”

ตีความจากคำ แล้วถามกลับไปว่า เห็นแล้วรู้สึกโมโหไหม?

เขาหัวเราะร่วน แล้วปฏิเสธว่า ไม่

“ไม่ใช่ว่าผมโมโห แต่งานแบบนี้ คนก็แบบ…จุฬามณีคิดเหรอ กินยาไม่ได้เขย่าขวดหรือเปล่า เอาไปขังอย่างนั้น”

“คือเราเขียนไปในคำนำเลยนะ ว่าอยากให้เห็นความใสๆ แต่มันอยู่ไหน” ว่าแล้วก็หัวเราะอีก

กับละครเรื่องนี้ คนเขียนนิยายที่เป็นคอละครตัวกลั่นบอกว่า “เอาจริงๆ บางอย่างมันก็สนุก เราก็ดูได้ เหมือนคนดูละครที่ดูไป แต่ในแง่ของคนทำงาน ที่เราคิดเยอะ ก็จะมีคำถามว่าเราจะคิดเยอะไปทำไม”

“เราคิดเยอะตอนทำงาน เพื่อตอนเป็นละครเขาจะช่วยเรา เขาจะคิดเยอะกว่าเราอีก เพื่อจะได้ออกมาสมบูรณ์ เหมือนเราขุดพลอยมาให้เขา แล้วเขาเจียระไนแบบแวววาว สวยงาม อันนี้กลายเป็นฉันส่งของดีไปให้นะ ทำไมมันกลายเป็นห้วน โดด ฉากเฉิกไปกันหมด”

“เขาทำการบ้านเรื่องลิเกอะไรก็ดีนะ ก็ลงทุน แต่นิสัยตัวละคร ความต่อเนื่องอะไรนี่แหละครับ ที่ทำให้รู้สึกเฟลมาก”

นักเขียนนวนิยายคนดังยังบอกอีกว่า อันที่จริงเขารู้ดีว่า หน้าที่ของเขาต่อบทประพันธ์เรื่องนี้หมดไปตั้งแต่เขาเขียนเสร็จ และตั้งแต่ได้ขายสิทธิ

“แต่กรณีนี้นี่…”

ถามไปอีกว่า ในฐานะคนเขียนเรื่อง เขาคิดว่าละครเรื่องนี้มีความเป็น “วาสนารัก” อย่างที่เขาเขียนมามากน้อยแค่ไหน

“ครึ่งหนึ่งครับ แล้วอะไรอีกไม่รู้ก็ครึ่งหนึ่ง”

มิน่า เขาถึงได้บอกว่า “ถ้าซื้อนิยาย วาสนารัก อ่าน ก็จะเหมือนได้อ่านอีกเรื่องครับ การดูละครไม่เป็นการสปอยอย่างแน่นอน!” ไว้ในเฟซบุ๊ก

“ไม่สปอยเลย” ยืนยันแล้วก็หัวเราะอีก

“แล้วไม่ใช่เสียงเราแค่เสียงเดียว คนที่อ่านงานเรา ชอบนิยายสไตล์เรา จะรู้วิธีคิดของเราว่าเป็นยังไง แล้วทุกเสียงที่คนพูดถึงมันผ่านมาหาเราหมด เพียงแต่เราจะโพสต์หรือไม่”

แล้วถ้าเขาไม่ซื้อเรื่องของเราไปทำละครอีก?

“ก็ถ้าผู้จัดจะเบื่อจุฬามณี เรื่องเยอะ กล้าโพสต์ กล้าตัดพ้อ แต่เราก็ต้องส่งเสียงบ้าง เพราะมันหมดยุคที่ต่างคนต่างทำงานแล้ว เป็นยุคที่ทุกคนมีสิทธิจะพูดในสิ่งที่เห็น เราทำงาน เราก็เต็มที่ เราบอกคนอื่นอยู่ตลอดเวลาว่าเราทำงานเพื่อละคร แล้วพอเราไปเจอคนดูละคร ลุงป้าน้าอา ที่เขาไม่ได้อ่านนิยาย เขาถามทำไมเขียนอย่างนี้ เออ…เราก็รับผิดชอบด้วยนะ คือเวลาชม ก็รับคำชมด้วยกัน ตอนที่ไม่ได้ทำแล้วโดน เราก็ต้องบ่นได้”

“โลกมันเปลี่ยน มันเป็นทูเวย์ของการสื่อสาร เพราะมีทั้งเฟซบุ๊ก ทั้งเพจ ทั้งทวิตเตอร์ ไม่เหมือนเดิมแล้ว ถ้าเขางอนเราคืน เราก็ต้องทำใจ”