ธงทอง จันทรางศุ | ว่าด้วย “ของฝาก” ที่ไม่หยุดนิ่ง แล้วต้องไปซื้อให้ถึง “ถิ่น” เท่านั้น!

ธงทอง จันทรางศุ

ของฝาก

ตอนนี้ผมเตรียมแผนการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนนักเรียนสาธิตปทุมวันรุ่นเดียวกัน

ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเป็นทัวร์ของคนชราสมบูรณ์แบบ

จุดหมายปลายทางครั้งนี้คือจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ถ้าให้นั่งรถไปจากพระนครกว่าจะถึงปลายทาง กระดูกกระเดี้ยวคงป่นเป็นผงแล้วกระมัง

อย่ากระนั้นเลย เราจงมาขึ้นเครื่องบินเดินทางไปสุราษฎร์ธานีกันเถิด

ไปถึงจังหวัดนั้นแล้วค่อยหารถตู้นั่งไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แบบนี้ถึงจะปลอดภัยและเหมาะสมกับอายุอานามของเรามากที่สุด

เพื่อให้การจัดการง่ายมากยิ่งขึ้น เราจึงตกลงให้ต่างคนต่างจองตั๋วเครื่องบินยี่ห้อเดียวกัน โดยบอกหมายเลขเที่ยวบินให้ตรงกัน

แบบนี้ผมก็ต้องจองของผมเองสิครับ

ด้วยความที่เป็นข้าราชการเกษียณอายุแล้วจะใช้สอยอะไรก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ

สายการบินที่เราใช้บริการเป็นสายการบินที่เรียกว่าโลว์คอส นอกจากซื้อที่นั่งแล้วถ้าอยากจะเอากระเป๋าใบใหญ่ให้เขาโหลดลงใต้ท้องเครื่องบินก็ต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติม

ผมวางแผนว่าขาไปผมมีแต่เสื้อผ้าที่ต้องใช้สอยระหว่างสามสี่วันนั้น น้ำหนักน่าจะไม่เกินที่เขาอนุญาตให้นำขึ้นไปบนห้องโดยสารได้

รอบนี้จึงไม่ซื้อน้ำหนักครับ

ซื้อน้ำหนักเพิ่มเพียงแค่ขาเดียว คือตอนเดินทางจากสุราษฎร์ธานีกลับกรุงเทพฯ

ไปเที่ยวทั้งทีก็ต้องคิดถึงเรื่องของฝากใครต่อใคร จริงไหมครับ

เรื่องของฝากที่ต้องซื้อติดไม้ติดมือนำกลับมาบ้านนั้นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนไทยเวลาเดินทางไปไหนมาไหนก็ตาม และเป็นเหมือนกันทั่วถึงในอีกหลายประเทศทางซีกโลกตะวันออก

ลองดูประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างก็ได้ ทุกจังหวัดทุกสถานที่ท่องเที่ยวมีของฝากมากมายมหาศาล

บ้านเราก็มีไม่แพ้กันกับเขาเลยทีเดียว

ลองมานั่งจำแนกดูแล้วผมเห็นว่าของฝากบ้านเรามีอยู่สองหมวดใหญ่ด้วยกัน หมวดแรกคือเรื่องของกิน อีกหมวดหนึ่งก็เป็นเรื่องของที่ระลึก

ลองดูเรื่องแรกก่อนไหมครับ เมืองไทยเราเป็นเมืองที่การกินอยู่สมบูรณ์พูนสุขมาแต่เก่าก่อน ทุกจังหวัดทุกเมืองก็มีของกินที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น

ยิ่งถ้าเมืองไหนเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวไปมาหาสู่เป็นจำนวนมาก อาหารประจำถิ่นก็พลอยมีชื่อเสียงโด่งดังไป

ประสบการณ์สดๆ ร้อนๆ เมื่อเร็ววันนี้ ผมเดินทางไปเกาะสีชัง ขากลับก็ต้องแวะซื้อของฝากผู้คนทั้งหลายเป็นธรรมดา

ถ้าเป็นแต่ก่อนก็ต้องวางแผนแวะซื้อข้าวหลามที่หนองมน

แต่ช่วงหลังเข้าหลามได้ลุกลามไปจนถึงบางพระด้วย ผมเห็นว่าการจอดรถที่บางพระสะดวกกว่าหนองมน เข้าตำราสิบเบี้ยใกล้มือหยิบเอาไว้ก่อนก็แล้วกัน

ผมจึงซื้อของบางพระเป็นประจำทุกครั้งที่เดินทางผ่าน

ของดีบางพระซึ่งก็ใกล้เคียงกันกับหนองมนมากที่ผมซื้อกลับบ้านมาได้แก่ ห่อหมกและข้าวหลาม

ข้าวหลามสมัยนี้ไม่ได้ใช้กระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่จากแต่ก่อนแล้วนะครับ หากแต่ใช้กระบอกไม้ไผ่ขนาดความสูงเพียงแค่ประมาณหนึ่งคืบ ไม่ใช่หนึ่งศอกอย่างแต่ก่อน

และเพื่อความสะดวกในการรับประทาน ผู้ขายได้จัดให้มีช้อนไม้ไผ่ขนาดเล็กแถมกำกับมาด้วยสำหรับใช้ตักกินจากกระบอกข้าวหลามโดยไม่ต้องเปื้อนมือหรือผ่ากระบอกข้าวหลามให้อึกทึกครึกโครมอย่างแต่ก่อน

มีคนบอกผมว่า เข้าหลามชนิดนี้เรียกว่าข้าวหลามชอร์ต

ฟังดูเหมือนถ้วยกินเหล้าขนาดเล็กอย่างไรก็ไม่รู้

เมืองที่มีข้าวหลามโด่งดังอีกแห่งหนึ่งคือข้าวหลามนครปฐม ที่นี่ฝีมือก็ยังไม่ตกไม่หล่นไปข้างไหน หลายปีก่อนเมื่อครั้งที่ผมบวชเป็นพระภิกษุรอบสองของชีวิตที่วัดเทพศิรินทร์ พระใหม่ที่บวชพร้อมกันกับผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย

ถึงเวลาทำบุญที่วัดเทพศิรินทร์มีข้าวหลามมาอยู่ในสำรับไม่ขาดมือเลยครับ

ลองนึกถึงอีกสักจังหวัดหนึ่งบ้างเป็นไร จะเรียกว่าเป็นโฆษณาแฝงก็ได้

จังหวัดอุตรดิตถ์ มีของฝากที่เป็นของรับประทานขึ้นชื่อที่ผมขอนำเสนออย่างหนึ่ง นั่นคือขนมเทียนเสวยร้านกนกมณี

เสวยในที่นี้เสวยจริงๆ ครับ เพราะท่านผู้ใหญ่ผู้เป็นเจ้าของกิจการยุคเริ่มต้นได้นำขนมเทียนซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้ทำเป็นการค้าอย่างทุกวันนี้ ตั้งเครื่องถวายสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศไทยในปีพุทธศักราช 2515 ที่ภูพิงคราชนิเวศน์

ผู้ดำเนินกิจการร้านขนมเทียนเสวยกนกมณีเวลานี้เป็นลูกพี่ลูกน้องของผม ใครไปใครมาก็ต้องซื้อขนมเทียนร้านนี้มาฝากผมอยู่เสมอ

ฝีมือประณีตบรรจงและอร่อยสมกับคำร่ำลือว่าเป็นลูกหลานของพระยาอัธยาศัยวิสุทธิ์ (โชติ กนกมณี) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ครับ

ถ้าจะให้ไล่เรียงอาหารหรือขนมที่เป็นของฝากให้ครบถ้วนทั้งประเทศแล้ว เห็นจะต้องทำมติชนเล่มพิเศษแล้วล่ะ จดจำกันไม่หวาดไม่ไหวครับ

อย่ากระนั้นเลย เราข้ามไปดูหมวดที่สองเลยก็แล้วกัน คราวนี้เป็นเรื่องของที่ระลึกต่างๆ เป็นต้นว่าถ้าไปจังหวัดลำปางก็ต้องนึกถึงบรรดาจานชามทั้งหลาย มีชามตราไก่ เป็นต้น

อันว่าเมืองลำปางนี้มีชื่อเสียงในเรื่องของโรงงานกระเบื้องที่ผลิตภาชนะต่างๆ มาช้านานแล้ว พอๆ กันกับที่เมืองราชบุรีมีชื่อเสียงในเรื่องโอ่ง

พูดถึงเรื่องโอ่งลายมังกรเมืองราชบุรีก็นึกเห็นภาพติดตาขึ้นมาเลยทีเดียว ตอนนี้ทั้งที่ลำปางและทั้งที่ราชบุรียังมีผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาตามรอยคนรุ่นปู่-ย่า ตา-ยายอยู่

หากแต่ว่ามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ก้าวหน้าทันสมัยมากขึ้น ในขณะเดียวกันกับการไม่ทิ้งอดีตของตัวเอง

เรียกว่าทั้งเก่าและใหม่อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน

ทุกวันนี้ถ้าผมไปเมืองลำปางก็ต้องแวะไปเยี่ยมชมโรงงานธนบดี และอีกหลายโรงงานที่มีชื่อเสียงอยู่ในย่านนั้น

ส่วนจังหวัดราชบุรีก็ต้องเป็นร้านเถ้าฮงไถ่ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างยิ่งรวมทั้งได้เคยฝากฝีมือไว้ในงานสำคัญของแผ่นดินหลายวาระแล้ว

ในบรรดาของฝากทั้งหลายเมื่อนึกทบทวนในเวลานี้ ผมพบว่าเมืองไทยของเรามีของฝากที่เป็นเรื่องของผ้าผ่อนท่อนสไบมากเอาการอยู่

ที่นึกได้อย่างรวดเร็วก็เห็นจะไม่พ้นผ้ายกเมืองลำพูน หม้อห้อมเมืองแพร่ ผ้าเกาะยอเมืองสงขลา ผ้าย้อมครามเมืองสกลนคร หรือผ้ายกพุมเรียงเมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

ผมไม่ได้เป็นคนที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องการค้าขาย แต่สังเกตเห็นพอเป็นแนวทางว่า สินค้าพื้นเมืองไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของฝากเหล่านี้จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ เพราะความรู้สึกเบื่อหน่ายในหัวใจของคนซื้อ ถ้าเกิดมีขึ้นเมื่อไหร่แล้วก็เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เจ้าของผลิตภัณฑ์จึงต้องหันเหียนพลิกแพลงทำการตลาดให้เหมาะกับยุคสมัย

ตัวอย่างเช่น การทำข้าวหลามกระบอกสั้น หรือแฟชั่นเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่นำผ้านานาชนิดเหล่านั้นมาตัดเย็บให้เหมาะกับผู้สวมใส่ต่างเพศต่างวัย รวมทั้งการทำผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในรูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตปัจจุบัน แทนที่จะทำเพียงแค่โอ่งอ่างกระถางแตก ก็ทำอ่างล้างหน้าสีสวยสำหรับติดตั้งในโรงแรมหรือบ้านหรูหรา ทำอุปกรณ์เครื่องปั้นดินเผาสำหรับใส่ของใช้ในห้องน้ำ

ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่จะได้พบอะไรไม่ซ้ำเดิม

แถมเดี๋ยวนี้อย่างนี้วิธีการจูงใจให้คนซื้อสินค้าเพิ่มเติมขึ้นคือเรื่องของการที่ได้รับการรับรองว่าเป็นสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือที่เรียกโดยย่อว่า GI (จีไอ) จากกระทรวงพาณิชย์ เป็นการรับรองว่าชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ มีชื่อเสียงในฐานะเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์คุณภาพมาแต่ไหนแต่ไร คนอื่นจะมาลอกเลียนแบบแล้ว กล่าวอ้างมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกันทั้งๆ ที่อยู่คนละบ้านคนละเมืองไม่ได้

ตัวอย่างเช่น ข้าวหลามหนองมน ก็ต้องขายที่หนองมน ผมจะมาทำข้าวหลามขายที่บ้านผมตรงเขตจตุจักรแล้วบอกว่านี่เป็นข้าวหลามหนองมนทั้งๆ ที่ผมทำเองหลังบ้านตรงจตุจักรนี่เอง แบบนี้เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายครับ

จะอร่อยเหมือนกันหรือแพ้ชนะกันอย่างไรก็ไม่รู้ล่ะ แต่ถ้าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับหนองมนแล้วก็อ้างว่าเป็นข้าวหลามหนองมนไม่ได้

การมีกฎหมายแบบนี้ก็ทำให้คนที่อยากกินข้าวหลามหนองมนของแท้ต้องเดินทางไปให้ถึงถิ่น ท้องถิ่นอื่นจะมาปลอมปนแอบอ้างก็จะต้องถูกดำเนินการห้ามปราม

เหมือนอย่างที่ผมกำลังจะเดินทางไปสุราษฎร์ธานีในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และต้องซื้อน้ำหนักเพิ่มสำหรับกระเป๋าขากลับตอนขึ้นเครื่องบิน

ยังไม่ต้องคิดถึงผ้าไหมผ้ายกเมืองพุมเรียง คิดแค่ไข่เค็มเมืองไชยา ต้องซื้อมากี่กล่องถึงจะฝากคนได้รอบตัวครบถ้วน แค่นี้ก็หลายกิโลกรัมแล้ว

ไข่เค็มนั้นซื้อตลาดที่ไหนก็มีขาย แต่ไข่เค็มเมืองไชยาต้องมาจากเมืองไชยาเท่านั้น

ไข่อื่นห้ามปลอมตัวเป็นไข่เมืองไชยาเป็นอันขาด

ไข่เค็มใครก็ไข่เค็มมัน เชียวล่ะคู้ณ