ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 พฤษภาคม 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | ดังได้สดับมา |
ผู้เขียน | วิเวกา นาคร |
เผยแพร่ |
ยิ่งตอบคำถามยิ่งเข้าประเด็น แม้ว่าเมื่อแรกที่ตีพิมพ์คำถาม-คำตอบผ่านหนังสือ “ธรรมะน้ำ ธรรมะโคลน”
ท่านพุทธทาสภิกขุจะแถลงในตอนหนึ่งว่า
“คำตอบเหล่านี้ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะบุคคลใด เรื่องใด หรือโต้ตอบแก่ใคร ถือว่าเป็นโคลนทุกชนิดที่มาจากทิศทางไหนก็ได้
“ถ้ารู้สึกว่ามันมาเปื้อนที่เรา เราก็ต้องล้าง
“ฉะนั้น การถามตอบให้เข้าใจ มันก็เป็นเรื่องล้างโคลน คำถามก็เป็นเสมือนกับการเสนอให้ทราบว่าบัดนี้มันมีโคลนเปื้อนอยู่ อย่างนั้นๆ ที่นั่น
“แล้วคำตอบก็คือ ล้างมันออกไปเสีย”
แม้ท่านจะเน้นว่า “ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะบุคคลใด เรื่องใด หรือโต้ตอบแก่ใคร” แต่ความเป็นจริงก็คือ พลันที่มีคำถามเรื่อง “อภิธรรม” ใบหน้าของ “นักอภิธรรม” ที่เคยตั้งแง่ต่อความเห็นของท่านก็ลอยเด่น
ลอยเด่นจนมีความจำเป็นต้องล้าง “โคลน”
เช่นเดียวกับ พลันที่มีคำถามเรื่อง “จิตว่าง” ลอยเด่น บรรยากาศแห่งความขัดแย้งตั้งแต่การบรรยาย ณ หอประชุมคุรุสภา ในห้วงต้นทศวรรษที่ 2500 ก็ลอยเด่น มาพร้อมกับใบหน้าของหลายคนที่ร่วมอยู่บนเวทีอภิปราย
ยิ่งกว่านั้น การที่บางสำนักหนังสือพิมพ์นำเอาประเด็น “จิตว่าง” ไปขยายและตอบโต้กระทั่งเหยียบเข้าไปในพรมแดนทางการเมือง
อุปมาเลอะเทอะกระทั่งว่า “จิตว่าง” คือการทำงานในสังคม “คอมมิวนิสต์”
คำถามและคำตอบอันมาจากท่านพุทธทาสภิกขุเนื่องในงานล้ออายุปีที่ 72 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในทางความคิด
และท่านก็ทำหน้าที่ในการอรรถาธิบายได้เป็นอย่างดี ครบถ้วนทั้งข้อสงสัยและความเป็นจริงในทางหลักธรรม
ต้องอ่าน
ทีนี้คนอันธพาลนั้นไม่รู้จัก เขารู้จักแต่จิตว่างอันธพาลของเขาเอง สำหรับที่จะแก้ตัวไม่ต้องรับผิดชอบบ้าง แก้ตัวที่จะบุกรุกคนอื่นบ้าง
อะไรบ้าง
นั้นมันไม่เกี่ยวกัน นั้นมันจิตว่างอันธพาลของคนเหล่านั้น ที่เขาด่าอาตมา สาดโคลนก้อนเบ้อเร่อมาใส่อาตมา
เรื่องจิตว่างนั้นมันเป็นจิตว่างอันธพาลของเขาเอง
อาตมาไม่เคยสอนอย่างนั้น ไม่เคยแนะนำอย่างนั้น สอนแต่เรื่องจิตว่างตามแบบของพระพุทธเจ้าว่า
“เธอจงเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง”
ว่างจากอะไร ว่างจากความหมายแห่ง “ตัวกู-ของกู” เมื่อไม่มีอะไรในความหมายแห่ง “ตัวกู-ของกู” แล้วจิตมันก็ไม่รู้จะยึดถืออะไร
มันก็ไม่ยึดถือ มันก็ว่าง นี่คือจิตว่าง
ไม่มีอุปาทานในตัวตนแล้ว ความตายก็ทำอะไรท่านไม่ได้ มันไม่มีตัวตนที่จะตาย มัจจุราชก็หาตัวท่านไม่พบ
เพราะท่านมันว่างจากตัวตน ไม่ยึดถืออะไรเป็นตัวตนหรือของตน
ความตายนี้จะมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อมันมีอะไรเป็นตัวตน เป็นของตน ฉะนั้น เราอยู่โดยจิตที่ปราศจากความมั่นหมายว่าเป็นตัวตน ว่าของตน ความตายมันก็ไม่พบกันกับจิตนี้ มันจึงตายชนิดที่ไม่มีความตาย มีแต่การปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงตามกฎอิทัปปัจจยตา ไม่มีตัวกูผู้ตาย ไม่มีตัวตนที่ไหนจะตาย ก็เลยไม่กลัวความตาย
ฉะนั้น อะไรๆ ที่เป็นนิมิตแห่งความตายผ่านมามันก็ไม่กลัว มันก็ไม่สะดุ้ง มันก็ไม่หวาดเสียว ขนก็ไม่ลุกชันขึ้นมาเพราะความกลัวใดๆ
นี่เป็นลักษณะของผู้ที่มีจิตว่าง ว่างน้อยก็เป็นสุขน้อย ว่างมากก็เป็นสุขมาก ว่างถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง ในความหมายว่าถอนอัตวาทุปาทานได้หมดสิ้น ถอนอัตตานุทิฏฐิได้หมดสิ้น
ก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง
นี่ธรรมะสูงสุดของพระพุทธเจ้า ก็คือเรื่องความว่างที่มีอยู่ในจิตที่ได้มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงแล้วว่า ไม่มีอะไรที่มีความหมายแห่งตัวตนหรือของตน
ข้อนี้เป็นธรรมะสูงสุดจริง เพราะยืนยันเรื่องสุญญตาเป็นเรื่องสูงสุดในพระพุทธศาสนา
แสดงความเป็นเช่นนั้นเอง ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน ไม่มีที่ตั้งแห่งกิเลส กิเลสเกิดไม่ได้
เอ้า ข้อเท็จจริงมีเท่านี้
ประเด็นหนึ่งที่จำเป็นต้องฟังท่านพุทธทาสภิกขุอย่างละเอียดและรอบด้าน นั่นก็คือ ประเด็นว่าด้วยเถรวาทและ “มหายาน”
เรื่อง “ความว่าง” ถูกมองว่ามาจาก “มหายาน”
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง “ความว่าง” เป็นหลักการอันได้รับการยอมรับไม่ว่าจะเป็นเถรวาท ไม่ว่าจะเห็นมหายาน
ต้องใช้ “เวลา” อีกสักนิดในการติดตามหา “คำตอบ”