ปี่กลองระรัว ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น “คณะก้าวหน้า” ชูธงฝัน “ไกล” ปลุก “พรรค-บ้านใหญ่” ตื่นตัว

เบิกฤกษ์วันที่ 9 ตุลาคม ลั่นกลองสะบัดชัย ใช้อาคารไทยซัมมิท เปิดตัวผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น ภายใต้แคมเปญการหาเสียง “เปลี่ยนประเทศไทยเริ่มได้ที่บ้านเรา” โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นำทีม ประกาศชัดเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ภายใต้กระบวนการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมาชิก อบจ. นายกเทศมนตรี/นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และสมาชิก อบต. เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีงบประมาณรวมกันสูงถึง 8 แสนล้านบาท เฉพาะส่วนของ อบจ.ทั่วประเทศ มีวงเงินสูง 8 หมื่นล้านบาท คณะก้าวไกลจึงต้องการพิชิตชัยชนะ เพื่อหวังเข้ามาจัดสรรงบประมาณในการบริการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน เพราะท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาท้องถิ่นหลายแห่งนำงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนไปเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง นี่คือสิ่งที่ “ธนาธร” ต้องการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ประธานคณะก้าวหน้ายังได้ประกาศชัดว่าการลงสนามในครั้งนี้ จะเป็นการแข่งขันเลือกตั้งท้องถิ่นโดยยึดแนวทางของพรรคอนาคตใหม่เดิม นั่นก็คือการรณรงค์หาเสียงด้วยนโยบาย ความคิด และไม่ใช้การซื้อเสียง เพราะเห็นว่าการซื้อเสียงเป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริตคอร์รัปชั่น และเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างให้เกิดระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทย เมื่อได้อำนาจแล้วก็จะเข้ามาถอนทุนคืนให้ตัวเอง ที่มาของนโยบายมาจากกรอบแนวคิดและอุดมการณ์เดิมของพรรคอนาคตใหม่ที่เชื่อว่าคนเท่าเทียมกัน และผลักดันให้ประเทศไทยเท่าทันโลก การแข่งขันเริ่มนโยบายสร้างประชาธิปไตยระดับพื้นที่ ผ่านการแปรนโยบายระดับชาติ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ในท้องถิ่น ไม่เพียงแต่ยึดนโยบายการไม่ซื้อเสียงโดยเด็ดขาด งานนี้ยังมีการประกาศไม้เด็ด ในการขอเปิดหน้าสู้กับบ้านใหญ่ประจำจังหวัดในแต่ละที่ “พี่น้องประชาชนคงเห็นแล้วว่าการเมืองท้องถิ่นที่ผ่านมาถูกยึดโยงกับบ้านใหญ่ หรือตระกูลการเมือง โดยเฉพาะในระดับ อบจ. หลายที่ก็มีการใช้อำนาจหน้าที่ไปโดยมิชอบ นำภาษีประชาชนไปเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัว ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงเพื่อยุติระบบราชการรวมศูนย์ ยุติระบบบ้านใหญ่ ยุติระบบอิทธิพล และการซื้อเสียง การเลือกตั้งคือการลงทุนที่ดีที่สุด เป็นการลงทุนที่ต้นทุนต่ำที่สุดให้กับลูกหลานของเรา” วลีแห่งการเปิดศึกสู้บ้านใหญ่ของประธานคณะก้าวหน้า อย่างไรก็ตาม ในคราวนี้คณะก้าวหน้าได้เปิดตัวผู้สมัครชิงนายก อบจ.แล้ว 32 จังหวัด และยังอยู่ในการพิจารณาอีก 7 จังหวัด และคาดว่าจนถึงวันลงสมัครรับเลือกตั้ง คณะก้าวหน้าจะมีผู้สมัครทั้ง 76 จังหวัด เว้นผู้ว่าฯ กทม. ทำเอาพรรคการเมืองต่างๆ พากันตื่นตัวในการส่งผู้สมัครสู้ศึก อปท.ในครั้งนี้ ทว่า แม้กฎหมายไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองส่งผู้สมัคร แต่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 34 ระบุว่า “ในกรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐกระทำการใดๆ โดยมิชอบด้วยหน้าที่และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด หรือดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย มีอำนาจสั่งให้ยุติหรือระงับการกระทำนั้นได้ ให้กรรมการการเลือกตั้งที่พบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำนั้นได้ แล้วรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ” พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้หลายพรรคการเมืองเป็นกังวลว่าจะสามารถส่งผู้สมัครในนามพรรคหรือไม่ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า ห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น กลั่นแกล้ง “หรือดำเนินการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร” จนเป็นเหตุให้พรรคการเมืองหลายพรรคส่งหนังสือหารือไปยัง กกต. ว่าพรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครได้หรือไม่ และสามารถช่วยหาเสียงได้หรือไม่ หรือเป็นการห้ามเฉพาะในส่วนของ ส.ส. ส.ว. ข้าราชการทางการเมือง แต่กรรมการพรรคสามารถกระทำได้หรือไม่ ซึ่งยังเป็นข้อกังวลในขณะนี้ เพราะที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคแกนนำอย่างพรรคพลังประชารัฐ มีรัฐมนตรีไปช่วยหาเสียงนอกเวลาราชการ ดังนั้น ถ้า ส.ส.ในพื้นที่ไปช่วยหาเสียงนอกเวลาราชการ จะเข้าข่ายให้คุณแก่ผู้สมัครหรือไม่ ตรงนี้ กกต.ต้องมีคำตอบให้ชัด อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มควานหาผู้สมัคร ที่อาจจะส่งในนามพรรค หรือสมาชิกพรรคลงในนามผู้สมัครอิสระ ยังไม่ชัดเจน เพราะอย่างพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องรอการประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ขณะที่พรรคเพื่อไทยให้สิทธิ ส.ส.ในพื้นที่ ในการพิจารณาส่งผู้สมัคร พรรคภูมิใจไทย รอ กกต.ตีความกฎหมาย ต่างจากพรรคแกนนำรัฐบาล ที่กำลังเกิดความขัดแย้งขึ้นอีกครั้ง เมื่อ “สันติ พร้อมพัฒน์” แพ็กทีมกับ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ยุให้หัวหน้าพรรคอย่าง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ส่งผู้สมัครในนามพรรค ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากคนในพรรค ที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ หากพรรคมีมติส่งคนใดคนหนึ่งในจังหวัดนั้นๆ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับบุคคลที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรค และจะส่งผลให้บุคคลดังกล่าวไปรับการสนับสนุนจากพรรคอื่น ยิ่งจะทำให้หัวคะแนนเกิดความสับสนว่าจะต้องสนับสนุนใคร ถึงขั้นมีการวิเคราะห์ว่าในอดีตพรรคไทยรักไทยเองก็ไม่เคยส่งผู้สมัครชิงเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะต้องปล่อยให้ท้องถิ่นว่ากันไปเอง ถ้าพรรคการเมืองเข้าไปยุ่งด้วยแล้วยิ่งจะทำให้เละไปหมด ดังนั้น ปัจจัยของพรรคการเมืองจึงแตกต่างจากคณะก้าวหน้า ที่แยกตัวชัดเจนจากพรรคก้าวไกล โดยงานนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้เข้ามายุ่ง ไม่มีโอกาสเสี่ยงที่ ส.ส.จะให้คุณหรือให้โทษ ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดต่อกฎหมาย อย่างไรก็ดี ยังมีอีกกระแสที่ระบุว่า ในบางจังหวัดพรรคร่วมรัฐบาลได้ตกลงกันแล้วว่าจะส่งใครลงชิงเก้าอี้นายก อบจ. โดยใช้โมเดลการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ที่ทำให้พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง เพราะส่งเพียงแค่พรรคเดียว ต่างจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ต้องเสียเก้าอี้ ส.ส.เลือกตั้งซ่อมให้กับพรรครัฐบาล เพราะส่งผู้สมัครลงตัดคะแนนกันเอง ดังนั้น ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.สนามแรกที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม จึงเป็นที่น่าจับตาว่า คณะก้าวหน้าจะไปถึงฝั่งกี่จังหวัด โมเดลเลือกตั้งซ่อมจะทำให้รัฐบาลคว้าไปได้กี่เก้าอี้ หรือพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะเละเทะขนาดไหน พรรคเพื่อไทยจะยังมีอิทธิพลในภาคอีสานอยู่หรือไม่ อะไรจะเป็นตัวแปรที่สำคัญ เมื่อปี่กลองเริ่มสั่นระรัว…