ทรรศนะมองโลกแง่ร้ายกับการมองสิ่งที่ไม่เห็น : เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

กาพย์กลอนของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และของผมที่คุณตุ้น (ขอสงวนชื่อสกุลจริง) นำมาเขียนเลียนเปลี่ยนใหม่ข้างต้นเมื่อเร็วๆ นี้สะท้อนบรรยากาศมืดหมองหม่นเศร้า อึดอัด อึมครึม วิตกกังวล หดหู่ หมดหวังในสังคมอย่างน้อยก็บางส่วนขณะนี้ได้เป็นอย่างดี

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

มันเป็นทรรศนะมองโลกในแง่ร้าย (pessimism) ที่ไม่คิดไม่แน่ใจว่าพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ ว่าอนาคตจะดีขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา ในสภาพที่ปัจจุบันดูมีแต่จะลู่ลาดถดถอยตกต่ำเสื่อมทรุดหดเรียวแคบเล็กลง

จะว่าไปนี่ก็สอดคล้องกับแนวโน้มระดับโลก (นานๆ ความเป็นไทยจะสอดรับกับความเป็นสากลกับเขาสักทีหนึ่ง) ที่องค์การอนามัยโลกเคยระบุว่าในสภาพที่ทรรศนะมองโลกแง่ร้ายแพร่หลายขึ้นทั่วโลกพร้อมกับอาการโรคซึมเศร้า (depression)

คาดว่าถึงปี ค.ศ.2020 (อีก 3 ปีข้างหน้า) โรคซึมเศร้าจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลก

ตัวเลขล่าสุดของทางองค์การอนามัยโลกพบว่าเมื่อปี ค.ศ.2015 คนทั่วโลกที่ใช้ชีวิตอยู่กับอาการโรคซึมเศร้ามีถึง 322 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ.2005 ถึง 18.4%

คะเนว่าการเสื่อมถอยของผลิตภาพทางเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากโรคซึมเศร้าและอาการเกี่ยวพันกันอื่นๆ มีมูลค่าความเสียหายตกปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐทีเดียว

ที่ย่ำแย่กว่านั้นคือคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือเยียวยารักษาจากแพทย์ ในบรรดาประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจที่สุด คนป่วยโรคซึมเศร้าราวกึ่งหนึ่งตกอยู่ในสภาพดังกล่าว ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจด้อยกว่า ตัวเลขเดียวกันนี้สูงถึงราว 80-90%

(“The whole world is getting more depressed”, Agence France-Presse, 30 March 2017)

ผมไม่ใช่จิตแพทย์ที่จะให้ความเห็นด้านการรักษาโรคซึมเศร้าได้ แต่สำหรับทรรศนะมองโลกในแง่ร้ายนั้น นักจิตวิทยาเคยตั้งข้อสังเกตว่ามันมีอาการแสดงออกที่สังเกตเห็นเป็นแบบฉบับของวิธีคิดซึ่งเรียกว่า “negative cognitive shift” (การเปลี่ยนย้ายการรับรู้ไปในทางลบ) ได้ 3 ประการดังนี้คือ :

1) เหมารวม หรือ Generalisation กล่าวคือ ชอบคิดแบบเหมารวมว่านี่เป็นความจริงทั่วไปที่ครอบคลุมสภาพโดยรวมทั้งหมด

2) มองร้าย หรือ An attachment to the negative กล่าวคือ ชอบยึดติดยึดมั่นถือมั่นกับแง่ลบแง่ร้ายแง่ย่ำแย่ตกต่ำของสภาพการณ์หรือเรื่องราวต่างๆ

3) ฟันธง หรือ A demand for certainty กล่าวคือ เรียกร้องต้องการคำตอบข้อสรุปที่ชัดเจนแน่นอนแบบขาวกับดำ (และก็มักจะเลือกมองเลือกเชื่อว่ามันดำ, เห็นมั้ยล่ะ) โดยไม่เหลือที่ทางให้ความคลุมเครือแบบเทาๆ ไว้เลย

เมื่อประกบประกอบทีทรรศน์วิธีคิดทั้งสามเข้าด้วยกันก็จะทำให้โน้มเอียงมองโลกในแง่ร้าย ตามมาด้วยความวิตกกังวลและโรคซึมเศร้าได้

ผมอยากเสนอทางเลือกในการครุ่นคิดเรื่องนี้โดยลองเริ่มจากคำถามว่า : เรามีสิทธิ์จะมองโลกในแง่อื่นที่ไม่ร้ายได้บ้างหรือไม่? และด้วยเหตุผลกลใด?

ผมคิดว่าพอมีอยู่บ้างนะครับ เพราะเอาเข้าจริงพูดให้ถึงที่สุดอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอนตาย ตัว คาดทำนายไม่ได้อย่างชัดเจนแม่นยำเบ็ดเสร็จเต็มร้อย มันมีบางส่วน (ในอนาคต) ที่เรามิอาจรู้แน่อยู่ แน่ละว่ามีบางส่วนที่เรารู้ โดยอาศัยความรู้ในการวิเคราะห์คาดการณ์กรอบแนวโน้มฉากทัศน์ความเป็นไปได้บนพื้นฐานศาสตร์นานาสาขาวิชาและข้อมูลที่เรามี แต่ถึงไงก็ยังมีบางส่วนที่เราไม่รู้ เดาไม่ได้ คาดไม่ถูกอยู่ เพราะมีเหล่าปัจจัยตัวแปรอิสระที่มากำกับกำหนดมันมากมายที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ คาดเดาและควบคุมของเรา

ที่เราพอรู้ดีกว่าบ้าง (แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดหรือเบ็ดเสร็จเด็ดขาด) โดยอาศัยหลักฐานข้อเท็จจริงเหตุผลการวิเคราะห์ประกอบกันคืออดีต โดยผ่านการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ ขณะที่อนาคตนั้นเราไม่รู้มันดีเท่ากับที่เราพอรู้อดีต

ดังนั้น การดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เดินหน้าไปสู่อนาคตเรื่อยๆ โดยทิ้งอดีตไว้เบื้องหลัง จึงเหมือนเรากำลังขับรถแล่นไปข้างหน้า โดยที่กระจกหน้ารถติดฟิล์มกรองแสงมืดทึบมองไม่เห็น เห็นได้แต่กระจกหลัง

จะให้เราทำอย่างไรได้ล่ะครับนอกจากขับรถไปข้างหน้าโดยมองดูแต่กระจกหลัง (บทเรียนจากอดีต) ทดแทนชดเชยไปพลางคาดเดาบวกปลอบใจตนเองว่า เส้นทางข้างหน้ามันก็คงเหมือนๆ กับเส้นทางข้างหลังที่ผ่านมาแล้วนั่นแหละน่า (โครงเรื่องทางประวัติศาสตร์หรือ the plot of history)

จนกว่าจะ…โครม! แหะๆ

ตรงพื้นที่แห่งความไม่รู้แน่ ไม่รู้ทั่ว ไม่ชัวร์ป้าบในอนาคตนี่แหละครับ ที่เรามีสิทธิ์โดยชอบที่จะเลือกทดลองว่าจะมองโลกในแง่ดีหรือจะมองโลกในแง่ร้ายก็ได้ทั้งคู่ เพราะมันมีค่าความถูก/ผิด, เป็นไปได้/เป็นไปไม่ได้เท่าๆ กัน เพราะตั้งอยู่บนฐานความไม่รู้เท่ากัน

ดังนั้น อีตาอันโตนิโอ กรัมชี นักทฤษฎีมาร์กซิสต์อิตาลีชื่อดังถึงได้ชูคำขวัญว่า “pessimism of the intellect, optimism of the will” (คิดวิเคราะห์ในทางร้ายเข้าไว้ แต่ให้ตั้งเจตจำนงมองโลกในแง่ดี)

หรือจะมองอย่างที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยแนะแนวไว้โดยยืมข้อคิดมาจากนักปรัชญาการเมืองหญิง Hannah Arendt ก็ได้ กล่าวคือ สำหรับคนเรา ปัญหาของอดีตอยู่ตรงที่มันเปลี่ยนแปลงย้อนกลับไม่ได้แล้ว (irreversibility) ส่วนปัญหาของอนาคตอยู่ตรงมันคาดทำนายไม่ได้ (unpredictability) ฉะนั้น คำถามคือ เราควรจะจัดการความคาดทำนายไม่ได้หรือ unpredictability ของอนาคตอย่างไร?

Arendt เสนอว่าเราจัดการมันโดยการให้คำมั่นสัญญาแก่กัน (promise) ว่าเราจะทำอย่างนี้ๆ และจะไม่ทำอย่างนั้นๆ

ด้วยคำมั่นสัญญาของเราที่ให้แก่กันและกันนี่แหละ มันก็ไปช่วยลดทอนเหล่าปัจจัยตัวแปรที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเอาหรือจะทำยังไงกันแน่ในอนาคตให้ลดน้อยถอยลง อนาคตก็พอที่จะคาดทำนายหรือ predict ได้มากขึ้นดีขึ้น

การให้คำมั่นสัญญาก็คือการที่ปัจจัยตัวแปรจำนวนหนึ่งแสดงเจตจำนงหรือเจตนารมณ์ (will/volition) ที่จะทำแบบนี้ มันจึงช่วยลดปัจจัยอันไม่แน่นอนลงไป รู้ได้ว่ามีปัจจัยบางอันจะมีพฤติกรรม (behave) อย่างนี้ค่อนข้างแน่เท่าที่ไว้ใจกันได้ (trust)

การมองโลกในแง่ดีและการให้คำมั่นสัญญาต่อกัน (optimism & promise) จึงเป็นกุศโลบาย ในการจัดการกับอนาคตที่ไม่แน่นอนของคนเรานั่นเอง

ในสภาพการณ์ผันผวนกลับกลายผิดปกติเช่นปัจจุบัน ความเซ็งสะบัดช่อ หดหู่ ท้อถอย สิ้นหวังย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา

ทนายทองใบและจิตร ภูมิศักดิ์ท่ามกลางชาวคอมมิวนิสต์ลาดยาว

ผมคิดว่าที่เราพอทำได้คือหายใจลึกๆ และลองคิดดูว่าเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2519, เมื่อวันที่เสกสรรค์กับเพื่อนร่วมชีวิตที่ถูกตราหน้าว่ากบฏต่อพรรคคอมมิวนิสต์พากันออกจากป่าวางปืนมอบตัวต่อทางราชการ, หรือเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ฯลฯ นั้น, มันมืดกว่านี้มั้ย?

หลังวันเหล่านั้น มันกลับสว่างขึ้นได้อย่างไร?

ในวันที่สว่างที่สุด เรามองข้ามอะไร?

ในคืนที่มืดที่สุด เรามองไม่เห็นอะไร?

คนอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข ฯลฯ คิดอะไร เห็นอะไร หรือตอนที่เขาแต่งนิยาย “แลไปข้างหน้า”, เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” และเรียนจนจบรัฐศาสตรบัณฑิต มสธ. ในคุก?