E-DUANG : ภายใน”รุก” ปรากฏการ ”ถอย” ภายใน”ถอย” ปรากฎการ”รุก”

คณิต ครุฑหงษ์ ผู้เขียนหนังสือ”มวยไทเก็ก”ยืนยันอย่างหนักแน่นจริงจังว่า ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการเผิงหรือการปัดออก บทเพลงอันนำมา สำแดงประกอบ

จึงอุปมาลักษณะคล้ายกับการที่น้ำพยายามผลักออก หรือให้ “ลอย”

ขณะส่งพลัง”เผิง”มือที่จะปัดออกนั้นต้องวาดจากภายในใกล้ลำตัว ตลอดทาง มีการบิดพลิกฝ่ามือ จากท่าหันเข้าหาหน้าอกออกไปเป็นท่าหันสู่ด้านนอก

เช่นเดียวกับเมื่อแนะนำการ”ลู่”หรือการฉุดดึงมาข้างหลังยิ่งมากด้วยความพิสดาร เพราะเป็นการแสดงคุณสมบัติอ่อนนิ่มและโอนอ่อนผ่อนตามจะไม่มีการฝืนต้านเลย

ผู้ใดสำเร็จท่า”ลู่”จะสามารถเอาชนะแรง 1,000 ปอนด์ด้วยแรงเพียง 4 ออนซ์

เปรียบเสมือนนักสู้วัวกะทิงที่ใช้วิธีเอาแรงน้อยๆของตัวเอง

ไปต่อต้านแรงมหาศาลของวัว มาทาดอร์จะใช้วิธีอ่อนตามหลอกล่อให้วัวสับสนด้วยผ้าแดง

 

การใช้กระบวนท่า”ลู่”ในไท่ จี๋ เฉวียน หรือมวยไทเก็ก พึงสำเหนียก ด้วยว่า ขณะที่อ่อนตามนั้นไม่ใช่การถอยห่าง หากแต่ต้องรักษาการ เกาะติดเพื่อให้ควบคุมปรปักษ์ได้อย่างสิ้นเชิง

การถอยจึงเท่ากับเป็น”การถอยในทางยุทธศาสตร์” เพื่อให้ได้ไปอยู่ในกระบวนท่าที่เหมาะสมกว่าเดิม

ความหมายก็หมายความว่า เป็นการถอยในลักษณะ”ลู่” ถอย อย่างมีการตระเตรียม ถอยอย่างมีการวางแผน มิได้เป็นการถอยอย่างหนียะย่าย พ่ายจะแจ กระเจิดกระเจิง

ตรงกันข้าม เป็นการถอยเพื่อหาเงื่อนไข หาจังหวะที่จะรุกเข้าไป “โจมตี” โดยปล่อยให้ปรปักษ์โจมตีเข้ามาแล้วเบนแรงของปรปักษ์ ไม่ต้านทานและก็ไม่ใช่หนีห่าง(ต้องรักษาการเกาะติด)

ท่านต้องเบา ท่านต้องคล่องและว่องไว ปราดเปรียว

      ปล่อยให้โจมตีจนสุดระยะแล้วก็จะสุดแรง เมื่อแรงนั้นว่างเปล่า ก็จะถลาล้มลง

 

ไม่ว่าการต่อสู้ทางการทหาร ไม่ว่าการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าการต่อสู้ทางความคิด

เมื่อนำเอาไท่ จี๋ เฉวียน เข้าไปประสานและศึกษา

ก็จะมองเห็นกระบวนท่าในการรุก กระบวนท่าในการถอย สลับสับเปลี่ยน ในรุกมีถอย ในถอยมีรุก